การประชุมคณะกรรมการดำเนินงาน แผนงานเครือข่ายงานวิจัยจากงานประจำ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๗ เมื่อเช้าวันที่ ๒๖ ก.๕๗ ที่ศิริราช มีกรรมการมาร่วมประชุมคับคั่ง กว่า ๒๐ คน การประชุมนี้มี รศนพเชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ เป็นประธาน    ผมเป็นที่ปรึกษา

ผมได้เห็นความคึกคัก ในการร่วมกันคิดดำเนินการเครือข่าย R2R ของประเทศไทย    ให้สนองสภาพการทำงาน ในบริบท ของผู้ทำงานระดับหน้างาน หรือผู้ทำงานประจำ (routineอย่างแท้จริง    เพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศ ให้การทำงานประจำไม่น่าเบื่อ แต่เป็นการทำงานที่มีโอกาสสร้างสรรค์ หรือพัฒนางานของตนให้มีคุณค่ายิ่งขึ้น

ในที่ประชุมวาระเรื่องการประกวดเพื่อให้รางวัลผลงาน R2R    มีการพิจารณาว่างานแบบไหนที่เข้าข่ายและไม่เข้าข่าย    โดยนำเอาเกณฑ์ที่ผมเคยเสนอไว้ ดังนี้ และผมได้เสนอในที่ประชุมว่า     ต้องไม่หลงลืมเป้าหมายหลักของการให้รางวัลผลงาน R2R ดีเด่น    ว่าเป็นกุศโลบายสร้างการจัดการความรู้ ในการทำ R2R   หรือเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการทำ R2R ที่ดี    ไม่ใช่เพื่อโอ้อวด ผลงานหรืออวดรางวัลแล้วจบ    เราเน้นให้รางวัลเพื่อปัญญา     ไม่ใช่รางวัลเพื่อโลภะ

ผมเสนอว่า ผลงานที่ได้จากการไปทำปริญญาโท (หรือเอก) ไม่น่าจะเข้าข่ายรางวัลนี้    เพราะไม่เป็นการทำงานวิจัยในสภาพ ของการทำงานประจำ     แต่ อ. หมออัครินทร์แย้งว่า น่าจะเข้าข่าย เพราะผลงานเอามาใช้ปรับปรุงงานประจำได้    แล้ว ดร. กระปุ๋ม ก็แย้งกลับ   แต่ผมไม่ได้อยู่ฟัง เพราะเลยเที่ยงแล้ว ผมต้องไปพูดที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เวลาบ่ายโมง

ผมกลับมาคิดต่อที่บ้านว่า    หากจะให้รางวัลงานวิจัยที่โจทย์มาจากงานประจำ แต่บริบทการทำวิจัยเป็นบริบทของ การทำวิทยานิพนธ์ น่าจะแยกประเภทออกมาต่างหาก    และการสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ก็จะเป็นคนละแนวทางกับ R2R ในบริบทที่แนบแน่นอยู่กับงานประจำ

การทำวิทยานิพนธ์ เพื่อปริญญา เป็นแนวทางพัฒนาบุคลากรแบบเน้นวิทยะฐานะทางปริญญา    ส่วน R2R เป็นแนวทางพัฒนาบุคลากรแบบเน้นพัฒนาสมรรถนะบนฐานของงานประจำ     เป็นคนละฐาน    ฐานพัฒนาคนด้วยงาน เป็นฐานที่เปราะบางในสังคมไทย    ซึ่งเป็นสังคมบ้าปริญญา    เราควรช่วยกันหาทางยกย่องความเก่งของแท้    ระมัดระวัง ไม่ยกย่องปริญญาแบบปลอมๆ    ไม่ยกย่องคนที่มีแต่ปริญญา แต่ทำงานไม่เป็น    หรือมีแต่วิทยะฐานะ ไม่มีสมรรถนะ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.พ. ๕๗

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย