Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ทุนมนุษย์

พิมพ์ PDF

ทุนมนุษย์

 

คุณค่ามนุษย์ได้แก่การกระทำของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์ผู้นั้นและมนุษย์ผู้อื่นได้รับความพอใจ หรือได้รับผลประโยชน์  คุณค่ามนุษย์แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท

๑)     คุณค่าสำหรับมนุษย์ผู้นั้นเอง ได้แก่การกระทำที่ทำให้มนุษย์ผู้นั้นรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า แบ่งออกเป็นคุณค่าภายใน และคุณค่าภายนอก คุณค่าภายในได้แก่จิตสำนึกรู้ดีรู้ชั่วของมนุษย์ผู้นั้น เป็นคุณค่าที่แท้จริง ได้แก่คุณค่าที่ทำความดี ไม่เบียดเบียนผู้อื่น กระทำโดยไม่หวังผลตอบแทน การกระทำเหล่านี้เป็นการกระทำที่บริสุทธิ์ออกมาจากจิตสำนึกของบุคคลนั้นๆ ส่วนคุณค่าภายนอกได้แก่คุณค่าที่ถูกกำหนดขึ้นโดยสังคม ไม่ใช่คุณค่าที่แท้จริง  เป็นคุณค่าที่กำหนดขึ้นเพื่อการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ตอบแทน เช่นการเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาเพื่อให้ได้รับใบวุฒิบัตร เพื่อทำให้มนุษย์ผู้อื่นเห็นว่าตัวเองมีคุณค่าเพราะสำเร็จการศึกษาสูง เพื่อจะได้มีโอกาสเข้าทำงานในสถานที่ทำงานดีๆมีเงินเดือนสูงๆ เป็นต้น

๒)    คุณค่าสำหรับมนุษย์ที่เป็นเครือญาติและมนุษย์ที่อยู่ในสังคมเดียวกัน  ได้แก่การกระทำที่ทำให้กับญาติพี่น้องและครอบครัว ตลอดจนมนุษย์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นทั้งที่เป็นหน้าที และเพื่อผลประโยชน์ตอบแทน

๓)    คุณค่าสำหรับสังคม ได้แก่การกระทำเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ไม่เจาะจงที่มนุษย์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการกระทำที่มาจากภายใน จากจิตสำนึกที่แท้จริงโดยไม่หวังผลประโยชน์เพื่อตัวเอง เครือญาติและพวกพร้อง

 

มนุษย์จะมีคุณค่าได้ก็ต้องมีการลงทุน การลงทุนของมนุษย์ประกอบด้วยทุนทางปัญญา และทุนด้านเงินทอง ทุนทางปัญญาเป็นทุนภายในที่จะต้องลงทุนด้วยตัวเอง สำหรับทุนด้านเงินทองเป็นทุนจากภายนอก ทุนทางสังคม และทุนจากผู้ปกครองเครือญาติ มนุษย์แรกเกิดจะต้องได้รับการเลี้ยงดูจากผู้ปกครองทั้งด้านอาหารการกิน เครื่องแต่งตัว เครื่องใช้ ค่าเล่าเรียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการลงทุนด้านเงินทองของมนุษย์แต่ละคน  การลงทุนมากน้อยขึ้นอยู่กับมนุษย์ผู้นั้นอยู่ในสังคมใด 

 

เงินทองเป็นทุนส่วนหนึ่งที่สร้างให้มนุษย์มีคุณค่า ถ้าไม่มีเงินทองมาซื้ออาหารและเครื่องนุ่งห่มทารกคงไม่สามารถเจริญเติมโตจนเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าได้ มนุษย์ที่มีเงินทองน้อยก็จะเสียเปรียบมนุษย์ที่มีเงินทองมากในด้านการศึกษาหาความรู้ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน  การกำหนดคุณค่าของมนุษย์ในแต่ละสังคมล้วนมีความแตกต่างกัน คุณค่าของมนุษย์ในสังคมนายทุนถูกกำหนดให้มองที่การมีเงินทองมาก มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ใหญ่โต เป็นเจ้าของธุรกิจ จบการศึกษาจากต่างประเทศ จบการศึกษาระดับสูงๆ แต่คุณค่าของมนุษย์ในสังคมที่มีความเจริญภายในมองที่การเป็นคนดี มีน้ำใจ  ให้ความช่วยเหลือเพื่อนบ้านและไม่เบียดเบียนผู้อื่น

 

การลงทุนของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมของนายทุน หรือ สังคมของทุนนิยม ต้องใช้การลงทุนด้านเงินทองมาก เพื่อให้เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าสูงในสายตาของมนุษย์ที่อยู่ในสังคมของทุนนิยม ดังนั้นเมื่อใช้เงินลงทุนสูงในการสร้างคุณค่า จึงต้องการผลตอบแทนที่สูงค่าเช่นกัน  มนุษย์ในกลุ่มนี้จะมองที่ผลประโยชน์ตอบแทนเป็นสำคัญ

 

แตกต่างจากมนุษย์ที่อยู่ในสังคมที่เจริญภายใน มนุษย์เหล่านี้ไม่ต้องใช้เงินทองมากมายในการสร้างคุณค่าของมนุษย์ เพราะมนุษย์กลุ่มนี้ใช้ทุนทางปัญญาที่มาจากภายใน ทุนส่วนมากได้มาจากการเรียนรู้ของสังคมที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์ เป็นสังคมที่อยู่อย่างพอเพียง ล้วนประกอบไปด้วยของจริง ไม่มีภาพลวงตา  สังคมมีแต่ความสุข ทุกคนมีความจริงใจ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มีการเบียดเบียนและแก่งแย่ง

 

ระบบทุนนิยมทำให้มนุษย์ทุกคนต่างแข่งขันกันสร้างคุณค่าของตัวเองเพื่อให้สังคมยอมรับ ผู้ปกครองและตัวเองต้องลงทุนด้านการเงินเป็นจำนวนมากเพื่อเข้าเรียนในสถานศึกษาที่สูงๆเพื่อจะได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้มีความรู้สามารถหางานในบริษัทที่มั่นคงและได้รับเงินเดือนสูงๆ แต่ตำแหน่งงานที่ทุกคนต้องการและใฝ่หามีจำนวนจำกัด ดังนั้นจึงมีผู้ผิดหวังเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถได้เข้าทำงานตามความคาดหวัง

 

สังคมเป็นผู้ที่สร้างค่านิยมให้กับมนุษย์ ดังนั้นสังคมจะต้องหันมาเอาใจใส่และช่วยกันลงทุนเพื่อสร้างมนุษย์ให้มีคุณค่าที่เหมาะสมกับสังคมนั้นๆ ไม่ใช่ปล่อยให้แต่ละครอบครัวต้องแข่งขันกันลงทุนสร้างคุณค่าให้กับตัวเองแบบผิดๆตามกระแสของสังคม

 

 

 

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๘

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 18:12 น.
 

ทุนภายใน

พิมพ์ PDF

ทุนภายใน

 

 

มนุษย์มีทุนติดตัวมาไม่เท่าเทียมกัน  ขึ้นอยู่กับผลของการกระทำในอดีตชาติ ทุนมนุษย์แบ่งออกเป็นสองทุนใหญ่ๆได้แก่ทุนภายในและทุนภายนอก ทุนภายในได้แก่ทุนทางจิตเป็นทุนดั้งเดิมของมนุษย์แต่ละคน ส่วนทุนภายนอกได้แก่ทุนที่ได้มาจากผู้อื่นกับทุนที่แสวงหามาเพิ่มเติม เป็นทุนที่ไม่แน่นอน  เช่นทุนทางสังคม ได้แก่การมีหน้ามีตาได้รับการยกย่องในสังคม  ทุนทางการศึกษา ได้รับการยกย่องว่ามีความรู้  ทุนทางปัญญา ได้แก่การแสวงหาความรู้และนำความรู้ที่ได้มาไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตัวเองและผู้อื่น  รวมถึงทุนทางทรัพย์สินเงินทอง

มนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย ถือว่ามีทุนภายนอกมากกว่ามนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีทุนภายในมากกว่า ทุนภายในเป็นทุนที่กำหนดคุณค่าของความเป็นมนุษย์ โดยมีทุนภายนอกเป็นส่วนประกอบที่มีทั้งส่วนให้การสนับสนุนและส่วนที่ช่วยทำลายคุณค่าของความเป็นมนุษย์

สังคมทุนนิยมเป็นตัวกำหนดให้มนุษย์มุ่งเน้นเพื่อแสวงหาทุนภายนอกให้กับตัวเองและครอบครัว โดยเข้าใจว่าการมีทุนมากกว่าจะเป็นผู้ที่เหนือกว่าคนอื่น ต่างแข่งขันกันหาเงินให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้มีชีวิตที่เหนือกว่าผู้อื่น โดยไม่คำนึงถึงความพอเพียงและการแบ่งปัน

ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยใช้เงินซื้อทุกสิ่งที่ตัวเองอยากได้โดยไม่คำนึงถึงมนุษยธรรม ผู้ที่มีอำนาจวาสนาใช้อำนาจในการแสวงหาเงินทอง เพื่อเก็บเงินทองไว้เป็นมรดกให้กับลูกหลาน  มนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวเหล่านี้จึงมีโอกาสมากกว่า มนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวธรรมดาที่ไม่ได้ร่ำรวยและไม่มีอำนาจ เช่นการศึกษามนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวที่มีฐานะร่ำรวย หรือ ครอบครัวที่มีอำนาจวาสนา จะมีโอกาสได้ร่ำเรียนสูงกว่า มนุษย์ที่เกิดมาในครอบครัวปานกลางหรือครอบครัวที่ยากจน จึงมีโอกาสที่จะได้ทำงานที่ดีมีรายได้มากกว่า มีโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนหรือผู้นำของสังคม

ผู้นำสังคมในปัจจุบันมาจากกลุ่มผู้มีเงินและอำนาจวาสนา จึงได้กำหนดคุณค่าของมนุษย์โดยใช้ตัวชี้วัดตามคุณสมบัติของกลุ่มตัวเองว่าเป็นผู้ที่มีคุณค่ามากกว่ามนุษย์ในกลุ่มอื่น สังคมได้กำหนดตัวชี้วัดคุณค่าของมนุษย์จากทุนภายนอกดังนี้

๑)     เศรษฐี มีเงินทองและทรัพย์สมบัติมาก ( ทุนทางทรัพย์สิน)

๒)    เจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ (ทุนทางสังคม)

๓)    ข้าราชการระดับสูงหรือนักการเมือง (ทุนทางสังคม)

๔)    นักวิชาการ (ทุนทางการศึกษา)

๕)    ผู้ที่จบการศึกษาสูงๆ (ทุนทางการศึกษา)

 

จากตัวชี้วัดดังกล่าว ทำให้มนุษย์ต้องแข่งขันกันหาเงินและอำนาจเพื่อทำให้ตัวเองหรือลูกหลานได้รับ

การยอมรับว่าเป็นผู้มีคุณค่า  ผู้ที่ยังไม่ร่ำรวยหรือมีอำนาจวาสนาต้องวิ่งหาเงินทองเพื่อนำมาเป็นทุนให้ลูกได้เรียนสูงๆเพื่อมีโอกาสแข่งขันกับผู้อื่น  เกิดการชิงดีชิงเด่น แข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำให้สังคมขาดความสามัคคี ไม่มีความจริงใจ และซื่อสัตย์  มีแต่ผู้คอยรับ แต่ขาดผู้ให้ เห็นแก่ตัว เอาแต่ได้โดยไม่คำนึงถึงส่วนรวม มนุษย์ที่ร่ำรวยและมีอำนาจส่วนใหญ่ ไม่รู้จักพอเพียง  ยิ่งรวยมากเท่าใดก็ยิ่งต้องการได้มากขึ้นอีกเป็นเงาตามตัว ไม่มีการแบ่งปันให้คนอื่น แถมยังเอาเปรียบและฉ้อโกงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทองและอำนาจที่มากขึ้น ทั้งๆที่อำนาจและเงินทองที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือไม่มีวันใช้ได้หมด แต่ก็ยังต้องการหามาเพิ่ม แทนที่จะนำไปแบ่งให้กับผู้ยากจนและขัดสน หรือให้การสนับสนุนกับผู้ที่ด้อยกว่า

               

 

มนุษย์ที่มีทุนภายนอกมากจะไม่ได้รับความสุขอย่างแท้จริงถ้าไม่มีทุนภายในมากพอ ยิ่งแสวงหาทุนภายนอกมากเท่าใด โดยไม่รู้จักความพอเพียง  เอาเปรียบไม่รู้จักการแบ่งปันและให้ผู้อื่นบ้าง  ทุนภายในก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆจนแทบจะไม่เหลือหรือติดลบ จนในที่สุดความล่มสลายก็จะเกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัว

               

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นตัวชีวัดทุนภายในของมนุษย์ได้ชัดเจนที่สุด ถ้ามนุษย์ผู้ใดเข้าใจ เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และได้นำไปปฏิบัติ มนุษย์ผู้นั้นจะเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง  

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 18:13 น.
 

ทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจโรงแรม

พิมพ์ PDF

ทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจโรงแรม 

ธุรกิจโรงแรมประกอบด้วยส่วนใหญ่ๆ  ส่วน ดังนี้

1.     ที่ดิน ได้แก่ที่ตั้งและบริเวณโดยรอบของโรงแรม  

2.     ตัวอาคารโรงแรม  ห้องพัก ห้องจัดเลี้ยง ห้องประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งภายในและภายนอก  ได้แก่บริเวณสวน ที่จอดรถ เป็นต้น 

3.     อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในดำเนินธุรกิจ รวมถึงระบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา  ระบบการรักษาสิ่งแวดล้อม และระบบอื่นๆอีกมากมาย 

4.     อุปกรณ์ที่ใช้เพื่อนำไปให้บริการแก่ลูกค้าโดยตรง 

5.     การบริหารการจัดการทั้งด้านการตลาด การบริการ การควบคุม การเงิน และอื่นๆ 

6.     ทรัพยากรมนุษย์ได้แก่ ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการ ผู้ลงทุน  ผู้บริหาร และพนักงานทั้งหมด

 

ส่วนประกอบลำดับที่ ๑ ๔ เป็นสิ่งที่มองเห็นและจับต้องได้ แต่ละส่วนต้องมีความสอดคล้องกันโดยมีการตลาดเป็นตัวกำหนด แต่โรงแรมในประเทศไทยส่วนมากไม่ได้นำการตลาดมาเป็นตัวกำหนด โดยมากกำหนดขึ้นโดยความพอใจของเจ้าของเป็นหลัก สร้างโรงแรมตามกระแสโดยไม่เคยมีความรู้ด้านธุรกิจมาก่อน บางรายสร้างโรงแรมมาเพื่อนำไปขายต่อ มิได้มีความตั้งใจที่จะทำธุรกิจโรงแรม บางรายก็ทำธุรกิจโรงแรมเพื่อการฟอกเงิน หรือเพื่อหน้าตา

 

ส่วนประกอบที่ ๕ และ ๖ เป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ส่วนประกอบทั้งสองส่วนนี้ได้มาจากทรัพยากรมนุษย์ ทั้งสิ้น ทรัพยากรมนุษย์ มีความแตกต่างกันหลายระดับ เป็นการยากที่จะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของทรัพยากรนั้นๆจากภายนอก

 

ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมส่วนมากใช้เงินลงทุนกับส่วนประกอบในลำดับที่ ๑-๔  เท่านั้น ส่วนประกอบลำดับที่ ๕ และ ๖ มักจะไม่ได้รับการดูแล ไม่มีการจัดงบไว้สำหรับการลงทุนในส่วนนี้  เจ้าของจะเป็นผู้บริหารและจัดการเอง โดยจ้างผู้จัดการมาทำงานเป็นกันชน และทำงานตามความต้องการของเจ้าของ ส่วนพนักงานทั่วๆไปจะจ้างตามสถานะของธุรกิจในชั่วนั้นๆ มองค่าจ้างแรงงานเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ดังนั้นเมื่อธุรกิจไม่ดี ก็จะลดต้นทุนการดำเนินการ  โดยการลดจำนวนพนักงานหรือตั้งเงินเดือนพนักงานให้น้อยที่สุด โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายแรงงานเพราะมีวิธีเลี่ยงหลายวิธีด้วยกัน

 

ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดเพราะเมื่อไม่มีมนุษย์ก็ไม่มีการดำเนินการอะไรทั้งสิ้น ทรัพยากรมนุษย์มิได้หมายถึงเฉพาะลูกจ้างเท่านั้น เจ้าของหรือผู้ลงทุนเองก็เป็นทรัพยากรมนุษย์เช่นกัน ดังนั้นประเทศชาติและสังคมจะอยู่ได้ก็ต้องมีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีมีคุณภาพ ถ้าประเทศใดหรือสังคมใดมีทรัพยากรมนุษย์ที่ไม่ดีมีคุณภาพต่ำ ประเทศและสังคมนั้นก็จะมีปัญหามากไม่เจริญเหมือนกับประเทศและสังคมที่มีทรัพยากรมนุษย์ที่ดีและมีคุณภาพที่สูงกว่า

 

 

ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจการให้บริการประกอบด้วนส่วนโครงสร้างตัวโรงแรมและสิ่งของที่เป็นวัตถุที่จับต้องและมองเห็นได้กับส่วนของการให้บริการและการจัดการ ทั้งสองส่วนจะต้องสอดคล้องกันจึงจะทำให้ธุรกิจประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการอธิบายและทำความเข้าใจค่อนข้างยากและซับซ้อน ผมจึงจะไม่ขอกล่าวถึง แต่จะไปเน้นพูดในเรื่องของส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรมนุษย์เท่านั้น

ทรัพยากรมนุษย์ในธุรกิจโรงแรมแยกเป็นกลุ่มต่างๆดังนี้ 

๑) พนักงานระดับล่าง ความจริงธุรกิจโรงแรมต้องการพนักงานระดับล่างเป็นจำนวนมากและหลากหลายตำแหน่งด้วยกัน เช่นพนักงานบัญชี พนักงานการเงิน พนักงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม พนักงานทำความสะอาดในห้องพักลูกค้า พนักงานทำความสะอาดบริเวณทั่วไป พนักงานทำอาหาร พนักงานทำสวน พนักงานด้านธุรการ พนักงานยกกระเป๋า พนักงานฝ่ายบุคคล ยาม และอื่นๆอีกหลายตำแหน่ง  พนักงานในแต่ละตำแหน่งต้องการทักษะและความรู้ในการทำงานแตกต่างกัน ถึงแม้นว่าจะเป็นตำแหน่งงานในตำแหน่งเดียวกันแต่ต่างโรงแรม ก็ยังมีความต้องการความรู้ที่แตกต่างกัน เช่นพนักงานเสิร์ฟในห้องอาหารของโรงแรมในเมืองหลวงที่ลูกค้าเป็นชาวต่างชาติ กับโรงแรมในต่างจังหวัดที่ลูกค้าเป็นคนไทยจะมีมาตรฐานของทักษะความรู้ที่แตกต่างกัน

๒) พนักงานระดับหัวหน้างาน ได้แก่พนักงานที่ดูแลลูกน้องที่เป็นพนักงานในสายงานให้ทำงานถูกต้องมีประสิทธิภาพในสายงานนั้นๆ  เมื่อหัวหน้างานลาออก ผู้จัดการที่รับผิดชอบในสายงานนั้นก็จะแต่งตั้งให้พนักงานที่มีอายุการทำงานมากกว่าเพื่อนร่วมงานในสายงานเดียวกัน หรือผู้ที่ทำงานดีให้ขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน โดยไม่มีการอบรมและสอนงานการเป็นหัวหน้า ด้วยเหตุนี้หลายๆโรงแรมจึงมีปัญหาเรื่องการให้บริการลูกค้า

๓) ผู้บริหารระดับกลาง ได้แก่พนักงานระดับบริหารที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสายงานของแต่ละสายงาน จะต้องได้ผู้ที่มีความรู้และเข้าใจในงานของสายงานนั้นอย่างละเอียด สามารถบริหารและจัดการให้งานในฝ่ายที่รับผิดชอบมีประสิทธิภาพและมาตรฐานตามที่ผู้บริหารระดับสูงตั้งเป้าไว้ นอกเหนือกว่านั้นยังต้องมีความเป็นผู้นำที่ดี และมีความรู้และเหตุผลในการชี้แจงต่อผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป

๔) ผู้บริหารระดับสูง คนไทยมีโอกาสน้อยมากที่ได้ตำแหน่งนี้ เพราะโดยทั่วไปแล้ว เจ้าของหรือลูกหลานเจ้าของ จะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนี้เอง

๕) เจ้าของโรงแรม คือผู้ที่สำคัญที่สุดเพราะธุรกิจจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับเจ้าของเกือบจะ ๑๐๐ % โรงแรมบางแห่งมีเจ้าของคนเดียว บางโรงแรมมีหลายเจ้าของ (หุ้นส่วน) เจ้าของจะต้องเป็นผู้กำหนดวิธีการบริหารและจัดการว่าจะดำเนินการบริหารเองหรือจ้างคนอื่นมาบริหาร โรงแรมขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางในประเทศไทยส่วนมากเจ้าของจะเป็นผู้บริหารเอง และจ้างผู้จัดการมาเป็นกันชน

 

ปัจจุบันธุรกิจโรงแรมขาดแคลนพนักงานเป็นจำนวนมากเกือบทุกระดับ โรงแรมระดับ ๔ ๕ ดาวไม่ค่อยมีปัญหา เพราะ โรงแรมระดับนี้ส่วนมากบริหารงานโดยเชนจากต่างประเทศ เป็นโรงแรมที่มีรายได้ดีอย่างสม่ำเสมอ มีการตลาดระดับนานาชาติ โรงแรมระดับนี้มีการบริหารงานแบบมืออาชีพ โดยคนต่างชาติ พนักงานที่ทำงานด้านโรงแรมอยู่แล้ว และเด็กจบใหม่ที่ต้องการจะยึดงานโรงแรมเป็นอาชีพ จะพากันมาสมัครงานในโรงแรมระดับนี้ เมื่อมีผู้มาสมัครจำนวนมาก ทางโรงแรมก็มีโอกาสคัดเลือกคนที่มีคุณสมบัติตามที่โรงแรมต้องการ เมื่อรับพนักงานใหม่เข้ามาแล้ว โรงแรมก็ยังมีการจัดอบรมเพื่อพัฒนาพนักงานให้มีทักษะและความสามารถในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น โรงแรมมีหน่วยงานดูแลเรื่องการพัฒนาคุณภาพของพนักงานโดยตรง ทำให้โรงแรมได้พนักงานดี มีทักษะและความสามารถสูง ประกอบกับความพร้อมด้านมาตรฐานในส่วนอื่นๆ ทำให้กิจการของโรงแรมดี มีรายได้สูง พนักงานได้รับค่า “ services charge “ สูง ส่วนเงินเดือนไม่แตกต่างกว่าโรงแรมในระดับอื่นมากนัก ( Services Charge คือเงินที่ทางโรงแรมเรียกเก็บจากลูกค้า และนำมาแบ่งให้กับพนักงานในอัตราที่เท่ากัน ดังนั้นเงินจำนวนนี้จะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับการมาใช้บริการของลูกค้า ทางโรงแรมไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินจำนวนนี้  )

                โรงแรมที่บริหารโดยเจ้าของจะมีปัญหาเรื่องการขาดพนักงานมากที่สุด เพราะพนักงานเข้าใหม่ส่วนมากจะเป็นเด็กจบใหม่ที่เหลือมาจากโรงแรมที่บริหารโดยเชนต่างชาติ  เด็กที่มาสมัครไม่ค่อยรู้อะไรแต่โรงแรมก็จำเป็นต้องรับเข้ามาเพราะไม่มีพนักงานคอยให้บริการลูกค้า  พนักงานที่เข้าใหม่ไม่ได้รับการฝึกอบรมเป็นเรื่องเป็นราว เรียนรู้จากพนักงานที่อยู่มาก่อนหรือจากหัวหน้างานที่ไม่ค่อยได้สอนเพราะสอนไม่เป็น หรือหัวหน้างานบางคนก็สอนแบบผิดๆถูกๆ งานหนักมากเพราะมีพนักงานน้อย  เงินเดือน และ services charge ค่อนข้างต่ำไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่าย (โรงแรมระดับนี้มีรายได้จากค่า Services Charge น้อยกว่าโรงแรมที่บริหารโดยเชนจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก) พนักงานไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนและพัฒนาในด้านการเรียนรู้มากนัก พนักงานที่เก่งเพราะเรียนรู้ด้วยตัวเองเมื่อมีโอกาสก็จะไปสมัครงานกับโรงแรมที่มีได้รายได้มากกว่า หรือได้รับการซื้อตัวให้ไปดำรงตำแหน่งงานที่สูงขึ้นจากโรงแรมอื่น พนักงานที่มีความสามารถไม่สูงนักก็จะต้องทนทำงานให้ผ่านไปวันๆโดยไม่มีอนาคต แถมวันดีคืนดีธุรกิจโรงแรมตกต่ำ พนักงานที่ยังไม่พ้นการทดลองงานก็จะถูกปลดออกส่วนพนักงานที่ยังเหลืออยู่ก็อาจถูกลดเงินเดือน

                พนักงานระดับหัวหน้างานและพนักงานบริหารระดับกลางยิ่งแล้วใหญ่ ปัจจุบันขาดเป็นจำนวนมาก โรงแรมที่บริหารโดยการจ้างเชนจากต่างประเทศมาบริหาร ผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปจะเป็นคนต่างด้าว หรือถ้าเป็นคนไทยก็มีตำแหน่งให้น้อยและพนักงานเก่าไม่ค่อยจะออก จึงทำให้พนักงานที่มาทีหลังมีโอกาสที่จะได้ตำแหน่งยาก ในที่สุดก็ต้องออกไปอยู่โรงแรมที่บริหารโดยเจ้าของ เมื่อไปอยู่ด้วยกันต่างคนก็ต่างผิดหวังทั้งเจ้าของและพนักงาน ส่วนของพนักงานเมื่อเคยอยู่โรงแรมที่มีระบบในการบริหารการจัดการที่แน่นอน เมื่อมาอยู่โรงแรมที่เจ้าของเป็นผู้บริหารทุกอย่างไม่แน่นอนแล้วแต่อารมณ์ของเจ้าของ ประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวกหลายๆอย่างต่างกันมากจึงทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ทำให้ผลงานไม่เด่นชัด ทางเจ้าของก็ผิดหวัง ในที่สุดพนักงานผู้นั้นก็ต้องไปหางานที่อื่น หรืออยู่แบบผ่านไปวันๆ

               

 

สืบเนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆมา        ทำให้มีผู้สร้างโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นักธุรกิจต่างแย่งกันลงทุนสร้างโรงแรมเพราะเห็นว่าจะได้กำไรแน่ๆ แม้นธุรกิจโรงแรมจะทำกำไรได้ไม่มากนักก็ไม่เดือดร้อนเพราะเงินที่ลงทุนไม่สูญหายไปไหน โรงแรมเป็นทรัพย์สิน นานๆไปก็มีกำไรในตัวของมันเอง แต่การลงทุนสร้างบุคลากรไม่ใช่ทรัพย์สิน จึงไม่สนใจที่จะลงทุน เมื่อสร้างโรงแรมเสร็จก็ไปดึงตัวบุคลากรจากโรงแรมอื่นถ้าธุรกิจไม่ดีก็ปลดพนักงานออก ปัญหาจึงไปตกหนักอยู่ที่ผู้บริหาร หรือผู้จัดการที่ถูกจ้างมาบริหารและจัดการ

                โรงแรมที่สร้างด้วยเงินจำนวนมากจะกลายเป็นโรงแรมล้างทันที่ถ้าขาดพนักงาน งานโรงแรมเป็นงานบริการที่ละเอียดอ่อน แต่ละหน่วยงานมีความสำคัญพอๆกัน เกี่ยวข้องกันเป็นลูกโซ่  ธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้อได้รับการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก  มนุษย์เป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมารองรับธุรกิจโรงแรมต้องทำให้ถูกทาง มีการร่วมมือกันเป็นเครือข่าย รัฐบาลต้องให้การสนับสนุนฝ่ายเอกชนอย่างถูกต้อง เอกชนหรือผู้ประกอบการโรงแรมเองก็ต้องปรับทัศนคติ เปลี่ยนวิสัยทัศน์ และหันมาลงทุนด้านทรัพย์ยากรมนุษย์อย่างจริงจัง

                นับเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่นายกสมาคมโรงแรมไทย และประธานมูลนิธิกำหนดมาตรฐานและพัฒนาบุคลากรด้านอุตสาหกรรมการบริการ ตลอดจนผู้ประกอบการโรงแรมหลายแห่งได้ยอมรับว่าขณะนี้ธุรกิจโรงแรมมีปัญหาเรื่องมบุคคลากรเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านการขาดแคลนพนักงานทุกระดับ และการพัฒนาประสิทธิภาพของพนักงาน จึงได้เชิญ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์  ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ที่ให้ความสนใจและมีผลงานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ให้มาช่วยแก้ปัญหาด้านทรัพยากรมนุษย์ให้กับธุรกิจโรงแรม

                ท่าน ศ.ดร จีระมีความตั้งใจอย่างสูงที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคธุรกิจโรงแรม เพราะเห็นว่าเกี่ยวของกับประชาชนคนไทยเป็นจำนวนมาก ทำไมชาวต่างชาติจึงได้ตำแหน่งงานผู้บริหารระดับสูงและระดับกลาง  ทำไมชาวต่างชาติจึงได้เงินเดือนสูงกว่าคนไทย  ทำอย่างไรสถาบันการศึกษาจะสามารถผลิตนักศึกษาให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่โรงแรมต้องการ  ทำอย่างไรให้เจ้าของโรงแรมหันมาลงทุนเรื่องทรัพยากรมนุษย์             ทำอย่างไรให้พนักงานโรงแรมได้รับการพัฒนาและเรียนรู้เพื่อขึ้นไปเป็นผู้บริหารที่มีความสามารถและได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม  ทำอย่างไรให้โรงแรมที่บริหารโดยคนไทยสามารถแข่งขันและทำรายได้เช่นเดียวกับโรงแรมที่บริหารโดยเชนต่างประเทศได้ ทำอย่างไรให้พนักงานโรงแรมมีงานที่มั่นคงและได้รับผลตอบแทนที่พอเพียงต่อการเลี้ยงชีพและครอบครัว

 

 

 

ขอเชิญเจ้าของโรงแรม SME และพนักงานโรงแรมในทุกระดับ สมัครเป็นสมาชิกของ ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ เพื่อช่วยกันบริหารจัดการทุนมนุษย์ภาคธุรกิจโรงแรมแบบูรณาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจโรงแรม 

 

 

เจ้าของโรงแรมท่านใดต้องการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรม โปรดติดต่อ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท ได้ที่ e-mail address : อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน หรือ โทร 089-1381950

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๒ มกราคม ๒๕๔๙

 

 

                                                               

แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ 12 ตุลาคม 2011 เวลา 18:42 น.
 

ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-มาเลเซีย “แนบแน่น” แค่ไหน

พิมพ์ PDF

ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-มาเลเซีย “แนบแน่น” แค่ไหน

โดย ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/aksornsri/20111103/416929/ความสัมพันธ์เศรษฐกิจจีน-มาเลเซีย-แนบแน่น-แค่ไหน.html

 

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดิฉันต้องทิ้งภารกิจรับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่บ้าน เพื่อบินไปร่วมงาน China-ASEAN Expo ครั้งที่ 8 ณ นครหนานหนิงของจีน ทำให้ได้รับรู้รับทราบพัฒนาการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดด้านใต้ของไทยด้วยความอิจฉา ดิฉันกำลังหมายถึงประเทศมาเลเซียค่ะ

หนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับโดยเฉพาะ China Daily ได้ลงข่าวและบทวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่“สุดแสนจะแนบแน่น”ระหว่างสองประเทศนี้ ทำให้ดิฉันยิ่งเกิดอาการตาร้อนขึ้นมาขอไล่เรียงให้เห็นทีละประเด็นกันเลยนะคะ

ด้านการค้าระหว่างประเทศ ในบรรดา 10 ประเทศในอาเซียน มาเลเซียมีมูลค่าการค้าขายกับจีนมากที่สุด โดยสามารถแซงหน้าสิงคโปร์มาได้ร่วม 3 ปีติดต่อกันแล้ว การค้าจีน-มาเลเซียมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าการค้าจีน-อาเซียนทั้งหมด และขยายเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2000 ซึ่งเป็นปีแรกที่อดีตนายกฯ จูหรงจีของจีนได้เริ่มจีบอาเซียนให้ร่วมจัดทำความตกลง ASEAN-China FTA

ภายใน 10 ปีต่อมา พบว่า การค้าจีน-มาเลเซียได้ขยายตัวจนมีมูลค่าสูงกว่า 74,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ ประเทศไทยเพิ่งจะมีมูลค่าการค้ารวมกับจีนแตะหลัก 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2010 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ จีนก็ได้ขยับขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของมาเลเซียตั้งแต่ปี 2008 และล่าสุด รัฐบาลสองประเทศได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายในปี 2015 จะขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันให้ทะลุหลัก 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงชัดเจนว่า สองประเทศนี้มีความสัมพันธ์ทางการค้าที่สนิทแนบแน่นแค่ไหน

ด้านสินค้าหลักที่ค้าขายกับจีน พบว่า สินค้าที่มาเลเซียส่งออกไปจีนก็มิได้เป็นเพียงสินค้าเกษตรมูลค่าต่ำที่ต้องใช้แรงงานทำไร่ไถนาพรวนดินรอฟ้ารอฝน หรือต้องหมั่นรดน้ำรอวันเวลากว่าจะออกดอกออกผลตามฤดูกาล (เหมือนบางประเทศ) แต่มาเลเซียสามารถส่งออกสินค้าชิ้นเล็กๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มต่อชิ้นสูง (high value-added) และยังสามารถครองส่วนแบ่งตลาดส่วนใหญ่ในจีนได้อีกด้วย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งจากมาเลเซียไปจีน คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 51.4 ของสินค้าส่งออกทั้งหมดจากมาเลเซียไปจีน นอกจากนี้ มาเลเซียยังเป็นผู้ส่งออกหลักสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงอย่าง “ปาล์มน้ำมัน” โดยสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดจีนมากถึงร้อยละ 60 ของปาล์มน้ำมันนำเข้าทั้งหมดของจีน

ด้านการลงทุน หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า นักธุรกิจมาเลเซียได้ก้าวขึ้นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในจีน และบางธุรกิจยังสามารถขยายสาขาครอบคลุมไปทั่วแผ่นดินจีนจนแทบจะครบทุกมณฑล ตัวอย่างเช่น ธุรกิจของเศรษฐีมาเลเซียนายโรเบิร์ต ก๊วก ที่เปิดให้บริการโรงแรมห้าดาว Shangri La ไปทั่วประเทศจีนกว่า 32 แห่งรวมไปถึงโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ในหลายเมือง และกรณีห้างสรรพสินค้า Parkson ของทุนมาเลเซีย ซึ่งเปิดสาขาตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศจีนกว่า 30 แห่ง

ที่สำคัญ นอกจากจะเป็นดินแดนเสือเหลืองแล้ว มาเลเซียยังเป็น “เสือปืนไว” ด้วยการเปิดโครงการร่วมมือกับจีนเพื่อลงทุนสร้าง “นิคมอุตสาหกรรมจีน-มาเลเซีย” หรือชื่อทางการว่า “China-Malaysia Qinzhou Industrial Park” ในเมืองชินโจวของกวางสี

ทำไมดิฉันเรียกมาเลเซียว่าเป็น “เสือปืนไว” ก็เพราะโครงการร่วมจัดตั้งนิคมจีน-มาเลเซียฯ แห่งนี้เพิ่งจะเริ่มเกริ่นพูดขึ้นมาในระหว่างที่นายกฯ เวินเจียเป่าของจีนเดินทางไปเยือนมาเลเซียเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา และดิฉันได้เคยเขียนถึงเรื่องนี้ในบทความชื่อ “เหตุอันใดนายกฯ จีน (บินข้ามไทย) ไปเยือนมาเลเซีย-อินโดนีเซีย” หากสนใจ ลองไปค้นหาอ่านได้ใน web ค่ะ

มาบัดนี้ ปรากฏว่า ภายใน 6-7 เดือน แนวคิดดังกล่าวก็สามารถก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างได้อย่างน่าทึ่ง เมื่อวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมาที่นครหนานหนิง นายกรัฐมนตรีของจีนและนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดตัวโครงการนิคมจีน-มาเลเซียฯ ดังกล่าว ซึ่งจะตั้งอยู่ในเมืองชินโจว ของกวางสี ดินแดนที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็น “ประตูสู่อาเซียน”ของจีน ในขณะนี้ ชินโจว เป็นเมืองที่รัฐบาลจีนได้ทุ่มงบประมาณมหาศาลในการพัฒนาและผลักดันให้เป็นเมืองริมทะเลด่านหน้าในการเชื่อมโยงกับอาเซียน นอกจากจะมีโรงกลั่นน้ำมันในเมืองชินโจว และการเร่งพัฒนาให้เป็นฐานการผลิตปิโตรเคมีที่สำคัญของจีน รวมทั้งมีท่าเรือชินโจว ที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ถึง 3 แสนตัน ล่าสุด รัฐบาลจีนยังมีโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจากเมืองชินโจวไปยังนครหนานหนิงด้วย จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมทั้งสองฝ่ายจึงได้เลือกที่จะตั้งนิคมจีน-มาเลเซียฯ ที่เมืองศักยภาพสูงแห่งนี้

ในงาน China-ASEAN Expo ปีนี้ ได้มีการจัดบูทใหญ่โตเพื่อเผยแพร่ข้อมูลโครงการนิคมจีน-มาเลเซียฯ ดังกล่าว แต่ดิฉันตั้งใจไม่นำมาเขียนในคอลัมน์นี้ เพราะไม่อยากช่วยประชาสัมพันธ์ให้พวกเขาค่ะ ในงานนี้ เจ้าหน้าที่กระทรวง MITI ของมาเลเซียยังเล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้ได้มีการตั้งคณะทำงานเฉพาะเพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ”และย้ำว่า“มาเลเซียได้เลือกแล้วอย่างแน่วแน่ที่จะก้าวไกลไปกับจีน”

เมื่อกลับมาย้อนคิดว่า แล้วไทยแลนด์แดนสนธยาของเราได้ทำอะไรกับเขาบ้าง (เนี่ย) ท่านผู้อ่านก็คงพอจะเห็นภาพแล้วมังค่ะ ว่าทำไมดิฉันต้องเกิดอาการอิจฉาตาร้อนมาเลเซีย !!!



--

Aksornsri Phanishsarn, Ph.D.

Assistant Professor

Faculty of Economics

Thammasat University, THAILAND

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 24 มกราคม 2012 เวลา 13:25 น.
 

รัฐเข้าคุม เอกชนถอยไป

พิมพ์ PDF

รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป: Guo Jin Min Tui

โดย ดร.อักษรศรี  พานิชสาส์น

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.bangkokbiznews.com/home/news/politics/opinion/aksornsri/news-list-1.php

 

เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมาก่อนที่จะตกอยู่ในสถานะ“ผู้อพยพ”ลี้ภัยน้ำท่วมอย่างเต็มตัว ดิฉันได้มีโอกาสบินไปเก็บข้อมูลในเมืองจีนติดกันหลายรอบ และมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาฝากผู้อ่านค่ะ เป็นเรื่องของทิศทางและแนวคิดของจีนที่จะให้ “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป”หรือภาษาจีนกลางเรียกว่า Guo Jin Min Tui (กั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ย) ซึ่งบิ๊กบอสคนเก่งของกลุ่มมิตรผลในจีน “คุณชูศักดิ์ ว่องกุศลกิจ” ผู้มีประสบการณ์ยาวนานร่วม 18 ปีในแดนมังกรได้เริ่มเกริ่นถึงแนวคิดนี้ให้ดิฉันและคณะดูงานได้รับทราบ  และในฐานะนักเศรษฐศาสตร์  ดิฉันจึงให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ จนต้องกลับไปค้นคว้าข้อมูลที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว เพราะเป็นอีกตัวอย่างของนโยบายจีนที่พลิกตำราเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (อีกแล้ว) ค่ะ

ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่จะเน้นดำเนินการตามแนวคิด privatization หรือแปลไทยว่า “การแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน” เพราะเชื่อกันว่า เอกชนน่าจะทำธุรกิจได้ดีกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่ากิจการของรัฐ  แต่แนวคิด “กั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ย” ในประเทศจีนกลับตรงกันข้าม เพราะในวันนี้ ประเทศจีนได้หันมาเน้น “การแปรรูปกิจการเอกชนให้เป็นของรัฐ”

ในขณะนี้ รัฐวิสาหกิจจีนในหลายอุตสาหกรรมได้ (กลับ) ขึ้นมามีบทบาทแทนที่บรรดาบริษัทเอกชนจีนที่เคยมีอยู่ดาษดื่น ทำให้อุตสาหกรรมของเอกชนจีนหดเล็กลง หรือต้องถอยฉากออกไป จนอาจจะทำให้ภาคเอกชนต้องลดบทบาทจากที่เคยเป็นผู้เล่นหลักในระบบเศรษฐกิจจีนก็เป็นได้

แนวคิด “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” เริ่มประมาณปลายปี 2009 เมื่อทางการจีนเริ่มนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อให้ภาครัฐเข้าคุมกิจการของกลุ่มธุรกิจสำคัญและเพื่อโอบอุ้มรัฐวิสาหกิจจีนให้กลับขึ้นมาเป็น “พระเอก” ในอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เคมีภัณฑ์ ถ่านหิน ปิโตรเลียม เหมืองแร่ การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ เช่น สายการบิน การเงิน การประกันภัย ไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทเอกชนจีนหลายแห่งในอุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกบีบให้ปิดตัวลง บ้างก็ถูกบีบให้ขายออกไปในราคาที่ต่ำ

ดังนั้น ภายใต้นโยบาย “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” นี้  กิจการของรัฐในจีนหลายแห่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาหรือกำหนดปริมาณการผลิตในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น

นอกจากนี้ เอกชนจีนหลายรายได้ออกมาโอดครวญว่า “มีประวัติทางการเงินดี  แต่กลับกู้เงินไม่ได้ เพราะธนาคารในสังกัดของรัฐบาลจีนไม่เห็นบริษัทเอกชนอยู่ในสายตา” จนถึงขั้นเปรียบเปรยว่า “ในฤดูหนาว วิสาหกิจของรัฐได้ใส่เสื้อหนาๆ แต่บริษัทเอกชนจีนยังคงใส่เสื้อบางๆ”

สำหรับตัวอย่างมาตรการที่ทางการจีนนำมาใช้ เช่น การเข้าซื้อกิจการ ตลอดจนการใช้เครื่องมือจากนโยบายของรัฐต่างๆ รวมทั้งการอัดฉีดให้เงินอุดหนุนกิจการของรัฐเป็นจำนวนมหาศาล พูดง่ายๆว่า โอบอุ้มกันสุดๆ จนเกิดคำกล่าวว่า รัฐบาลจีน“ปล่อยให้เอกชนกินน้ำซุป ส่วนรัฐวิสาหกิจจีนได้เป็นฝ่ายกินชิ้นเนื้อ”

ในยุค “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” นี้  พบว่า สัดส่วนของทุนและสินทรัพย์ที่ถือโดยรัฐวิสาหกิจจีนได้ขยายเพิ่มมากขึ้นและเริ่มเข้ามาแทนที่ทุนเอกชนจีนในหลายสาขาอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น สายการบินของเอกชนจีนได้ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในกำมือของสายการบินหลักที่เป็นรัฐวิสาหกิจจีน  และกรณีตัวอย่างของเหมืองถ่านหินเอกชนจีนในมณฑลซานซีได้ถูกบีบให้กลายเป็นของรัฐ (Nationalization) เป็นต้น

กลุ่มที่สนับสนุนปรากฏการณ์นี้ในจีน ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑลพยายามอธิบายว่า นโยบาย “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป”  เป็นเพียงการดำเนินการตามระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะของจีน หรือภาษาทางการเรียกว่า“State-led Socialist Market Economy with Chinese Characteristics” และเพื่อส่งเสริมให้ “ผู้ที่แข็งแรง (กว่า) เข้ามา ส่วนผู้อ่อนแอก็ต้องถอยฉากไป”

อย่างไรก็ดี  ในอีกด้านหนึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย “กั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ย” ของทางการจีน  เช่น นักวิชาการจีนจากหลายสถาบันมีความเห็นว่า “นโยบายนี้เป็นการถอยหลังของการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบตลาดที่ดำเนินมานานร่วม 30 ปี”  และโจมตีว่า ธุรกิจหลายอย่างได้ถูกผูกขาดโดยวิสาหกิจในสังกัดของรัฐบาลจีนและยังได้เข้ามา “แย่งกำไร” ของภาคเอกชน จึงเริ่มมีการตั้งคำถามในแง่การแข่งขันที่เป็นธรรมในระบบตลาด

นอกจากนี้  ยังมีบางรายถึงขั้นวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาว่า “แท้จริงแล้ว มาตรการนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองกลุ่มผลประโยชน์ (พิเศษ) ในรัฐบาลจีน” และยังได้โยงไปถึงผลประโยชน์ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนจากการเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของ เพราะต้องไม่ลืมว่า ภายใต้ระบบ Decentralization รัฐบาลท้องถิ่นของจีนสามารถแสวงหารายได้และเก็บรายได้ไว้เองส่วนหนึ่งเพื่อการบริหารจัดการของท้องถิ่นตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้รัฐบาลกลางที่ปักกิ่งทั้งหมด รัฐบาลท้องถิ่นเหล่านี้จึงต้องการ “ทำมาหากิน” หาเงินเข้ากองคลังของตนนั่นเอง

ด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านแนวคิด “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” จากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย  ทำให้บางองค์กรของจีน เช่น สภาที่ปรึกษาทางการเมืองจีน (CPPCC) ต้องออกมาปฏิเสธว่า “ไม่มีกั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ยในประเทศจีน !!! ”  จึงชัดเจนว่า  แนวคิดเรื่องนี้ในประเทศจีนยังไม่มีข้อยุติ และคงต้องเกาะติดกันต่อไป เพื่อจะได้นำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจทุนต่างชาติในจีน รวมทั้งธุรกิจของทุนไทยในจีนด้วยค่ะ

ก่อนจบ ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาลจีนที่ได้มีน้ำใจส่งเงินและสิ่งของมาบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองไทยของเรา  ขอให้น้ำลดเร็วๆ เราจะได้ผ่านพ้นปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ไปด้วยกัน (ซะที)

หมายเหตุ : ข้อมูลหนังสือทุนจีนรุกอาเซียน http://www.se-ed.com/eshop/Products/Detail.aspx?No=9786167536125

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 24 มกราคม 2012 เวลา 13:44 น.
 


หน้า 539 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5605
Content : 3047
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8597329

facebook

Twitter


บทความเก่า