PMAC 2017 : 3. การบรรยายของผู้ได้รับรางวัล ปี ๒๕๕๙

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - การศึกษา
พิมพ์

PMAC 2017 : 3. การบรรยายของผู้ได้รับรางวัล ปี ๒๕๕๙


ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๙ คือ สาขาการแพทย์ได้แก่ Sir Gregory Paul Winter และสาขาสาธารณสุขได้แก่ ศาสตราจารย์ Vladimir Hachinski ตาม ข่าวนี้


เป็นประเพณี ว่าผู้ได้รับพระราชทานรางวัลจะได้รับเชิญไปที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในวันก่อนพิธีพระราชทานรางวัล โดยใช้เวลาทั้งวันที่นั่น และตอนบ่าย ๑๓.๓๐ - ๑๕.๐๐ น. เป็นงานบรรยายเล่าผลงานของท่านสั้นๆ คนละประมาณ ๓๐ นาที เป็นช่วงเวลาที่ผมไม่พลาด


เซอร์เกรก พูดเรื่อง The Antibody Revolution เล่าเรื่องการพัฒนายาจากแอนติบอดีย์ ในสองด้าน คือด้านเทคโนโลยี กับด้านธุรกิจ ในด้านเทคโนโลยีท่านอธิบายอย่างง่ายๆ เรื่องการพัฒนาแอนติบอดีย์ ๓ แบบ คือ monoclonal antibody, humanized antibody, และ human antibody พบว่าแบบแรกใช้ไม่ได้ผล เพราะในเวลาเพียง ๓๐ วัน ร่างกายคนก็จะสร้างภูมิคุ้นกันขึ้นต้านยา สองอย่างหลังใช้ได้ดีทั้งคู่แต่ท่านฉายสไลด์ให้เห็นว่าอย่างที่สองทำเงินให้บริษัทยามากกว่า ในด้านธุรกิจ ท่านตั้งบริษัทขึ้นมาจัดการทรัพย์สินทางปัญญา และร่วมมือกับบริษัทยา ในการพัฒนายา ทำให้ MRC ของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้รับผลประโยชน์ ๓๕๐ ล้านปอนด์ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ส่วนแนวทางที่สามให้ผลประโยชน์ ๑๕๐ ล้านปอนด์ ยาที่ทำผลประโยชน์สูงสุดคือ Humira (Adalimumab) ใช้รักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และโรคผิวหนัง สะเก็ดเงิน (psoriasis)


เป็นตัวอย่างนักวิทยาศาสตร์ที่หายาก คือเก่งทั้งด้านการค้นคว้า (discovery) และด้านการสร้างผลประโยชน์จากการค้นคว้า (commercialization) โดย patenting และ licensing


ศ. ฮาชินสกี้ พูดแบบนักปรัชญา เริ่มด้วยคำคม “ไม่มีเส้นทาง เส้นทางเกิดจากคนเดิน” There are no paths, Paths are made by walking … Antonio Machado และลงท้ายด้วย “จงเดินไปในที่ไม่มีทางเดิน แล้วทิ้งรอยไว้” Go with the no path and leave a trail … Emerson


ท่านแนะนำให้แยกข้อมูล ออกจากการตีความ และให้กลับไปตีความข้อมูลใหม่ เมื่อเรียนรู้เพิ่มขึ้น และแนะให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของวงจรการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ (translational cycle) และหากต้องทำงานที่ตนไม่ชอบ ก็จงฝึกให้รักงานนั้น ว่าแล้วก็เล่างานและผลงานของท่านที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียง ที่ตีความได้จากข้อแนะนำเหล่านั้น


ท่านบอกว่า “รอยเท้า” ของท่านคือผลงานด้าน ไมเกรน, สโตร๊ค, และ ดีเมนเชีย


ผมเล่าข้อสะท้อนคิดจากการไปฟังการบรรยายของผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ไว้ ที่นี่ และอ่านบันทึกการไปฟังการบรรยายปีก่อนๆ ได้ ที่นี่




วิจารณ์ พานิช

๓๐ ม.ค. ๖๐

คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/624519

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2017 เวลา 16:38 น.