Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

เทคนิคการปรับพฤติกรรมลูกน้อง

พิมพ์ PDF

เทคนิคการปรับพฤติกรรมลูกน้อง

 

 

ในบางครั้งหัวหน้างานหลายต่อหลายคนอาจจะประสบปัญหา เหนื่อยใจ กับลูกน้องที่ตนต้องดูแลรับผิดชอบ เหตุเพราะหัวหน้างานจะต้องเผชิญกับลูกน้องที่แสดงออกด้วยพฤติกรรมในแบบฉบับที่แตกต่างกันไป บางคนก้าวร้าวไม่ยอมทำตาม ชอบท้าทายและพิสูจน์ กึ๊น ของหัวหน้างาน ลูกน้องบางคนเอาแต่เล่น MSN หรือ Chat ทั้งวัน ไม่ใส่ใจในงานที่รับผิดชอบ หรือบางคนชอบพูดจาซุบซิบนินทาหัวหน้างาน ชอบให้ร้ายหรือว่าร้ายหัวหน้างานกับคนอื่น

               อลิสว่าหัวหน้างานต้องเจอะเจอกับลูกน้องจำพวกนี้ไม่มากก็น้อย เพื่อนอลิสบางคนเจอลูกน้องที่ชอบลองภูมิหัวหน้างาน ดูว่าหัวหน้าจะเก่งแค่ไหน ไม่ยอมให้ข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่ถูกบ้างผิดบ้าง คุณรู้ไหมค่ะว่า เกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนของอลิสคนนี้ ในที่สุดเขาลาออกจากงานไป เพราะทนปกครองลูกน้องจำพวกนี้ไม่ได้

               อลิสคิดว่าการลาออกไม่ใช่หนทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด ทางเลือกมีอยู่มากมายค่ะ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เองถือได้ว่าเป็นสิ่งเร้าที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดหัวหน้างานมีพฤติกรรมการตอบสนองหรือตอบรับที่แตกต่างกันออกไป การตอบสนองที่ดีมิใช่การหลีกหนี หลีกเลี่ยง กลัว ไม่กล้าที่จะเผชิญกับสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น ความรู้สึกเหนื่อยใจจนถอนตัวออกจากองค์การนั้น ๆ ไป ถือว่าคุณกำลังจะเป็น ผู้แพ้ที่ยังไม่ลองสู้ (กันสักตั้ง) เอาแบบสุด ๆ ไปเลย เมื่อคุณเจอกับพฤติกรรมของลูกน้องที่ไม่ได้ดังใจหรือไม่เป็นไปตามที่ใจปรารถนา อลิสขอให้คุณอดทนและพยายามหาเทคนิควิธีการบริหารจัดการกับพฤติกรรมของลูกน้องที่ทำให้หัวหน้างานต้องเหนื่อยใจให้ได้ อลิสมีเทคนิคง่าย ๆ ลองไปใช้ปฏิบัติกัน ดังต่อไปนี้ค่ะ

รู้จักลูกน้องให้ดีพอ คุณต้องถามตนเองก่อนว่าได้รู้จักลูกน้องคนนั้นพอหรือไม่ เคยเข้าไปสอบถามความต้องการหรือสิ่งที่ลูกน้องคาดหวังบ้างหรือไม่ คุณรู้หรือไม่ว่าลักษณะนิสัยของลูกน้องแต่ละคนเป็นอย่างไร การที่หัวหน้างานมี ego สูงที่คิดว่าตนเองเป็นหัวหน้างานแล้ว ลูกน้องต้องเคารพและต้องเข้าหาตนเองก่อน คิดผิดถนัดค่ะ การเริ่มต้นเข้าไปพูดคุยกับพวกเขา ถามไถ่ทุกข์สุข และการพยายามศึกษานิสัยที่แท้จริงของลูกน้อง รวมถึงสาเหตุหรือที่มาของนิสัยและพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของลูกน้องแต่ละคน เป็นสิ่งที่หัวหน้างานควรกระทำเป็นอย่างยิ่งค่ะ

แสดงผลงานให้ยอมรับ จงพยายามเร่งสร้างผลงานให้ลูกน้องยอมรับในตัวคุณ เพราะผลงานที่ถูกยอมรับจะช่วยให้ลูกน้องเคารพและศรัทธาในตัวคุณได้ หากคุณไม่มีผลงานหรือแสดงพฤติกรรมตามแบบที่ลูกน้องคิดไว้ โดยไม่เคยแสดงกึ้นให้ลูกน้องรับรู้เลย แน่นอนว่าพวกเขาจะปฏิเสธและยอมรับฟังในสิ่งที่คุณต้องการให้พวกเขาไปปฏิบัติ

สร้างบารมีเพื่อผูกมิตรสัมพันธ์ หากคุณเจอกับลูกน้องที่ทำให้ต้องเหนื่อยใจมาก ๆ การสร้างบารมีเป็นสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง บารมีมิใช่กฎระเบียบ ข้อบังคับที่นำมาใช้เพื่อลงโทษเมื่อลูกน้องไม่ทำตามคำสั่งที่คุณมอบหมาย แต่บารมีนั้นเป็นการผูกจิต ผูกใจให้ลูกน้องรัก และอยากทำงานให้กับหัวหน้างาน แบบว่าถวายหัว เอาเลยก็ว่าได้ เทคนิคการสร้างบารมีนั้นง่ายมาก นั่นคือพยายามหาวิธีการตีสนิทกับลูกน้อง ไม่ว่าจะเป็นด้วยการพูดหรือการกระทำ

ให้มองทางบวก เมื่อคุณพยามปรับพฤติกรรมเท่าไหร่ ลูกน้องก็ยังซุบซิบนินทาคุณอยู่เหมือนเดิม หรือยังไม่ชอบหน้าคุณขึ้นมาเลย อลิสแนะนำว่าคุณไม่ต้องไปใส่ใจอะไรหรอกนะคะ ต้องยอมรับค่ะว่าพฤติกรรมคนยากแท้หยั่งถึง คนเรานานาจิตตัง ถ้าเราปรับเขาให้ยอมรับและปฏิบัติตามในสิ่งที่คุณเองมอบหมายให้ไม่ได้ ง่ายนิดเดียวค่ะ ก็ปรับความคิดของตนเองแล้วกัน ไม่ต้องไปโกรธ หรือถือโทษ ต่อว่าลูกน้องคนนั้น ต้องคิดเสมอว่า เจอลูกน้องแบบนี้บ้าง ท้าทายดีเหมือนกัน คุณอย่าเพิ่งถอนตัวไปซะก่อน การลาออกไม่ใช่วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีสุด แต่การเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าที่ท้าทายนี้ เป็นการทางออกหรือทางเลือกที่คุณควรทำ

ดังนั้น การปรับพฤติกรรมของลูกน้องจึงเป็นเรื่องที่ไม่ยากและไม่ง่ายนักสำหรับผู้บริหาร หรือผู้จัดการที่ต้องปกครองดูแลลูกน้อง หัวหน้างานที่ดีไม่ควรละเลยที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกน้องเพื่อให้ลูกน้องยอมรับ ศรัทธา และให้ใจพร้อมที่จะช่วยเหลือภาระงานต่าง ๆ ของหัวหน้างาน

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 13 กันยายน 2011 เวลา 22:48 น.
 

ทำอย่างไรให้พนักงานรักองค์กร

อีเมล พิมพ์ PDF

{jcomments on}ทำอย่างไรให้พนักงานรักองค์กร

 

 

เมื่อวันก่อนอลิสได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่ง ท่านบอกดิฉันว่าท่านอยากจะให้พนักงานในหน่วยงานของท่านรักองค์กรให้มาก ๆ ยิ่งถ้าเกิดจิตสำนึกในความเป็นเจ้าขององค์กร (Sense of Belongings) ได้ยิ่งดี ทำเอาอลิสคิดหนักว่าจะแก้โจทย์ที่ท้าทายของท่านได้อย่างไร

อลิสคิดว่าถ้าอยากให้ใครรักเรา ชื่นชอบเรา และทำดีกับเรา เราก็ควรทำสิ่งนั้นกับเขาก่อนตามหลักคำสอนของพระเยซู ที่เน้นเรื่องการให้มาก “จงให้ก่อน แล้วท่านจะได้” อลิสมีความเชื่อในเรื่อง “ ความรักกับการให้” มากค่ะ การที่คุณจะให้อะไรกับใคร อลิสอยากจะให้คุณเติมเต็มความรักเข้าไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าจะให้ ต้องรู้ว่าสิ่งที่ให้นั้นเขารัก เขาชอบในสิ่งที่เราพยายามจะให้หรือไม่
ดังนั้นการที่คุณอยากจะให้พนักงานรักองค์กร ขอให้เริ่มจากการให้ก่อนเลยค่ะว่า คุณได้ให้ในสิ่งที่พนักงานต้องการหรือไม่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องถึงขนาดทำการสำรวจพนักงานทุกคนในองค์กรหรือถึงขนาดว่าจ้างที่ปรึกษาว่าพนักงานของคุณมีความพอใจกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีมากน้อยแค่ไหน  อลิสขอแนะนำให้คุณใช้หลักการจัดการที่ดีสำหรับผู้บริหารก็คือ “Walk Around Management” หมายถึง การให้ความใกล้ชิด การดูแลเอาใจใส่พนักงาน ด้วยการพูดคุยหรือสังเกตความรู้สึกของพนักงาน การที่คุยพูดคุยกับพนักงานของคุณมากขึ้นด้วยใจที่เต็มเปี่ยมพร้อมที่จะให้ มิใช่การจ้องจับผิด อลิสมีความเชื่อว่าความรู้สึกเช่นนั้นจะส่งผลต่อไปยังการรับรู้ของพนักงานของคุณ ..... ของแบบนี้รับรู้กันได้โดยผ่านทางกระแสจิตค่ะ
แนวคิด Walk Around Management เป็นแนวคิดหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดบรรยากาศการทำงานที่ดี มีความรู้สึกเป็นกันเอง ตัดช่องว่างระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องไป มีเพียงความเป็นพี่น้อง ความเป็นเพื่อน พร้อมที่จะช่วยเหลือกันและกัน นอกจากนี้อลิส ขอแนะนำหลักปฏิบัติต่าง ๆ ในการสร้างบรรยากาศของความเป็นมิตร เช่น
หากิจกรรมทำร่วมกัน – ขอให้เป็นกิจกรรมที่ยกระดับจิตใจค่ะ ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิ อลิสคิดว่าการพาพนักงานเข้าวัด ฟังธรรม หรือนั่งสมาธิ โดยมีหัวหน้างานเป็นผู้นำทีม ซึ่งคุณไม่จำเป็นจะต้องใช้เวลาหยุดเสาร์อาทิตย์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ คุณสามารถเลือกใช้วันทำงานเพื่อร่วมกิจกรรมเหล่านี้กับพนักงาน ทำให้เขารู้สึกว่าวัน ๆ คุณไม่ได้มุ่งแต่จะให้พวกเขาทำแต่งานอย่างเดียว แต่คุณได้ใส่ใจกับสภาพจิตใจและความรู้สึกของพวกเขาด้วยเช่นกัน
ถามไถ่เรื่องส่วนตัวของพนักงานบ้าง– คุณหาเวลาสงบ ๆ นั่งคิดว่า คุณรู้เรื่องส่วนตัวของพนักงานมากน้อยแค่ไหน เช่น เขาอยากจะทำอะไรในอนาคต เขาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ซึ่งคุณเองไม่จำเป็นจะต้องรู้ในรายละเอียดแบบลงลึกก็ได้ เพราะข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้จะทำให้คุณเกิดความเข้าใจพวกเขา บางครั้งพฤติกรรมที่พวกเขาแสดงออกกับคุณในทางที่ไม่ดีอาจเป็นเพราะปัญหาส่วนตัวของพวกเขา ซึ่งถ้าคุณมีโอกาสได้รับรู้ คุณอาจจะเป็นบุคคลหนึ่งที่ทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจ ..... จิตที่สบาย จะส่งผลให้พฤติกรรมการทำงานดีขึ้นค่ะ
สรรหาคำพูดเชิงบวก –  มีคำพูดมากมายเพื่อให้กำลังใจพนักงาน เมื่อพนักงานทำผิด คุณไม่ควรซ้ำเติม หรือตอกย้ำความผิดนั้น คุณสามารถใช้คำพูดเพื่อทำให้พนักงานรู้สึกดี เช่น “ก็ยังดีนะ”  “ไม่ต้องคิดมา’  “เพียงแค่นี้เอง”  และในระหว่างที่คุณพูด คุณสามารถใช้การสัมผัสด้วยมือ หรือด้วยตา ควบคู่ไปกับการพูดด้วยได้เช่นกัน เช่น ตบไหล่เบา  ๆ หรือมองตาพนักงานเพื่อแสดงว่าคุณเข้าใจและรับรู้ในความรู้สึกของลูกน้อง........ของแบบนี้ต้องลองทำนะคะ แล้วคุณจะรู้ว่าคุณเองก็ทำได้
คำแนะนำเหล่านี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อช่วยทำให้พนักงานรักองค์กร อยากจะทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจเพื่อสร้างผลงานดี ๆ ให้กับองค์กร ...... เห็นไหมค่ะว่า คุณในฐานะของหัวหน้างานสามารถเป็นหนึ่งในบุคคลที่ทำให้พนักงานรักองค์กรได้เช่นกัน

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม 2013 เวลา 13:38 น.
 

สร้างครูให้เป็นครูฝึก : ตอนที่ ๖ ผลที่เกินคาด

พิมพ์ PDF

หลังจากคุณครูเล็ก – ณัฐทิพย์ ได้ทำวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูระดับชั้น ๕ มาสักระยะ  วงก็เริ่มพูดถึงปัญหาการติดตามงานค้างส่งว่าเป็นเรื่องลำบากใจ  นอกจากนี้อีกไม่นานก็ยังจะต้องพานักเรียนไปเรียนรู้ภาคสนามที่ต้องมีการทำบันทึกสมุดภาคสนามอีกชุดใหญ่  คุณครูจึงเริ่มกังวลใจว่าถ้านักเรียนคนไหนไม่ชอบบันทึกความรู้ เมื่อกลับมาจากภาคสนามก็ต้องมาตามงานการเขียนบันทึกสมุดภาคสนามอีก

เมื่อครูเล็กได้ฟังปัญหาของครูแล้วก็ได้นำเรื่องนี้มาคิดทบทวน รวมถึงได้พูดคุยปรึกษากับคุณครูใหม่ ...แล้วก็เกิดความคิดดีๆ ในการนำกระบวนการ KM ไปสร้างการเรียนรู้และการสรุปความรู้ในช่วงภาคสนาม เพื่อเติมความรู้ที่ตกหล่นไปให้ครบถ้วนในขณะที่อยู่ภาคสนาม และยังช่วยลดภาระของครูในการติดตามงานค้างได้เป็นอย่างดี

KM ในงานภาคสนาม

ในระหว่างการประชุมวางแผนกิจกรรมภาคสนาม เรื่อง “เกษตรรักดิน” ที่มีเป้าหมายให้นักเรียนได้ศึกษาลักษณะดินต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการสัมภาษณ์ปราชญ์ชาวบ้านที่ทำการเกษตรในรูปแบบที่มุ่งไปสู่การใช้พื้นดินอย่างยั่งยืน ฉันได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวคิดกับคุณครูชั้น ๕ ในการนำกระบวนการ KM มาใช้ประมวลความรู้ในคืนวันแรกของการออกภาคสนาม เพื่อเก็บความรู้ด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ที่ได้จากปราชญ์ชาวบ้านรวมถึงการทดสอบดินในพื้นที่ต่างๆ

 

กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในวันพฤหัสบดีที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๒๐.๐๐ น. ณ ลาวัลย์ รีสอร์ท  อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นช่วงเวลาในการทำกิจกรรม KMฉันรวมเด็กๆ ทั้งหมดด้วยการปรับมือ ๗ จังหวะ เพื่อเรียกสติให้มีความพร้อมก่อนทำกิจกรรม

ฉันเริ่มกิจกรรมด้วยการให้ทุกคนเลือกปราชญ์ชาวบ้านที่ทุกคนไปพบและสัมภาษณ์มาในวันนี้มาคนละ ๑ ท่านจาก ๓ ท่าน

หลังจากเลือกแล้ว ก็ยังมีสมาชิกบางคนที่ยังไม่รู้ว่าตนเองจะเลือกปราชญ์ชาวบ้านท่านใด ฉันจึงให้ตรวจดูสมุดภาคสนามของตนเอง เพื่อตรวจหาว่าพวกเขายังมีข้อมูลของปราชญ์ชาวบ้านท่านไหนยังมีข้อมูลน้อยและอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากเพื่อน ด้วยเงื่อนไขนี้ฉันจึงได้สมาชิกมาอีก ๓ กลุ่ม

ต่อจากนั้น ฉันจึงนำกลุ่มเด็กที่สนใจในปราชญ์ชาวบ้านมารวมกับกลุ่มเด็กที่ยังมีข้อมูลของปราชญ์ชาวบ้านท่านนั้นน้อยอยู่มารวมกัน สุดท้ายแล้วก็มีกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งหมด ๖ กลุ่ม ต่อจากนั้นก็ให้คุณครูเข้ามาอยู่ประจำกลุ่มเพื่อทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย แต่ละกลุ่มจะมี talking stick ให้คนที่พร้อมจะพูด ถือไว้ในมือ  ส่วนคนที่ไม่มี talking stick ก็ต้องตั้งใจฟังในสิ่งที่เพื่อนแลกเปลี่ยน และจดบันทึกเรื่องราวที่ได้ฟังลงจากเพื่อนในสมุดภาคสนาม  กติกานี้ช่วยให้ผู้เรียนจดจ่ออยู่กับเรื่องราว และพร้อมเรียนรู้มากขึ้นมาก

นอกจากนั้น ยังให้โอกาสเด็กๆ ที่ไม่ค่อยมีข้อมูลได้เลือกถามข้อมูลด้วยการเลือกถามเพื่อนคนไหนก็ได้ สิ่งที่ฉันสังเกตพบคือ เด็กๆ ที่ไม่มีข้อมูลดูจะกระตือรือร้นที่จะถามเป็นพิเศษ เพราะสิ่งที่เพื่อนตอบมาเขาสามารถจดบันทึกลงในสมุดภาคสนาม เพื่อให้สมุดภาคสนามมีข้อมูลที่ครบถ้วนขึ้น บางครั้งที่ตนเองจดไม่ทันก็บอกให้เพื่อนรอ ซึ่งเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ก็จะรอให้จดเสร็จ แล้วจึงแลกเปลี่ยนกันต่อไป

ผลที่เกินคาด

จากกิจกรรม KM นี้ ฉันยังพบอีกว่า เด็กบางคนในตอนแรกไม่มีข้อมูลเลย หน้ากระดาษว่างเปล่า แต่หลังจบกิจกรรม เขามีข้อมูลมากขึ้น ส่วนเด็กบางคนแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ดีมาก ทั้งๆ ที่ในสมุดภาคสนามไม่มีข้อมูลเลย ทำให้ฉันรู้ว่า เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ด้วยการฟังและการพูด ไม่ถนัดในการเขียนบันทึก แต่กิจกรรมนี้ก็ช่วยทำให้เด็กกลุ่มนี้เขียนบันทึกได้มากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น ฉันจึงคิดว่ากิจกรรม KM นี้ ก็ถือเป็นตัวช่วยให้เด็กๆ ไม่ต้องกลับไปติดตามงานค้างหลังจากจบภาคสนามเพราะพวกเขาสามารถจัดการกับความรู้ที่กระจัดกระจายอยู่แล้ว ที่สำคัญทำให้คุณครูได้เห็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างตั้งใจ แต่มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายของเด็กๆ ทุกคน

หลังจากจบกิจกรรม ในเวลา ๒๒.๐๐ น. คระคุณครูชั้น ๕ มารวมตัวกันเพื่อทำ AAR (After Action Review) ของภาคสนามในวันแรก คำถามที่ฉันตั้งไว้กับคุณครูทุกคน คือ อะไรที่เกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อะไรที่ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้?

ครูเรียนรู้การเรียนรู้ของเด็ก

คุณครู ๗ ใน ๘ คน สะท้อนตรงกันว่า กิจกรรม “KM” ที่ให้เด็กๆ แลกเปลี่ยนสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้น ได้ผลเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้

คุณครูเปี๊ยก วิสิทธิ์ สะท้อนว่าในช่วงทำกิจกรรม KM เห็นอาการที่เด็กๆ อยากแลกเปลี่ยนความรู้ คนที่พูดก็มีความตั้งใจ และเต็มใจที่จะบอกเล่าว่าตนเองได้เรียนรู้อะไรบ้าง ส่วนคนฟังก็สนใจดี ทำให้เห็นพลังของวง KM อย่างมาก ไม่คิดว่าเด็กจะมีความตั้งใจในการแลกปลี่ยนความรู้กันถึงขนาดนี้

คุณครูน้ำหวาน - ศิรินันท์ สะท้อนในเรื่องบรรยากาศว่า ในกลุ่มของคุณครูน้ำหวานเอง เห็นบรรยากาศที่เด็กๆ อยากแลกเปลี่ยนสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้ให้กับเพื่อนๆ ดูเด็กทุกๆ คน มีความกระตือรือร้นที่จะแลกเปลี่ยน คุณครูน้ำหวานเสริมอีกว่า ในตอนแรกที่ได้ฟังกระบวนการนี้ตอนประชุมก่อนมาภาคสนาม บอกตามตรง ตนเองยังมองไม่เห็นภาพว่าถ้าให้เด็กๆ ทำกิจกรรม KM แล้ว จะออกมาเป็นอย่างไร พอมาถึงตอนนี้ ก็ชัดเจนขึ้นและรู้ว่า เด็กๆ ก็สามารถทำ KM ได้เหมือนกับที่คุณครูทำ ที่สำคัญมีความกระตือรือร้นที่จะทำด้วย

คุณครูเจน – ญาณิสา ก็สะท้อนว่ากิจกรรม “KM” เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้กระจายข้อมูลให้กันและกัน เหมือนเป็นระบบเพื่อนช่วยเพื่อน ที่สำคัญถือเป็นช่วงเวลาที่ได้ตรวจเช็คข้อมูลกัน เช่น เวลาที่เพื่อนแลกเปลี่ยนข้อมูล และไม่ตรงกัน ก็มีการพูดคุยและหาว่า ข้อมูลอะไรที่ถูกต้อง

คุณครูหญิง - ขวัญทิพย์ สะท้อนเช่นกันว่า เห็นความใส่ใจของเด็กๆ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สังเกตเห็นว่าในวง KM จะมีเด็กที่ตั้งคำถามให้กับเพื่อนตอบ เวลาที่เพื่อนคนหนึ่งตอบแล้วยังไม่ครบถ้วน ก็จะมีเพื่อนๆ คนอื่นเสริมขึ้น เพื่อให้รายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น

คุณครูเก๋ - ศิริพร สะท้อนว่า ก่อนที่จะทำรู้สึกว่า ทำวง KM กับเด็กๆ ยากมาก ไม่น่าจะทำได้ คิดว่าเด็กๆ จะต้องคุยเล่น และไม่ใส่ใจ แต่พอทำจริงๆ กลับเห็นการแลกเปลี่ยนของเด็กๆ เวลาเพื่อนตั้งคำถาม ที่ตัวเองจดบันทึกไว้ไม่ทัน ก็จะมีเด็กหลายๆ คน ช่วยกันตอบ

คุณครูขม - รัตนาพร สะท้อนว่า รู้สึกดีมากๆ กับวง KM ที่ทำกับเด็กๆ ในระหว่างทำเห็นเด็กบางคน ที่เวลาอยู่ในห้องเรียน ไม่เคยแลกเปลี่ยนเลย แต่มาในวงนี้เห็นการแลกเปลี่ยนของเขา อาจแป็นเพราะบรรยากาศที่ผ่อนคลาย และทุกคนก็สนุกกับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เมื่อคุณครูเล็กบอกกับเด็กๆว่าหมดเวลาในการแลกเปลี่ยนแล้ว หลายๆ คนก็พูดขึ้นว่าขึ้นว่า “ยังอยากแลกเปลี่ยนกันต่อ แล้วยังขอให้คุณครูขมจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนอย่างนี้ให้กับพวกเขาด้วยในห้องเรียนวิชามานุษและสังคมศึกษาด้วย”

คุณครูอุ้ย-ปัณณฑัตน์ สะท้อนเช่นกันว่า KM เป็นกิจกรรมที่ให้ผลเกินกว่าที่คาดไว้ คิดคล้ายๆ คุณครูเก๋ ว่าเด็กจะทำได้จริงหรือ แต่พอทำจริงๆ ก็พิสูจน์ว่า เด็กๆ ก็มีสิ่งที่ได้เรียนรู้ และอยากที่จะเป็นผู้เล่า หรือบอกให้เพื่อนๆ รู้ว่า ตนเองรู้อะไรมาบ้าง

ส่วนเรื่องที่คุณครูมองว่าต่ำกว่าเป้าหมาย ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาในเรื่องของการจัดการ ดังนั้น คุณครูทุกคนจึงมาช่วยกันคิดว่าพรุ่งนี้มีอะไรบ้างที่ควรจัดปรับกัน

พวกเราปิดวงประชุม AAR (After Action Review) ด้วยการสงบนิ่งสักพัก แล้วจึงแยกย้ายกันเข้านอนในเวลา ๒๓.๓๐ น. เพื่อพักผ่อนเอาแรงไว้สำหรับในวันรุ่งขึ้น

ก่อนนอนในคืนนั้น ฉันก็รู้สึกดีใจอยู่ลึกๆ ว่า KM ที่ได้เริ่มทำกับคุณครูมันชักจะเข้าท่าเสียแล้ว เพราะไม่ได้แค่คุณครูเท่านั้นที่ได้รู้จัก แต่เด็กๆ ชั้น ๕ ก็เริ่มรู้จัก KM แล้ว ฉันหวังว่า เมื่อทุกๆ คนได้รู้จักกับ KM จริงๆ แล้ว จะต้องหลงรักในพลังของ KM เป็นแน่แท้ ที่สำคัญฉันมีแผนการที่จะผลักดันกระบวนการ KM ไปใช้ในกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ในช่วงประมวลสรุปความรู้หลังภาคสนามต่อไปด้วย

ครูเล็ก - ณัฐทิพย์   วิทยาภรณ์ บันทึก

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย วิมลศรี ศุษิลวรณ์

แก้ไขล่าสุด ใน วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2013 เวลา 12:03 น.
 

KM วันละคำ : ๖๑๐. การจัดการความรู้ ก้าวข้ามสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

พิมพ์ PDF
การจัดการความรู้ ก้าวข้ามสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

 

ผมได้รับเชิญไปพูดต่อที่ประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง  การจัดการความรู้ ก้าวข้ามสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

 

จึงนำ narrated ppt มา ลปรร. ที่นี่

 

ขอหมายเหตุว่า ผมทำผิดพลาดที่สไลด์ SECI Model ทำให้เสียงหายไปในช่วงอธิบายรายละเอียดของ SECI Model

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ย. ๕๖

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/551625

ขอแนะนำให้ Download เอกสารนำเสนอของอาจารย์โดยกด "ที่นี่" แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ให้ กด link ข้างบนเพื่อเข้าไปที่บันทึกของอาจารย์โดยตรง เพื่อ Download เอกสาร รับรองว่าเป็นเอกสารที่ดีมากครับ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

 

สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๔. การยอมรับ (๑) จากตัวกูของกู สู่โลกกว้าง

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21stCentury เขียนโดย Annie Fox, M.Ed. 

ตอนที่ ๑๔นี้ ตีความจากบทที่ ๗How About Me?! Seeing Beyond Likes and Dislikes to the Bigger Picture    โดยที่ในบทที่ ๗มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๑๔จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒     และในบันทึกที่ ๑๕จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔

บทที่ ๗ ทั้งบท ของหนังสือ เป็นเรื่อง การสอนเด็กให้เป็นคนดีโดยขยายความสนใจจากตัวเอง และเรื่องใกล้ตัว ไปสู่โลกกว้าง    ให้เข้าใจว่าในโลกนี้ยังมีคนอื่น สิ่งอื่นอีกมากมาย   ที่เด็กจะต้องทำความรู้จักและมีความสัมพันธ์ที่ดี   คนอื่นเหล่านี้ต่างก็มีชีวิตเลือดเนื้อและความต้องการของเขา    การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน    เป็นการปูพื้นฐานไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตที่ดี  หรือเป็นคนดี

ตอนแรก อย่าบ่น จงทำให้ดีขึ้น เป็นการฝึกเด็กให้เป็นคนมองโลกแง่บวกนั่นเอง    การบ่น เป็นการอยู่กับท่าทีเชิงลบ    แต่เมื่อเราพบสิ่งที่ยังไม่พอใจ เราเข้าไปลงมือทำให้ดีขึ้น เท่ากับเป็นการใช้ท่าทีเชิงบวก   หากพ่อแม่/ครู ปฏิบัติเป็นตัวอย่าง   เด็กก็จะได้เรียนรู้ และได้นิสัยดีติดตัวไป    การมีนิสัยลงมือทำโดยไม่บ่น ทำให้สิ่งต่างๆ รอบตัวดีขึ้น   เป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นคนดี คนมีประโยชน์ต่อสังคม

นั่นคือ เมื่อไม่พอใจพฤติกรรมใดๆ ของเด็ก   จงอย่าบ่นว่า แต่ให้ชวนทำสิ่งที่จะแก้ไขพฤติกรรมไม่ดีนั้น   และเมื่อการลงมือทำนั้นก่อผลดี จงชม ชมโดยอธิบายว่าสิ่งนั้นดีอย่างไร    จะเป็นคุณต่อชีวิตในอนาคตของเด็กอย่างไร   หากรู้เป้าหมายในชีวิตหรือความใฝ่ฝันของเด็ก จงเชื่อมโยงว่าการทำสิ่งดีนั้นจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่เด็กใฝ่ฝันอย่างไร

ผมมองว่า การดุด่าว่ากล่าวเด็ก เป็นการส่งสัญญาณความเห็นแก่ตัวของผู้ใหญ่    แต่แทนที่จะดุด่าว่ากล่าว เราใช้วิธีชวนเด็กลงมือทำ (เด็กชอบทำอยู่แล้วโดยธรรมชาติ) และบรรลุความสำเร็จที่เด็กภูมิใจ   แล้วผู้ใหญ่ชวนเด็กไตร่ตรองทบทวนว่าการฝึกทำสิ่งนั้นมีคุณค่าต่อเด็กในปัจจุบัน และในอนาคต อย่างไร   กิจกรรมทั้งหมดนั้นเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้ใหญ่มีความรักและให้ความสำคัญต่อตัวเด็ก   ในกระบวนการนี้ ผู้ใหญ่สามารถชี้ชวนให้เด็กลองเปรียบเทียบระหว่างพฤติกรรมเดิม (ที่ไม่ดี แต่ผู้ใหญ่ไม่บ่นว่า หรือดุด่าว่ากล่าว) กับกิจกรรมใหม่ ว่าแตกต่างกันอย่างไร   อันไหนมีคุณต่อตัวเด็กมากกว่า

ผู้ใหญ่ยกตัวอย่างวิธีฝึกเด็กด้วยการลงมือทำ ไม่บ่นว่า    ว่าเมื่อลูกวัยรุ่นมาขอเบิกเงินค่าโทรศัพท์มือถือราคา ๑,๐๐๐ เหรียญ (ซึ่งเป็นของแพงที่เด็กที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตนเองไม่ควรซื้อใช้)   พ่อแม่บอกว่าการซื้อของราคาแพงเช่นนี้พ่อแม่รับไม่ได้ ลูกต้องจ่ายเอง  จบ   ไม่มีการดุด่าว่ากล่าว มีแต่การกระทำ คือไม่จ่าย เด็กต้องจ่ายเอง

ข้อความในบทนี้ทำให้ผมนึกถึง Transformative Learning   ซึ่งหมายถึง (๑) การเรียนรู้แบบเปลี่ยนแปลงจากภายในตน  (๒) การเรียนรู้ฝึกฝนเป็นคนที่มีภาวะผู้นำ  คือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (change agent)   ซึ่งก็คือผู้ลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง    ไม่ใช่ผู้เฝ้าแต่พร่ำบ่น    ในคติยิว เขาสอนว่า คนทุกคนต้องออกไปทำสิ่งที่ไม่ใช่งานประจำ  “เพื่อซ่อมแซมโลกให้ดีขึ้น”

คนดีคือคนที่ลงมือทำ เพื่อช่วยให้โลกดีขึ้น

ผู้เขียนแนะนำให้พ่อแม่คุยกับลูก และร่วมกันประเมินบรรยากาศภายในบ้าน (อย่าระบุว่าใครทำ) มีการบ่นว่า กับการลงมือทำให้ดีขึ้น มากน้อยแค่ไหน   สถานการณ์ดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร   บอกลูกให้ “เปิดเทป” เสียงบ่นของพ่อแม่    และช่วยกันหาวิธีทำให้เสียงบ่นลดลง    และติดตามผลเป็นรายสัปดาห์    แทนที่ด้วยการช่วยกันลงมือทำเพื้อแก้ไขสิ่งที่ไม่พึงประสงค์    ซึ่งผมคิดว่าวิธีนี้น่าจะใช้ในโรงเรียนได้ด้วย

คำถามจากครูของลูกผู้เขียน “ลูกชายอายุ ๑๒ ไปอยู่กับยายและตาสองสามวันพร้อมกับลูกพี่ลูกน้องหลายคน   ลูกชายคร่ำครวญว่ายายรักหลานคนอื่นมากกว่า    ยายบอกว่าลูกพี่ลูกน้องขออ่านหนังสือของลูกชาย   และยายบอกให้ลูกชายให้พี่ๆ น้องๆ อ่าน   ว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร   ลูกชายขอให้ไปรับกลับก่อนกำหนด   แต่ตนคิดว่าควรให้โอกาสลูกได้แก้ปัญหา และเป็นโอกาสของการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่   ตนเป็นห่วงว่า ลูกชายมักคิดว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อ”

คำตอบของผู้เขียน “ที่จริงเรื่องแบบนี้เป็นของธรรมดาสำหรับเด็ก   แต่ที่สะกิดใจคือ คุณบอกว่า ลูกชายชอบคิดว่าตนตกเป็นเหยื่อ   คำถามคือ ที่บ้านและที่โรงเรียน ลูกชายทำตัวเป็นเหยื่อหรือเปล่า”

คำถามรอบสองจากแม่ “เห็นพฤติกรรมเป็นเหยื่อทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน   ที่บ้านเขาโทษแม่ ว่าทำให้ตนไม่มีกางเกงขาสั้นที่ซักแล้วใช้   ทั้งๆ ที่เขารับผิดชอบการซักผ้าของตนเองทั้งหมด   ที่โรงเรียนเขาโทษครู ว่าทำให้การบ้านของเขาหาย   ฉันได้พยายามอธิบายให้เขารับผิดชอบกิจกรรม/พฤติกรรมของตัวเอง”

คำตอบของผู้เขียน “เด็กมักเลียนแบบผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลที่บ้าน    หากเห็นว่าพฤติกรรมของผู้ใหญ่ช่วยขจัดอุปสรรคในชีวิตไปได้    ถ้าพ่อแม่โทษกันไปโทษกันมา    นั่นคือที่มาของพฤติกรรมของลูก”

รอบสามจากแม่ “สามีที่หย่ากันไปแล้วชอบโทษความท้าทายในชีวิต ว่าเกิดจากปัจจัยภายนอก แทนที่จะสำรวจและปรับปรุงตนเอง    ตอนลูกชายยังเล็ก ครั้งหนึ่งลูกหัวไปโขกประตู   พ่อของเขาปลอบลูก และกล่าวว่า ประตูเลวมาก    เร็วๆ นี้ลูกทะเลาะกับเพื่อนผู้หญิง และพ่อของเขาเข้าไปว่าเด็กผู้หญิงว่าพ่อแม่ไม่สั่งสอน   แต่เมื่อตนเองคุยกับลูกชาย เขาก็ยอมรับว่าเขามีส่วนผิดในการวิวาทนั้น   ไม่ทราบว่าลูกยังเชื่อพ่อแค่ไหน   ลูกเขาเทิดทูนพ่อมาก”

คำตอบของผู้เขียน “ส่วนหนึ่งของการบรรลุวุฒิภาวะ คือการรู้จักรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง    และรับผิดชอบต่อผลของการกระทำนั้น   ลูกชายยังอายุเพียง ๑๒   ยังต้องเรียนรู้อีกมาก   และเขาโชคดีที่ได้คำแนะนำป้อนกลับด้วยความรักความเอาใจใส่จากแม่และจากคนอื่นที่รักและห่วงใยเขา   การที่คนที่มีความสำคัญที่สุดต่อเขาสองคนเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนี้ ย่อมเป็นความท้าทาย   แต่เมื่อลูกชายเติบโตขึ้นไปเรียนชั้นมัธยมต้นและมัธยมปลาย เขาก็จะมีผู้ให้คำแนะนำเพิ่มขึ้น   และนิสัยโทษผู้อื่นก็จะได้รับคำแนะนำป้อนกลับ   หวังว่าเขาจะได้เรียนรู้และปรับตัว จนสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นได้”

ตอนที่ ๒  การให้ เป็นเรื่องพัฒนาการของชีวิตคนเราทุกคน   ที่ต้องเปลี่ยนจาก “ชีวิตผู้รับ” ในตอนเป็นทารกและเด็กเล็ก   แล้วค่อยๆ เปลี่ยนโลกทัศน์และทักษะ สู่การเป็น “ผู้ให้” มากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น    พ่อแม่/ครู ต้องช่วยเหลือหรือฝึกเด็กให้มีพัฒนาการนี้อย่างเหมาะสม    เด็กที่ยังยึดติดใน “ชีวิตผู้รับ” อย่างเหนียวแน่น แม้อายุเข้า ๕ ขวบแล้ว    เป็นเด็กโชคร้าย ที่พ่อแม่/ครู เลี้ยงผิด    กลายเป็นเด็กที่มีพัฒนาการบกพร่องทางจิตใจ    ทั้งหมดในย่อหน้านี้ผมตีความและต่อเติมเอง    ไม่ได้เขียนจากสาระในหนังสือตรงตามตัวอักษร

ความอยู่รอดในชีวิตของทารกและเด็กเล็กอยู่ที่การเรียกร้องเอาจากพ่อแม่/คนเลี้ยง    แต่สภาพนี้จะค่อยๆ เปลี่ยน จนกลับตรงกันข้ามเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่    คือความอยู่รอด/อยู่ดี อยู่ที่การเอื้อเฟื้อหรือการให้   ที่จะนำไปสู่การเป็นที่ยอมรับนับถือในสังคม ทำงานใหญ่ได้

พัฒนาการในชีวิตคนเรา เริ่มจากเห็นแก่ตัว    ไปสู่เห็นแก่ผู้อื่น เห็นแก่ส่วนรวม    ใครที่กระบวนการพัฒนาการนี้บกพร่อง ชีวิตก็บกพร่อง

ชีวิตคือการเดินทาง จากโลกแคบ (ตัวตนคนเดียว)  สู่โลกกว้างและสังคม   คนเราต้องเรียนรู้เพื่อการเดินทางนี้

คำถามของสาว ๑๓ “แม่ชอบดุหนู   และเอาใจแต่น้องสาว    หนูพยายามจะไม่โวยวายแต่แม่ก็ทำให้หนูพลุ่งขึ้นมาทุกที   หนูหนีเข้าไปร้องไห้ในห้อง แม่ก็ว่าหนูแกล้งทำ    หนูรู้ว่าแม่รักหนู   แต่แม่รักน้องมากกว่า    และแม่มีวิธีแสดงความรักหนูแบบแปลกๆ   หนูรู้สึกดีกับพ่อ เพราะพ่อรักลูกเท่ากัน    แต่กับแม่หนูรู้สึกคล้ายเป็นการแย่งความรักจากแม่ และน้องชนะทุกที    แม้หนูจะเข้าวัยทีนแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าหนูไม่ต้องการให้แม่กอดยามรู้สึกไม่ดี   ไม่ใช่แค่บอกว่าดีแล้ว”

คำตอบของผู้เขียน (Annie Fox) “ฉันเข้าใจว่า เธอต้องการให้แม่เข้าใจเธอ   สนใจเอาใจใส่เธอในฐานะคนพิเศษ   เธอรู้สึกว่าน้องสาวได้รับความเอาใจใส่แบบนั้น   แต่เธอไม่ได้รับจากแม่   ไม่ว่าจะทำดีอย่างไรก็ไม่ได้รับคำชมจากแม่    กรณีนี้เป็นสถานการณ์ที่ยาก    ไม่ทราบว่าแม่ของเธอตระหนักในความรู้สึกนี้ของเธอหรือไม่    หากหาทางให้แม่ตระหนักได้ก็จะเป็นการดี

น่าดีใจที่เธอเข้ากับพ่อได้ดี   เป็นไปได้ไหมที่จะอาศัยพ่อช่วยพูดกับแม่   ให้แม่ได้รับรู้ความรู้สึกของเธอ    ซึ่งจะช่วยให้แม่ได้ปรับตัว ในการแสดงออกกับเธอ”

สาว ๑๓ รอบสอง “ขอบคุณมาก    คำแนะนำช่วยได้มาก   แต่ไม่สะดวกใจที่จะพูดเรื่องนี้กับพ่อ    จะพยายามด้วยตัวเอง”

คำตอบของผู้เขียนรอบสอง  “วิธีไหนก็ได้   ฉันเดาว่าแม่ไม่รู้ว่าเธอรู้สึกอย่างไร    ฉันสังเกตว่าเธอเขียนหนังสือเก่ง    ทำไมไม่ลองเขียนจดหมายถึงแม่และนำไปยื่นให้ด้วยตนเอง    เขียนแบบเดียวกับที่เขียนถึงฉันนี่แหละ”

 

วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๖

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 06 ธันวาคม 2013 เวลา 14:47 น.
 


หน้า 552 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8735056

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า