กติกาเพื่อกำกับคุณภาพของหลักสูตรของ สกอ. ชี้ช่อง หรือชักจูงให้การบริหารหลักสูตรล้าหลัง เพราะกำหนดให้ผู้รับผิดชอบหลักสูตรต้องอยู่ภายในมหาวิทยาลัยนั้นๆ เท่านั้น เพื่อป้องกันมหาวิทยาลัย ที่ไม่รับผิดชอบ เปิดหลักสูตรแบบไม่พร้อม
แต่มหาวิทยาลัยไทยที่ก้าวหน้าและมีคุณภาพสูงอยู่แล้วจะต้องก้าวข้ามกติกาเหล่านั้น ออกไปจัดหลักสูตรผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้นไปอีก ในลักษณะประเพณีนิยมของ “มหาวิทยาลัยวิจัย” ที่แท้จริง
ดังกรณีตัวอย่าง ที่ ศ. ดร. สนิท อักษรแก้ว เล่าเรื่องตอนที่ตัวท่านเองไปทำปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัย มิชิแกน สเตท ซึ่งไม่มีป่าชายเลน แต่ท่านต้องการเรียนเพื่อกลับมาเป็นนักวิชาการด้านป่าชายเลน ศาสตราจารย์ที่ปรึกษาของท่านส่งท่านไปเรียนและร่วมทำวิจัยในปีแรกที่ เปอร์โตริโก ปีที่ ๒ ที่รัฐฟลอริดา ปีที่ ๓ ที่ฮาวาย ซึ่งจะเห็นว่า เขาไม่หวงลูกศิษย์ให้เรียนอยู่กับอาจารย์ ภายในมหาวิทยาลัยของตน แต่หาทางส่งเสริม ให้ศิษย์ได้เรียนรู้วางรากฐานความรู้ที่ดีที่สุด คือไปเรียนในที่ที่เขาปฏิบัติเรื่องนั้นจริงๆ ผ่านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย
กลับมาที่มหาวิทยาลัยไทย ควรมีการบริหารวิชาการ (หลักสูตร) ภายในมหาวิทยาลัย ให้มีความร่วมมือ ข้ามคณะ ข้ามภาควิชา ให้ศิษย์ได้มีโอกาสเรียนกับอาจารย์ที่ทำงานวิชาการด้านนั้นๆ จริง หาทางบริหารเพื่อปิดยุค “เปิดตำราสอน” เข้าสู่ยุค “เรียนจากการปฏิบัติงานจริงและไตร่ตรอง” (reflection) เพื่อทำความเข้าใจทฤษฎี ผ่านสัมผัสตรงของตนเอง
นั่นหมายความว่า อาจารย์แต่ละคนต้องทำงานจริง ร่วมกับหน่วยงานที่เป็นภาคปฏิบัติ (real sector) เพื่อเป็น “สมบัติติดตัว” หรือ “ความพร้อม” ในการทำหน้าที่อาจารย์
และหมายความอีกว่า การบริหารในมหาวิทยาลัย ต้องเพื่อสร้าง / เรียกร้อง / ส่งเสริม ความพร้อมดังกล่าว
บริหารหลักสูตรโดยยึดความต้องการของ นศ. เป็นหลัก ว่าผู้เรียนต้องการเรียนไปเป็นอะไร / ทำอะไร ก็หาทางจัดหลักสูตร โดย “ตัดเฉพาะตัว” (tailor-made) ตามความต้องการของศิษย์ ไม่ใช่ “ตัดเสื้อโหล” ตามความสะดวกของอาจารย์ หรือของมหาวิทยาลัย
หากมหาวิทยาลัยใด ต้องการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยระดับโลก ต้องหนีจากแนวคิด / วิถี บริหารหลักสูตรแบบ “ตัดเสื้อโหล”
บริหารการสร้างบัณฑิตคุณภาพสูง ไม่ใช่บริหารหลักสูตร
วิจารณ์ พานิช
๑๘ มี.ค. ๕๗
โรงแรมวีวัน นครราชสีมา