ในการประชุมจับภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโครงการพัฒนาเยาวชนท้องถิ่น ๔ ภาค ที่มูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๗ ได้เห็นคุณค่าของการที่โรงเรียนเข้าร่วมกับกลไกอื่น ของชุมชน ได้แก่ “บ้าน - วัด - โรงเรียน” ในการร่วมกันพัฒนาเยาวชน ในท้องถิ่น
ประชาคมในพื้นที่นั้น เห็นแล้วว่า การที่โรงเรียนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันสำคัญอย่างไร และรู้สึกเสียดายที่ผู้อำนวยการโรงเรียนถึงคราวเกษียณอายุราชการ และข่าวร้ายคือมีข่าวว่า คนที่จะย้ายมาเป็นผู้อำนวยการแทนเป็นคนไม่ดี คอรัปชั่น และไม่ทำงาน
ผู้นำชุมชนจึงไปเจรจากับเขตพื้นที่การศึกษา ว่าชุมชนต้องการคนดีที่ทำงานจริงมาเป็น ผู้อำนวยการโรงเรียน และบอกตรงๆ ว่า ไม่เอาคนที่มีข่าวลือว่าจะมารับตำแหน่ง
ในที่สุดโรงเรียนนี้ ก็ได้ผู้อำนวยการที่มีคุณสมบัติตามที่ชุมชนต้องการ
นี่คือตัวอย่างความเข้มแข็งของชุมชน ที่สามารถเจรจาต่อรอง ปฏิเสธผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นคนเลวได้ ผมขอแนะนำว่า ครูเลวก็ควรถูกปฏิเสธด้วย
และชุมชนอื่นๆ ควรปกป้องผลประโยชน์ของชุมชน เพื่อให้มีโรงเรียนที่มีคุณภาพดี ในทำนองนี้
เยาวชนเป็นสมบัติที่มีค่า ต่ออนาคตของท้องถิ่น/ชุมชน ชุมชนที่เข้มแข็ง จึงต้องมีแกนนำลุกขึ้นมาดำเนินการพัฒนาเยาวชน ชุมชนไหนทำไม่เป็น ปรึกษาหัวหน้าโครงการ คือ อ. ทรงพล เจตนาวณิชย์ ได้ หัวใจคือ นายก อบต. ต้องเห็นความสำคัญ และมีบุคลากรของ อบต. ทำหน้าที่พี่เลี้ยง ในการดำเนินการพัฒนาเยาวชน ให้แกนนำเยาวชน ได้มีส่วนในกิจกรรมของชุมชนทุกเรื่อง แล้วเยาวชนจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเยาวชน ไม่ใช่เป็นผู้ก่อปัญหาสังคม
วิจารณ์ พานิช
๑๑ มี.ค. ๕๗