แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นคำถาม ๔ ข้อ
ของนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
วันที ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๐ ไปทำธุระที่เขตหลักสี่
เลยถือโอกาสเข้าไปขอแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นคำถาม ๔ ข้อ
ของนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่
๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๐
ทางเขตหลักสี่ได้จัดเคาน์เตอร์เพื่อให้ประชาชนเข้าไปสอบถามและกรอกแบบสอบถาม
โดยมีเจ้าหน้าที่จากเขตผลัดเปลี่ยนกันมาให้บริการ ช่วงที่ผมแวะไปขอแบบสอบถาม
ไม่มีใครเลย มีผมเพียงคนเดียว ผมใช้เวลาไม่ถึง ๑๐ นาทีก็ตอบเสร็จ
ก่อนยื่นให้เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายสำเนาเก็บไว้เพื่อนำมาเผยแพร่ให้เพื่อนๆทราบ ขอชวนให้เพื่อนๆช่วยกันแสดงความคิดเห็นด้วยครับ
คนที่อยู่กรุงเทพสามารถไปกรอกได้ที่สำนักงานเขตทุกเขตใน กรุงเทพมหานครครับ
คำถามข้อที่
๑.ท่านคิดว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไป
จะได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาลหรือไม่
คำตอบ
มีให้เลือกแค่ ได้ หรือไม่ได้ ผมตอบ
ไม่ได้
คำถามข้อที่ ๒ หากไม่ได้จะทำอย่างไร
คำตอบ
ต้องให้ความรู้และพัฒนาประชาชนคนไทย ให้มีความเข้าใจเรื่องการเมือง การเลือกตั้งเป็นแค่ส่วนหนึ่งในระบบประชาธิปไตย
การปกครองระบบประชาธิปไตย จะสมบูรณ์ได้ ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนมากต้องมีความรู้
และจิตสำนึก ที่จะช่วยกันคิดและทำเพื่อส่วนรวม สร้างสังคมให้มีความเข้มแข็ง
เมื่อประชาชนมีความรู้เรื่องการเมืองอย่างแท้จริง มีหน้าที่รับผิดชอบต่อสังคม
สังคมก็จะเข้มแข็ง ประชาชนจะเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ
จะเลือกคนดีมีความสามารถเข้าไปเป็นตัวแทนของประชาชน
และเป็นรัฐบาลบริหารประเทศชาติที่มีธรรมาภิบาล
สรุป : ต้องปฏิรูป เปลี่ยนความคิดของสังคม
เปลี่ยนจากระบบทุนนิยม เป็นระบบ “พอเพียง ตามศาสตร์ของพระราชา
คำถามข้อ ๓
การเลือกตั้งเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่การเลือกตั้งอย่างเดียวไม่คำนึงถึงเรื่องอนาคตของประเทศและเรื่องอื่นๆ
เช่นประเทศชาติจะมียุทธศาสตร์และการปฏิรูปหรือไม่นั้น ถูกต้อง หรือไม่ถูกต้อง
ตอบ : ถูกต้อง
คำถามข้อ ๔
ท่านคิดว่ากลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี
ควรจะมีโอกาสเข้ามาสู่การเลือกตั้งอีกหรือไม่ หากเข้ามาได้อีก แล้วจะให้ใครแก้ไข
และแก้ไขด้วยวิธีอะไร
ตอบ : กลุ่มนักการเมือง ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในทุกกรณี
ไม่ควรมีโอกาสเข้าสู่การเลือกตั้งอีก
หากเข้ามาได้อีก
ก็แสดงว่า ระบบการคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้งยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ
กรณีผู้ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม
ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาเป็นผู้แทนอีก คนแก้ไขก็จะต้องเป็นประชาชน ต้องเฝ้าติดตาม
หากเขาเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่ทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมอีก ทำสิ่งที่ดี เป็นตัวแทนที่ดี
สร้างความเข้มแข็งให้สังคม และประเทศชาติ ก็ถือว่าเป็นโชคดีของประเทศ
แต่ถ้าเขายังมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเช่นเดิม ก็ต้องร่วมมือกัน
ทั้งประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อกำจัดคนเหล่านี้ออกไปจากการเป็นผู้แทน
ข้อสำคัญอยู่ที่
ขบวนการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง
และการกำกับดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชน ก็ต้องช่วยกันดูแล
ม.ล.ชาญโชติ
ชมพูนุท
๑๔ มิถุนายน ๒๕๖๐