ตอนที่ 2 ผลการดำเนินงานการจัดการความรู้ 7 ประการที่ทุกองค์กรควรรู้
ต้องขอขอบคุณสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านเป็นอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือในการระดมสมองทางออนไลน์ด้านการจัดการความรู้ (Knowledge management: KM) ครั้งสำคัญของประเทศอีกครั้งนะคะ
จากจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามในอาทิตย์ที่ผ่านมา 1,600 คน พบข้อมูลผลการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ในองค์กรของไทยดังนี้ค่ะ
ผลการทำ KM ในองค์กร
(1) 82% ทำงานในองค์กรที่มีการริเริ่มโครงการ KM แล้ว
(2) 66% คิดว่าโครงการ KM ในองค์กรไม่ประสบความสำเร็จ
(3) 59% คิดว่าไม่ควรส่งองค์กรเข้าประกวดองค์กรแห่งการเรียนรู้ (L0)
ปัญหาหลักที่พบในการทำโครงการ KM คือ
(4) 58% คิดว่าผู้ใช้ไม่ค้นหาความรู้จากระบบการจัดการความรู้
(5) 50% คิดว่าผู้ใช้ไม่ให้ความร่วมมือในการเพิ่มความรู้ลงในระบบ
(6) 46% คิดว่าองค์กรมีระบบจัดเก็บความรู้ที่กระจัดกระจาย ไม่มีระบบศูนย์กลางของการจัดการความรู้
สาเหตุที่ไม่มีการนำ KM มาใช้ในองค์กรอย่างเต็มที่
(7) 45% คิดว่าองค์กรไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะวางแผนและนำการจัดการความรู้มาใช้
ซึ่งพอจะเห็นภาพได้ค่อนข้างชัดเจนว่า
การจัดการความรู้ในประเทศไทยโดยส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ
โดยเฉพาะคนทำงานภาครัฐ (80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) รู้จักการจัดการความรู้กันทั้งนั้นค่ะ แต่ยังไม่เกิดความเข้าใจในกระบวนการ KM ที่แท้จริงทั้งด้าน Human KM และ KM technology ความยั่งยืนของโครงการ KM ต่างๆ ในองค์กรจึงขาดหายไปค่ะ
ผลจากโครงการ KM เหล่านี้จึงไม่สามารถส่งผลไปยังเป้าหมายหลักขององค์กรนั้นๆ ค่ะ อาทิ การเพิ่มขึ้นของยอดขาย การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน การพัฒนาปรับปรุงบริการและผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆ เป็นต้น
ดังนั้นประเทศไทยยังต้องการการผลักดันครั้งใหม่เพื่อการจัดการความรู้ของประเทศค่ะ (KM 3.0) เพราะความรู้เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญขององค์กรและบุคคลค่ะ แม้จะแตะต้องไม่ได้แต่ยิ่งจัดการก็จะยิ่งเพิ่มพูน และจะยังผลให้เพิ่มประสิทธิภาพต่อการตัดสินใจ การพัฒนางาน พัฒนาคน และพัฒนาองค์กรค่ะ
และในปัจจุบันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการจัดการความรู้อย่างยิ่งค่ะ อาทิ บริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลก 100 บริษัทมุ่งพัฒนาระบบเพื่อการจัดการความรู้ทั้งนั้น เพราะอันที่จริงแล้วความรู้ในตัวบุคคลแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลาทั้งในทางออนไลน์และออฟไลน์และมีอยู่เป็นจำนวนมากมหาศาล อาทิ บันทึก ความเห็น การสนทนา อย่างที่เราเรียกกันว่า Big data นั่นเองค่ะ
ดิฉันขอทิ้งท้ายไว้แค่นี้ค่ะ พร้อมเปิดประเด็นให้ทุกท่านได้แลกเปลี่ยนค่ะ
ขอบคุณค่ะ
ดร.จันทรวรรณ ปิยะวัฒน์
คัดลอกจาก: https://www.gotoknow.org/posts/594272