บันทึกชุดนี้มี ๑๐ ตอน   ที่ตีความจากการอ่านหนังสือ Education Nation : Six Leading Edges of Innovation in Our Schools เขียนโดย Milton Chen

บันทึกตอนที่ ๘ นี้ ตีความจาก Edge 5. The Co-Teaching Edge : Teachers, Experts, and Parents as Coeducators

ในยุคนี้ ครูต้องไม่ทำงานแบบโดดเดี่ยวคนเดียว    ต้องเป็นครูทีม ทั้งเป็นทีมกับเพื่อนครู  เป็นทีมกับพ่อแม่ของศิษย์  และเป็นทีมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน ที่มีอยู่โดยรอบโรงเรียน

ในภาษาของการศึกษาไทย ครูต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทางการศึกษา ให้เกิดประโยชน์ต่อกระบวนการ เรียนรู้ของศิษย์   คำว่าทรัพยากรในที่นี้ หมายถึงทรัพยากรมนุษย์    ครูต้องรู้จักวิธีเชื้อเชิญดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ หลากหลายด้านเหล่านั้น มาแนะนำนักเรียน ในการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ส่วนใหญ่นักเรียนเรียนจาก การทำโครงงาน

ผู้เชี่ยวชาญที่มักถูกละเลย คือศิลปิน หลากหลายแขนงที่มีอยู่ทั่วไป    ที่จะมาช่วยทำให้การเรียนรู้แนว สมองซีกขวา ช่วยส่งเสริมการเรียนวิชาซึ่งมักเป็นการเรียนที่สมองซีกซ้ายเด่น    คือมาช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ แบบที่สมองสองด้านเสริมส่งซึ่งกันและกัน    ซึ่งจะทำให้นักเรียนเรียนรู้ได้ผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น    มีผลงานวิจัยยืนยัน ระบุไว้ในหนังสือเกี่ยวกับโครงการ OMA (Opening Minds through the Arts)

เขายกตัวอย่าง ศิลปินด้านการร้องเพลงโอเปร่า และนักดนตรี มาทำงานร่วมกับครู เพื่อสอนภาษาแก่นักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ถึง ม. ๒   และทำให้ผลการเรียนดีขึ้น    สำหรับประเทศไทยเรามีลิเก เพลงบอก  เพลงอีแซว  โนรา  หนังตะลุง  นักร้องเพลงไทยเดิม  เพลงไทยสากล   นักดนตรีไทย  นักดนตรีสากล  และอื่นๆ มากมายในด้านศิลปะการแสดง    และมีนักถ่ายภาพ  นักวาดรูป   นักแกะสลัก  นักปั้น (รวมทั้งปูนปั้น)  เป็นต้น   มีตัวอย่างโรงเรียนที่เพชรบุรีเชิญศิลปินมาร่วมสอนนักเรียน  อ่านได้ ที่นี่

พันธมิตรที่ขาดไม่ได้ คือพ่อแม่หรือผู้ปกครองนักเรียน    ต้องเข้ามารับรู้และช่วยชื่นชมความมานะ พยายาม และความสำเร็จอย่างเป็นขั้นตอนของนักเรียน   โดยมีเครื่องช่วยให้ผู้ปกครองติดตามรับรู้ กระบวนการเรียนรู้ ของเด็กได้ทุกวัน   โดยอาจมีintranet ให้พ่อแม่/ผู้ปกครองเข้าไปดูผลการเรียน ของลูกของตนได้    ผมขอย้ำว่า ทั้งพ่อแม่และครูต้องท่องอยู่ตลอดเวลาว่า ให้ชมความานะพยายาม และความสำเร็จที่เกิดจากความานะพยายาม มากกว่าความสำเร็จที่ได้มาโดยง่าย

เขาแนะนำเคล็ดลับในการทำให้เด็กพอใจที่จะให้ครูพูดกับพ่อแม่ (เด็กโตจะไม่ชอบให้ครูพูดกับพ่อแม่ ระแวงว่าครูจะฟ้องความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของตน)    โดยเมื่อพบว่าเด็กคนไหนทำดี หรือมีความพยายาม หรือผลการเรียนบางอย่างดีเด่น    ให้ยกโทรศัพท์ชมกับพ่อแม่ให้เพื่อนๆ ในชั้นได้ยินด้วย   เด็กๆ จะรอคอยว่าเมื่อไรครูจะโทรศัพท์ไปคุยกับพ่อแม่ของตน    และทำให้เด็กไม่หวาดระแวงอีกต่อไป

เขาแนะนำให้ครูและพ่อแม่ร่วมกันใช้ “พลังแห่งคำชม” เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนให้แก่เด็ก

พ่อแม่ผู้ปกครองบางคน เป็นผู้มีความรู้เฉพาะด้าน เช่นเป็นวิศวกร เป็นเภสัชกร เป็นนักเต้นบัลเล่ต์ ฯลฯ    คนเหล่านี้สามารถเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” ให้แก่การเรียนแบบโครงงานของนักเรียนได้ทั้งสิ้น   โดยการอาสาเวลา ให้นักเรียนไปสัมภาษณ์ถามคำถาม หรือโทรศัพท์ไปถาม   สำหรับเป็นช่องทางค้นคว้าต่อ หรือสำหรับเป็นแหล่งข้อมูลในการทำโครงงาน

ในพื้นที่โดยรอบโรงเรียน จะมีคนที่มีความรู้เฉพาะด้านมากมายหลากหลาย   ให้โรงเรียน ครู และนักเรียนขอความช่วยเหลือ ให้ช่วยทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษา” การเรียนรู้ของเด็ก    ในทำนองเดียวกับผู้ปกครองนักเรียนดังกล่าวแล้ว    โดยที่ในสังคมไทยมักนึกถึงแต่ผู้ทรงภูมิปัญญาท้องถิ่น    แต่จริงๆ แล้ว ควรใช้ประโยชน์ผู้ทรงภูมิปัญญาทุกแบบ    รวมทั้งผู้มีความรู้สมัยใหม่

เขาเสนอเรื่องราวของโครงการเยี่ยมบ้านของโรงเรียนในเขตคนยากจน    โดยครูไปเยี่ยมบ้านของนักเรียนปีละ ๒ ครั้ง    หลายบ้านพ่อแม่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็มีล่ามไปช่วย   เขาบอกว่า เกิดผลดีอย่างมาก    ทำให้พ่อแม่มาร่วมกิจกรรมกับโรงเรียนมากขึ้นกว่าเท่าตัว    และผลการเรียนของนักเรียนก็ดีขึ้น    จุดที่สำคัญคือ การทำให้ทั้งครูและพ่อแม่ ต่างก็ตระหนักว่า   ผลการเรียนรู้และพัฒนาการของนักเรียนเป็นเรื่องที่ พ่อแม่และครู รับผิดชอบร่วมกัน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๙ ธ.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย