เผลอแป๊บเดียว มูลนิธิสยามกัมมาจลก็ทำงานมาได้ ๕ ปีแล้ว โดยตั้งปณิธานความมุ่งมั่นไว้ว่า มูลนิธิฯ มุ่งทำงานด้านพัฒนาเยาวชน เน้นที่การสร้างจิตอาสา วิญญาณสาธารณะ หรือการทำเพื่อผู้อื่น โดยมูลนิธิไม่ต้องการทำงานเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้แก่ธนาคารไทยพาณิชย์ ต้องการทำประโยชน์แก่สังคมไทยอย่างแท้จริง แถมคณะกรรมการ CSR ของธนาคารยังกำหนดด้วยว่า ให้เน้นทำงานแบบเป็น catalyst ไม่เน้นลงมือทำเอง แต่ให้ทำหน้าที่ขับเคลื่อนพลังเครือข่ายหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานพัฒนาเยาวชน
ตอนนี้ผมได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกิจกรรมเพื่อสังคมของธนาคารไทยพาณิชย์ และในการประชุมคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ ๒๘ ส.ค. ๕๕ คณะกรรมการก็ได้ทบทวนงานในภาพรวมของมูลนิธิสยามกัมมาจลว่ามี ๓ ขา คือ (๑) สื่อสารเพื่อเผยแพร่กิจกรรมการพัฒนาเยาวชน (๒) สร้างเครือข่าย (๓) ต่อยอดกิจกรรมที่มีอยู่แล้ว
โดยคุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร) ผู้จัดการมูลนิธิ ได้สรุปเสนอที่ประชุมว่า ปัจจัยความสำเร็จของงานพัฒนาเยาวชนมี ๘ ประการ ได้แก่ (๑) พัฒนาการในการดำเนินการ จนทำได้เอง เป็นเจ้าของโครงการเอง (๒) การมีพี่เลี้ยงหรือผู้สนับสนุน (๓) มีโอกาส (๔) มีการเรียนรู้ และพัฒนาต่อเนื่อง (๕) มีเครือข่าย (๖) มีการขยายผล (๗) มีกลไกสนับสนุน และ (๘) มีผู้สนับสนุนหรือเป็น catalyst โดยมูลนิธิสยามกัมมาจลอยู่ในกลุ่มนี้ โดยมูลนิธิสยามกัมมาจลไม่เน้นสนับสนุนเงิน แต่เน้นสนับสนุน (เป็น enabler/empowerment) ให้เกิดปัจจัยความสำเร็จทั้ง ๘ ประการนี้
คณะกรรมการ CSR แนะนำให้เพิ่มปัจจัยความสำเร็จอีก ๒ ประการคือ (๙) ระบบข้อมูล (๑๐) ความน่าเชื่อถือด้านการเงิน ซึ่งก็คือทักษะในการทำบัญชีมาตรฐาน และระบบตรวจสอบ
คณะกรรมการฯ ตั้งคำถามว่า ที่ดำเนินการมา ๕ ปี บรรลุผลกระทบต่อสังคมตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ตกลงกันว่า มอบให้ฝ่ายจัดการไปคิดหาวิธีประเมินและทีมประเมินมาเสนอในการประชุมคราวต่อไป
วิจารณ์ พานิช
๒๘ ส.ค. ๕๕
· เลขที่บันทึก: 504462
· สร้าง: 04 ตุลาคม 2555 09:38 · แก้ไข: 04 ตุลาคม 2555 09:38
· สร้าง: 04 ตุลาคม 2555 09:38 · แก้ไข: 04 ตุลาคม 2555 09:38
· ผู้อ่าน: 102 · ดอกไม้: 10 · ความเห็น: 0 · สร้าง: 3 วัน ที่แล้ว
· สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน