สภามหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ มีวาระเรื่อง การจัดการศึกษานอกที่ตั้งของหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิตและหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต วิทยาลัยนานาชาติ เข้าสู่การพิจารณา

เราเรียกหลักสูตรแรกอย่างง่ายๆ ว่า MM และหลักสูตรหลังว่า MBA

ที่ต้องเอาเรื่องนี้มาพิจารณา ก็เพราะมีข่าวในสื่อมวลชนว่า เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์และลงข่าวว่า จากการตรวจประเมินการจัดการศึกษา นอกสถานที่ตั้งจำนวน ๕ สถาบัน ๖ ศูนย์ ๑๕ หลักสูตร มีหลักสูตรทั้งสิ้น ๑๑ หลักสูตรที่ไม่ผ่านการประเมิน โดยใน ๑๑ หลักสูตรนี้ มีหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต และหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต ของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมอยู่ด้วย

ดัง ข่าวนี้

หน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยคือ ดูแลและรับผิดชอบ ว่ามหาวิทยาลัยจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ และในกรณีของมหาวิทยาลัยมหิดล มีคุณภาพสูง ไม่ใช่แค่มีคุณภาพระดับธรรมดาๆ สภามหาวิทยาลัยจึงขอให้ฝ่ายบริหารรายงานอีกครั้งหนึ่งว่า วิทยาลัยนานาชาติ จัดการศึกษาของหลักสูตรทั้งสอง ที่ศูนย์บัณฑิตศึกษาอาคารสาธร ซิตี้ ทาวเวอร์อย่างไร

เมื่อฟังแล้ว คณะกรรมการสภามีมติว่า การจัดการศึกษาระดับปริญญาโท นอกที่ตั้งทั้งสองหลักสูตร มีคุณภาพสูง โดยที่ฝ่ายจัดการหลักสูตรกำลังดำเนินการขอการรับรองมาตรฐานนานาชาติจาก AACSB (Association to Advance Collegiate Schools of Business) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยอยู่ในขั้นตอนรอการเข้ามาตรวจสอบโดยคณะ Peer Review ของ AACSB

คือเรามีเป้าหมายคุณภาพสูงตามมาตรฐานานาชาติ ที่ตรวจสอบได้ เน้นคุณภาพที่นักศึกษา หรือบัณฑิตได้รับ

แต่ สกอ. บอกว่าสองหลักสูตรนี้ไม่ผ่านการประเมิน เพราะวิทยาลัยนานาชาติไม่ได้จัดการศึกษาสอง หลักสูตรนี้ ณ ที่ตั้งด้วย จึงไม่ผ่านเกณฑ์ของ กกอ./สกอ.

จึงขอประกาศให้สาธารณชนทราบว่า สภามหาวิทยาลัยมหิดล ขอรับรองว่า หลักสูตรทั้งสอง ที่จัด ณ อาคารสาธร ซิตี้ ทาวเว่อร์ มีคุณภาพสูง แม้จะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมินของ สกอ.

และขอชี้แจงว่า เกณฑ์ประเมินของ สกอ. ไม่ได้ดูที่คุณภาพของการจัดการศึกษา แต่ดูว่าปฏิบัติตาม เกณฑ์ที่ตนกำหนดหรือไม่ โดยที่เกณฑ์ส่วนที่สองหลักสูตรนี้มีปัญหา คือ ไม่มีการจัดการศึกษาสองหลักสูตรนี้ ณ ที่ตั้ง

เกณฑ์ข้อนี้ของ สกอ. มีความไม่แม่นยำอยู่โดยธรรมชาติ คือใช้วิธีกำหนดเงื่อนไขที่เป็น proxy ของคุณภาพ แล้วยึด proxy เป็นหลัก แม้คุณภาพโดยตรงดี แต่ตกส่วน proxy ก็ถือว่าไม่ผ่านการประเมิน

สภามหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีมติให้ฝ่ายนายกสภาฯ (คือผม) และบริหารร่วมกันแถลงข่าว และสื่อสาร สังคมอย่างกว้างขวาง เพื่อยืนยันคุณภาพการศึกษาของทั้งสองหลักสูตร แม้จะไม่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ (ที่ไม่แม่นยำ) ของ สกอ.

เป็นการยืนยัน เพื่อประโยชน์สาธารณะ มากกว่าเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล

วิจารณ์ พานิช

๒๒ พ.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย