Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

บทความของ อาจารย์ รุจิระ บุนนาค

พิมพ์ PDF

กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--พีอาร์   โฟกัส

เมื่อเร็วๆนี้ ผมมีโอกาสร่วมฟังการประชุมนโยบายเรื่องการส่งเสริมการแข่งขันทางการค้า และความเหมาะสมของกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดโดยสถาบัน Sasin Institute for Global Affairs (SIGA) ได้ฟังความเห็นของ ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท รองประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแง่คิดที่น่าสนใจ จึงอยากจะเล่าสู่กันฟัง

http://admax.effectivemeasure.net/emnb_1_439802.gif

ม.ล.ชาญโชติ ให้ความเห็นเรื่องนโยบายส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าว่า พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้า ที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน ล้าสมัยและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์แรกเริ่มในการออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของพรบ.ฉบับนี้ ต้องการปกป้องเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันมิให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบผู้บริโภค แต่พระราชบัญญัติแข่งขันทางการค้าที่ประกาศใช้อยู่ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นกฎหมายที่ออกมากำกับดูแลระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ ซึ่งม.ล.ชาญโชติ มีความเห็นว่า รัฐไม่ควรเข้าไปกำกับผู้ประกอบการมากนัก ควรปล่อยให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันโดยเสรี แต่กฎหมายฉบับนี้กลับออกมากำกับไม่ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เอาเปรียบผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งควรจะปล่อยให้แข่งขันไปตามกลไกของตลาด ม.ล.ชาญโชติ จึงเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่น่าจะให้ประโยชน์กับฝ่ายใดเลย แต่กลับเป็นเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการต่างๆยื่นข้อร้องเรียน แล้วเรียกร้องให้รัฐเป็นกรรมการตัดสิน แทนที่รัฐจะทำหน้าที่ในการป้องกันเศรษฐกิจของประเทศ และป้องกันมิให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค ตามวัตถุประสงค์เริ่มแรกในการออกพรบ.ฉบับดังกล่าว

ม.ล.ชาญโชติ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมถึงความล้าหลังของกฎหมายฉบับต่างๆ ที่กว่าจะออกมาได้แต่ละฉบับ ใช้เวลาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปี ในขณะที่พัฒนาการทางธุรกิจ ตลอดจนความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต่อเนื่องตลอดเวลา ดังนั้น กว่ากฎหมายแต่ละฉบับที่เกี่ยวข้องจะแล้วเสร็จ ธุรกิจนั้นๆก็เปลี่ยนแปลงรูปแบบ เงื่อนไขและรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญไปแล้ว ม.ล.ชาญโชติ จึงเห็นว่า การออกกฎหมายของประเทศไทยส่วนใหญ่มักไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น การออกกฎหมายแต่ละฉบับควรเป็นกฎหมายที่สามารถปฏิบัติได้ด้วย

ม.ล. ชาญโชติ มีความเห็นว่า กฎหมายในบ้านเรามีมากมายหลายฉบับที่มีความซ้ำซ้อนกัน และบางฉบับยังมีข้อกำหนดที่หักล้างกันเอง แทนที่จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น กลับมีผลทำให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ

แต่กระนั้น ม.ล.ชาญโชติ ย้ำว่า ตนมิได้ไม่ต้องการให้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้า แต่เห็นว่ากฎหมายที่ออกมาจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้ตั้งแต่เริ่มแรก และที่สำคัญจะต้องสามารถนำมาปฏิบัติได้ด้วย เพราะหากกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าวยังล้าหลัง ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเสริมสร้างภาคธุรกิจไทยให้มีศักยภาพที่จะแข่งขันในระดับสากลอีกด้วย

ม.ล. ชาญโชติ ยังกล่าวถึง การเข้ามาของบริษัทต่างชาติในประเทศไทย โดยเห็นว่า เป็นสิ่งที่ดี แต่จำเป็น ต้องมีนโยบายในการกำกับดูแลบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจแข่งขันว่า การที่บริษัทต่างชาติต่างๆ เหล่านั้นเข้ามาใช้ทรัพยากรของประเทศ ก็ควรกำหนดเงื่อนไขค่าตอบแทนที่พึงจ่ายให้กับประเทศด้วย โดยรัฐสามารถออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องดังกล่าว โดยมีเงื่อนไขที่ไม่แตกต่างมากจนเกินไประหว่างบริษัทไทยกับบริษัทต่างชาติ ขณะเดียวกัน รัฐจะต้องมีนโยบาย ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย รวมทั้งผู้ประกอบการขนาดเล็ก ตลอดจนผู้ประกอบการที่อ่อนแอกว่า เพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขัน

นอกจากนี้ ม.ล. ชาญโชติ ยังได้กล่าวถึงนโยบายการเปิดเสรีว่า ความจริงแล้วไม่ใช่เป็นการเปิดเสรีจริงๆ เพราะแต่ละประเทศต่างก็มีกฎหมายแตกต่างกันในการกำกับดูแลกรณีต่างๆ เช่น กรณีที่เกี่ยวข้องกับที่ดิน ก็มีกฎหมายที่ดินที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการกำกับการถือครองกรรมสิทธิ์ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ ม.ล.ชาญโชติกล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากฎหมายยังมีความอ่อนแอมาก จึงทำให้ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในมือของต่างชาติ จึงจำเป็นที่จะต้อง พิจารณา สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และต้องวางแผน วางหลักเกณฑ์ในการออกกฎหมายใหม่ ตัวอย่างเช่น กรณี BOI ที่ต้องการจูงใจให้ต่างชาติที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศ แต่กลับไม่มีการส่งเสริมสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นคนไทยให้ออกไปลงทุนแข่งขันในต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยขนาดเล็กและขนาดกลาง ซึ่งในความเป็นจริง BOI ควรมีมาตรการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขนาดเล็กและขนาดกลางให้สามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศ มากกว่ามาตรการ ลด แลก แจก แถม เพื่อชักจูงให้ผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ม.ล.ชาญโชติ มีความเห็นว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่เหมาะกับการลงทุน มีหลายประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนทำธุรกิจในไทย ยกตัวอย่าง บริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยบริษัทที่ปรึกษากฎหมายต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อคนไทยไปปรึกษาข้อกฎหมาย ข้อมูลต่างๆที่เป็นข้อมูลส่วนตัว หรือข้อมูลที่เป็นข้อพิพาทสำคัญๆ ก็จะกลายเป็นข้อมูลของบริษัทที่เป็นต่างประเทศดังกล่าว ดังนั้น รัฐจึงควรกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล เช่น การจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมาย จะต้องเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายที่เป็นคนไทยเท่านั้น โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น ซึ่งคนไทยมีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าชาติอื่นๆ และไม่ควรกลัวต่างชาติ อาจจะยอมเสียเปรียบต่างชาติบ้าง แต่ต้องอยู่ในขอบเขต และที่สำคัญ ม.ร. ชาญโชติ ย้ำว่า จะต้องไม่ยอมให้ต่างชาติเอาเปรียบตลอดเวลา และจะต้องกำหนดประเภทธุรกิจ และข้อจำกัดการประกอบธุรกิจไว้ให้เป็นของคนไทยอย่างชัดเจน

และในตอนท้าย ม.ล.ชาญโชติ ยังกล่าวว่า ที่สำคัญที่สุดก็คือเรื่องบุคลากร ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจต้องเอาคนเป็นที่ตั้ง โดยเริ่มจากประชาชนคนไทย คือการสร้างคนซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญ โดยพิจารณาถึงความสามารถ ว่าคนไทยมีความสามารถในด้านใด ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนไทยมีความสามารถในด้านการให้บริการ ในด้านการบริหารจัดการซึ่งจะต้องพัฒนาให้คนไทยสามารถบริหารจัดการร่วมกันอย่างเป็นทีม แต่อย่างไรก็ตาม แผนเศรษฐกิจของประเทศไทยฉบับปัจจุบัน กลับไม่กล่าวถึงเศรษฐกิจภาคบริการ ทั้งๆที่ภาคบริการมีความสำคัญ นอกจากนี้ ต้องให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (SME) เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ร้อยละ90 ของประเทศเป็น SME ที่มีความสามารถทั้งสิ้น

ผมอยากจะฝากประเด็นแง่คิดของม.ล.ชาญโชติ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการธุรกิจบริการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนพิจารณา เพราะธุรกิจปัจจุบันพัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ก็ควรที่จะหันมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกรอบของกฎหมายให้ทันสมัย รองรับความต้องการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้มแข็ง สามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้อย่างแท้จริง

บทความ: อาจารย์รุจิระ บุนนาค

กรรมการผู้จัดการ สำนักงานกฎหมายมารุต บุนนาค


 

นโยบายด้านศาสนา ของมีค่าที่ถูกลืม โดย ศ.วิจารณื พานิช

พิมพ์ PDF

 

คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สาขาปรัชญา จัดการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง “นโยบายด้านศาสนา : ของมีค่าที่ถูกลืม” วันที่ ๑๑ - ๑๒ พ.ค. ๕๕ ผมโชคดี ได้รับเชิญเข้าร่วม และบรรยายเรื่อง ความร่วมมือทางศาสนาในประชาคมอาเซียน จึงนำ narrated ppt มาฝากที่

http://www.uc.mahidol.ac.th/file/ความร่วมมือทางศาสนา_NRC_550512_N.pptx

 

ผมตั้งใจไปทำความเข้าใจว่านักวิชาการและวิทยากรที่มาพูด มองคุณค่าของศาสนาอย่างไร

 

ผมเพิ่งบันทึกความในใจเรื่องการถือศาสนาของผมที่นี่

 

บ่ายวันที่ ๑๑ ผมมีโอกาสได้ฟังส่วนหนึ่งของการอภิปรายเรื่อง “นโยบายในการส่งเสริมและทำนุบำรุงศาสนา : จากบริบทไทยไปบริบทอาเซียน ส่วนของศาสนา ซิกข์  และศาสนาอิสลาม   สิ่งที่ผมได้คือ ทั้งสองศาสนาเน้นการเรียนรู้สืบทอดหลักศาสนาภายในครอบครัว    เน้นความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว    วิทยากรจากทั้งสองศาสนาเน้นตรงกันอีกอย่างหนึ่งคือ การปฏิบัติ ที่อยู่กับเนื้อกับตัว ในทุกขณะจิตของชีวิต   ข้อนี้ตรงกับความเข้าใจของผม ว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ที่เรียกว่าการฝึกฝนตนเอง เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของชีวิต   และเข้าใจว่าทุกศาสนาเน้นข้อนี้   แต่มีวิธีดำเนินการแตกต่างกัน

 

วันที่ ๑๒ พ.ค. ผมจึงเข้าร่วมประชุมตลอดวัน เริ่มจากการบรรยายของผมตาม narrated ppt ข้างต้น   และเมื่อกลับมาไตร่ตรอง (AAR) ต่อที่บ้าน จึงเห็นว่า ศาสนาก็เช่นเดียวกับองค์กรหรือปัจจัยทางสังคมอื่นๆ (เช่น การศึกษา) ที่ตกอยู่ในสภาพที่ปรับตัวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม   มีการพูดกันว่าวงการพุทธศาสนาไทยสื่อสารกับคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่รู้เรื่อง

 

สังคมไทยทั้งสังคม ไม่มีกลไกปรับตัวให้แก่ระบบทางสังคมที่มีคุณค่าในอดีต   ให้เปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม    เพื่อให้ระบบทางสังคม (เช่นศาสนา) ยังดำรงคุณค่า (ในรูปแบบใหม่) ให้แก่สังคมต่อไปได้

 

ผมตีความว่า ระบบศาสนาต้องเรียนรู้มาก และปรับตัวมาก จึงจะดำรงคุณค่าแก่สังคมได้   แม้ว่าแก่นของศาสนาไม่เปลี่ยน แต่เปลือกหรือส่วนสัมผัสสื่อสารกับผู้คนในสังคมต้องเปลี่ยน   เพื่อดำรงคุณค่าต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมให้ได้   เป้าหมายคือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางใจ ให้ยึดมั่น เชื่อมั่น ในคุณงามความดี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

 

ที่จริงจะว่าวงการศาสนาไม่ปรับตัวก็ไม่ถูกต้อง    มีคนกล่าวในที่ประชุม (ตรงกับข้อสังเกตของผมเองด้วย) ว่าเดี๋ยวนี้วัดต่างๆ ในประเทศไทย ปรับตัวเป็น one stop service แก่ความเชื่อแบบงมงาย แก่ผู้มาสะเดาะเคราะห์ขอพร เป็นมีทั้งพระพุทธรูป เจ้าแม่กวนอิม ทั้งเทพฮินดู พระราหู ฯลฯ ให้กราบไหว้บูชา    ไปที่เดียวได้พบสิ่งศักดิ์สิทธิ์ครบทุกประเภท

 

ผมได้เรียนรู้มากมายจากการบรรยายและการอภิปรายในวันนี้   แต่ผมแปลกใจ ที่ในช่วงการอภิปรายเรื่องศรัทธากับงานสร้างสรรค์ทางศาสนา วิทยากร ๖ ท่าน   ไม่มีใครเอ่ยถึงงานสร้างสรรค์ หรืองานศิลปะ ที่เป็นเครื่องเอื้อต่อการเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาได้ดีขึ้น   ซึ่งผมนึกถึงโรงมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกข์   และนึกถึงหอจดหมายเหตุพุทธทาส ที่กรุงเทพ มีแต่ ศ. ดร. วิรุณ ตั้งเจริญ ที่ยกเอาบทกวีของท่านพุทธทาสมาอ่าน ได้แก่ มองแต่แง่ดีเถิดโลกนี้คืออะไรแน่เป็นมนุษย์หรือเป็นคน

 

แต่กลอนชื่อ มองแต่แง่ดีเถิด ที่ ศ. ดร. วิรุณ ยกมา มี ๓ ตอน เพิ่มจากที่ผมค้นและลิ้งค์ไว้ข้างบน ๑ ตอน   จึงขอนำตอนที่ ๓ มาลงไว้ ดังนี้

ไม่นานนัก  จักมี  ดีประดัง

จนกระทั่ง  ถึงมี  ดีอย่างยิ่ง

เมื่อพ้นดี  จะถึงที่  นิพพานจริง

นับเป็นสิ่ง  ควรฝึกแน่  “มองแต่ดี”

 

ขอนำบันทึกส่วนตัว ที่ผมใช้ iPad จดประกอบการฟังและคิดที่นี่ (link ไปยังไฟล์ ศาสนา_550511)   ข้อความที่มีดอกจันทน์อยู่ข้างหน้าหมายถึงความคิดของผมที่ผุดขึ้นระหว่างฟัง

ท่านมหาหรรษา วิทยากรท่านหนึ่ง กล่าวว่า คนในประเทศออสเตรเลีย ร้อยละ ๗๐ บอกว่าตนไม่มีศาสนา    ผมไม่เชื่อ   ผมคิดว่าเขาไม่ถือศาสนาใดศาสนาหนึ่งโดยเฉพาะ   แต่คนเราต้องการความเชื่อชุดหนึ่งสำหรับยึดถือหรือเป็นที่พึ่งทางใจ   ซึ่งไม่จำเป็นต้องตรงกับศาสนาหนึ่งศาสนาใดทั้งหมด   แต่ก็เป็นการยึดถือทางศาสนานั่นเอง

AAR อีกข้อหนึ่งของผมคือ ยังแตะศาสนาส่วนที่เป็นแก่น และส่วนที่เป็นการปฏิบัติในชีวิตประจำวันน้อยไป   ผมพยายามบอก(ในการบรรยายของผม)ว่าต้องเน้นที่การสอดแทรกทักษะด้านใน คือทักษะด้านศาสนาธรรมที่เป็นแก่นเข้าไปใน PBL   และครูต้องเอาเรื่องวิธีเป็น facilitator เพื่อปลูกและงอกงามทักษะด้านใน เอามา ลปรร. และวางแผนดำเนินการร่วมกันใน PLC   เพราะทักษะด้านในเป็นส่วนสำคัญของ Life Skills ที่เป็นองค์ประกอบหนึ่งของ 21st Century Skills    แต่ผมคงจะพูดไม่ชัด จึงเอามาย้ำไว้ ณ ที่นี้

ทักษะด้านในที่เป็นศาสนธรรมนี้ น่าจะเป็นศาสนธรรมสากล คือก้าวข้ามแต่ละศาสนา เข้าสู่ส่วนที่เหมือนกันของทุกศาสนา    และทักษะนี้แหละที่จะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างศาสนาลงได้

 

ส่วนหนึ่งของทักษะด้านในด้านศาสนธรรมสากลคือ EFของสมองนั่นเอง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๒ พ.ค. ๕๕

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 19 มิถุนายน 2012 เวลา 19:41 น.
 

หลัก 2 C ของท่านวิจารณ์ พาณิช

พิมพ์ PDF

เมื่อประมาณ ๗ ปีก่อน ทางมหาวิทยาลัยมหิดลเชิญผมไปเลี้ยงแสดงความยินดีที่ผมได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ทำหน้าที่นายกสภามหาวิทยาลัย ต่อจาก ศ. เกียรติคุณ นพ. นที รักษ์พลเมือง ที่ทำหน้าที่มา ๑๖ ปี    เขาขอให้ผมพูดต่อที่ประชุมว่าผมจะมีวิธีทำงานอย่างไร   ผมบอกว่าผมจะใช้หลัก 2C คือ Continuity and Change ซึ่งหมายความว่าจำดำเนินการต่อจากท่านนายกสภาฯ ท่านก่อนเพื่อให้มีความต่อเนื่อง ในนโยบายดีๆ ที่มีอยู่   และจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและความต้องการของบ้านเมือง   ผมเดาว่าผู้ที่ฟังผมในคืนนั้น คงจะงงๆ

เช้าวันที่ ๑๔ พ.ค. ๕๕ ผมไปร่วมประชุมหารือกลุ่มย่อยที่ศิริราช  เพื่อสร้างกลไกความต่อเนื่องและการเปลี่ยนแปลงให้แก่การทำงานรับใช้มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   โดยเน้นที่คณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ  และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ    ที่ผมเสนอตัวหมุนเวียนออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาวิชาการ   รวมทั้งปรึกษากันว่าจะหมุนผู้อาวุโสบางท่านออก   เพื่อหาตัวคนที่อายุสี่สิบเศษๆ ที่เหมาะสม มาทำงาน เพื่อสร้างความต่อเนื่องและสร้างการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน


รวมทั้งมีการวางแผนไปข้างหน้า ว่าในที่สุดผมจะหมุนเวียนออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติด้วย


เราคุยกันเรื่องการประสานงานสร้างความเคลื่อนไหวปฏิรูประบบการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพของประเทศ ที่ อ. วิม (ศ. พญ. วณิชชา ชื่นกองแก้ว) รับผิดชอบอยู่   ว่าจะต้องมีระบบจัดการ จัดองค์กร และจัดคน ให้เหมาะสม   ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา รองฯ ใหญ่ด้านวิชาการของศิริราช รับไปช่วยจัดระบบให้   เบาใจไปอีกเรื่อง    เพราะการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนั้น burnt out ง่าย   เรียกภาษาไทยสมัยใหม่ว่า “หมดแบต” คือหมดแรงบันดาลใจ หรือ “หมดไฟ”


คุณหมอสุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ชวนหารือเรื่องการวางแผนระยะยาว ส่งมอบภารกิจผู้นำดำเนินการ PMAC แก่คนรุ่นใหม่ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง   ที่จะต้องมีคนรุ่นใหม่ที่ทั้งมีสมอง มีใจ และมีไฟ มาฝึกและสร้างเครือข่ายนานาชาติสัก ๔ - ๕ ปี จนคุ้นเคยและเกิดการยอมรับ   อ. หมอประสิทธิ์รับไปชักชวนคนที่เหมาะสมและจัดเวลาและค่าใช้จ่าย   โดย ศ. นพ. สุพัฒน์ วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลรับรู้ยุทธศาสตร์นี้


เราคุยกันว่า โครงการเยาวชน กำลังดำเนินไปด้วยดี ทีมทำงานของศิริราชไม่เปลี่ยน แม้ทีมบริหารคณะจะเปลี่ยน   คาดว่า อีก ๒ - ๓ ปี จะต้องเริ่มหาคนอีกรุ่นหนึ่งมาเรียนรู้งาน เพื่อทำงานต่อเนื่อง


วันนี้การประชุมปรึกษาหารือกลุ่มเล็กๆ เชิงเตรียมการณ์สู่อนาคต อบอวลไปด้วยกลิ่นไอของ ความต่อเนื่องผสมการเปลี่ยนแปลง

 

วิจารณ์ พานิช

๑๔ พ.ค. ๕๕

 

เลขฐาน ๒ โดย วิจารณ์ พาณิช

พิมพ์ PDF

 

การศึกษาไทยในปัจจุบันชักจูงให้คนมีวิธีคิดแบบ “เลขฐาน ๒” คือเรื่องต่างๆ สามารถลดทอนลงเป็นทางเลือก ๒ ทาง ไม่ถูกก็ผิด,  ไม่ ๐ ก็ ๑   ผมไม่เชื่อเช่นนั้น   ผมเชื่อว่าชีวิตคนเราเป็นชีวิตพหุฐาน ไม่ใช่ชีวิตฐาน ๒   โลกไม่ได้เป็นโลกฐาน ๒    หรือไม่ได้มีสองขั้ว


ประมาณ ๒๕ ปีมาแล้ว ผมไปขึ้นศาลในฐานะพยานโจทย์ในคดีฟ้องร้องทางแพ่งคดีหนึ่ง    ทนายจำเลยตั้งประเด็นคำถาม และบอกให้ผมตอบว่าใช่หรือไม่ใช่ นี่คือวิธีการเอาชนะกันด้วยวิธีลดทอนความจริงลงเป็น ๒ ขั้ว ตัดความซับซ้อนออกไปหมด


ผมคิดว่าตอบว่าใช่ก็มีทั้งส่วนที่ถูกและไม่ถูก   ตอบว่าไม่ใช่ก็มีทั้งส่วนที่ถูกและไม่ถูก   ผมจึงอธิบายว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร   ทนายแย้งต่อศาลว่า ผมตอบไม่ตรงคำถาม   คำถามของเขา (ซึ่งยืดยาว) ต้องการให้ผมตอบว่าใช่หรือไม่ใช่   คำตอบมีเพียง ใช่ หรือ ไม่ใช่เท่านั้น   ไม่ต้องอธิบาย   ศาลเห็นด้วยกับทนาย และสำทับว่า “เอ้า คุณหมอ ตอบ”


ผมตอบว่า “ใช่ครึ่งหนึ่งครับ”


ทั้งศาลและทนายงง ว่า ใช่ครึ่งเดียวมีด้วยหรือ   ผมจึงถามศาลว่า จะให้ผมอธิบายหรือไม่ ว่าทำไมจึงใช่ครึ่งเดียว    ศาลบอกว่า “เชิญคุณหมออธิบาย”


ผมจึงได้โอกาสอธิบายความซับซ้อนของเรื่อง ที่หากตอบว่าใช่ ก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะมีส่วนที่ไม่ใช่อยู่ด้วย   หากตอบว่าไม่ใช่ ก็เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว เช่นเดียวกัน   ผมใจชื้น ที่ศาลสั่งว่า ให้จดตามที่ผมอธิบาย


เรื่องเล่านี้แสดงให้เห็นว่า ในชีวิตจริง มีวิธีคิด และวิธีสื่อสารแบบ “ฐาน ๒” (binary)เต็มไปหมด    ในกรณีของทนายท่านนี้ ก็เพื่อบีบให้ความคิดของพยานเข้าช่องแคบ เหมือนต้อนแกะเข้าเล้า    เพื่อบีบให้พยานต้องตอบตามที่ตนต้องการ  หรือเพื่อหาทางขจัดความน่าเชื่อถือของพยานออกไป เมื่อซักต่อ แล้วพยานตอบขัดกันกับคำตอบเดิมเพื่อหาทางเอาเปรียบด้านพยานหลักฐาน   ถือเป็นมายาชีวิตอย่างหนึ่ง


