เหตุการณ์วิกฤติประเทศไทยครั้งนี้ บอกเราว่าประเทศไทยจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้แล้ว เราต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ที่เป็นการเปลี่ยนแปลง ประชาธิปไตย สู่สภาพที่ประชาชนดูแลอธิปไตยของตนอย่างแท้จริง ซึ่งก็คือ ต้องมีจังหวัดจัดการตนเอง พื้นที่จัดการตนเอง และชุมชนจัดการตนเอง ไม่ใช่ประชาธิปไตยรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพ โดยที่ในยุครัฐบาลทักษิณ ที่มียิ่งลักษณ์เป็นหุ่นเชิด อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่คนคนเดียว สั่งการมาจากต่างประเทศ
เมื่อไรก็ตามอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่คนคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ความเสื่อมโทรมทางศีลธรรมและความชั่วร้ายอื่นๆ จะตามมามากมาย ดังเราได้รับรู้กันทั่วหน้าแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคอรัปชั่นโกงกิน
ดังเล่าในบันทึกเมื่อวานนี้ ว่าผมร่วมกับคณะของมูลนิธิสยามกัมมาจล และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ไปเยี่ยมชื่นชมกิจกรรมชุมชนเพื่อพัฒนาไปเป็นชุมชนบริหารจัดการตนเอง ที่จังหวัดระนอง ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๗ บันทึกนี้เป็นเสมือน reflection หรือ AAR ของการไปสัมผัสชุมชน ๓ ชุมชนที่เอ่ยชื่อแล้วในบันทึกก่อน
ผมคิดว่าเส้นทางสู่ชุมชนบริหารจัดการตนเองเป็นเส้นทางที่ไกลและคดเคี้ยว แบบเดียวกับถนนในจังหวัดระนอง ที่ผมไปพบ ถนนจริงๆ จากตัวเมืองระนองลงใต้ไปอำเภอสุขสำราญ บางช่วงมีต้นไม้สองข้างทางร่มรื่นมาก ผมได้ผ่านไปกลับ สองวัน รวมสี่ครั้ง ให้ความสุขสดชื่นจริงๆ
สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชนบทชายทะเลที่ระนองก็คล้ายกัน มีความอุดมสมบูรณ์สุขสบาย จนผมคิดว่า เขามีความสุขมากกว่าคนชนบทที่เข้ามาทำมาหากินในกรุงเทพมาก อย่างน้อยก็ดีกว่าคนขับแท็กซี่ ที่ผมสัมผัสด้วยบ่อยๆ
เมื่อชีวิตประจำวันดีถึงขนาดนี้ จึงมีแนวโน้มที่คนจะไม่ได้รับการฝึกให้คิดใหญ่ คิดเป็นระบบ ยิ่งการศึกษาไทย อ่อนแอและแยกตัวออกจากชีวิตผู้คน การเมืองไทยหาเสียงด้วยการให้ความช่วยเหลือเรื่องจุกจิก ไม่ใช่ด้วยนโยบายใหญ่ๆ ที่จะก่อการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และระบบสังคมเป็นความสัมพันธ์แนวดิ่ง การเรียนรู้และประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ของผู้คน จึงไม่เป็นเส้นทางสู่การบริหารจัดการตนเอง แต่เป็นเส้นทางสู่ระบบอุปถัมภ์ ที่สร้างความอ่อนแอให้แก่ชุมชน
ผมได้สัมผัสกับคนชนบทที่เป็นคนฉลาด สมองดี และเป็นคนดี มีจิตใจเห็นแก่ส่วนรวม เห็นแก่ชุมชน จำนวนมากมาย และคิดเล่นๆ ว่า หากเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๐ ผมเลือกอยู่บ้านช่วยงานของพ่อแม่ ไม่เข้ามาเรียนหนังสือต่อที่กรุงเทพ ชีวิตของผมก็คงจะคล้ายๆ กับคนเหล่านี้ ต่างกันที่ผมเป็นพุทธ ไม่ใช่มุสลิม และเป็นคนบก ไม่ใช่คนทะเล
และผมก็คงจะคิดภาพใหญ่ คิดเชิงระบบ ไม่เป็น เหมือนชาวบ้านเหล่านี้
ผมถามตัวเองว่า ในฉากทัศน์ (scenario) สมมติ ที่ผมอยู่ทำงานที่บ้านเรื่อยมาตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ ที่เรียนจบ ม. ๖ ผมจะทำงานร่วมกับภาครัฐ แบบรับความช่วยเหลือจากภาครัฐหรือไม่ คำตอบคือ (เดาว่า) ไม่ เพราะพ่อแม่และครอบครัว ฝ่ายพ่อของผม มีนิสัยเป็น “ม้าพยศ” ต่อทางการ ไม่หวังพึ่งทางราชการในทางใดๆ เลย มีความรู้สึกทางลบ ว่าราชการมัก กดขี่ชาวบ้านด้วยซ้ำ รวมทั้งมีอคติว่าคนเป็นข้าราชการมักเป็นคนเหลาะแหละ ไม่เอางานเอาการ ชอบเอาสบาย
