วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ ผมมีโอกาสคุยกับอาจารย์แหวว (พันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร) เรื่อง ความด้อยโอกาสของเด็กและเยาวชน จากมุมมองของนักกฎหมาย ที่คบค้ากับหมอในพื้นที่ชายแดนมานาน ทำให้ผมเข้าใจสังคมในมิติใหม่ๆ
ที่สำคัญยิ่ง ผมได้ตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ที่คนทั่วไป มักมองข้าม แต่ทีมอาจารย์แหววไม่ยอมให้ลอดสายตา สายตาของผู้เอาใจใส่สิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาส
ผมได้ตระหนักว่า ใครอยากทำงานวิจัยในโจทย์ใหม่ๆ ให้ไปหาโจทย์ที่ชายแดน ที่นั่นมีทั้งปัญหา และโอกาส มีเรื่องราวแปลกๆ ให้เราทำความเข้าใจ และให้ทำงานเพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติ
ผมชอบวิธีมองของ อ. แหวว ต่อ “เด็กและเยาวชนในพื้นที่สุขภาวะ” ที่มอง ๓ พื้นที่ คือ
- ๑.เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของโรงพยาบาล/สถานพยาบาล
- ๒.เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของสถาบันการศึกษา/โรงเรียน/มหาวิทยาลัย
- ๓.เด็กและเยาวชนในพื้นที่ของครอบครัว
และผมชอบวิธีวิทยาการวิจัย ที่เน้นศึกษาจาก “เรื่องจริง” ของเด็กและเยาวชนข้ามชาติด้อยโอกาส และจากผู้สนับสนุนเด็กและเยาวชนดังกล่าว รวมทั้งทำงานร่วมกับหน่วยงาน/บุคคล ที่เป็นภาคประชาสังคม ที่ทำงานด้านนี้ นี่คือวิธีเก็บข้อมูลที่ “สุดยอด”
ผมจะไปเรียนรู้จากพื้นที่ จ. ตาก ระหว่างวันที่ ๑๑ - ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๗ โดยความอนุเคราะห์ ของทีมอาจารย์แหวว จัดให้ลงพื้นที่ อำเภอท่าสองยาง อำเภอพบพระ และอำเภอแม่ระมาด ได้ข่าวว่าจะมี ผู้ใหญ่อีกหลายท่านร่วมขบวนไปด้วย เช่น ศ. ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ผมเตรียมตัวไปเรียนรู้แบบสัมผัส “เรื่องจริง” และสัมผัส “มุมมอง” ของท่านผู้รู้เหล่านี้ และเตรียมไปตั้งคำถาม เพื่อการเรียนรู้ของผม และเพื่อช่วยให้ทีม อ. แหวว “เหลา” โจทย์วิจัย ให้แหลมคม
สิ่งที่ผมตั้งคำถามคือ กิจกรรมของทีมงาน อ. แหวว เอื้อหรือส่งเสริมให้มีการทำงานสร้างพื้นที่สุขภาวะ แก่เด็กและเยาวชนตามแนวชายแดน แบบ holistic หรือไม่ หรือเป็นเพียงการทำงานแบบตั้งรับเท่านั้น
กว่าเรื่องนี้จะลง บล็อก ผมก็กลับมาจากการลงพื้นที่นี้แล้ว และคงจะได้นำมาเล่าต่อ ว่าผมไปเรียนรู้ อะไรบ้าง บันทึกนี้เขียนเพื่อสรุปประเด็นสำหรับการเตรียมตัวของตนเอง
วิจารณ์ พานิช
๑๒ มิ.ย. ๕๗