บันทึกชุด “ประเมินเพื่อมอบอำนาจ” (การเรียนรู้) ๑๐ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Embedded Formative Assessment เขียนโดยDylan Wiliam เพื่อเสนอใช้การทดสอบหรือการประเมินในทางบวก ต่อการเรียนรู้ โดยใช้แบบเนียนไปการกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ และเนียนไปกับการโค้ชศิษย์ เพื่อใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” (formative assessment) ยกระดับการเรียนรู้ของนักเรียน ด้วยความเชื่อว่า การใช้ “การประเมินเพื่อพัฒนา” ที่ดำเนินการโดยครูในชั้นเรียน และดำเนินการอย่างถูกต้อง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการเรียน (learning outcomes)
บันทึกตอนที่ ๓ นี้ ตีความจากบทที่ ๒ The Case forFormative Assessment เป็นการทบทวน ที่มาและนิยามของ formative assessment อย่างละเอียดมาก และชี้ให้เห็นว่าการประเมินจะ formative หรือไม่ขึ้นกับจุดมุ่งหมาย และวิธีการใช้การประเมินนั้นเมื่อไรต้องการใช้เป็นข้อมูลป้อนกลับแก่นักเรียน ครู และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ การประเมินนั้นก็จะเป็น formative และยิ่งกว่านั้น การประเมินแบบ summative ยังสามารถนำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แบบ formative ได้ด้วย
อ่านข้อความในบทที่ ๒ นี้ทั้งหมดแล้ว ผมฟันธงว่า ต้นเหตุมาจากธรรมชาติของการเรียนการสอน ที่เป็นกระบวนการที่ไม่มีใครรู้ว่าผลที่แท้จริงจะออกมาอย่างไร คือเป็นกระบวนการ เคออร์ดิค (chaordic = chaos + order) แต่ที่ผ่านมา วงการศึกษาของทั้งโลกหลงผิด คิดว่าการศึกษาเป็นกระบวนการที่ตรงไปตรงมา (simple, linear)เช่นหลงคิดว่า
-เมื่อครูสอน นักเรียนต้องได้เรียนรู้
-เมื่อนักเรียนมีความรู้เรื่องนั้น ๔ หน่วย ครูสอนเพิ่มอีก ๑ หน่วย นักเรียนต้องมีความรู้เพิ่มเป็น ๕ หน่วย
การเรียนรู้ไม่ได้เป็นสิ่งตรงไปตรงมาเช่นนั้น แต่เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนมาก ยากที่จะเข้าใจ การประเมินกระบวนการเรียนรู้/ผลการเรียนรู้ นาทีต่อนาที วันต่อวัน จึงมีคุณค่าช่วยให้มีข้อมูลว่าการเรียนรู้ก้าวหน้าไปแค่ไหนผู้เดินเรือในมหาสมุทรต้องการเข็มทิศ เพื่อบอกทิศทางและตำแหน่งของเรือฉันใด การเรียนรู้ก็ต้องการการประเมินเพื่อพัฒนา สำหรับเป็นข้อมูล บอกทิศทางและความก้าวหน้าของการเรียนรู้ ฉันนั้น โดยผู้ใช้ข้อมูลนั้นมี ๓ ฝ่าย คือ ครู ตัวนักเรียนเป็นรายคน และเพื่อนๆ นักเรียนในชั้นครูใช้ปรับปรุงกระบวนการเรียนรู้ที่ตนวางแผนจัด นักเรียนแต่ละคนใช้ปรับปรุงการเรียนของตน นักเรียนทั้งชั้นใช้ในการร่วมกันปรับปรุงบรรยากาศการเรียนในชั้น
กระบวนการเรียนรู้จึงเป็นกระบวนการที่ครูจัดบรรยากาศการเรียน ให้นักเรียนได้เรียน เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และนักเรียนกับครู กิจกรรมหรือกระบวนการนี้มีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อเพิ่มผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของนักเรียน โดยมีผลของ formative assessment เป็นข้อมูลป้อนกลับ (feedback) สำหรับใช้ปรับตัวของครู ของนักเรียนแต่ละคน และของนักเรียนทั้งชั้น
การประเมินเพื่อพัฒนา
formative assessment แปลตรงตัวได้ว่า การประเมินเพื่อยืนยัน หมายความว่า ประเมินเพื่อบอก ความคืบหน้าของการเรียน แต่มีความสับสนในการใช้คำนี้ อาจทำให้ครูหลงใช้แบบไม่ก่อผลดีเท่าที่ควร เรื่องของคำ และความสับสนตอนใช้งานเครื่องมือต่างๆ นี้ หนังสือเล่มนี้เขียนดีอย่างน่ายกย่อง ผมคิดว่า Wiliam Dylan เขียนแบบคนรู้จริง เขาบอกว่า มีข้อพึงระวังในนิยามของการประเมินเพื่อพัฒนา
1.ใช้การประเมินเพื่ออะไร ไม่ใช่ประเมินอย่างไร คือตัว function ของการประเมิน เป็นตัวบอกว่าเป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ใช่รูปแบบ (form) ของการประเมิน คือดูที่ function เป็นหลัก ไม่ใช่ดูที่ form
2.ใครเป็นผู้ประเมิน ครูอาจเป็นผู้ดำเนินการประเมิน แต่ผู้ใช้ผลการประเมินเพื่อการตัดสินใจ ต้องเป็นทั้งครู นักเรียนแต่ละคน และนักเรียนทั้งชั้น
3.ต้องเน้นที่การตัดสินใจหลังได้ผลการประเมิน ไม่ใช่เน้นที่ความตั้งใจก่อนการประเมิน ถ้าการประเมินนั้นครูตั้งใจดีมาก ว่าต้องการใช้เป็น feedback ให้นักเรียนปรับตัว แต่เมื่อได้ผลการประเมิน ครูเก็บผลไว้กับตัวคนเดียว อย่างนี้ไม่เรียกว่าการประเมินเพื่อพัฒนา
4.ต่อจากข้อ ๓ ตัดสินใจแต่ไม่ทำก็ไม่ใช่ ต้องดูที่ผู้ลงมือดำเนินการปรับปรุงการเรียนการสอน หรือกระบวนการเรียนรู้ คือต้องมี ๓ ฝ่าย (ครู นักเรียนรายคน และนักเรียนทั้งชั้น)
5.ย้ำข้อ ๔ ว่าสิ่งที่ปรับปรุงคือ ทั้งการเรียน และการสอน
6.เป้าหมายของการปรับปรุงคือ ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนดีขึ้น
Dylan Wiliam เขียนละเอียดยิ่งกว่านี้ เพราะเขาพบว่ามีการใช้ formative assessment ผิดๆ กันมาก เช่น มีบริษัทที่ปรึกษาขายชุดประเมินนักเรียน ที่เขาส่งแบบฟอร์มมาให้ครูประเมินนักเรียน แล้วส่งกลับไป ให้บริษัทตรวจ แล้วส่งผลกลับมาว่านักเรียนคนไหนที่มีสมรรถนะเพียงพอที่จะผ่านการทดสอบกลางของรัฐ (ในสหรัฐอเมริกา) อย่างนี้ไม่ใช่ formative assessment เพราะกว่าผลจะมาจากบริษัท การเรียนการสอน ก็เดินหน้าไปแล้ว
ผมสรุปกับตัวเองว่า formative assessment ต้องทำโดยครู ร่วมกับนักเรียน และทำในขั้นตอนของ การเรียนรู้ตามปกตินั่นเอง ผลของการประเมิน จะเป็นเสมือน GPS ของ “การเดินทาง” ของการเรียนรู้นั้น การศึกษาที่ดีเป็นกระบวนการที่ครูและนักเรียนร่วมกันเดินทางแห่งการเรียนรู้ และร่วมกันสร้าง GPS เพื่อตรวจสอบเส้นทาง ทิศทาง และผลของการเรียนรู้นั้น กระบวนการสร้าง “GPS เพื่อการปรับการเรียนรู้” นี้ เรียกว่า การประเมินเพื่อพัฒนา (formative assessment)
โปรดสังเกตว่า ผู้ใช้ข้อมูลจากการประเมินแบบนี้คือ ทั้งครู และนักเรียน ครูใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงการสอน นักเรียนใช้เป็นข้อมูลปรับปรุงการเรียน การประเมินเพื่อพัฒนา จึงเป็นตัวเชื่อมการสอนกับการเรียนเข้าหากัน
ผมประทับใจข้อความในหนังสือ ที่เล่าผลงานวิจัย ว่าชั้นเรียนที่ครูใช้การประเมินเพื่อพัฒนา ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนจะเป็นเกือบ ๒ เท่าของชั้นเรียนที่ไม่ใช้การประเมินเพื่อพัฒนา และหากครูใช้โดย มีการปรึกษาหารือเป้าหมายการเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียนก่อนบทเรียนด้วย ผลสัมฤทธิ์จะยิ่งเพิ่มขึ้น เป็นเกือบ ๓ เท่า
ยุทธศาสตร์ในการใช้การประเมินเพื่อพัฒนา ให้เกิดผลเต็มที่มี ๕ ยุทธศาสตร์ ซึ่งจะเป็นสาระในบันทึก ๕ ตอนข้างหน้า ตอนละ ๑ ยุทธศาสตร์
วิจารณ์ พานิช
๓ ม.ค. ๕๗