อยู่ที่ระนองอยู่ดีๆ เผลอขี่ Time Machine ย้อนเวลากลับไปชุมพรเสียแล้ว ขอกลับมาที่ระนองใหม่ ผมคิดว่า สิ่งที่ไปเห็นนั้น น่าชื่นชมอย่างยิ่ง หากมองจากมุมหรือกระบวนทัศน์เชิงจุลภาค (micro) แต่กระบวนทัศน์การพัฒนาแบบนี้ จะไม่นำไปสู่ท้องถิ่นจัดการตนเอง ชุมชนจัดการตนเอง
จะพัฒนาไปสู่ท้องถิ่น/ชุมชน จัดการตนเองได้ ต้องใช้กระบวนทัศน์ภาพใหญ่ หรือมหภาค (macro) มียุทธศาสตร์ เชิงระบบ ยึดกุมภาพใหญ่ แต่ทำหรือดำเนินการในภาพเล็กก็ได้ แต่ต้องเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายภาพใหญ่ไปพร้อมๆ กันในตัว
ภาพใหญ่ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงภาพเชิงพื้นที่ แต่เป็นภาพเชิงความคิดระบบสังคม ดังนั้น ชุมชนบ้านหนองกลางดง ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นชุมชนหมู่บ้านเดียว จึงเป็น “ชุมชนจัดการตนเอง” ในความหมายของผม คือเป็นชุมชนที่จัดการภาพใหญ่ของชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบสัมมาชีพของตนได้ ไม่ใช่จัดการเพียงประเด็น ปลีกย่อย และในบางกรณียังโยงประเด็นเข้าหาภาพใหญ่ได้ไม่ชัดเจน
ผมจึงเสนอต่อมูลนิธิทั้งสองว่า น่าจะจัดพาคณะในพื้นที่ และคณะกรรมการชี้ทิศทางของโครงการไปดูงาน ที่บ้านหนองกลางดงสัก ๑ วัน เพื่อจะได้เรียนรู้ ทำความรู้จัก ชุมชนบริหารจัดการตนเอง ที่ไม่ได้เริ่มจากการทำงานเชิงประเด็น แต่เริ่มจากการเก็บข้อมูลทำความรู้จักชุมชน และการมีสภาผู้นำชุมชน ที่มีตัวแทนมาจากทุกภาคส่วน ประชุมกันสม่ำเสมอ เดือนละครั้ง นำเอาข้อมูลมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อมีมติดำเนินการเรื่องสำคัญๆ ของชุมชน ที่แก้ปัญหาได้จริง และมีการริเริ่ม กิจกรรม ที่สร้างความสุขให้แก่ชุมชนได้จริง เป็นชุมชนจัดการตนเองได้หลายเรื่องอย่างบูรณาการ
ผมปรารภกับคุณเปา ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจลว่า ผมได้กลิ่นความสัมพันธ์แบบผู้รับทุนอุดหนุน กับผู้ให้ทุน ที่ทำให้ชาวบ้านทำกิจกรรมเพราะได้เงินอุดหนุน ไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของตน คุณเปาก็ว่า ได้กลิ่นอยู่เหมือนกัน ซึ่งหมายความว่า ทุนสนับสนุน เป็นตัวสร้างความต้องการเทียมของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านคิดและ ทำโครงการสนองฝ่ายผู้ให้ทุน โดยที่โครงการนั้นไม่ใช่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการอย่างแท้จริง
ยังดี ที่กลิ่นนี้ไม่รุนแรง และได้กลิ่นในบางพื้นที่เท่านั้น รวมทั้งกลิ่นอาจเป็นมายาที่ตัวผมเองก็ได้ สิ่งที่ต้องเตือนกันไว้คือ กลิ่นนี้คือตัวไล่ความเป็นชุมชนบริหารจัดการตนเอง
เราไปพบว่า ชุมชนที่ทำโครงการได้เข้มแข็ง มักมีฐานทำงานวิจัยท้องถิ่นกับ สกว. มาก่อนแล้ว อย่างบังดล (นายดลก้อเส็ม ผดุงชาติ) แห่งบ้านบางกล้วยนอก ทำโครงการแบบนี้เป็นโครงการที่ ๕ และเวลานี้ก็ทำกับ สกว. เรื่องความมั่นคงทางอาหารด้วย ทำสองโครงการคู่กันไป ผมมีความสุขมาก ที่งานวิจัยท้องถิ่นของ สกว. ได้วางพื้นฐานการเรียนรู้ของชาวบ้าน ที่จะช่วยให้ ชาวบ้านรวมกลุ่มดำเนินการพัฒนาตนเอง สู่ชุมชนบริหารจัดการตนเองได้
๑๖ มี.ค. ๕๗