วันที่ 5 พฤษภาคม 2560 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0"
ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา โดยมี ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร นักศึกษา และบุคลากร จำนวนกว่า 2,000 คน ให้การต้อนรับและเข้าร่วมฟังการแสดงปาฐกถา
มหาวิทยาลัยมหิดลมีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อความเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยตามนโยบาย Thailand 4.0 มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญกับการสร้างนักวิจัยคุณภาพ รวมถึงการลงทุนในด้านโครงสร้างที่ได้รับมาตรฐานคุณภาพระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิต ห้องปฏิบัติการควบคุมคุณภาพ ศูนย์ทดสอบยา อาหารในคนและสัตว์ ดังนั้น จึงสามารถเป็นกำลังสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรม ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายและเทคโนโลยีหลักที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยมหิดลมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างและพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์เพื่อตอบสนองความต้องการของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม โดยทำการปฏิรูปการเรียนการสอนเน้นการให้ทักษะของศตวรรษที่ 21 และทักษะของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship) ส่งเสริมความพร้อมของนักศึกษาและบุคลากรให้สามารถเท่าทันสังคมโลกาภิวัฒน์
ในโอกาสนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดแสดงนิทรรศการซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ การสาธารณสุข และสุขภาวะ เพื่อขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0
มีการรวบรวมผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ การสร้างนวัตกรรมด้านสมุนไพร การผลิตยาสมุนไพรในตำรับต่างๆ และการรักษาโดยแพทย์แผนไทยประยุกต์ โดยมหาวิทยาลัยมหิดลให้ความสำคัญกับการปรับปรุงพันธุ์พืชสมุนไพรเพื่อให้มีการสร้างสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่มีความเข้มข้นสูง และเนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดลมีสถาบันโภชนาการ จึงมีศักยภาพในการผลิตอาหารเสริมสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ
ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยมหิดลมีผลงานนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศเป็นจำนวนมาก ผลงานการวิจัยและพัฒนา (Research & Development) ที่สำคัญหลายชิ้นของมหาวิทยาลัยมหิดล อาทิ ปูนพิมพ์ฟัน ปูนสำหรับงานรักษาคลองฟัน ดวงตาเทียม 3 มิติ ชุดตรวจเชื้อเอชไอวี เครื่องตรวจวัดวิเคราะห์ดีเอ็นเอด้วยทรานซิสเตอร์สนามไฟฟ้า ชุดตรวจความผิดปกติของปากมดลูกชนิดดิจิทัล แบบพกพา อุปกรณ์ซิลิโคนแยกนิ้วเท้าแบบขึ้นรูปเฉพาะราย แผ่นรองใต้ก้นพร้อมถุงวัดปริมาตรเลือดภายหลังการคลอดปกติ วัคซีนภูมิแพ้มาตรฐานสากล ชุดตรวจสารไฮโดรควิโนนในครีมฟอกผิวขาว ชุดตรวจสอบสารปรอทในเครื่องสำอาง ชุดตรวจสอบฟอร์มาลีนในอาหาร ชุดตรวจโรคเมลิออยด์โลซิส น้ำยาฆ่าเชื้อแบบสเปรย์จากเปลือกมังคุด
ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์นับว่ามหาวิทยาลัยมหิดลมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นด้วยการใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในการศึกษาวิจัยอุปกรณ์ช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิต อาทิ เครื่องตรวจการรับรู้ความรู้สึกปลายประสาท โดยใช้เส้นใยโมโนฟิลาเมนต์เพื่อตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยโรคเบาหวาน หุ่นยนต์ส่งยาอัตโนมัติสำหรับขนเวชภัณฑ์ในสถานดูแลผู้สูงอายุ โดรน(Drone)บังคับด้วยคลื่นสมอง สายสวนปัสสาวะเคลือบอนุภาคนาโนบรรจุสารต้านจุลชีพ หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก
อย่างไรก็ตามยังมีผลงานที่ตอบสนองนโยบาย Start Ups ของรัฐบาลโดยมีโครงการ Entrepreneurship Education and Student Start-Ups ที่ผลิตผลงานต่างๆ เช่น อุปกรณ์ช่วยเตือนหลับในด้วยสัญญาณสมอง (ALERTZ) เทคโนโลยีการตรวจวัดสุขภาพส่วนบุคคลแบบออนไลน์ DNA biochip สำหรับอาหารปลอดภัย เป็นต้น
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังไม่ละเลยชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยโดยมีศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อช่วยออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีความน่าสนใจ
มีรูปแบบสวยงาม สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน
สำหรับงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ได้จัดแสดงนิทรรศการนั้น ล้วนเป็นผลงานที่ได้รับการยอมรับและนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมจริง สามารถกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและต่อยอดการสร้างโอกาสทางการแข่งขัน ก่อเกิดรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลยังไม่หยุดยั้ง ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ต่อไป
นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ศาสตราจารย์ คลินิก นพ.อุดม คชินทร พร้อมทีมผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี ทั้งนี้บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดนั้น เกิดจากความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในรูปแบบประชารัฐ ตามแนวทางไทยแลนด์ 4.0 เป็นโรงงานผลิตไบโอฟาร์มาอย่างครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย ได้รับมาตรฐานรับรองระดับโลกที่ผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายแล้ว 2 รายการ คือ ยาบำบัดภาวะเลือดจางในผู้ป่วยโรคไต และยาบำบัดภาวะเสี่ยงการติดเชื้อในผู้ป่วยมะเร็ง และในเร็วๆ นี้ สยามไบโอไซเอนซ์ จะนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล “จากทิ้งสู่ห้าง” โดยจะออกจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อดูแลรักษาแผลกดทับในผู้สูงอายุ และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพผิว และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพผม รวมทั้งจะร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศวิจัยและพัฒนาไบโอฟาร์มาสำหรับช่วยสร้างเม็ดเลือดขาวในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด
คัดลอกจากhttps://www.mahidol.ac.th/th/latest_news60/thailand4.0.html