สังคมไทยเป็นสังคมอำนาจ มีอำนาจแนวดิ่งกดทับผู้คนอยู่โดยไม่รู้ตัว มีผลให้ผู้คนขาดอิสรภาพ ไม่กล้าแสดงความเป็นตัวตนของตนเอง สภาพเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ที่อยู่ในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ผู้คนจะอยู่ดีได้ด้วยความริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม และด้วยบรรยากาศแห่งอิสรภาพ เสรีภาพ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นตัวกำกับ

 

คนไทยทุกคนจึงต้องเรียนรู้ทักษะในการกวาดล้างอำนาจทมึนออกจากหัวใจ กวาดล้างสิ่งกดทับทั้งหลายออกไป ไม่ให้มันลดทอนมิติของความเป็นมนุษย์ของเรา รวมทั้งต้องระมัดระวังตัวเอง ให้ไม่ไปกดทับคนอื่นโดยไม่ตั้งใจหรือไม่รู้ตัว ยิ่งผู้สูงอายุอย่างผมยิ่งต้องระวัง เพราะสังคมไทยเชื่อถือวัยวุฒิมากเกินไป

 

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและคาดเดาไม่ได้ “ความจริง” มันดิ้นได้ หรือกล่าวในภาษาสละสลวยว่า “เป็นพลวัต” (dynamic) จริงวันนี้ในสถานการณ์นี้ ในวันข้างหน้าไม่นาน และสถานการณ์ต่างออกไป ความจริงนั้นกลับใช้ไม่ได้

 

ยิ่งกว่านั้น “ความจริง” มันมีความลึกและความเชื่อมโยง ซับซ้อนยุ่งเหยิง และมักมีคนเอา “มายา” มาพ่วงหรือโดยสาร “ความจริง” นั้น ในบางกาละเทศะ กลายเป็น “ความจริงปนมายา” ตัวอย่างคือคำโฆษณาทั้งหลาย

 

ชีวิตคือการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้รู้ทัน “ความจริง” ทั้งหลาย

 

หนังสือทางการศึกษา ชื่อ Teaching at Its Bestบอกว่า วุฒิภาวะด้านการเรียนรู้ของคนเรา บรรลุจุดสูงสุดเมื่อตระหนักว่า “ความรู้เป็นมายา” ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แต่จะพัฒนาถึงขั้นตอนนี้ ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ ๙ ต้องผ่านขั้นตอนต้นๆ มาก่อน ตั้งแต่เริ่มต้น ที่การมองโลกเป็นสองขั้ว ถูก-ผิด ขาว-ดำผ่านสู่ความเข้าใจว่ามีมากขั้ว หรือเป็น spectrum จนยึดมั่นถือมั่นความคิด บางแบบ และนำแนวคิดแบบนั้นไปทดลองใช้ในสถานการณ์ต่างๆ จนในที่สุดตระหนักด้วยตนเองว่าความรู้ที่แน่นอนตายตัวนั้น ไม่มี

 

การเรียนรู้ที่แท้ เป็นการเดินทางเข้าสู่มหาสมุทรแห่งความรู้ จนในที่สุดหลุดพ้นจากอำนาจกดทับของความรู้ ในทำนอง “อยู่ในน้ำโดยไม่เปียกน้ำ”

 

สารสนเทศ ความรู้ และปัญญา เป็นสิ่งไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

 

วิจารณ์ พานิช

 

๑๔ เม.ย. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich