ในเว็บไซต์ของ NCCPE (https://www.publicengagement.ac.uk ) ระบุเป้าหมายขององค์กรว่า “NCCPE seeks to support a culture change in universities. Our vision is of a higher education sector making a vital, strategic and valued contribution to 21st century society through its public engagement activity”
อ่านแล้วผมตีความว่า ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ สถาบันอุดมศึกษาต้องไม่ใช่เพียงสร้างบัณฑิตออกไปทำงานพัฒนา บ้านเมือง ตัวมหาวิทยาลัยเองต้องเข้าไปร่วมพัฒนาบ้านเมืองด้วย ผมตีความต่อว่า การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเริ่มที่กิจกรรมในชีวิตจริง หรือเริ่มที่ความรู้ปฏิบัติ แล้วจึงย้อนกลับมาเรียนความรู้ทฤษฎี มหาวิทยาลัยจะเอื้อต่อการเรียนรู้แบบนี้ได้ดี มหาวิทยาลัยต้องมีประสบการณ์ในการปฏิบัติด้วย
มหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ ๒๑ จึงต้องเปลี่ยนหลายชั้นในเวลาเดียวกัน และชั้นลึกที่สุดคือชุดความเชื่อ (mindset) และวิถีปฏิบัติ หรือวัฒนธรรมของคนมหาวิทยาลัย
ผมตีความว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยทั่วโลก ทำงานวิชาการในรูปแบบ diffusion approach มาเป็นเวลานานนับร้อยปี บัดนี้ต้องเปลี่ยนไปเป็น engagement approach และสหราชอาณาจักรมีวิธีเปลี่ยนความเชื่อและวัฒนธรรมนี้อย่างแยบยล ที่ผมต้องการไปสัมผัสและขุดคุ้ยตีความ สำหรับนำมาเผยแพร่และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของอุดมศึกษาไทย
Diffusion approach หมายความว่า มหาวิทยาลัยทำงานค้นคว้าสร้างสรรค์ความรู้ใหม่จากการทดลองหรือคิดค้นทางทฤษฎี แล้วเผยแพร่อย่างกว้างขวางให้คนนำไปใช้อย่างอิสระ เมื่อเอาความรู้นั้นไปใช้ได้ผลอย่างไรแล้วมีการตีความยกระดับความรู้และเผยแพร่ต่อไปอีก ทำให้เกิดวัฒนธรรมวิชาการแบบต่อยอดซึ่งกันและกัน ก่อความก้าวหน้าแก่สังคมมนุษย์อย่างมหาศาล แต่บัดนี้พบว่า วิชาการแบบ diffusion approach ไม่เพียงพอ ต้องการ engagement approach เข้ามาเสริม หรือดำเนินการคู่ขนาน
Engagement approach หมายความตามที่กล่าวแล้วในตอนที่ ๑ ว่า “ร่วมคิดร่วมทำแบบหุ้นส่วน เกิดประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มีการใช้ความรู้และการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดผลกระทบต่อสังคมที่ประเมินได้” และมีการสร้างกระบวนทัศน์ของผู้เกี่ยวข้อง มียุทธศาสตร์สร้างการเปลี่ยนแปลง มีกลไกดำเนินงานให้ได้ผล และมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย
การเปลี่ยนวัฒนธรรมไม่สามารถทำได้ผ่านการบังคับ ต้องผ่านการกระทำ เรียนรู้ เห็นคุณค่า และซึมซับ นี่คือจุดสำคัญที่สุดที่ผมไปเรียนรู้ในช่วงเวลา ๘ วันของการเดินทาง และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบันทึกชุด “มหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม” นี้
กลไกสำคัญที่สุดคือ “พื้นที่ดำเนินการ” (action space) ให้คนมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งได้มีโอกาสทำสิ่งใหม่ๆ ที่มีคุณค่า แล้วเรียนรู้คุณค่านั้น ทั้งด้วยสัมผัสของตนเอง และด้วยการเข้าร่วม “พื้นที่เรียนรู้คุณค่า” (learning space) โดยผมตีความว่า การประชุม Engagement 2017 นี้ เป็น “พื้นที่เรียนรู้คุณค่า” ของกิจกรรมมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคม
แน่นอนว่า การประชุม Engagement Conference 2017 เป็นพื้นที่เรียนรู้เทคนิควิธีการจัดการและดำเนินการกิจกรรมมหาวิทยาลัยหุ้นส่วนสังคมด้วย แต่คุณค่าสำคัญที่สุดของการประชุม Engagement 2017 ในสายตาของผม คือ เป็น “พื้นที่เรียนรู้คุณค่า”
การเรียนรู้คุณค่า นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีปฏิบัติในชีวิตการทำงานประจำวัน เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนวัฒนธรรม ซึ่งในที่นี้เป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนในระบบอุดมศึกษา จากวัฒนธรรมวิชาการลอยตัว ไปสู่วัฒนธรรมวิชาการหุ้นส่วนสังคม ที่หากประเทศไทยเราดำเนินการได้ผลภายใน ๑๐ ปี ก็จะมีความหมายต่อการบรรลุเป้าหมาย ประเทศไทย ๔.๐ ดังที่ผมเคยเสนอไว้ว่า ประเทศไทย ๔.๐ ไม่มีทางบรรลุได้ หากมหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยนกระบวนทัศน์ (https://www.gotoknow.org/posts/634621)
ผมตั้งข้อสังเกตว่า NCPPE มีเครื่องมือหลายชิ้น สำหรับช่วยให้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนวัฒนธรรมของตนเอง เช่นเครื่องมือประเมินตนเอง ที่เรียกว่า EDGE (https://www.publicengagement.ac.uk/support-it/self-assess-with-edge-tool) ในชื่อเต็มว่า Embryonic, Developing, Gripping, and Embedded approaches to supporting engagement
ในปี 2014 NCCPE ออกรายงาน Building an Engaged Future for UK Higher Education ซึ่งอ่านรายงานสรุปได้ที่ https://www.publicengagement.ac.uk/sites/default/files/publication/engaged_futures_summary_report_final.pdf และอ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ที่ https://www.publicengagement.ac.uk/sites/default/files/publication/t64422_-_engaged_futures_final_report_72.pdf รายงานดังกล่าวชี้ชวนให้เห็นว่าสถานการณ์แวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ทำให้มหาวิทยาลัยจะต้องเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนจากการเป็นหอคอยงาช้าง ไปเป็นสถาบันที่มองออกข้างนอก และเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนากิจการต่างๆ ของสังคม โดยที่รายงานนี้ไม่ใช่ได้จากการนั่งเทียนเขียน แต่มาจากการทำงานวิจัยตั้งคำถามหลัก ๕ คำถาม สอบถามความเห็นของผู้คนในภาคส่วนต่างๆ
ผมสรุปสาระหลักจากรายงานดังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรถูกกดดันเรียกร้อง ให้ต้องรับผิดชอบเพิ่มจากเดิมหลากหลายด้าน และการตอบสนองไม่มีทางทำได้โดยมหาวิทยาลัยเอง ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับหุ้นส่วนต่างๆ ในสังคม รายงานสรุปหน้า ๓ ระบุหุ้นส่วนดังนี้ “public, students, museums, local authorities, local and national charities, think tanks and artists, across all fields of economy and society”
รางวัล Engage Watermark (https://www.publicengagement.ac.uk/work-with-us/engage-watermark) เป็นเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งของการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรเปลี่ยนวัฒนธรรม สู่วัฒนธรรมหุ้นส่วนสังคม เป็นรางวัลที่มอบให้แก่มหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศในการดำเนินการสนับสนุนเชิงสถาบันต่อ engagement คำว่า watermark แปลว่า “ลายน้ำ” หมายถึงลายน้ำในกระดาษ ที่ฝังอยู่ในเนื้อกระดาษ ในกรณีของรางวัล Engage Watermark จึงหมายถึงมีการจัดการที่มี engagement ฝังอยู่ในเนื้อใน (embedded) ทั่วทั้งองค์กร
การยื่นขอรางวัล เป็นการสำรวจตนเองของสถาบัน ช่วยการปรับปรุงการดำเนินการด้านต่างๆ ให้เอื้อต่อการทำหน้าที่หุ้นส่วนสังคม
รางวัลนี้มี ๔ ระดับ คือ เหรียญบรอนซ์, เงิน, ทอง, และพลาตินั่ม มีรายละเอียดที่ https://www.publicengagement.ac.uk/work-with-us/engage-watermark/engage-watermark-award-levels และในปี 2018 จะเริ่มมีรางวัลให้แก่ระดับคณะหรือสถาบันวิจัย เรียกว่า Engage Watermark Faculty Award
NCCPE Public Engagement Network (https://www.publicengagement.ac.uk/work-with-us/public-engagement-network) เป็นอีกกลไกหนึ่งของการส่งเสริมวัฒนธรรมหุ้นส่วนสังคม ในระดับบุคคล ผ่านกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใน digital platform
ในเว็บไซต์ของ NCCPE ส่วน Work with Us (https://www.publicengagement.ac.uk/work-with-us) ระบุกิจรรมที่ทำร่วมกับภาคีไว้ ๑๔ รายการ ซึ่งผมตีความว่า เป็นกิจกรรมที่มีผลเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยสู่วัฒนธรรมหุ้นส่วนสังคมทั้งสิ้น และบางประเด็นผมได้นำมาตีความดังข้างบน
วิจารณ์ พานิช
๒๐ พ.ย. ๖๐ ปรับปรุง ๑๘ ธ.ค. ๖๐