Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Home > Articles > การศึกษา > ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๒. ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๒. ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์

พิมพ์ PDF

วันที่ ๖ ก.พ. ๕๗ ผมไปร่วมฟังการประชุมวิชาการและอบรมครูเชิงปฏิบัติการ “ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเอเซียตะวันออกเฉียงใต้” ครั้งที่ ๒    ที่ มรภ. พระนครศรีอยุธยา    จัดโดย มรภ. พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับโครงการวิจัย “ปริทรรศน์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เอเซียตะวันออกเฉียงใต้” (สกว.)    ที่มี ดร. วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เป็นหัวหน้าโครงการ

ผมขอขอบพระคุณ ดร. วินัย ที่กรุณาเชิญ    โดยที่จริงๆ แล้วการประชุมนี้มี ๒ วัน คือวันที่ ๖ - ๗ ก.พ. แต่ผมมีบุญไปได้วันเดียว

ผมเป็นคนที่ชอบอ่านหรือฟังเรื่องประวัติศาสตร์    ไปประชุมคราวนี้ได้รับแจกเอกสารประกอบ การประชุมมา ๒ เล่ม หนา ๒๓๙ หน้าเล่มหนึ่ง    อีกเล่มหนึ่งหนา ๓๓๑ หน้า    ซึ่งต่อไปก็จะมีการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือ

ดร. เตช บุนนาค นักประวิติศาสตร์อาวุโสของประเทศไทย กล่าวในตอนท้ายของการประชุมว่า    ผลงานวิจัยนี้มีคุณประโยชน์ต่อการเข้าสู่ AEC อย่างยิ่ง    เพราะจะช่วยให้เรารู้จักและเข้าใจประเทศในอาเซียนดีขึ้น    ท่านกระซิบว่า ในสายตาของท่าน ดร. วินัย และ รศ. ดร. ธีรวัต ณ ป้อมเพชร (ที่มานำเสนอในตอนเย็นวันนี้) เป็นนักประวัติศาสตร์ที่เด่นที่สุดในประเทศไทย

ดร. วินัย เป็นนักประวัติศาสตร์ที่เน้นการวิจัยเอกสารชั้นต้น    ได้นำเสนอผลการวิจัยเลือดรักชาติ ต่อต้านการครอบงำของต่างชาติ ของเวียดนาม     ให้เห็นว่า บ่มเพาะมาจากการตกอยู่ใต้อิทธิพลจีนเป็นเวลา ๑ พันปี    แล้วตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส  และรบกับอเมริกาในเวลาต่อมา    แรงบีบคั้นทางการเมือง ทำให้คนเวียดนามเป็นนักสู้     ดร. วินัยยังไม่ได้เอ่ยถึงธรรมชาติของการถูกพายุไต้ฝุ่นลูกแล้วลูกเล่าในแต่ละปี    ที่มีส่วนสร้างบุคลิกนักสู้ ของคนเวียดนาม    เพราะนักประวัติศาสตร์อาจไม่รวมเอาปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และลมฟ้าอากาศ เข้าไปในเรื่องทาง ประวัติศาสตร์

แต่ผมมองว่า ศาสตร์ต่างๆ ต้องมีพลวัต    และยุคปัจจุบันต้องบูรณาการศาสตร์ให้มากที่สุด    เพื่อให้เข้าใกล้ “ความจริง” ให้มากที่สุด    การแยกส่วนความรู้ แยกเป็นศาสตร์ที่ซอยย่อย เป็นวิธี “แบ่งแยกเพื่อให้เข้าใจง่าย”     ดีสำหรับอดีต    แต่ปัจจุบันเราซอยย่อยมากเกินไป จนไม่เข้าใจภาพใหญ่    และสมัยนีเรามีเครื่องมือ ICT ช่วยการบูรณาการ    การบูรณาการศาสตร์จะช่วยให้เราทำความเข้าใจได้ ทั้งแนวลึกและแนวกว้าง     ช่วยให้เกิดปัญญา และมองเห็นได้ใกล้ “ความจริง” เข้าไป

ยุคที่ผ่านมา ศาสตร์ต่างๆ ยึดหลัก anthropocentric  คือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง     เวลานี้เรารู้แล้วว่ากระบวนทัศน์เช่นนี้ทำให้เรามีโลกทัศน์แคบ    จริงๆ แล้วมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ทั้งหมด” (the whole)    หรือเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

ในสายตาของผู้ไม่รู้อย่างผม ประวัติศาสตร์สมัยใหม่จึงน่าจะลดธรรมชาติ anthropocentric    เคลื่อนสู่ประวัติศาสตร์แนว “ภาพรวมนิยม” หรือ “holistic” (ผมคิดตั้งขึ้นเอง ไม่ยืนยันความถูกต้อง)

ความสนุกของผมในเรื่องวิชาการ คือหาทางคิดนอกกรอบ    ว่าวิชาการหรือศาสตร์ต่างๆ ควรแหวกแนว ออกไปจากจารีตเดิมอย่างไร    โดยไม่ลืมว่า ผลของการคิดแนวนี้ผิดมากกว่าถูก    แต่ผมเชื่อว่า มันจะนำไปสู่ ความก้าวหน้าทางวิชาการ    มิฉนั้น วงการวิชาการไทยจะย่ำเท้าอยู่กับที่

ไหนๆ ก็จินตนาการไปไกลแล้ว    ขอเลื่อนเปื้อนต่ออีกนิด

ดร. วินัยบอกผมว่า ท่านกำลังจะจัดทีมทำวิจัยประวัติศาสตร์การศึกษา     เพราะการศึกษาไทย มันล้าหลังเหลือเกิน     ผมดีใจจนเนื้อเต้น และบอกท่านว่า ผมสนใจมาก และจะจัดเวลาเข้าร่วมกระบวนการ ในฐานะคนนอกวงวิชาการประวัติศาสตร์ แต่สนใจเรื่องการศึกษา

กลับมาไตร่ตรองต่อที่บ้าน ผมคิดว่าสังคมไทยเราขาดวัฒนธรรมเรียนรู้ แบบที่มีการจัดระบบ มีการให้คุณค่าของระบบการเรียนรู้ของสังคม    ดังจะเห็นว่าระบบจดบันทึกเรื่องราวของบ้านเมือง ของจีนและของประเทศตะวันตก ดีกว่าของไทยอย่างเทียบกันไม่ติดเลย    คือเราเป็นวัฒนธรรมมุขปาฐะ ไม่ใช่วัฒนธรรมจดบันทึก    และไม่มีวัฒนธรรมวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องราวของบ้านเมือง    เพราะเกรงใจกัน เกรงจะกระทบกระเทือนตัวบุคคล หรือกระทบกระเทือนผู้สืบสกุล     การรวบรวมข้อมูลของบ้านเมือง เอามาวิเคราะห์ถกเถียงเพื่อเป็นบทเรียนไม่ให้ทำผิดพลาดซ้ำ    หรือเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการสร้างสรรค์ ในอนาคต จึงเกิดขึ้นยาก

ในฐานะที่เป็นผู้สูงอายุ เกี่ยวข้องกับวงการอุดมศึกษามาเกือบครึ่งศตวรรษ    ผมคิดว่า ควรมีการศึกษา ประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษา     เรื่องใหญ่ๆ ในบ้านเมืองทุกเรื่อง เมื่อเวลาผ่านไป ๓๐ ปีขึ้นไป ควรมีการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น

จำได้ว่า เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๐ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานจัดการประชุม COHRED เรื่อง  International Conferenceon Health Research for Development ที่โรงแรมแชงกริลา    มีคนมาประชุมจากทั่วโลก ๘๐๐ คน    ผมโชคดีมาก ได้รับเชิญเข้าร่วมด้วย    รายการวิจัยที่ผมประทับใจที่สุดคือ การวิจัยประเมิน การลงทุนสนับสนุนการวิจัยด้านสุขภาพ ของ USAID   มีศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์เป็นนักวิจัย    ผมประทับใจมากที่ท่านนำเสนอโดยใช้คำศัพท์ต่างๆ คล่องแคล่วเหมือนคนในวงการสุขภาพ    และเข้าใจระบบ สุขภาพลึกซึ้งมาก    ที่สำคัญคือท่านใช้ระเบียบวิธีวิจัยด้านประวัติศาสตร์ในงานวิจัยประเมินผล

สรุปว่า ผมอยากเห็นทีม ดร. วินัยทำวิจัยประวัติศาสตร์การศึกษาของไทย

กลับมาที่เรื่องเวียดนาม    จากการฟังการนำเสนอของ ดร. วินัย ผมได้ความรู้ว่าสังคมเวียดนามเป็นสังคม ที่ถือสายแม่เป็นใหญ่ คือสืบสมบัติ โดยเฉพาะการถือครองที่ดินผ่านทางสายแม่ หรือสายผู้หญิง    ตรงข้ามกับจีน ที่ถือสายพ่อ หรือผู้ชาย เป็นใหญ่

ไม่ทราบว่า เป็นเพราะอารมณ์ชุมนุมต่อสู้ทางการเมืองหรือเปล่า ที่ทำให้ ดร. วินัยตั้งชื่อบทความ ของท่านว่า เอกภาพ เอกรัฐ อัตลักษณ์ และอัครบุรุษ กับเอกสารประวัติศาสตร์ชั้นต้นของเวียดนาม : คำประกาศ ปลุกขวัญทหารของจันฮุงเดาเวือง และ บิ่ญโงได่ก๊าว หรือมหาประกาศพิฆาตสยบหวู ท่านกล่าวในที่ประชุม ว่าคุณสุเทพควรศึกษาสุนทรพจน์ของจันฮุงเดา เอาไปร่างคำประกาศของ กปปส.    แต่ผมนึกในใจว่า คุณสุเทพควรเชิญ ดร. วินัย ไปเป็นทีมที่ปรึกษาวิชาการ

ข้อเรียนรู้สำคัญของผมอีกอย่างหนึ่งคือ ภาษาเวียดนามมีวรรณยุกต์ถึง ๘ ระดับเสียง    ในขณะที่ของไทย เรามี ๕ ก็นับว่ามากอยู่แล้ว    มิน่า เวลาฟังคนเวียดนามพูดเรารู้สึกว่ามีเสียงสูงๆ ต่ำๆ มาก

ผมได้รู้จักรัฐในหลายยุค คือ รัฐโบราณ  รัฐจารีต

รัฐโบราณ ขอบเขตอาณาจักรไม่ชัดเจน    ปกครองแบบกระจายอำนาจ    และพลังอำนาจอยู่ที่จำนวน ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินมากกว่าขอบขัณฑสีมา     ในขณะที่รัฐจารีตปกครองแบบอำนาจรวมศูนย์    รัฐโบราณที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉัยงใต้คือ พุกาม  พระนคร (เขมร)  และมัชปาหิต (หมู่เกาะอินโดนีเซีย)    ดำรงอยู่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑ - ๑๕    และรัฐจารีตดำรงอยู่ในช่วงคริสตศตวรรษที่ ๑๕ - ต้นศตวรรษที่ ๑๙    ซึ่งตรงกับช่วงที่ชาติตะวันตกเข้ามา

ผมได้เรียนรู้ว่า วัฒนธรรมการปล้นสะดม ในสมัยก่อนถือเป็นเรื่องปกติ    เพราะเป็นยุค might is right ไม่มีใครเถียงได้    ไม่ว่าปล้นสะดมทางบกหรือทางทะเล    รวมทั้งวัฒนธรรม “ลักควาย” ของทางใต้ของประเทศไทยด้วย    ดังนั้นเรื่องโจรสลัดในหมู่เกาะ RiauArchipelago ทางใต้ของสิงคโปร์ในยุคนั้น จึงเป็นเรื่องปกติ    จากความร่วมมือระหว่างชาวเล ที่เรียก ออรัง ลาอุ๊ด กับสุลต่าน    ปล้นสะดมทั้งสินค้าในเรือ และจับคนไปขาย

ผมได้เรียนรู้ว่า ชาติแรกที่เข้ามาในเอเซียคือโปรตุเกส   เพราะพระปรีชาสามารถเห็นการณ์ไกล ของกษัตริย์และราชินี    แต่ก็อยู่ได้แค่ ๓๐ ปี เพราะเป็นชาติเล็ก พลเมืองน้อย    และใช้การจัดการแบบรวมศูนย์คือผูกขาดโดยราชสำนัก    จึงสู้ฮอลันดา ที่มีบริษัท VOC เป็นกลไกไม่ได้    มีการจัดการแบบกระจายอำนาจ และมีหลายหุ้นส่วน    บริษัท VOC เป็น MNC (Multi-National Corporation) แห่งแรกของโลก    แต่ก็หนีอนิจจังไม่พ้น คือล้มละลายในที่สุด

การเข้ามาของตะวันตกในสมัยรัฐจารีต ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าตื่นตาตื่นใจ คือสังคมลูกผสม    ซึ่งเด่นที่สุดที่มะละกา และสิงคโปร์ก็จัดพิพิธภัณฑ์เปอรานากันไว้ให้คนได้เรียนรู้

วันที่ ๑๓ ก.พ. ๕๗ ลูกชายเอาหนังสือ ถอดรื้อมายาคติมาให้อ่าน    ในบทที่ ๒ ดร. เสกสรร ประเสริฐกุล เขียนเรื่อง มายาคติว่าด้วยชาติ และกล่าวว่ารัฐจารีตมีลักษณะ ๕ ประการ คือ  (๑) ไม่มีพรมแดนชัดเจน  (๒) รัฐกับสังคมไม่แยกขาดจากกัน  (๓) รัฐเป็นเครือข่ายของศูนย์อำนาจใหญ่-เล็ก  (๔) ไม่มีความยึดถือหรือรังเกียจ เรื่องชาติพันธุ์  (๕) รัฐมีบทบาทจำกัดมาก

ดร. เสกสรร กล่าวเช่นเดียวกันว่า รัฐจารีตไทยเป็นรัฐคุมกำลังคน ต่างจากรัฐยุโรปที่เน้นคุมเขตแดน หรือพื้นที่     ท่านยังกล่าวอีกว่า การปรับตัวของรัฐไทยจากรัฐจารีตสู่รัฐสมัยใหม่    ไม่ได้เปลี่ยนแบบถอนราก ถอนโคน    รัฐไทยสมัยใหม่จึงยังมีความเป็นจารีตอยู่มาก

 

วิจารณ์ พานิช

๗ ก.พ. ๕๗  ปรับปรุง ๑๓ ก.พ. ๕๗

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2014 เวลา 21:09 น.  
Home > Articles > การศึกษา > ชีวิตที่พอเพียง : ๒๑๑๒. ไปเรียนรู้ประวัติศาสตร์

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8740265

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า