ในชีวิตจริงเราจะพบ “ความจริงฐาน ๒” เต็มไปหมด   เป็นมายาแห่ง “ความจริง”    เป็น reductionism หรือการลดทอนจาก “ความจริงที่ซับซ้อน” ให้เหลือเพียง “ความจริงสองด้าน”


ผมเคยเล่าไว้หลายครั้งแล้วว่าผมมีนิสัยชอบที่โล่ง ชอบอยู่กลางแจ้ง    ไม่ชอบที่แคบ ไม่ชอบอยู่ในบ้าน   ชอบออกไปอ่านหนังสือในสวนมากกว่า    ไม่ทราบว่านิสัยนี้กับความชอบ “ชีวิตพหุฐาน” เกี่ยวข้องกันหรือไม่


ที่น่าจะใช่คือ การดำรงชีวิตแบบมีความคิดพหุฐาน  ใช้ความซับซ้อนและปรับตัว (complex-adaptive) เป็นพลังในการทำงานและการดำรงชีวิต ทำให้ชีวิตของผมสนุกมาก และเรียนรู้มาก   เปิดโอกาสให้ได้ฝึกฝนตนเองมาก   เพราะมันเปิดโอกาสให้ชีวิตออกสู่ที่กว้าง ไม่ถูกจำกัดความคิด


ที่สำคัญมันเป็นอนุสติ เป็นหลักฐานที่ชัดเจน ว่าในความเป็นจริงแล้ว ผมเป็นคนที่มีความรู้น้อยมาก   เพราะในพหุมิติของเรื่องต่างๆ นั้น   มีมิติที่ผมไม่รู้หรือรู้ไม่จริง มากกว่ามิติที่ผมรู้จริง เป็นสิบเป็นร้อยเท่า    การเข้าถึงความจริงนี้ ช่วยลดอหังการ์


สำหรับร้านค้าออนไลน์ Amazon.com โลกของเขามีถึง ๕๐๐ มิติ   ที่เขาจะตรวจสอบข้อมูล (ที่เก็บด้วยระบบ ไอซีที) อยู่ตลอดเวลา    ว่าความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้า ในเรื่องต่างๆ ๕๐๐ ประการมีอย่างไรบ้าง    เพราะ Amazon มีความสามารถจัดการความซับซ้อนได้ถึงขนาดนี้   ธุรกิจของเขาจึงโตวันโตคืน   จากเดิมเป็นร้านขายหนังสือออนไลน์   เวานี้กลายเป็นร้านค้าออนไลน์ ที่มีสินค้าถึง ๒๐ ล้านรายการ


ในโลกสมัยใหม่ เราต้องฝึกทักษะชีวิตพหุฐาน


วิจารณ์ พานิช

๑๑ พ.ค. ๕๕

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 09 มิถุนายน 2012 เวลา 19:33 น.
 

หลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษา ปวช

พิมพ์ PDF

 

เมื่อ 2 วันก่อน ได้รับโทรศัพท์จากท่านรองผู้อำนวยการวิทยาลัยพาณิชยการ ท่านหนึ่ง โทรมาปรึกษาว่า ท่านกำลังมีปัญหาเรื่องหาอาจารย์สอน English Program สำหรับนักศึกษา ปวช หลักสูตร 3 ปี แบ่งเป็น 2 แผนก

1. แผนกโรงแรม ประกอบด้วยวิชา

  • English for Hotel Operation 40 ชั่วโมง
  • Hotel Kitchen and Kitchen Equipment 30 ชั่วโมง
  • Food and Beverage Services 40 ชั่วโมง
  • Beverage and Mixing 30 ชั่วโมง
  • Bakery 40 ชั่วโมง
  • Art and Service 20 ชั่วโมง
  • Hotel Front Office 30 ชั่วโมง

2. แผนกการท่องเที่ยว ประกอบด้วยวิชา

  • Tourism Industry 30 ชั่วโมง
  • North-Eastern Tourism Resources 30 ชั่วโมง
  • Tour Guide 40 ชั่วโมง
  • Tour Operation 40 ชั่วโมง
  • Tourist Behavior 20 ชั่วโมง
  • Marketing for Tourism 20 ชั่วโมง
  • Southern Tourism Resource 30 ชั่วโมง

สอนเป็นภาษาอังกฤษทุกวิชา อาจารย์ที่มีอยู่ ถูกมหาวิทยาลัยดึงตัวไป จึงขอร้องให้ผมช่วยแนะนำหาอาจารย์ให้ด่วน

ผมฟังแล้วเป็นห่วงมากๆ เพราะต้องใช้อาจารย์ที่มีความรู้ในเรื่องของโรงแรม และการท่องเที่ยว แถมยังต้องสอนเป็นภาษาอังกฤษ แค่อย่างใดอย่างหนึ่งก็หาอาจารย์ที่มีคุณสมบัติที่จะสอนเด็กให้ได้รับความรู้จริงและนำไปใช้ในการทำงานได้ก็ยากแล้ว (สร้างปัญหาให้กับผู้ใหญ่และเด็ก)

นี่คือระบบการศึกษาของบ้านเรา ผู้หลักผู้ใหญ่ที่กำหนดนโยบาย ทำตามกระแส วันนี้ทุกหน่วยงานบ้าจี้เรื่องเปิดเสรีและเตรียมการพัฒนาทรัพยากรเพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ต่างคิดว่าภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จึงผลักดันให้เด็กไทยเน้นภาษาอังกฤษจะได้ทำให้แข่งขันได้ โดยไม่ได้มองปัจจัยอื่นๆประกอบ

ผมไม่ได้คัดค้านในการเริ่มมีโปรแกรมภาษาอังกฤษในวิชาชีพ แต่ต้องมีขั้นตอนและการเตรียมความพร้อมด้านครูอาจารย์และสถานศึกษา ตลอดจนการเตรียมตัวของเด็กก่อนที่จะกระโดดเข้ามาเรียน นอกเหนือจากนั้นยังมีเรื่องของค่าตอบแทนทั้งอาจารย์ผู้สอน และของเด็กเมื่อจบออกไป

กลุ้มจริงๆครับ กับการทำงานแบบผักชีโรยหน้าของระบบการศึกษาของไทย ขอให้ได้ทำ ผลจะเป็นอย่างไร ไม่ได้คำนึง ผู้กำหนดนโยบาย กำหนดตามที่คิดอยากให้เป็น ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ต้องนำไปปฏิบัติ โดยไม่มีอาวุธ หรือให้การสนับสนุนใดๆทั้งสิ้น สร้างความกดดันและปัญหาให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา

แนวทางการพัฒนาคนแบบนี้ ไม่ใช่การสร้างคนให้มีคุณภาพ แต่เป็นการทำแบบไร้ทิศทาง เสียงบประมาณและเวลา ทำให้ขาดคุณภาพ ไม่มีมาตราฐาน

อย่างไรก็ตามผมได้แจ้งไปทางเพื่อนๆที่อยู่ในเครือข่ายของผม ก็ได้รับการตอบรับกลับมา 3 ท่าน ทั้งสามท่านคุณภาพคับแก้ว เพียงแต่ไม่แน่ใจว่าท่านเหล่านั้นจะมีเวลาให้ได้เท่าไหร่ จะสามารถสอนได้ครบทุกวิชา และต่อเนื่องตลอดหลักสูตรได้หรือไม่

นี่แค่วิทยาลัยเดียว และถ้าวิทยาลัยพาณิชย์ทั้งหลายหันมาเปิดหลักสูตรภาษาอังกฤษให้กับนักศึกษา ปวช กันหลายๆโรงเรียน จะหาอาจารย์สอนได้จากที่ไหน เพราะแค่ภาษาไทยยังไม่สามารถหาอาจารย์ที่รู้จริงมาสอนได้เลย

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสบดีที่ 31 พฤษภาคม 2012 เวลา 22:55 น.
 


หน้า 530 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8655826

facebook

Twitter


บทความเก่า