วันที่ ๑ ต.ค. ๕๖ ในการประชุม ปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ ๒๑ เรื่อง “มัธยมสายอาชีพ” หรือการศึกษาคู่ขนาน ผมรู้สึกชื่นใจ ที่ได้เห็นกิจกรรมที่วงการศึกษาริเริ่มกันขึ้น ในระดับพื้นที่ โดยไม่ได้มีการสั่งการจากเบื้องบน
การศึกษามัธยมปลายสายอาชีพนี้ อีกชื่อหนึ่งคือ หลักสูตรปวช. คู่ขนาน หรือระบบมัธยมสัมมาชีพ คือเรียนทั้งสายสามัญ และสายอาชีพคู่กันไป ในเวลา ๓ ปีสอบผ่านได้ทั้งวุฒิ ม. ๖ และ ปวช. เหมาะกับเด็กที่เรียนไม่เก่ง และต้องการเตรียมความพร้อมออกไปทำงาน
โรงเรียนที่มาเสนอในวันนี้คือ โรงเรียนสุรธรรมพิทักษ์ จ. นครราชสีมา จัดหลักสูตร ปวช. การท่องเที่ยวและการโรงแรมร่วมกับวิทยาลัยท่องเที่ยวและการโรงแรม และหลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสุรนารี ทั้งสองหลักสูตรจัดให้แก่นักเรียนสายศิลป์ภาษา ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเรียนไม่เก่ง น่าจะเน้นเรียนเพื่อประกอบอาชีพ ให้มีงานทำ
วิทยาลัยเทคนิคสุรนารีจัดหลักสูตร ปวช. คู่ขนานนี้ร่วมกับ ๗ โรงเรียน โดยอีกโรงเรียนหนึ่งก็มานำเสนอในวันนี้ด้วย คือ หนองบุนมากวิทยาคม หลักสูตรเทคนิคช่างไฟฟ้ากำลัง
หลักสูตรแบบนี้ ในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า Career Academies เป็นการเรียนเพื่อการมีงานทำ หรือมีสัมมาชีพ ไม่ใช่เพื่อปริญญา โดยปริญญานั้นหากอยากได้ ก็เรียนเอาทีหลังได้
จาก ข่าวนี้ ผมได้เรียนรู้ว่า มีโรงเรียนถึง ๔๖ แห่งแล้วที่มีหลักสูตรแบบนี้ หนึ่งในนั้นคือโรงเรียน วังม่วงวิทยาคม ที่ผมค้นเจอ น่าชื่นชมมาก
ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนมัธยม กับวิทยาลัยอาชีวะ หรือวิทยาลัยเทคนิคนี้ เป็น win - win – win เพราะช่วยแก้ปัญหาของทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายอาชีวะขาดนักเรียน ฝ่ายโรงเรียนมัธยมเด็กจำนวนหนึ่งเบื่อเรียน หรือเรียนสายสามัญไม่เก่ง หลักสูตรคู่ขนานจึงเป็นทางออก ช่วยให้นักเรียน win ด้วย
วิจารณ์ พานิช
๑ ต.ค. ๕๖