๓.
ปฏิรูปอย่างไร
ทำ
๑๐ อย่างต่อไปนี้
(๑) กระทรวงศึกษาธิการทำหน้าที่ส่งเสริมทางนโยบายและวิชาการ
มีคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาเป็น
Think tank มีสถาบันวิจัยระบบการศึกษาที่เป็นอิสระ และมีคุณภาพสูงเป็นเครื่องมือ
(๒) ปฏิรูปการศึกษาโดยเอาพื้นที่คือจังหวัดเป็นตัวตั้ง
ขณะนี้มีความพยายามริเริ่มใหม่ๆ
ในการศึกษาในพื้นที่จังหวัด โดย กลุ่มครูบ้าง โรงเรียนบ้าง ชุมชนบ้าง องค์กรปกครองท้องถิ่นบ้าง
องค์กรพัฒนาเอกชนบ้าง ภาคธุรกิจบ้าง ฝ่ายนโยบายควรส่งเสริมความริเริ่มใหม่ๆ ในพื้นที่
มีการทำ mapping
นวัตกรรมเหล่านี้ในทุกพื้นที่ นำมาชื่นชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการขยายตัวและต่อยอดให้ดียิ่งๆ
ขึ้น
ในแต่ละจังหวัดควรมีกลไกลประสานงานการปฏิรูปการศึกษาที่ไม่เป็นทางการ
ทำงานคู่ขนานและประสานกับกลไกที่เป็นทางการคือคณะกรรมการการศึกษาจังหวัด ในบางจังหวัดมีการก่อตัวของกลไกลเหล่านี้ขึ้นมาเอง
เช่นที่เรียกว่า สภาการศึกษาจังหวัดกระบี่โดยภาคธุรกิจ ภาคีปฏิรูปการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่
บางจังหวัดเรียกมูลนิธิบ้าง สมาคมบ้าง ควรมีการศึกษารวบรวมกลไกจังหวัดที่เกิดขึ้นเองเหล่านี้
และวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง
วิธีหนึ่งที่อาจพิจารณาคือมีการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อจังหวัด...
โดยเติมชื่อจังหวัดแต่ละจังหวัดลงไป เป็นที่รวบรวมของคนเก่าคนแก่ที่มีบารมีและสนใจพัฒนาจังหวัดบ้านเกิดของตน
มูลนิธิเพื่อจังหวัด... มีหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดอย่างบูรณาการโดยเอาชุมชนท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง
และประสานการปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดด้วย ข้อสำคัญมูลนิธิต้องมีผู้ประสานงานซึ่งรู้เรื่องการพัฒนาในพื้นที่เป็นอย่างดี
ในทุกจังหวัดมีกลุ่มคนที่เรียกว่าประชาคมจังหวัด ซึ่งทำงานพัฒนาเรื่องต่างๆ ในพื้นที่มาหลายปีและมีความสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ
ระดับประเทศจำนวนมาก คณะทำงานของมูลนิธิเพื่อจังหวัด... น่าจะมาจากกลุ่มคนที่เรียกว่าประชาคมจังหวัดดังกล่าว
(๓) กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียนในพื้นที่จัดการตนเองและมีสัมพันธภาพทางราบในพื้นที่
โดยโรงเรียนมีคณะกรรมการโรงเรียน (Board)
ซึ่งเป็นผู้นำในพื้นที่ โรงเรียนขนาดเล็กในตำบล ซึ่งมีประมาณ ๕ โรงเรียน
/ ๑ ตำบล อาจมีคณะกรรมการร่วมทั้งตำบลก็ได้ กระทรวงศึกษาควรส่งเสริมให้โรงเรียนปฏิรูปการเรียนรู้โดยแนวทางกว้างๆ
แต่ไม่บังคับในวิธีการและรายละเอียด ให้โรงเรียนคิดร่วมกับภาคีในพื้นที่ เช่น
· การเรียนรู้เพื่อความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
ร่วมกับองค์กรชุมชนท้องถิ่น บางตำบลตั้งมหาวิทยาลัยตำบลขึ้นมา ซึ่งต่อไปอาจมีในทุกตำบล
· อาชีวศึกษาร่วมกับกศน.
วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวะ วิทยาลัยชุมชน ภาคธุรกิจ
· เพื่อความเข้มแข็งทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัย
โดยวิธีนี้โรงเรียนจะไม่แยกตัวอยู่โดดเดี่ยว แต่มีสัมพันธภาพทางราบกับองค์กรต่างๆ
ในพื้นที่ตามแนวคิดบูรณาการ ในแต่ละจังหวัดควรมีมหาวิทยาลัยอย่างน้อย ๑ แห่ง ทำงานร่วมกับพื้นที่
ที่เรียกว่า ๑ มหาวิทยาลัย / ๑ จังหวัด สถานศึกษาทุกชนิดในพื้นที่ต้องเชื่อมโยงสนับสนุนซึ่งกันและกันไม่ใช่แยกส่วนไม่เกี่ยวข้องกัน
(๑) การพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนในระดับตำบล คุณภาพเด็กและเยาวชนเป็นอนาคตของประเทศ
มีการพูดทางวิชาการและนโยบายมานานพอสมควร ประเด็นสำคัญอยู่ที่การปฏิบัติในพื้นที่ให้ได้ผลจริง
อบต.และเทศบาลทั่วประเทศได้ตั้งศูนย์เด็กเล็กขึ้น
แต่ก็ยังขาดความมั่นใจเรื่องความทั่วถึงและคุณภาพ อีกทั้งมีความรีบด่วนเพราะการเสียโอกาสมีต้นทุนสูง
ถ้าดูตามรูปข้างล่างนี้จะเห็นช่องว่างคือ ระหว่างนโยบาย วิชาการ และการปฏิบัติระดับตำบล
คืออะไรที่ขาดไป ซึ่งจะโยงนโยบาย
วิชาการ และการปฏิบัติระดับตำบลให้ได้ผลดีจริง
น่าจะเป็นกลุ่มคนขนาดไม่ใหญ่นัก ซึ่งอาจเรียกว่า สถาบันเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัวระดับตำบล
(สดยต.) มีความเชี่ยวชาญเรื่องเด็กเยาวชนและครอบครัวและมีทักษะการจัดการเชิงระบบ
สดยต.หนึ่งลองทดลองปฏิบัติใน ๑๐ ตำบล หรือ ๑
อำเภอ สดยต.อาจจะเป็นมูลนิธิ หรือมาจากมหาวิทยาลัย หรือมาจากภาคธุรกิจ หรือมาจากหน่วยราชการ
เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทุกฝ่าย เพราะเป็นอนาคตของประเทศ
เครือข่ายพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวระหว่างผู้ปฏิบัติ สดยต. ฝ่ายวิชาการ และฝ่ายนโยบายจะเชื่อมโยงด้วยการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติที่ขยายตัวและเพิ่มคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ
เพื่อคุณภาพเด็กและเยาวชนทั้งประเทศ
(๑) สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ เริ่มแรกต้องทำ mapping ว่ามีผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูปการเรียนรู้อยู่ที่ใดบ้าง
และชักชวนให้ก่อตัวเป็นสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการควรทำนโยบายให้ทุกมหาวิทยาลัย
พัฒนาสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ที่มีผู้เชี่ยวชาญการปฏิรูปการเรียนรู้มาจากคณะและสถาบันต่างๆ
ไม่จำกัดอยู่ที่อาจารย์คณะครุศาสตร์ หรือศึกษาศาสตร์เพราะการเรียนรู้มีอยู่ในทุกคณะและสถาบัน
สถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ จะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูปการเรียนรู้ในทุกมหาวิทยาลัย
และช่วยพัฒนาครูทั้งมวลให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการอำนวยการเรียนรู้แบบที่เรียกว่าปฏิรูปการเรียนรู้
ควรปฏิรูปการผลิตครู โดยรับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้วในสาขาที่ต้องการและมีฉันทะแน่วแน่แล้วที่จะเป็นครู
มาเรียนวิชาครู ๒ ปี เพื่อพัฒนาให้เป็นครูในอุดมคติ
(๒) ยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่จะช่วยให้ทุกคนเข้าถึงความรู้และครูที่ดีที่สุด
ควรมีคณะบุคคลที่เข้าใจเรื่องการศึกษาและเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นอย่างดี มาทำยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อการเรียนรู้ของคนทั้งมวล
โดยทำให้เหมาะกับความหลากหลายของผู้เรียนและเรื่องที่เรียน ถ้าทำได้ดีจะช่วยให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง
(๓) นโยบาย ๑ มหาวิทยาลัย / ๑จังหวัด กระทรวงศึกษาธิการทำนโยบาย ๑ มหาวิทยาลัย
/ ๑ จังหวัด ให้เป็นจริง
มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สนับสนุนความเข้มแข็งในพื้นที่ ๑ จังหวัด กระทรวงศึกษาธิการควรทำนโยบายให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งมีสถาบันวิจัยและพัฒนาการเรียนรู้ตามแนวทางปฏิรูปการเรียนรู้
เพื่อปฏิรูปการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยเอง และสนับสนุนการปฏิรูปการเรียนรู้ในโรงเรียนทั้งหมดในพื้นที่
๑ จังหวัด
(๔) นโยบายภาคธุรกิจ กับการจัดการศึกษา มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติโดยมูลนิธิปอเต๊กตึ้ง
สถาบันปัญญาภิวัฒน์ โดยบริษัทซีพีออล ซึ่งส่งเสริมการเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน และผลิตบัณฑิตมาได้
๑๐,๐๐๐ คนแล้ว โรงเรียนกำเนิดวิทย์และสถาบันวิทยสิริเมธี
โดยปตท. เหล่านี้เป็นตัวอย่างของการที่ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทจัดการการศึกษา
เพื่อสร้างคนไทยที่เก่งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาคธุรกิจทำงานอยู่กับความเป็นจริง
มีพลังมาก และมีการจัดการสูงกว่าภาครัฐ รัฐบาลควรมีนโยบายชักชวนส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา
จะเบาภาระภาครัฐไปได้เป็นอันมาก และจะเป็นการปฏิรูปการศึกษาไปในตัว หอการค้าจังหวัดในทุกจังหวัดควรร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคการศึกษา
ส่งเสริมการศึกษาเพื่อสัมมาชีพเต็มพื้นที่ ซึ่งก็จะเป็นการบูรณาการศึกษาเข้ากับการพัฒนา
ภาคธุรกิจจะเป็นพลังยิ่งใหญ่ของการปฏิรูปการศึกษา
(๕) กระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาโดยสูตร
RCN
R = Research การวิจัยให้รู้ทั่วประเทศว่าใครกำลังทำอะไรดีๆ
C = Communication นำผลการวิจัยมาเผยแพร่ให้ทราบทั่วกันอย่างกว้างขวาง
N
= Networking ส่งเสริมให้เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในระดับต่างๆ และระดับชาติ
เครือข่ายการปฏิรูปการศึกษาจะมีชีวิตที่เติบโตและเพิ่มคุณภาพขึ้นเรื่อยๆ
จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
(๖)
จัดประชุมสุดยอดการศึกษา (Education Summit) เป็นประจำทุกปี โดยมีทั้งฝ่ายปฏิบัติ ฝ่ายวิชาการ
และฝ่ายนโยบาย ร่วมประชุมเพื่อชื่นชมผลสำเร็จ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อยอด
พัฒนานโยบายเพิ่มเติม และมีการสื่อสารอย่างกว้างขวาง
ทั้ง ๑๐ ประการนี้ ถ้าทำอย่างเชื่อมโยงกันครบวงจรกระบวนการปฏิรูปการศึกษาก็จะขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่อง ก่อความสุขให้แก่ทุกคนที่เกี่ยวข้อง และประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม