ผมเพิ่งรู้จัก โรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ เมื่อ ผศ. ดร. พิเชษฐ์ พินิจ แห่ง มจธ. ส่งร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ ของโครงการวิจัยเรื่อง การจัดการเรียนการสอนในแนว Project-Based Learning สำหรับโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ความยาว ๓๓๕ หน้า มาให้ผมให้ความเห็น ซึ่งเมื่ออ่านแล้วก็ทำให้ผมได้ความรู้มาก ขอขอบคุณ ดร. พิเชษฐ์ ไว้ ณ ที่นี้

นี่คือนวัตกรรมหลายชั้นในวงการศึกษาไทย ได้แก่ (๑) การเรียนควบสายอาชีพกับสายสามัญ คือ ปวช. ควบ ม. ปลาย (๒) เพื่อผลิตนวัตกร นักเทคโนโลยี หรือนักประดิษฐ์ (๓) เรียนฟรี รวมทั้งกินอยู่ฟรีในหอพักด้วย (บังคับให้ต้องอยู่หอพัก) เพื่อดึงดูดเด็กที่มีคุณสมบัติเหมาะสม (๔) เรียนแบบ Project-Based Learning (PjBL)

โครงการ โรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ในขณะนี้มี ๕ แห่ง รับนักเรียนแห่งละ ๓๐ คน ได้แก่

  • วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) ตั้งอยู่ที่อำเภอพานทอง สาขาวิชาช่างอุตสาหกรรม
  • วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จ. นครราชสีมา สาขาวิชาช่างอุตสาหกรรม
  • วิทยาลัยเทคนิคพังงา สาขาวิชาเทคโนโลยีการท่องเที่ยว
  • วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูน สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพการเกษตร
  • วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร

การริเริ่มมีมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ โดยความร่วมมือของ สวทน. กับ สอศ. แต่ในรายงานไม่ได้ระบุชัดว่า เริ่มรับนักเรียนในปีใด แต่ก็เดาได้ว่าดำเนินการมาหลายปีแล้ว เพราะนักเรียนของชลบุรีจบแล้ว ๓ รุ่น และอีก ๔ แห่งจบไปแล้ว ๑ รุ่น งานวิจัยชิ้นนี้เป็นทั้งการประเมินผล (ถอดบทเรียน) การดำเนินการ และการเสนอแนะแนวทางปรับปรุง

หัวใจอยู่ที่การจัดการเรียนรู้แบบใหม่ เป็น PjBL ที่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบกลับหน้ามือ เป็นหลังมือสำหรับครู ที่คุ้นเคยกับการสอนแบบถ่ายทอดความรู้ (LBT – Lecture-Based Teaching) มาเป็นเวลานาน จึงเดาได้เลย ว่าการจัดการเรียนรู้แบบใหม่นี้ปัญหาอยู่ที่ครู และอยู่ที่การจัดการ การเปลี่ยนแปลง

ทีมวิจัยทำงานทบทวนวรรณกรรมเรื่อง PjBL มาดีมาก แถมยังไปดูงานการเรียนรู้แบบนี้ที่ฝรั่งเศส และเยอรมัน

หลักการที่สำคัญของการศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑ คือการเป็นระบบเปิด หรือระบบที่ยืดหยุ่น คือเส้นแบ่งระหว่างการศึกษา ต่างสายบาง หรือจางลงไป พูดง่ายๆ คือเรียนข้ามสายได้ คนที่เรียนสายอาชีวะ เมื่อไปพบว่าตนเองมีความถนัด และชอบงานด้านวิชาการ หรือวิชาชีพ ก็เปลี่ยนสายได้ หรือเปลี่ยนกลับทาง จากสายวิชาการไปสู่สายอาชีวะ ก็ได้ โรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์น่าจะเป็นฐานของความยืดหยุ่นนี้

ความยืดหยุ่นนี้ สามารถยกระดับขึ้นได้ เมื่อผสมผสาน CBL (Competency-Based Learning) เข้ากับ PjBL ซึ่งจะทำให้นักเรียนบางคนเรียนหลักสูตร ๓ ปี จบภายใน ๒ ปี หรือ ๒ ปีครึ่ง อาจใช้เวลาที่เหลือ ทำหน้าที่ “ผู้ช่วยครู” หรือทำงาน หรือเป็นผู้ช่วยนักวิจัย หรือไปทำงานรับใช้สังคม หรืออื่นๆ ซึ่งก็คือการเรียนรู้ในมิติอื่นนั่นเอง จุดสำคัญคือ สังคมไทยมีการทำงานจริง ให้เยาวชนได้เรียนรู้ในทุกด้าน และมี การประเมินผลการเรียนรู้ เอาไปเป็นหน่วยกิตเพื่อการเรียนต่อ หรือเพื่อรับใบรับรอง เช่นประกาศนียบัตรหรือ ปริญญา ได้ โดยที่มีกระบวนการทำให้ผลการประเมินนั้น แม่นยำ เชื่อถือได้ โดยมีระบบตรวจสอบความแม่นยำของการประเมินนั้น อย่างต่อเนื่อง

วิจารณ์ พานิช

๑๖ เม.ย. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย