เพราะพบบทความเรื่อง EF Depletion ซึ่งโยงไปยัง TOM (Theory of Mind) ที่วิกิพีเดียไทยเรียกว่า ทฤษฎีจิต ชักจูงให้ผมทำความเข้าใจเรื่องกลไกในสมองว่าด้วยการอ่านใจคน และผมตีความว่า EF ช่วยให้คนเราอ่านใจคนได้ดี คนที่เข้าใจคนอื่นได้ดีย่อมเป็นคนมีความสามารถสูง
เมื่อราวๆ ๔๐ ปีก่อน ผมเคยฟังการบรรยายด้านการบริหาร ว่าผู้บริหารต้องเก่ง ๓ ด้าน คือเก่งคน เก่งงาน และ เก่งคิด มาถึงตอนนี้ผมตีความว่า ส่วนหนึ่งของเก่งคนคือ เก่งด้านอ่านใจคน ซึ่งมีทั้งอ่าน เป็นคนๆ ตามสถานการณ์ และอ่านภาพรวมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การมีโพลสอบถามความเห็นของคน เป็นเครื่องช่วยอย่างหนึ่ง ให้เข้าใจใจคนในภาพรวมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
เรามีคำว่า “เด็กไร้เดียงสา” น่าจะหมายถึงอ่านใจคนไม่ออก ไม่เข้าใจ วาระซ่อนเร้น (hidden agenda) ของผู้คน เราจึงมีคำว่า “ผู้เยาว์ “ ซึ่งหมายถึงผู้ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะทางความคิด และทางอารมณ์ ซึ่งความรู้ใหม่ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ บอกว่ากว่าคนเราจะบรรลุวุฒิภาวะเต็มที่ จะต้องอายุ ๒๕ ปี หรือเกือบถึง ๓๐ ปี และผมบอกตัวเองว่า ผมอายุกว่า ๓๐ ก็ยังไม่ “สุก” เต็มที่ (คือยังห่ามอยู่) การอ่านใจคนไม่ออก เป็นลักษณะหนึ่งที่คนไทยเรียกว่า “ไม่มีไหวพริบ” สมัยผมอายุ ๑๐ - ๑๕ ขวบ ผมต้องช่วยพ่อแม่ทำงานมาก และทำผิดพลาดบ่อยๆ พ่อผมตำหนิว่า “ไม่มีไหวพริบ” ซึ่งย่อมต้องเป็นเช่นนั้นเพราะวุฒิภาวะของผม ยังไม่พัฒนาถึงขั้นที่พ่อคาดหวัง
ผมคิดว่า การอ่านใจคนไม่ได้ขึ้นกับตัวบุคคลเท่านั้น ยังขึ้นกับเหตุการณ์ และกาละเทศะของเรื่องราว นั้นๆ การอ่านใจคนจึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน ที่ “ความจำใช้งาน” (working memory) จะต้องดึงข้อมูล จากเหตุการณ์ และดึงข้อมูลจาก “ความจำระยะยาว” (longterm memory) หรือความรู้เดิม ที่มีความซับซ้อน เอามาประมวล เพื่อเข้าใจว่า ที่นาย ก พูดอย่างนี้ หมายความว่าอย่างไร ในขณะที่ นางสาว ข พูดคำพูดเดียวกัน มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร
นี่คือพลังของ EF และ “ความรู้เดิม” (prior memory) หรือความจำใช้งาน (longterm memory) ในการช่วยให้คนเราเข้าใจคนอื่นได้ในมิติที่ลึก นำไปสู่ความเห็นอกเห็นใจ (empathy) คนอื่น
วิจารณ์ พานิช
๑๙ ก.ค. ๖๐
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand