ผมขอเสนอว่าทักษะการตั้งเป้าเป็นทักษะสำคัญของการประยุกต์ใช้ KM 4.0
คำถามแรกที่ต้องถามคือเป้าอะไร นี่คือประเด็นสำคัญที่สุด
หากตอบว่า เป้า KM ผมเฉลยว่า ... ผิด นี่คือปรากฏการณ์เส้นผมบังภูเขา KM บังงาน
เป้าหมายอันดับ ๑ของการทำ KMต้องอยู่ที่งาน อาจเพื่อเพิ่มคุณภาพชิ้นงาน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดอันตราย เพิ่มรายได้ เพิ่มกำไร เพิ่มประสิทธิภาพผลงาน ฯลฯ
เป้าหมายอันดับ ๒ คือ คน เพื่อเพิ่มสมรรถนะของคนในการทำงาน พัฒนาวัฒนธรรมแบ่งปันความรู้ใส่ตนไม่หวงความรู้ มีความเอื้ออาทรต่อเพื่อนร่วมงาน มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับเพื่อนพนักงาน เพิ่มแนวคิดเชิงบวก เพิ่มเจตคติที่ดีต่อองค์กร เพิ่มความรู้เชิงทฤษฎีที่เกี่ยวกับงานโดยเรียนรู้ผ่านการทำงานหนุนด้วยกระบวนการ KM เป้าหมายอันดับสองนี้อาจมองเป็นผลพลอยได้ แต่ต้องมีการจัดการเพื่อให้เกิดผล
เป้าหมายอันดับ ๓ คือ องค์กร เพื่อพัฒนาสู่องค์กรเรียนรู้ เป็น high performance organization เป็น happy workplace มีความแข็งแรงพร้อมเผชิญความท้าทายนานา
คำถามที่ ๒ สำหรับมือใหม่ องค์กรที่เริ่มทำ KM จริงจัง เป้าใหญ่แค่ไหน ยากแค่ไหน
คำตอบคือต้องเป็นเป้าที่ท้าทาย และมั่นใจ ๕๐% ว่าบรรลุได้ ในเบื้องต้นควรเป็นเป้าที่โฟกัสมาก เจาะที่ประเด็นเดียว เพื่อฝึกวิธี “จัดการความรู้” เพื่อบรรลุเป้านั้น ซึ่งผู้เกี่ยวข้องจะได้สัมผัสความซับซ้อนของ “ความรู้”ที่ต้องใช้เพื่อบรรลุเป้า รวมทั้งความซับซ้อนของการเอาความรู้ไปใช้ ซึ่งหากทำจนเคยชินหรือชำนาญก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ
คำถามที่ ๓เมื่อบรรลุเป้าที่กำหนดแล้ว ทำอะไรต่อ
คำตอบของผมคือ ทำได้ ๒แนว (๑) เกาะติดเป้าเดิมแต่ยกระดับให้สูงขึ้น หรือยากขึ้น (๒)ขยายสู่เป้าใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม แต่ไม่ทิ้งเป้าเดิม หมายความว่าเป้าใหม่ครอบคลุมเป้าเดิม
คำถามที่ ๔การกำหนดเป้าหมาย ต้องระบุเงื่อนเวลาหรือไม่
คำตอบคือต้องกำหนด และต้องไม่ลืมกำหนดเงื่อนเวลาเป็นอันขาด
คำถามที่ ๕ มีหลายเป้าได้ไหม
คำตอบคือไม่มีกติกาตายตัว แต่ต้องระวังไม่ตั้งเป้าหลายเป้าเปรอะไปหมดเพื่อเอาใจคนจากต่างหน่วยงาน วิธีเช่นนั้จะทำให้เกิดเป้าหมายแยกส่วน เป็นการส่งเสริมการทำงานแบบ ไซโล เป็นผลลบต่อการดำเนินการ KM
หัวใจของการตั้งเป้าคือต้องมีข้อมูล (information) เพื่อการตั้งเป้า
วิจารณ์ พานิช
๑๑ เม.ย. ๖๑
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand