พรบ. ใหม่ด้านอุดมศึกษา

ได้ข่าวว่า สกอ. กำลังผลักดันการยกร่าง พรบ. อุดมศึกษา ฉบับใหม่ เพื่อกวดขันการควบคุม มหาวิทยาลัยให้แน่นยิ่งขึ้น ให้ สกอ. มีอำนาจควบคุมมหาวิทยาลัยได้ ไม่ให้มหาวิทยาลัยมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะปัญหาจากสภามหาวิทยาลัยที่อ่อนแอ มีความขัดแย้งสูง และทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง

จึงขอเสนอความเห็นเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง ที่ผมคิดว่าต้องการการพัฒนาบ้านเมือง โดยใช้อุดมศึกษาที่เข้มแข็งเป็นกลไกสำคัญ ให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมหลุดจาก Middle Income Trap ให้จงได้

จึงขอเสนอความเห็น เพื่อไม่ให้ พรบ. ใหม่ด้านอุดมศึกษา เน้นที่การให้อำนาจแก่ สกอ.    แต่เน้นทำให้อุดมศึกษาเข้มแข็ง และทำประโยชน์แก่บ้านเมืองในบริบทและกระบวนทัศน์ใหม่ ได้อย่างแท้จริง โดยขอเสนอแนวทาง ๔ ข้อ

  • 1.อย่ากำกับมหาวิทยาลัยแบบเหมาเข่ง หรือแบบใช้กฎระเบียบเดียวกันทั้งหมด (one-size-fits-all) โดยควรใช้หลักว่า มหาวิทยาลัยที่มีผลสัมฤทธิ์ในการทำหน้าที่อย่างดีเป็นเวลานาน อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ควรได้รับอิสระจากการควบคุมหรือการรายงานรายละเอียด ที่ไม่จำเป็น
  • 2.หน่วยงานกำกับดูแล (เช่น สกอ., สมศ., กพร.) ควรทำงานร่วมกัน สร้างระบบกำกับดูแล ที่จะก่อประโยชน์ต่อคุณภาพ และผลงาน และในขณะเดียวกันลดภาระด้านการรายงาน ที่ซ้ำซ้อนของมหาวิทยาลัย และควรเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการกำกับดูแล จากวิธีการ ออกกฎระเบียบเพื่อการควบคุม (Command and Control) ไปใช้กระบวนทัศน์ใช้ข้อมูลและ สารสนเทศ แล้วให้ทรัพยการสนับสนุนผลงานที่ต้องการ ให้การสนับสนุนแนวทาง กิจการ และผลงานที่ดี ในลักษณะต่างๆ รวมทั้งสื่อสารข้อมูลและสารสนเทศเหล่านั้นแก่สังคม
  • 3.ตามข้อ ๒ นำไปสู่ความจำเป็นที่ สกอ. จะต้อง เปลี่ยนชุดทักษะ (skill set) ของเจ้าหน้าที่    จากทักษะในการทำงานตามกฎระเบียบ ไปเป็นทักษะในการทำงานตามข้อมูลและ สารสนเทศ   และสื่อสารข้อมูลและสารสนเทศต่อสังคม ให้คนในสังคมเลือกสถาบัน อุดมศึกษา
  • 4.ต้องตรวจสอบความไม่ถูกต้อง (อาจเรียกว่า คอร์รัปชั่น) ภายใน สกอ. เอง ดังตัวอย่างใน บันทึกนี้

สิ่งที่เราจะต้องช่วยกันระมัดระวัง คือการพัฒนาอุดมศึกษา และระบบกำกับดูแลอุดมศึกษาแห่งอดีตที่ล้าสมัย    เราต้องมองไปในอนาคต   ช่วยกันจัดระบบกำกับดูแลให้อุดมศึกษาไทยก้าวกระโดด ไปสู่อุดมศึกษาแห่งศตวรรษที่ ๒๑

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย