คำนำ

หนังสือ สอนนอกกรอบ : ยุทธวิธีจับใจศิษย์

วิจารณ์ พานิช

..........

หนังสือ สอนนอกกรอบ : ยุทธวิธีจับใจศิษย์นี้ มาจากการรวบรวมบันทึกใน บล็อก www.gotoknow.org/councilจำนวน ๑๕ บันทึก ที่ผมลงบันทึกในช่วงวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๔ ถึงวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔ จากการตีความหนังสือ Teaching Outside the Box : How to Grab Your Students by Their Brains เขียนโดย LauAnne Johnson

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ ผมก็บอกตัวเองว่า ครู เลาแอนน์ จอห์นสัน เป็น “ครูเพื่อศิษย์ คนหนึ่ง ถ้อยคำในหนังสือเล่มนี้ สะท้อนวิญญาณครูออกมาอย่างชัดแจ้ง    เป็นครูที่ใคร่ครวญครุ่นคิด หาวิธีการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ศิษย์เรียนรู้ประสบผลสำเร็จ อยู่ตลอดเวลา    โดยเอาใจใส่และเข้าใจศิษย์เป็นรายคน

มองอีกมุมหนึ่ง เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เน้นหลักการและเทคนิคการเป็นครู นักสร้างแรงบันดาลใจ เห็นคุณค่า และความสามารถของตนเอง ให้แก่ศิษย์    ซึ่งเป็นการกระตุ้นพลังหรือศักยภาพ ที่มนุษย์ทุกคนมีอยู่แล้วภายในตน ให้ออกมาทำหน้าที่ เป็นพลังเพื่อการเรียนรู้ เอาชนะความยากลำบากได้

ชีวิตครูเป็นชีวิตที่ต้องทำงานหนัก หากตั้งใจเป็นครูที่ดี   แต่จะไม่หนักเกินไป หากรู้วิธีทำงานอย่างมีระบบ    คำแนะนำในหนังสือเล่มนี้ จะช่วยให้ครูเพื่อศิษย์ไทยได้แนวทาง เอามาทดลองฝึกฝน หรือเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง    เมื่อทำจนชำนาญ ครูทุกคนสามารถบรรลุสภาพครูสอนดี ได้อย่างแน่นอน   และจะยิ่งง่ายขึ้น หากครูรวมตัวกันเป็น ชุมชนเรียนรู้ ครูเพื่อศิษย์ - ชร. คศ. (Professional Learning Community - PLC) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีปฏิบัติหน้าที่ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑   เพื่อให้ศิษย์เรียนแบบลงมือทำ และบรรลุทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

สิ่งที่บอกชัดเจนในหนังสือเล่มนี้ คือ ชีวิตครูเป็นชีวิตที่ดี   เป็นชีวิตที่ได้รับผลตอบแทนเป็นความสุขทางใจสูงมาก จากความสำเร็จในชีวิตรุ่นแล้วรุ่นเล่า    ข้อความในตอนที่ ๔ เรื่อง ถ้อยคำที่ก้องอยู่ในหูเด็ก” เป็นตัวอย่าง    และผมเชื่อว่า ครูที่รักและเอาใจใส่ศิษย์ทุกคน จะมีประสบการณ์นี้ด้วยตนเอง

ข้อความทั้งหมดในหนังสือ สอนนอกกรอบ : ยุทธวิธีจับใจศิษย์นี้เคยรวบรวมพิมพ์ไปครั้งหนึ่งแล้วในหนังสือ วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งเป็นหนังสือยอดนิยมขายดีมาจนปัจจุบัน  และดาวน์โหลดได้ฟรี ที่  http://www.noppawan.sskru.ac.th/data/learn_c21.pdf

เมื่อสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ดำริจะจัดพิมพ์หนังสือ สอนนอกกรอบ : ยุทธวิธีจับใจศิษย์ เป็นเล่มแยกต่างหาก ออกเผยแพร่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นไปอีก ผมก็มีความยินดีและขออนุโมทนา ในกุศลเจตนานี้   และขอแนะนำว่า หลักการและวิธีการในหนังสือเล่มนี้จะแจ่มชัดยิ่งขึ้นเมื่อท่านนำไปทดลองปฏิบัติ และไตร่ตรองเพิ่มเติม ความรู้ความเข้าใจจากผลของการปฏิบัติ   ผมเชื่อว่า ท่านจะค้นพบหลักการและวิธีการเพิ่มขึ้นอีกเป็นอันมาก    และจะยิ่งง่ายขึ้น หากท่านทำเป็น ชร. คศ.

ตัวอย่างของ ชร. คศ. ไทย อ่านได้ที่ www.gotoknow.org/blog/krumaimai

 

 

 

วิจารณ์​ พานิช

๔ กันยายน ๒๕๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich