Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์

เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์

พิมพ์ PDF

เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์

วิจารณ์ พานิช

ข้อเขียนสำหรับนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๑ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในวิชา เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์

ชั่วโมงสอน ๙.๐๐ – ๑๒.๐๐ น. วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ 

จริยศาสตร์ หมายถึง วิชาที่กล่าวถึงความประพฤติและการครองชีวิต (อ. Ethics)  (พจนานุกรมฉบับมติชน ๒๕๔๗)

จริยศาสตร์เชิงทฤษฎีอาจค้นได้จาก อินเทอร์เน็ต เช่นhttp://hu.swu.ac.th/ph/philosophy_ethics.htm

หนังสือแนะนำ

- ธรรมนูญชีวิต พุทธจริยธรรมเพื่อชีวิตที่ดีงาม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) 

- คันฉ่องส่องจริยศาสตร์ โดย สุลักษณ์ ศิวรักษ์

- จริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม http://www.tmc.or.th/service_law02_1.php การปลูกถ่ายอวัยวะ http://www.tmc.or.th/service_law02_3.php , การวิจัยในมนุษย์http://www.tmc.or.th/service_law02_6.php , การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดhttp://www.tmc.or.th/service_law02_7.php , การปฏิบัติตนในกรณีที่มีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ http://www.tmc.or.th/service_law02_8.php ,

ทำไมนักศึกษาแพทย์ต้องเรียนวิชานี้

ที่จริงความรู้และทักษะด้านจริยธรรมและการคิดเชิงวิพากษ์หรือคิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นสิ่งที่คนทุกคนต้องมีหรือควรมี แต่คนเป็นแพทย์ถือเป็นผู้มีการศึกษาสูง และต้องรับผิดชอบสูง จึงต้องเรียนู้เป็นพิเศษ  เพื่อให้เป็นคนที่มีพฤติกรรมเข้าใจ เห็นอกเห็นใจคนอื่น เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ในสังคม และเรื่องราวของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ป่วย ญาติของผผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และผู้คนในสังคมรอบด้าน อย่างรู้เท่าทัน และอย่างรอบด้าน

คนเป็นแพทย์ต้องมีระดับมาตรฐานจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไป เพราะแพทย์มีความรู้พิเศษ สามารถกระทำการโดยผู้อื่นไม่รู้เท่าทัน และผู้ถูกกระทำก็ยินยอมให้ทำด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจ แพทย์จึงต้องเป็นคนที่ ไว้ใจได้” คือมีมาตรฐานจริยธรรมสูงนั่นเอง

คนเป็นแพทย์ต้องช่างสังเกต มองเห็นและรับรู้สิ่งต่างๆ อย่างละเอียดอ่อน มีพื้นความรู้ที่ลึกซึ้ง สำหรับนำมาตีความทำความเข้าใจ ใคร่ครวญรับรู้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้หลายแง่หลายมุม สามารถเรียนรู้จากการตีความของผู้อื่นที่รับรู้และตีความไม่เหมือนตน ก็จะยิ่งมีปัญญาแตกฉานขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ

พื้นฐานนี้ จะช่วยให้คนเป็นแพทย์เข้าใจคนอื่นที่มีพื้นฐานแตกต่างจากตน ช่วยให้แพทย์สามารถสร้างความสัมพันธ์กับผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และเพื่อนร่วมงาน รวมทั้งคนในชุมชนและสังคม ช่วยให้ทำหน้าที่แพทย์ได้ดีขึ้น เป็นแพทย์ที่ครองใจคน

ความคิดควบคุมการกระทำ

พฤติกรรมของแต่ละคนเป็นตัวกำหนดชีวิตของคนนั้นๆ หรือกล่าวว่า ชีวิตย่อมเป็นไปตามกรรม กรรมแปลว่าการกระทำ คนเรามีการกระทำที่สั่งสมมาตั้งแต่กำเนิดเป็นตัวกำหนดชีวิตของคนนั้น และการกระทำและผลของการกระทำเหล่านั้นจะเป็นตัวกำหนดเครือข่ายใยสมองของผู้นั้นด้วย ในลักษณะที่การกระทำเปลี่ยนแปลงสมอง เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก จะเกิดเป็นบุคลิก นิสัย หรือสันดาน  นิสัยหรือสันดานส่วนที่อยู่ลึกมากเรียนว่าความเชื่อ (belief) ความเชื่อของคนเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคน ความเชื่อเชิงคุณธรรมจริยธรรมที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อว่าทำดีได้ดี หรือเชื่อในคุณงามความดี ความเชื่อเช่นนี้จะทำให้เป็นคนทำดี เกลียดกลัวความชั่ว

ไม่มีใครสอนใครได้ ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง

จริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์ เป็นสิ่งที่สอนไม่ได้หรือสอนไม่ได้ผล ต้องเรียนรู้ด้วยตนเอง วิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติ ทดลองปฏิบัติแล้วหมั่นสังเกตผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ชีวิตของคนเรามีบทเรียนเรื่องจริยธรรมและการคิดเชิงวิพากษ์ตลอดชีวิต วิชานี้จึงเป็นวิชาที่ต้องเรียนตลอดชีวิต หรือมีบทเรียนให้เรียนรู้ไม่มีวันจบ

เครื่องช่วยการเรียนรู้คือตัวอย่างของจริง และทฤษฎีที่มีผู้สรุปสังเคราะห์ไว้ ในเรื่องจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์ต้องใช้หลายทฤษฎีประกอบกัน เหมือนกับการใช้ธรรมะต้องใช้หลายๆ ข้อประกอบกัน นอกจากนั้นยังต้องรู้จักเลือกใช้ทฤษฎีหรือหลักการให้เหมาะต่อกาละเทศะหรือบริบท อีกด้วย

เรียนจากการปฏิบัติ สำคัญกว่าการเรียนจากทฤษฎี

ที่จริงทั้งทฤษฎีและปฏิบัติสำคัญทั้งคู่ และต้องใช้ประกอบกัน แต่ในปัจจุบันเราเน้นเรียนทฤษฎี จนละเลยการปฏิบัติ จึงต้องย้ำว่าปฏิบัติสำคัญกว่าทฤษฎี และช่วยให้ เข้าใจทฤษฎีลึกซึ้งขึ้นด้วย ในทำนองเดียวกัน ทฤษฎีก็ช่วยให้การปฏิบัติไม่เปะปะ ไม่หลงทาง  ที่ต้องย้ำคือ เรื่องจริยธรรมและการคิดเชิงวิพากษ์นั้น เป็นทักษะ มากกว่าความเข้าใจ เชิงทฤษฎี และคนที่มีความสามารถสูงจะต้องมีทักษะในระดับชำนาญ คือปฏิบัติได้โดยไม่ต้องคิดหรือตั้งหลักความคิดเสียก่อน เป็นทักษะสูงระดับอัตโนมัติ ซึ่งการศึกษาเชิงทฤษฎีจะไม่สามารถช่วยให้บรรลุได้ จะบรรลุได้โดยการฝึกฝนทักษะเท่านั้น

นั่นคือ เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์เป็นการเรียนเพื่อปฏิบัติในชีวิตประจำวันในฐานะแพทย์และในฐานะมนุษย์ที่มีจิตใจสูง ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อรู้ หรือเพื่อให้ตอบข้อสอบได้ 

เวชจริยศาสตร์แนวฉือจี้

โรงเรียนแพทย์ของมูลนิธิฉือจี้ ไต้หวัน มีวิธีสอนความเป็นคนดีที่น่าประทับใจมาก อ่านได้ที่http://gotoknow.org/file/vicharnpanich/view/20173

การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

ใช้หลักกาลามสูตร คือไม่เชื่อง่ายๆ ต้องไตร่ตรอง หาข้อมูล หรือทดลองเสียก่อน  เมื่อเห็นจริงจึงเชื่อ

ต้องคิดแบบ สวมหมวกหลายใบ” ในเวลาเดียวกัน ใช้หลัก The Six Thinking Hats (คิดแบบหมวกใบ) ของ Edward de Bono

สำคัญที่สุด วิพากษ์เพื่อสร้างความเชื่อของตนเอง เพื่อกำกับพฤติกรรมของตนเอง

ความสามารถในระดับสูง สามารถวิพากษ์ กระแสต่างๆ ในสังคมยุคข้อมูลข่าวสารระเบิด(information explosion) มีทั้งข่าวสารมายา และข่าวสารจริง ปนเปยุ่งเหยิง ให้เห็นส่วนที่เชื่อได้ ส่วนที่เชื่อไม่ได้ และส่วนที่ไม่ควรเอาใจใส่  ให้เข้าใจวาระซ่อนเร้น (hidden agenda) ของข้อมูลข่าวสารนั้น เป็นโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ที่อยู่เบื้องหลัง เห็นความเป็นข้อมูลกึ่งจริงกึ่งเท็จ ที่มีอยู่ดาดดื่นในโฆษณาทั้งหลาย 

หนังสือที่แนะนำให้อ่านคือ การคิดเชิงวิพากษ์” และผู้ชนะสิบคิด” โดย เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ 

จริยศาสตร์กับการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อพัฒนาตนเองเป็นนักคิดดีคิดชอบ

หลักสำคัญคือให้หมั่นสังเกตวัตรปฏิบัติของ คนดี” ที่เป็นนักคิด” และได้ทิ้งร่องรอยไว้ให้คนอื่นได้ศึกษา ซึ่งมีมากมาย ที่เสียชีวิตไปแล้วเช่น ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์, นายปรีดี พนมยงค์, มจ. สิทธิพร กฤดากร, นายสัญญา ธรรมศักดิ์, พุทธทาสภิกขุ, หลวงพ่อปัญญานันทะภิกขุ เป็นต้น ที่ยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน, ศ. นพ. ประเวศ วะสี, ศ. ระพี สาคริก, พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตโต) รวมทั้งอาจารย์ และชาวบ้านธรรมดาอีกมากมายที่เป็นคนดีมีคุณธรรมสูง 

นักศึกษาควรมีฮีโร่ หรือต้นแบบ ในการเอาแบบอย่างในการพัฒนาตัวเองเป็นคนดี คิดดีคิดชอบ เป็นแพทย์ที่ดี เพื่อจะได้หมั่นสังเกต และหมั่นทดลองประพฤติปฏิบัติตัว เป็นการสร้างการดำเนินชีวิตตามแบบอย่างที่ดี

หลักสำคัญคือ อย่าเพียงฝึกคิดจากสมอง แต่ให้ฝึกคิดจากร่างกายให้มากกว่า นั่นคือฝึกคิดจากการลงมือปฏิบัติและเห็นผลจากการปฏิบัตินั่นเอง  คือคิดจากการได้สังเกตเห็นความเป็นจริงที่เป็นการปฏิบัติ และผลจากการปฏิบัติ แล้วจึงนำไปไตร่ตรองหาเหตุผล และทำความเข้าใจทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับความดี ความงาม และความจริง

ให้เรียนจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์จากการทดลองปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในชีวิตประจำวัน

ความเป็นจริงที่เป็นการปฏิบัติ และผลจากการปฏิบัติ ที่นำมาใช้เป็นปัจจัยฝึกคิด ก็คือชีวิตประจำวัน ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน อาจารย์ และคนทั่วไป และต่อไปเมื่อได้เริ่มฝึกงานด้านวิชาชีพแพทย์ ก็สังเกตจากการปฏิบัติงานเหล่านั้น หลังจากเป็นแพทย์ก็สังเกตจากการปฏิบัติหน้าที่ เมื่อมีครอบครัวก็สังเกตจากชีวิตครอบครัว รวมทั้งสังเกตจากชีวิตตามปกติในสังคม แต่ช่วงที่เรียนจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์ได้เข้มข้นที่สุดคือช่วงที่เกิดวิกฤตในชีวิต ช่วงที่มีผลประโยชน์ที่มิชอบ หรือถูกกระทบในเชิงโลภะ โทสะ โมหะ อย่างรุนแรง การเรียนรู้เชิงจริยธรรมและการคิดเชิงวิพากษ์เพื่อพัฒนาตนเองเป็นนักคิดดีคิดชอบ ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

จริยศาสตร์กับการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อฝืนกระแสวัตถุนิยม เงินนิยม บริโภคนิยม

คนที่สามารถเอาชนะกระแสวัตถุนิยม เงินนิยม บริโภคนิยม ได้ จะเป็นผู้มีชีวิตที่มีความสุขแบบปลอดโปร่งโล่งเบาสบาย แต่จะสามารถทำเช่นนั้นได้ต้องการการฝึกฝนบารมีด้วยการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้กระแสมอมเมาจากการโฆษณา และกระแสสังคม ที่ยึดถือการสนองกิเลสตัณหา มาเป็นตัวกำหนดวิถีชีวิต วิญญูชนพึงอยู่ในสังคมปัจจุบันที่อาบเคลือบด้วยยาพิษทางใจ แต่ไม่โดนพิษร้ายนั้น เหมือนลิ้นงูอยู่ในปากงู แต่ไม่ถูกพิษจากเขี้ยวงู (คำสอนของท่านพุทธทาส)

หมายเหตุ

ไม่มีการสอนแบบบรรยายตามเอกสารนี้  แต่มีการเรียนรู้จากการดูภาพยนตร์เรื่อง เสียงกู่จากครูใหญ่” แล้วแลกเปลี่ยนการตีความระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้สอนใจอะไรแก่เราบ้าง นักศึกษาจะได้เรียนรู้ว่าคนเราตีความเหตุการณ์ที่ตนพบเห็นแตกต่างกันมาก ได้เข้าใจความแตกต่างหลากหลายในการคิดของคน

จะมีการนำข่าวจากหนังสือพิมพ์มาตีความเชิงวิพากษ์ เพื่อฝึกการคิดเชิงวิพากษ์ หรืออย่างมีวิจารณญาณ ไม่เชื่อง่าย

------------------------------------------------------------------------------------------------- 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

 
Home > Articles > การศึกษา > เวชจริยศาสตร์และการคิดเชิงวิพากษ์

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8739475

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า