รัฐเข้าคุม เอกชนถอยไป

วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน 1999 เวลา 07:00 น. ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท บทความ - สังคม วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
พิมพ์

รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป: Guo Jin Min Tui

โดย ดร.อักษรศรี  พานิชสาส์น

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.bangkokbiznews.com/home/news/politics/opinion/aksornsri/news-list-1.php

 

เมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมาก่อนที่จะตกอยู่ในสถานะ“ผู้อพยพ”ลี้ภัยน้ำท่วมอย่างเต็มตัว ดิฉันได้มีโอกาสบินไปเก็บข้อมูลในเมืองจีนติดกันหลายรอบ และมีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาฝากผู้อ่านค่ะ เป็นเรื่องของทิศทางและแนวคิดของจีนที่จะให้ “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป”หรือภาษาจีนกลางเรียกว่า Guo Jin Min Tui (กั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ย) ซึ่งบิ๊กบอสคนเก่งของกลุ่มมิตรผลในจีน “คุณชูศักดิ์ ว่องกุศลกิจ” ผู้มีประสบการณ์ยาวนานร่วม 18 ปีในแดนมังกรได้เริ่มเกริ่นถึงแนวคิดนี้ให้ดิฉันและคณะดูงานได้รับทราบ  และในฐานะนักเศรษฐศาสตร์  ดิฉันจึงให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ จนต้องกลับไปค้นคว้าข้อมูลที่มาที่ไปของแนวคิดดังกล่าว เพราะเป็นอีกตัวอย่างของนโยบายจีนที่พลิกตำราเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (อีกแล้ว) ค่ะ

ที่ผ่านมา รัฐบาลประเทศส่วนใหญ่จะเน้นดำเนินการตามแนวคิด privatization หรือแปลไทยว่า “การแปรรูปจากรัฐวิสาหกิจเป็นเอกชน” เพราะเชื่อกันว่า เอกชนน่าจะทำธุรกิจได้ดีกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่ากิจการของรัฐ  แต่แนวคิด “กั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ย” ในประเทศจีนกลับตรงกันข้าม เพราะในวันนี้ ประเทศจีนได้หันมาเน้น “การแปรรูปกิจการเอกชนให้เป็นของรัฐ”

ในขณะนี้ รัฐวิสาหกิจจีนในหลายอุตสาหกรรมได้ (กลับ) ขึ้นมามีบทบาทแทนที่บรรดาบริษัทเอกชนจีนที่เคยมีอยู่ดาษดื่น ทำให้อุตสาหกรรมของเอกชนจีนหดเล็กลง หรือต้องถอยฉากออกไป จนอาจจะทำให้ภาคเอกชนต้องลดบทบาทจากที่เคยเป็นผู้เล่นหลักในระบบเศรษฐกิจจีนก็เป็นได้

แนวคิด “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” เริ่มประมาณปลายปี 2009 เมื่อทางการจีนเริ่มนำมาตรการต่างๆ มาใช้เพื่อให้ภาครัฐเข้าคุมกิจการของกลุ่มธุรกิจสำคัญและเพื่อโอบอุ้มรัฐวิสาหกิจจีนให้กลับขึ้นมาเป็น “พระเอก” ในอุตสาหกรรมพื้นฐาน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เคมีภัณฑ์ ถ่านหิน ปิโตรเลียม เหมืองแร่ การผลิตไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ เช่น สายการบิน การเงิน การประกันภัย ไปจนถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกำไรค่อนข้างสูง ทำให้บริษัทเอกชนจีนหลายแห่งในอุตสาหกรรมเหล่านี้ถูกบีบให้ปิดตัวลง บ้างก็ถูกบีบให้ขายออกไปในราคาที่ต่ำ

ดังนั้น ภายใต้นโยบาย “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” นี้  กิจการของรัฐในจีนหลายแห่งได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการกำหนดราคาหรือกำหนดปริมาณการผลิตในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น

นอกจากนี้ เอกชนจีนหลายรายได้ออกมาโอดครวญว่า “มีประวัติทางการเงินดี  แต่กลับกู้เงินไม่ได้ เพราะธนาคารในสังกัดของรัฐบาลจีนไม่เห็นบริษัทเอกชนอยู่ในสายตา” จนถึงขั้นเปรียบเปรยว่า “ในฤดูหนาว วิสาหกิจของรัฐได้ใส่เสื้อหนาๆ แต่บริษัทเอกชนจีนยังคงใส่เสื้อบางๆ”

สำหรับตัวอย่างมาตรการที่ทางการจีนนำมาใช้ เช่น การเข้าซื้อกิจการ ตลอดจนการใช้เครื่องมือจากนโยบายของรัฐต่างๆ รวมทั้งการอัดฉีดให้เงินอุดหนุนกิจการของรัฐเป็นจำนวนมหาศาล พูดง่ายๆว่า โอบอุ้มกันสุดๆ จนเกิดคำกล่าวว่า รัฐบาลจีน“ปล่อยให้เอกชนกินน้ำซุป ส่วนรัฐวิสาหกิจจีนได้เป็นฝ่ายกินชิ้นเนื้อ”

ในยุค “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” นี้  พบว่า สัดส่วนของทุนและสินทรัพย์ที่ถือโดยรัฐวิสาหกิจจีนได้ขยายเพิ่มมากขึ้นและเริ่มเข้ามาแทนที่ทุนเอกชนจีนในหลายสาขาอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น สายการบินของเอกชนจีนได้ถูกกลืนเข้าไปอยู่ในกำมือของสายการบินหลักที่เป็นรัฐวิสาหกิจจีน  และกรณีตัวอย่างของเหมืองถ่านหินเอกชนจีนในมณฑลซานซีได้ถูกบีบให้กลายเป็นของรัฐ (Nationalization) เป็นต้น

กลุ่มที่สนับสนุนปรากฏการณ์นี้ในจีน ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละมณฑลพยายามอธิบายว่า นโยบาย “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป”  เป็นเพียงการดำเนินการตามระบบเศรษฐกิจที่มีลักษณะเฉพาะของจีน หรือภาษาทางการเรียกว่า“State-led Socialist Market Economy with Chinese Characteristics” และเพื่อส่งเสริมให้ “ผู้ที่แข็งแรง (กว่า) เข้ามา ส่วนผู้อ่อนแอก็ต้องถอยฉากไป”

อย่างไรก็ดี  ในอีกด้านหนึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบาย “กั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ย” ของทางการจีน  เช่น นักวิชาการจีนจากหลายสถาบันมีความเห็นว่า “นโยบายนี้เป็นการถอยหลังของการปฏิรูปเศรษฐกิจสู่ระบบตลาดที่ดำเนินมานานร่วม 30 ปี”  และโจมตีว่า ธุรกิจหลายอย่างได้ถูกผูกขาดโดยวิสาหกิจในสังกัดของรัฐบาลจีนและยังได้เข้ามา “แย่งกำไร” ของภาคเอกชน จึงเริ่มมีการตั้งคำถามในแง่การแข่งขันที่เป็นธรรมในระบบตลาด

นอกจากนี้  ยังมีบางรายถึงขั้นวิพากษ์อย่างตรงไปตรงมาว่า “แท้จริงแล้ว มาตรการนี้เป็นไปเพื่อตอบสนองกลุ่มผลประโยชน์ (พิเศษ) ในรัฐบาลจีน” และยังได้โยงไปถึงผลประโยชน์ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนจากการเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่รัฐบาลท้องถิ่นเป็นเจ้าของ เพราะต้องไม่ลืมว่า ภายใต้ระบบ Decentralization รัฐบาลท้องถิ่นของจีนสามารถแสวงหารายได้และเก็บรายได้ไว้เองส่วนหนึ่งเพื่อการบริหารจัดการของท้องถิ่นตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้รัฐบาลกลางที่ปักกิ่งทั้งหมด รัฐบาลท้องถิ่นเหล่านี้จึงต้องการ “ทำมาหากิน” หาเงินเข้ากองคลังของตนนั่นเอง

ด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านแนวคิด “รัฐเข้า (คุม) เอกชนถอยไป” จากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย  ทำให้บางองค์กรของจีน เช่น สภาที่ปรึกษาทางการเมืองจีน (CPPCC) ต้องออกมาปฏิเสธว่า “ไม่มีกั๋ว จิ้น หมิน ทุ่ยในประเทศจีน !!! ”  จึงชัดเจนว่า  แนวคิดเรื่องนี้ในประเทศจีนยังไม่มีข้อยุติ และคงต้องเกาะติดกันต่อไป เพื่อจะได้นำมาวิเคราะห์ผลกระทบต่อธุรกิจทุนต่างชาติในจีน รวมทั้งธุรกิจของทุนไทยในจีนด้วยค่ะ

ก่อนจบ ขอแสดงความขอบคุณรัฐบาลจีนที่ได้มีน้ำใจส่งเงินและสิ่งของมาบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองไทยของเรา  ขอให้น้ำลดเร็วๆ เราจะได้ผ่านพ้นปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่นี้ไปด้วยกัน (ซะที)

หมายเหตุ : ข้อมูลหนังสือทุนจีนรุกอาเซียน http://www.se-ed.com/eshop/Products/Detail.aspx?No=9786167536125

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 24 มกราคม 2012 เวลา 13:44 น.