มูลนิธิสยามกัมมาจล ทำงานส่งเสริมการพัฒนาเยาวชนและส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ทำมา ๗ ปี ก็เริ่มชัดเจนขึ้น ว่าสังคมไทยต้องการการเปลี่ยนมุมมองต่อเยาวชนในลักษณะ "เปลี่ยนกระบวนทัศน์"
คือเปลี่ยนจากมองว่าเยาวชนเป็นตัวปัญหา เป็นมองเยาวชนเป็นโอกาส เปลี่ยนจากมองเยาวชนว่าเป็นผู้รับหรือผู้เสพ เป็นมองเยาวชนเป็นผู้ให้หรือผู้สร้างต้องมองเยาวชนในมุมมองเชิงบวกเช่นนี้ และหาทางส่งเสริมให้เยาวชนพัฒนาตนเอง ตามแนวทางนี้ เราก็จะได้เยาวชนสร้างสรรค์เต็มแผ่นดิน และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างสรรค์ และรับผิดชอบต่อสังคม
การเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนวิธีปฏิบัติต่อเยาวชน คือหัวใจของการพัฒนาเยาวชน
หากไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ การพัฒนาเยาวชนตามกระบวนทัศน์เดิมจะไร้ผล หรือจะยิ่งสร้างปัญหาทับถมให้แก่เยาวชน หรือให้แก่สังคมด้วยซ้ำไป
กล่าวอย่างไม่เกรงใจกัน ปัญหาเยาวชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน เกิดจากมิจฉาทิฐิ และมิจฉาปฏิบัติ ของสังคมต่อเยาวชน ทำให้เยาวชนขาดแรงบันดาลใจ ขาดจินตนาการ ขาดความมั่นใจตนเองที่จะทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม กลายเป็นผู้รอรับการหยิบยื่นจากผู้อื่น แทนที่จะรวมตัวกันลงมือทำสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม เพื่อการเรียนรู้และวางรากฐานชีวิตของตนเอง
นส. รัตติกา เพชรทองมา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชน มูลนิธิกองทุนไทย กล่าวว่า "ที่ผ่านมา เราเป็นคนออกแบบเองว่าจะให้เยาวชนเรียนรู้อะไร แต่ครั้งนี้เขาเป็นคนเลือกเองว่าเขาสนใจอะไร เห็นเลยว่า ทักษะ หรือคุณลักษณะที่เราอยากให้เกิด มันเกิดจากที่เยาวชนได้ลงมือทำ ผิดบ้างถูกบ้าง แต่เขาโตขึ้น" ผมคัดคำพูดนี้มาจากรายงานของมูลนิธิ สยามกัมมาจล ที่เสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิเมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๗
วิจารณ์ พานิช
๓ พ.ค. ๕๗