Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๖. ความเป็นเลิศหลากแนว

พิมพ์ PDF

ความเป็นเลิศหลากแนว

ในเวลาที่จำกัด และไปเพียง ๔ มหาวิทยาลัย     เราไปเห็นขบวนการ สู่ความแตกต่าง” (differentiation) ของแต่ละมหาวิทยาลัย อย่างชัดเจน

แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด จุดเด่น” ที่ตนเองบรรลุได้   แล้วฟันฝ่าเพื่อบรรลุ    และสื่อสารกับสังคม ว่าตนเด่นด้านใด

ผมมองว่า นี่คือหนทางแห่งความอยู่รอด และอยู่ดี ของมหาวิทยาลัยในอังกฤษ    ที่รัฐบาลกำหนดให้เดิน    และมีวิธีจัดการเชิงระบบ ให้เดินในแนวทางนี้    ไม่ใช่แนวทางโฆษณาจอมปลอม    ไม่ใช่แนวทางเพื่อปริญญา ที่ได้มาโดยง่าย

มหาวิทยาลัย Northamton ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีอายุไม่ถึง ๑๐ ปี ระบุในเอกสารแนะนำมหาวิทยาลัย หัวข้อ Awards and Achievements  ว่าเขาเน้นที่การพัฒนาประสบการณ์ของนักศึกษา    ซึ่งส่งผลให้เขา ประสบความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจคือ

· อันดับ ๑ ในสหราชอาณาจักร ด้าน “value added”

· อันดับ ๑ ในสหราชอาณาจักร ด้านการมีงานทำของบัณฑิต

· ได้รับรางวัล UK Midlands Enterprising University of the Year 2012 และ 2013

· ก้าวหน้าเร็วในทุก UK university league table

· ได้รับรางวัล ‘Outstanding HEI Supporting Entrepreneurship’ ของ UnLtd/HEFCE

· เป็นมหาวิทยาลัยแรกในสหราชอาณาจักรที่ได้รับยกย่องให้เป็น ‘Changemaker Campus’ ของ AshokaU

· Cliff Prior, Chief Executive, UnLtd กล่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2013 ว่า มหาวิทยาลัย นอร์ธแทมตัน เป็นมหาวิทยาลัยผู้นำในสหราชอาณาจักรในด้านผู้ประกอบการสังคม  เป็นผู้นำที่ทิ้งห่าง”  

มหาวิทยาลัย แอสตัน ซึ่งเพิ่งยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อปี ค.ศ. 1966 ยังไม่ครบ ๕๐ ปี    ระบุในเอกสารแนะนำความเป็นเลิศด้านต่างๆ ดังนี้

· เน้นการศึกษาด้าน business และ profession

· คำขวัญ Employable graduates, Exploitable research”

· เขานำถ้อยคำ ใน นสพซันเดย์ ไทม์ส แอสตันผลิตบัณฑิตที่ตลาดเสาะหา    บดบังรัศมีมหาวิทยาลัยแบบอ็อกซฟอร์ด” มาเสนอ    บอกความเป็นเลิศด้านการผลิตบัณฑืตของเขา

· นสพ. ซันเดย์ ไทม์ส ยากที่จะหามหาวิทยาลัยใดที่จะเทียบ แอสตัน ในความพยายามรับใช้ธุรกิจและอุตสาหกรรม

· การมี นศมาจากหลากหลายประเทศ (๑๒๐เป็นสินทรัพย์อย่างหนึ่งในการพัฒนานักศึกษา    ช่วยให้ นศเข้าใจคนในต่างภาษาต่างวัฒนธรรม    และที่สำคัญ ได้เพื่อน สำหรับความร่วมมือในอนาคต

· เป็นมหาวิทยาลัย “Top 10” ในการผลิตเศรษฐี (เดลีย์ เทเลกราฟ ๒๐๑๒)

· มีผลงานวิจัยหลายชิ้น ไปสู่ธุรกิจ และสร้างรายได้ โดยเฉพาะด้านยา   สะท้อนความเข้มแข็งในวิชาการ ด้านชีวการแพทย์    ที่ นศ. จะได้รับประโยชน์

· ระบุความเป็นเลิศด้านกระบวนการเรียนรู้ ไว้ในเอกสาร Learning and Teaching Strategy 2012 – 2020 อย่างน่าสนใจมาก

มหาวิทยาลัย อ็อกซฟอร์ด ไม่ต้องโฆษณา ใครๆ ก็อยากเข้าเรียนอยู่แล้ว    แต่เขาก็ต้องปรับปรุง พัฒนาตัวเอง    เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระยะยาว โดย

· พัฒนาการเรียนการสอน ให้สอดคล้องกับยุคสมัย    โดยตั้ง Oxford Learning Institute ขึ้นมาขับเคลื่อน

· ผมตีความจากการอ่าน Strategic Plan 2013 – 2018 ว่าเขาย้ำจุดยืน “independent scholarship & academic freedom”   เป็นการบอกอย่างแนบเนียนว่า นศ. ที่เข้า อ็อกซฟอร์ด ก็เพื่อคุณค่าต่อชีวิตในระดับนี้    ไม่ทราบว่าผมตีความถูกหรือไม่

UCL ก็เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีชื่อเสียง   แต่อยู่ในลอนดอน ซึ่งมีปัญหาหลายด้านในฐานะมหานคร เก่าแก่    ความเป็นมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่มีผลงานและชื่อเสียง    และตั้งอยู่ในลอนดอนเป็นโอกาสอย่างยิ่ง ในการสร้างความเป็นเลิศ   โดย UCL เน้นที่

· เป็น Global University   และดำรงความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อคนทุกสถานะทางสังคม ตามปณิธานของการก่อตั้งเมื่อเกือบ ๒๐๐ ปีก่อน และมีความเป็นเลิศด้านการวิจัยในขั้น discovery หรือ basic research    ดังเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย ที่นี่

· สร้างความเป็นผู้ประกอบการ และผู้ประกอบการทางสังคม ตามในบันทึกตอนที่ ๕

· สร้างจิตอาสา หรือจิตสาธารณะ   ดังใน เว็บไซต์

ความเป็นเลิศด้านวิชาการโดดๆ  กำลังถูกท้าทายโดย ความเป็นเลิศในการสร้างคุณค่าให้แก่นักศึกษา”  ทุกมหาวิทยาลัยต้องทำความชัดเจน    ดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น   และสื่อสารเป้าหมายและผลสำเร็จ ต่อสังคม

ผมขอเสนอว่า ประเทศไทยต้องมีการจัดการเชิงระบบ    เพื่อขับเคลื่อนความเป็นเลิศหลากแนวของ สถาบันอุดมศึกษาของประเทศ    เพื่อใช้เป็นกลไกสร้างความกระตือรือร้นมีชีวิตชีวา ในวงการอุดมศึกษา     โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักศึกษาและอาจารย์    ในการทำงานสร้างสรรค์ให้แก่ประเทศ    วิธีการที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นวิธีการที่ผิด เพราะเน้นการควบคุม-สั่งการ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ก.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 23:25 น.
 

GotoKnow ขอทดลองหารายได้เลี้ยงตัวเองด้วย Google AdSense

พิมพ์ PDF

โครงการ GotoKnow ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ในงวดปี 2554-2557 กำลังจะหมดโครงการภายในหกเดือนนี้ค่ะ

พอจะใกล้ทุนหมดครั้งหนึ่งๆ ก็เปิดโอกาสให้ทีมงานได้มาคิดวางแผนที่จะหาทุนสนับสนุนในการดำเนินงานของ GotoKnow และเว็บอื่นๆ ในโครงการ ได้แก่ ClassStart, L3nr (เดิมชื่อ Learners.in.th), และ Wonkdy Academy (ที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้) ค่ะ

GotoKnow ให้บริการใกล้จะครบสิบปีแล้วภายในอีกไม่กี่เดือนนี้ โดย GotoKnow เป็นเว็บอันดับ 1-2 ด้านการศึกษาของไทย โดยมี L3nr อยู่ในอันดับที่ 3-5 ซึ่งในอันดับทั้งหมดของเว็บไซต์ไทยที่จัดอันดับโดย TrueHits.net ของ สวทช. โดย GotoKnow คือเว็บไซต์ที่ให้บริการโดยหน่วยงานภาครัฐที่มีอันดับดีที่สุดค่ะ

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานั้น GotoKnow ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างดียิ่งด้วยองค์กรที่สนับสนุนเห็นในคุณค่าของบันทึกที่สมาชิกช่วยกันแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ แง่มุม แนวคิด เพื่อถ่ายทอดให้เป็นประโยชน์แก่สังคมค่ะ

อย่างไรก็ตามการจะหางบประมาณดำเนินงานทุกรอบนั้นก็มีประเด็นท้าทายอยู่เสมอค่ะ เพราะหน่วยงานแต่ละหน่วยก็ย่อมมีนโยบายและแผนการสนับสนุนโครงการที่เป็นของตัวเอง ซึ่ง GotoKnow ก็ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับนโยบายเหล่านั้นค่ะ

ยิ่งกว่านั้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ประเทศไทยเราก็ประสบปัญหาภายในประเทศดังที่เราได้ทราบกันอยู่ ซึ่งส่งผลทำให้หน่วยงานให้ทุนสนับสนุนหลายหน่วยงานไม่สามารถดำเนินการตามนโยบายการให้ทุนได้ค่ะ

เพื่อให้ GotoKnow สามารถให้บริการอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป ทีมงานจึงคิดว่า GotoKnow ควรสามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเองเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการขึ้นอยู่กับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานให้ทุนเพียงอย่างเดียวค่ะ ซึ่งทีมงานก็ได้ขอปรึกษา ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และท่านก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรทำโดยให้มีแนวทางเพื่อไปสู่การเป็นองค์กรกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ค่ะ

เมื่อวางแผนหารายได้เลี้ยงตัวเองแล้ว การจะหารายได้แบบไหนนั้นก็เป็นโจทย์ต่อไป ซึ่งวิธีการหารายได้นั้นมีหลากหลายมากค่ะ บางอย่างก็กระทบกับสมาชิกมาก บางอย่างก็กระทบกับสมาชิกน้อย แต่นโยบายที่สำคัญของ GotoKnow ก็คือจะให้การหารายได้เลี้ยงตัวเองนั้นกระทบต่อสมาชิกน้อยที่สุดค่ะ ดังนั้นสิ่งใดที่จะส่งผลต่อสมาชิกมาก (อาทิเช่น การขายหรือใช้ข้อมูลส่วนตัวของสมาชิก) เราจะไม่ทำเด็ดขาดค่ะ เพราะแม้เราจะต้องการหารายได้เพื่อจ่ายในค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็จริง เช่น ค่าเครื่องแม่ข่าย ค่าพัฒนาและดูแลระบบ ค่าประชาสัมพันธ์ ค่าดูแลจัดการชุมชน เป็นต้น แต่ GotoKnow ไม่ได้เป็นเว็บเพื่อแสวงหากำไรทางการค้าค่ะ

การหารายได้ที่ดำเนินการได้ง่ายที่สุดก็คือการรับโฆษณาผ่าน Google AdSense ค่ะ เพราะไม่ต้องติดต่อกับผู้ที่จะลงโฆษณาโดยตรงและสิ้นเดือนก็จะได้รับเงินโอนผ่านธนาคารเลย สำหรับทีมงานประจำที่มีจำนวนคนน้อยอย่างทีม GotoKnow นั้นน่าจะเป็นสิ่งที่สะดวกที่สุด ดังนั้นจึงเป็นรูปแบบแรกสุดที่จะขอทดลองค่ะ

ส่วนรายได้ที่ได้มานั้นจะเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายต่างๆ หรือไม่นั้นก็เป็นโจทย์ที่ต้องทดลองกันต่อไปค่ะ หากรายได้จากโฆษณา AdSense เพียงพอและไม่กระทบต่อสมาชิกมากนักก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่หากไม่ได้เป็นตามนั้นก็คงต้องทดลองรูปแบบอื่นต่อไปค่ะ

อย่างไรก็ตามโอกาสที่รายได้จะเพียงพอนั้นมีความเป็นไปได้มากค่ะ เพราะในช่วงที่ผ่านมาทีมงานได้พยายามบริหารจัดการโดยให้มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่าที่เป็นไปได้ค่ะ เรียกได้ว่าเราฝึกวิชา Lean Management กันเต็มที่ค่ะ

ทีมงานจึงขออนุญาตสมาชิกทุกท่านที่จะทดลองรูปแบบการหารายได้เลี้ยงตัวเองโดยการรับโฆษณาผ่าน Google AdSense ดังที่สมาชิกจะเห็นในหน้าบันทึกจากนี้ต่อไปค่ะ โดยทีมงานจะขอใส่โฆษณาเพียงอันเดียวขนาด 300x250 pixels ในหน้าบันทึกโดยจะอยู่ด้านล่างของเนื้อหาค่ะ

สาเหตุที่เลือกขนาดนี้และจุดวางโฆษณาเช่นนี้เพราะในช่วงเดือนที่ผ่านมาทีมงานได้ทดลองหารูปแบบในการจัดวางและพบว่าจุดนี้น่าจะเป็นจุดที่สามารถทำรายได้ได้ดีโดยน่าจะกระทบต่อสมาชิกน้อยที่สุดค่ะ

หากสมาชิกมีคำแนะนำใดๆ ทีมงานยินดีอย่างยิ่งที่จะรับฟังค่ะ ความเห็นจากสมาชิกคือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ GotoKnow ให้บริการได้ต่อไปในฐานะเป็นคลังความรู้และเป็นชุมชนเครือข่ายคนทำงานของไทยอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในอนาคตค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 13:07 น.
 

คำนำ หนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร

พิมพ์ PDF

คำนำ

หนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร

 

……………

 

หนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร เป็นการรวบรวมบันทึกใน บล็อก www.gotoknow.org/council ชุดการเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร    ที่ผมตีความจากการอ่านหนังสือ How Learning Works : 7 Research-Based Principles for Smart Teaching  เขียนโดยSusan A. Ambrose, Michael W. Bridges, Michele DiPietro, Marsha C. Lovett, Marie K. Norman   ลงใน บล็อก สัปดาห์ละ ๑ ตอน   รวม ๑๖ ตอน   ตั้งแต่วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๕ ถึงวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๖

เมื่อคุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล แจ้งว่า มูลนิธิสยามกัมมาจล มีความประสงค์ จะรวบรวมบันทึกชุดนี้พิมพ์เป็นเล่มออกเผยแพร่ ผมก็มีความยินดี   เพราะผมคิดว่าสาระในหนังสือเล่มนี้ มีคุณค่าสูงมาก    เป็นการเปิดโลกทัศน์ใหม่ๆ เกี่ยวกับกลไกการเรียนรู้ ที่ไม่เป็นที่เข้าใจกันแพร่หลาย    โดยที่ หนังสือเล่มนี้ได้จากการสังเคราะห์ความรู้จากผลการวิจัยกว่าหนึ่งพันเรื่อง    นำมาเสนอเป็นหลักการสำคัญ ที่ชัดเจนมาก ๗ ประการ ดังปรากฏในหนังสือเล่มนี้

อย่างไรก็ตาม บันทึกที่ผมเขียนนั้น เขียนแบบตีความจากการอ่านหนังสือ   มีหลายส่วนผมใส่ความเห็น ของตนเองเข้าไปด้วย   และไม่ได้แปลสาระในหนังสือทั้งหมด    การอ่านหนังสือ การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร เล่มนี้ จึงไม่ทดแทนการอ่านหนังสือ How Learning Works : 7 Research-Based Principles for Smart Teaching โดยตรง    และทราบว่า สำนักพิมพ์ Open World กำลังดำเนินการแปลหนังสือเล่มนี้อยู่ในขณะนี้

หลักการสำคัญของการเรียนรู้ คือต้องเรียนให้รู้จริง (mastery)    รวมทั้งเห็นคุณค่าของการเรียนรู้นั้น ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้การเรียนรู้ ในขั้นตอนต่อๆไป เป็นเรื่องสนุก และรู้สึกปิติจากการได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น   ในทางตรงกันข้าม หากเรียนแล้วรู้ แบบผิวเผิน ไม่รู้จริง การเรียนรู้ในขั้นตอนต่อไปจะยาก ไม่สนุก แต่เป็นความ ทุกข์ทรมาน    ทำให้นักเรียนทอดทิ้งการเรียนไปทำอย่างอื่นที่สนุกกว่า    และในที่สุดก็ออกจากการเรียน โดยยังเรียนไม่จบ

เป้าหมายที่สำคัญของการเรียนรู้ ที่สำคัญยิ่งกว่าการมีความรู้ คือการบรรลุภาวะที่กำกับการเรียนรู้ ของตนได้ (self-directed learner)   ซึ่งหมายความว่า ผู้นั้นเข้าใจวิธีการเรียนรู้ของตน และสามารถปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของตนให้เหมาะสม หรือดียิ่งกว่าเดิมได้    รายละเอียดมีอยู่ในหนังสือเล่มนี้ แล้ว

หนังสือที่มาจากการรวบรวมบันทึกใน บล็อก ที่เขียนเป็นตอนๆ    มีข้อจำกัดที่ความต่อเนื่อง    และเนื่องจากเป็นการเขียนแบบตีความ   โดยผู้เขียนที่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านการศึกษา    ท่านผู้อ่านจึงพึงอ่าน หนังสือเล่มนี้อย่างมีวิจารณญาณ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑ กันยายน ๒๕๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 21:31 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๖. เที่ยวลอนดอน

พิมพ์ PDF

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๖. เที่ยวลอนดอน

เป็นการเที่ยวกับคณะดูงานของสถบันคลังสมองฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๘.๕๖ โดยไป ๓ ที่เท่านั้น  คือ  ชม State Rooms 19 ห้อง ที่ Buckingham Palace, ร้านอาหาร The Victoria Pub, และ Jubilee Garden และ London Eye Millenium Pier  ในช่วงเวลาประมาณ ๖ ชั่วโมง หลังลงจากเครื่องบิน   หลังจากนั้นก็นั่งรถโค้ชต่อไปเมื่อง Northampton ระยะทาง ๑๑๓ ก.ม. ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง

ผมไม่ได้ไปลอนดอนประมาณ ๑๕ ปี    ไปทีไรสภาพบ้านเมืองก็เหมือนๆ เดิม เพราะเขามีนโยบายอนุรักษ์ตึกเก่า    แต่ไปคราวนี้เห็นการก่อสร้างมากขึ้น    มีการรื้อตึกเก่าสร้างตึกใหม่มากขึ้นอย่างเตะตา    แต่การก่อสร้างก็ไม่มากเท่าในเยอรมัน และในสิงคโปร์

เครื่องบิน TG 910 ถึงสนามบิน Heathrow ตรงเวลา ๗.๑๕ น.   กว่าจะรวมพลขึ้นรถบัสรถออจากสนามบิน ๙.๐๐ น.   ไปถึงพระราชวังตรงเวลานัด ๙.๔๕ น.   ที่เป็นรอบเข้าชม   มีคนเข้าคิวรออยู่มากมาย    ราคาตั๋วของเราเป็นอัตราผู้สูงอายุ (เกิน ๖๕) ๑๕.๗๕ ปอนด์    พอเข้าไปก็ไปรับ Audio Guide ซึ่งใช้ง่าย สะดวกมาก   คำอธิบายชัดเจน   ว่าส่วนนี้ของวังเป็นส่วนที่พระราชินี เอลิซาเบธ ใช้ต้อนรับแขกเมือง    มี ๑๙ ห้อง    วิจิตรตระการตามาก   ที่ห้องหนึ่งมีโต๊ะนโปเลียน ที่เป็น porcelain ที่ใช้เวลาทำถึง ๖ ปี   เพราะต้องเคลือบสีแล้วอบ ซ้ำแล้วซ้ำอีก   ไฟระย้าก็งดงามมากทุกห้อง    และที่ห้องภาพวาด มีภาพวาดที่สวยงามกว่าที่ไหนๆ ที่เคยชมมา    เขาห้ามถ่ายภาพ  บอกว่าภาพเหล่านี้มีให้ชมที่ www.royalcollection.org.uk

ใช้เวลาชมไม่ถึงชั่วโมงก็จบ   ทางออกเข้าสู่สวน ผ่านร้านขายของที่ระลึก    ออกเดินผ่านสวนไปที่ ทางออก Grosvenor Place    ตอนเดินผ่านสวนผมได้ถ่ายภาพดอกไม้และวิวงามๆ มากมาย

จากทางออกเดินเลียบริมรั้ววัง ไปไกล เพื่อขึ้นรถ    สังเกตว่ารั้ววังต้องติดเหล็กขวาก และต่อลวดหนามขึ้นไปสูงมาก   รวมทั้งมีกล้องวิดีโอเป็นระยะๆ    และมีป้ายติดที่กำแพงว่า การมาเดินในยามวิกาลที่ริมกำแพงนี้มีโทษตามกฎหมาย    เพราะว่ามีคนบ้องๆ ที่ชอบเป็นข่าว พยายามปีนกำแพงนี้บ่อยๆ

ที่ตั้งวังบั๊กกิ้งแฮม ดูเป็นส่วนหนึ่งของเมืองลอนดอนส่วนอื่นๆ อย่างไม่แบ่งแยกชัดเจน   นอกจากกำแพงที่ทำแน่นหนา    แต่ก็ไม่มีคูน้ำ หรือการประดับประดารอบวัง ที่แสดงความศักดิ์สิทธิ์ อย่างทางตะวันออก

ร้านอาหาร Victoria Pub เปิดเที่ยงตรง    และเมื่อเราไปนั่ง ก็รอนานจนคนเริ่มบ่น   แต่เมื่ออาหารมาทุกคนก็ชมว่าอร่อย   เป็นอาหาร ๒ รายการ คือจานหลักกับของหวาน   จานหลักมีหลายอย่าง   ผมกินปลาค้อด (Pan roasted cod supreme, chorizo, confit potatoes, peppers, spinach, pine nuts)  อร่อยและไม่หนักเกิน   ส่วนของหวานก็มีหลายอย่าง ผมสั่ง Strawberry sundae อร่อยมาก   สรุปแล้วทั้งของหวานของคาวอร่อยทุกอย่าง    ไม่มีคนบอกว่าไม่อร่อยสักคนเดียว    ผมถามว่าใครแนะนำ ดร. นงเยาว์ ตอบว่า ศ. ดร. ปิยะวัติ บุญ-หลง

แล้วรถพาข้ามแม่น้ำเทมส์ไปปล่อยลงที่ Jubilee Gardens ซึ่งน่าจะแปลว่าสวนเฉลิมพระเกียรติ ครองราชย์ ๖๐ ปี   เพิ่งเปิดเมื่อเดือนตุลาคม ปีที่แล้ว    เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่ดีมาก   มีคนมาแสดงหลายอย่าง    ผมเดินข้ามสะพาน Hungerford Footbridge ไปอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำเทมส์   ไปพบสวน Whitehall Gardens    เป็นสวนขนาดเล็ก ที่มีต้นไม้และดอกไม้สวยงามมาก

จากสะพาน Hungerford ถ่ายภาพแม่น้ำ เทมส์ และลอนดอน อาย ได้สวยงาม

วันที่ ๑๓ ก.ย. ตอนบ่าย มีเวลาชั่วโมงเศษๆ    ที่สมาชิกในคณะส่วนใหญ่ไปซื้อของ   ผมกับ รศ. ดร. บุญเจริญ ศิริเนาวกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ.   ไปชม British Museum โดยมีหนูตาว นศ. PhD MD มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ไปทำวิจัยเรื่องไข้เลือดออก ที่มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล เป็นไกด์ นำทางด้วยไอโฟน   จึงพบว่า ระบบนำทางด้วยไอโฟนในลอนดอน เขามีให้เลือกว่าจะเดินทางด้วยรถยนต์  รถใต้ดิน  รถเมล์  หรือเดิน   สะดวกจริงๆ

เนื่องจากมีเวลาที่พิพิธภัณฑ์เพียง ๑๕ นาที   จึงไม่มีเรื่องจะเล่า    นอกจากบอกว่ามันใหญ่โตมโหฬารมาก    น่าไปชมมาก โดยสิงห์พิพิธภัณฑ์ต้องจัดเวลาสัก ๒​ ๓ วัน จึงจะชมได้ทั่ว    และในตอนที่ผมไปเดิน คนมาชมแน่นมาก    ต่างจากที่เบอร์มิงแฮม มีคนชมไม่กี่คน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๙ ก.ย. ๕๖

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 21:52 น.
 

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑. มาตรฐานอาจารย์สอนมืออาชีพ

พิมพ์ PDF

มหาวิทยาลัยอังกฤษ : ๑. มาตรฐานอาจารย์สอนมืออาชีพ

ผมร่วมคณะศึกษาดูงานของสถาบันคลังสมอง ไปสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๘ ๑๓ ก.ย. ๕๖   โดยมีเป้าหมายในใจว่า ต้องการไปดูว่าการทำหน้าที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยของอังกฤษ ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลง อย่างไรบ้าง เพราะอะไร เขามีการจัดระบบการทำงานอย่างไร

เอกสารชิ้นหนึ่งที่ได้รับ  ให้อ่านก่อนเดินทางคือ The UK Professional Standards Framework for teaching and supporting learning in higher education, 2012 (UKPSF)  ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็รู้ทันทีว่า มีความพยายามพัฒนากรอบมาตรฐานการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์ ๕ ประการ

๑. เพื่อสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรที่ทำหน้าที่สอนและสนับสนุนการเรียน   ทั้งพัฒนาบุคลากรใหม่ และพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง

๒. ส่งเสริมพลวัตของการเรียนรู้   ผ่านการสร้างสรรค์  นวัตกรรม  และการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง   ในหลากหลายบริบททางวิชาการ

๓. แสดงความเป็นมืออาชีพในด้านการเรียนการสอน

๔. ให้ความมั่นใจในความหลากหลายและคุณภาพของการเรียนการสอน  ที่นักศึกษาได้รับ

๕. ส่งเสริมให้บุคคลและสถาบันได้รับการรับรอง ว่ามีการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพให้แก่นักศึกษา    โดยรวมทั้งผ่านการทำหน้าที่อื่นที่กว้างกว่าการสอน เช่นการวิจัย และงานบริหาร

 

 

กรอบมาตรฐานนี้ ประกอบด้วย ๓ ส่วนที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  คือ กิจกรรม (Area of Activity) หรือสมรรถนะ(Competencies) ในการจัดการเรียนรู้ และสนับสนุนการเรียนรู้ความรู้หลัก (Core Knowledge), และเกณฑ์คุณค่าในการเป็นอาจารย์(Professional Values)   โดยมีองค์ประกอบย่อยของแต่ละส่วนดังนี้

 

Area of Activity

A1   ออกแบบและวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ และ/หรือ โปรแกรมการเรียนรู้

A2   สอน และ/หรือ สนับสนุนการเรียนรู้

A3   ประเมิน (Assess) และให้การป้อนกลับ (feedback) แก่ผู้เรียน

A4   จัดบรรยากาศการเรียนรู้ และแนวทาง ให้นักศึกษาได้แนวทางการเรียนรู้  และการสนับสนุนการเรียนรู้ ที่ดี

A5   ร่วมในกิจกรรมการพัฒนาวิชาการ (professional development) ด้าน สาขาวิชา และกระบวนการเรียนรู้ในสาขาวิชา   รวมทั้งการวิจัย  การค้นคว้าสร้างความรู้ (scholarship)   และการประเมินกิจกรรมการทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัย

 

Core Knowledge

K1   ความรู้ในวิชานั้นๆ

K2   วิธีการที่เหมาะสมในการสอน การเรียน และการประเมิน   ตามระดับของหลักสูตร

K3   นักศึกษาเรียนรู้อย่างไร  ทั้งโดยทั่วๆ ไป และในสาขาวิชาที่ตนสอน

K4   วิธีใช้ และคุณค่า ของเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสม

K5   วิธีการประเมินประสิทธิผลของการสอน

K6    ผลของการประกันคุณภาพ และการเพิ่มคุณภาพ สำหรับกิจกรรมวิชาการ และปฏิบัติการทางวิชาชีพ   เน้นที่กิจกรรมการสอนเป็นพิเศษ

 

Professional Values

V1   เคารพผู้เรียนเป็นรายคน  และเคารพชุมชนการเรียนรู้ที่หลากหลาย

V2   ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน

V3   ใช้วิธีการที่มีหลักฐานยืนยันผลสัมฤทธิ์ จากการวิจัย หลักฐานทางวิชาการ (scholarship)  และจากการพัฒนาอาจารย์

V4   ตระหนักในบริบทสังคมวงกว้างที่อุดมศึกษาจะต้องทำงานด้วย   ที่ปฏิบัติการทางวิชาชีพ จะต้องเอาใจใส่

 

อ่านเอกสารนี้แล้ว ผมนึกถึงคำบรรยายของ ศดรสุภา เพ่งพิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียนมหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุม retreat ของสภามหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง Transformative Education เมื่อวันที่ ๒๓ ส.ค. ๕๖   โดยที่ ศ. ดร. สุภา ไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยในประเทศอัฟริกาใต้อยู่ ๑๐ ปี จนได้ตำแหน่งศาสตราจารย์    จึงคุ้นกับระบบการเรียนการสอนของประเทศนั้น   ซึ่งใช้ระบบอังกฤษ

ท่านเล่าว่า คนที่จบปริญญาเอก หากต้องการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ต้องไปเข้ารับการอบรมการเป็น moderator (ทำหน้าที่สอน) และการเป็น assessor (ทำหน้าที่ประเมิน นศ.)    และสอบผ่านจึงจะเป็นอาจารย์ได้   โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือSAQA (South African Quality Authority)     ผมฟัง ดร. สุภา แล้วรู้สึกว่า หน่วยงานนี้ในประเทศไทยคือ ONESQA หรือ สมศ. นั่นเอง   แต่ทำงานต่างกัน   ที่อัฟริกาใต้ SAQA เขาทำงาน ส่งเสริมและวางระบบคุณภาพ   ไม่ใช่เน้นการประเมินอย่าง สมศ. ของไทย

ผมได้ข้อสรุปสำหรับการทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ ๒๑ ว่าต้องมีคุณสมบัติ ๓ ด้าน   คือ (๑) ด้านเนื้อวิชา  (๒) ด้านการเรียนการสอน การสนับสนุนการเรียนรู้ และการประเมิน  (๓) ด้านคุณค่า หรือจริยธรรม ของการเป็นอาจารย์    โดยต้องเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตในคุณสมบัติทั้ง ๓ ด้านนั้น   โดยในต่างประเทศหน่วยงานประกันคุณภาพ ทำหน้าที่จัดการระบบนี้   แต่ในบ้านเราไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ อย่างแท้จริง    น่าจะเป็นหน้าที่ ของ สกอ.   แต่ สกอ. ก็อ่อนแอ ไม่มีความสามารถที่จะทำหน้าที่นี้ได้

วันที่ ๙ ก.ย. ๕๖ เมื่อได้ฟังการนำเสนอเรื่อง UKPSF and the Continuing Professional Development Programme in the UK โดย Dr. Jeanne Keay, Assistant Director and Head of International Strategy, HEA (Higher Education Academy)ที่ Sunley Conference Centre  ผมก็สว่างวาบ ว่าประเทศอังกฤษเขามีวิธีบริหาร การเปลี่ยนแปลงอย่างแยบยล และเป็นขั้นตอนระยะยาวอย่างน่าชื่นชมยิ่ง    โดยมี PSF (Professional Development Framework) เป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง    แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือวิธีที่เขาค่อยๆ ดำเนินการให้มีอาจารย์มหาวิทยาลัย ได้รับยกย่องตามเกณฑ์คุณสมบัติผู้สอน (Descriptor) ซึ่งมี ๔ ระดับ   ตาม Descriptor 1 – 4  ซึ่งจะได้รับยกย่องเป็น Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow, และ Principal Fellow ตามลำดับ   โดยการยกย่องนี้มีอายุ ๓ ปี ไม่เป็นการถาวรตลอดชีพ   เพราะสมัยนี้ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก   เคล็ดลับในการจัดการคือ เขาไม่บังคับ

การมี fellow ด้านการจัดการเรียนการสอน ๔ ระดับ    เป็นการบอกไปในตัวว่าทักษะและความรู้ ด้านการเรียนการสอนนั้น ต้องมีการเรียนรู้และพัฒนา อยู่ตลอดเวลา โดยเขามีช่องทางให้ได้คุณวุฒิ (ย้ำว่าเป็นคุณวุฒิชั่วคราว ๓ ปีนี้ ๒ ช่องทาง    คือ (เข้ารับการอบรมโดยหน่วยงานที่ HEA รับรอง    (๒)​ ช่องทางประสบการณ์ โดยเขียน portfolio ของตนตามแบบฟอร์มที่กำหนด  เสนอ HEAเพื่อส่ง assessor ไปประเมิน    ตอนรับประทานอาหารเที่ยง ผมนั่งคุยกับ Dr. Caroline Stainton, Academic Lead for Reward and Recognition and Deputy Head, HEA   เธอบอกว่ากำลังเตรียมตัว apply เพื่อให้ได้รับ Principal Fellow   ผมปากหนัก ลืมถามว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ทั้งหมดนั้น เขาเรียก CPD (Continuous Professional Development) Scheme   โดยเป็น scheme ที่มีความยืดหยุ่นตามสาขาวิชา และตามลักษณะของแต่ละสถาบันอุดมศึกษา

ผมคิดว่า นี่คือวิธีการที่ สรพ. (พรพ. ในช่วงก่อตั้ง) ใช้ในการดำเนินการพัฒนาระบบคุณภาพโรงพยาบาล   โดยเรียนรู้หลักการจากต่างประเทศ   เอามาคิดเกณฑ์ของไทยเอง    สร้างผู้ตรวจเยี่ยมหรือผู้ประเมิน (assessor) ของเราเอง จากคนที่ทำงานในระบบบริการโรงพยาบาลนั่นเอง    และใช้ HA Forum ประจำปี เป็นเวทีเรียนรู้ (และแลกเปลี่ยนเรียนรู้) ต่อเนื่อง   ดำเนินการเรื่อยมาจนปัจจุบัน    โดยมี สปสช. ซึ่งมีเงินปีละกว่าแสนล้าน ซื้อบริการการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลต่างๆ    ช่วยสร้าง incentive ให้แก่ รพ. ที่พัฒนาระบบคุณภาพ และผ่านการประเมินของ สรพ.   รพ. เหล่านี้จะได้รับค่าตอบแทน การให้บริการแต่ละครั้ง เพิ่มขึ้น ๗๐ บาท

ต้องจับหลักการเรียนรู้ต่อเนื่อง ของอาจารย์ผู้สอนให้มั่น   แล้วดำเนินการยกย่องตามระดับของ สมรรถนะ   ก็จะช่วยให้อาจารย์สอนเป็นมืออาชีพด้านการเรียนการสอน   จัดการเรียนรู้อย่างมีหลักการมากขึ้น    เกิดผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์   ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้าย    และตัวอาจารย์ก็จะเป็นผู้เรียนรู้ (จากการทำงาน) ตลอตชีวิต    หรือเป็นอาจารย์มืออาชีพนั่นเอง

ผมแปลกใจ ที่ตลอดเวลา ๕ วันของการดูงาน   ไม่มีการนำเสนอที่ย้ำว่า อาจารย์ต้องรวมตัวกัน ทำงานเป็นทีม ร่วมมือกันทำงานและเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงาน ที่เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)    แต่เขาเน้น partnership มากในทุกที่

ส่วน UKSPF มีการเอ่ยถึงในทุกที่ที่เราไปดูงาน   และเอ่ยในเชิงบวก ว่าเป็นเครื่องมือให้เขาพัฒนาอาจารย์  อย่างต่อเนื่องได้สะดวกขึ้น    ต่างจากปฏิกิริยาของสถาบันอุดมศึกษาไทย ต่อ TQF อย่างหน้ามือกับหลังมือ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.ย. ๕๖  เพิ่มเติม ๑๓ ก.ย. ๕๖

Sunley Conference Centre, U of Northampton  และบนเครื่องบินการบินไทย กลับกรุงเทพ

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 03 มีนาคม 2014 เวลา 22:01 น.
 


หน้า 385 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5644
Content : 3068
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8744114

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า