ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีการนำเสนอว่ามหาวิทยาลัยดำเนินการพัฒนา ความเป็นคนดี ความเป็นพลเมืองดี ให้แก่นักศึกษาอย่างไรบ้าง

ผมนั่งฟังการนำเสนอรายละเอียดกิจกรรมยาวเหยียดและหลากหลาย พร้อมกับตั้งข้อสงสัย กับตนเองว่า สงสัยว่ากรณีนี้จะตกหลุมพราง “ทำมาก ได้ผลน้อย” ในทำนอง work hard แต่ไม่ได้ work smart แต่ผมก็ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตนี้ เพราะเกรงว่าผู้เสนอจะเสียกำลังใจ หรือเสียหน้า ผมตั้งใจเอาไปบอกอธิการบดี ในภายหลัง

ไม่ว่าทำอะไร ผมหมั่นฝึกฝนตนเองให้ “ทำน้อย ได้ผลมาก” คือหาจุดคานงัดให้พบ แล้วทำเรื่องนั้น เพื่อให้มันส่งแรงไปสร้างการเปลี่ยนแปลงเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปอีกหลายทอด ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องฝึกคิด กระบวนระบบ (Systems Thinking) และมองภาพรวมว่าเป็น Complex Adaptive Systems (CAS) ที่มีคุณสมบัติ “ผีเสื้อกระพือปีก สร้างลมสลาตัน” หรือ “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว”

ทำน้อย ได้ผลมาก จะเกิดขึ้นได้ ปณิธานความมุ่งหมาย (Purpose) ต้องชัดและมั่นคงต่อเนื่อง แล้วต้อง เปิดอิสระให้ผู้ร่วมงาน ที่มีปณิธานร่วมกัน ได้ใช้ความริเริ่มสร้างสรรค์ ณ จุดทำงานของตน ก็จะเกิดการรวมพลัง หรือสนธิพลัง ทำให้เกิดสภาพ “ทำน้อย ได้ผลมาก” ขึ้นได้

วิจารณ์ พานิช

๒๕ พ.ค. ๕๗

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย