Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

เชิญสมัครสมาชิกมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

พิมพ์ PDF

 

เรื่อง      ขอเรียนเชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิกมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

เรียน     ท่านผู้บริหาร/ผู้ประกอบการ/ผู้ทรงคุณวุฒิ/ผู้มีเกียรติ ทุกท่าน

ด้วยมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (Foundation for Integrated Human Development Center: iHDC) หมายเลขจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิทะเบียนเลขที่ กท.2259 ได้จัดตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน บูรณาการ ส่งเสริม สนับสนุน ผลักดันและร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการพัฒนามนุษย์อย่างเป็นระบบ ยั่งยืน และเป็นองค์กรที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง โดยพันธกิจในเบื้องต้นคือการมุ่งให้เกิดการแลกเปลี่ยน การเรียนรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเครือข่ายของมูลนิธิฯ ทั้งในรูปแบบขององค์กร และบุคคลธรรมดา (รายละเอียดเพิ่มเติม www.thaiihdc.org)

จากวัตถุประสงค์ และพันธกิจดังกล่าว มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ หรือ iHDC จึงขอเรียนเชิญท่านเข้าร่วมเป็นสมาชิก เพื่อร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์กร และทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา โดยแจ้งความประสงค์ตามใบแสดงความจำนงที่แนบมาด้วยนี้ หรือ

ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ม.ล.ชาญโชติ   ชมพูนุท กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิฯ โทรศัพท์ 089-138-1950 หรือ E-mail: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

(ศ.ดร.จีระ   หงส์ลดารมภ์)

ประธานกรรมการ

ประสานงาน

จิตรลดา  โทร. 02-619-0512-3

 

เอกสารแสดงความจำนงสมัครเป็นสมาชิก

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (Foundation for Integrated Human Development Center: iHDC)

วันที่ ……………………………………

ข้าพเจ้าขอสมัครเป็นสมาชิกมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์

ชื่อผู้สมัคร ………………………………………………………………………………………………

ที่อยู่อาศัย ……………………………………………………………………………………………………………………

……………………………………………………………………………………………………………………………………

โทรศัพท์บ้าน ………………………………………………….   โทรศัพท์มือถือ …………………………………………………

อีเมล์ ………………………………………………………………………………………………………………..

ชื่อกิจการ  : ………………………………………………………………………………………………………….

ที่อยู่กิจการ …………………………………………………………................

……………………………………………………………………………………………………………………………………..

……………………………………………………………………………………………………………………………………..

โทรศัพท์ :  ……..…………………….. โทรสาร :  ……..……………. …..    โทรศัพท์มือถือ: ……………………………………..

อีเมล์ :  ……………………………………………  เวปไซด์ :  …………………………………………………………………..

เลขประจำตัวประชาชน/ผู้เสียภาษี : ………………………………………………………………………

สมัครสมาชิกประเภท :                องค์กร   บุคคล

ประเภทธุรกิจ …………………………………………………………………………………………………………………….

………………………………………………………………………………………………………………………………………

อาชีพ / ตำแหน่งงาน……………………………………………………………………………………………………………………..

…………………………………………………………………………………………………………………………………….

เหตุผลในการสมัครเป็นสมาชิก สิ่งที่คาดหวังจากมูลนิธิ

……………………………………………………………………………………………………………………………………

…………………………………………………………………………………………………………………………………..

…………………………………………………………………………………………………………………………………..

ข้าพเจ้าขอรับรองว่าข้อความที่ให้ไว้ข้างต้นเป็นความจริงทุกประการ และ ข้าพเจ้ายินดีปฏิบัติตามระเบียบมูลนิธิฯ ทุกประการ

ลายมือชื่อ ............................................................ ………………ผู้สมัคร

(………………………...…………………………………….)

หมายเหตุ : เมื่อมูลนิธิฯ ได้รับแบบฟอร์มใบสมัครแล้ว จะมีหนังสือแจ้งยืนยัน ตอบกลับมายังท่าน  ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้


 


 

แก้ไขล่าสุด ใน วันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2013 เวลา 06:20 น.
 

วิถีไทยที่ขัดขวางการพัฒนาประชาธิไตย

พิมพ์ PDF

คุณลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมไทยที่ขัดขวางต่อการพัฒนาประชาธิปไตย คัดลอกจากหนังสือ "การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

องค์ประกอบของการฉุดรั้งและไม่ส่งเสริมโอกาสให้ประชาชนเป็นพลเมืองนั้น ล้วนมาจากโครงสร้างทางการเมือง การมีระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกมายาวนานจากสถาบันที่ถืออำนาจทางการเมือง สถาบันที่ใช้อำนาจทางการเมือง คือรัฐ และระบบราชการ สู่สถาบันการศึกษา อันเป็นโรงงานบ่มเพาะเมล็ดพันธ์พลเมือง สู่ชุมชนและครอบครัว ที่ล้วนมาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลางมากจนเกินไปเพราะขาดสำนึกถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของพลเมือง การไม่เชื่อในคุณค่าของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและมีเหตุผลนั้น มีผลทำให้สังคมขาดพลัง

วิถีไทยที่ขัดขวางการพัฒนาประชาธิปไตย

การพัฒนาประชาธิปไตยของไทยที่ผ่านมาจะครบ ๘๐ ปี ใน พ.ศ.๒๕๕๕ นี้แล้ว ก็ยังนับว่าเป็นเรื่องแปลกมากสำหรับสังคมไทยและทำให้คนไทยจำนวนมากยังขัดแย้งกันในเรื่องทั้งวิธีการและเป้าหมายของประชาธิปไตย ความไม่ชัดเจนในเรื่องประชาธิปไตยนี่เอง ยังสงผลต่อการพัฒนาความเป็นพลเมืองที่ยังไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง อะไรคือปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทย จึงเป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณาทบทวนเพื่อการพัฒนาความเป็นพลเมืองให้เกิดขึ้นได้ กล่าวคือ

๑.การเป็นรัฐอุปถัมภ์

ในงานของ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สุนทวณิช และ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มีความสอดคล้องกันในเรื่องของรัฐรวมศูนย์ผูกขาดอธิปัตย์ คือ การผูกขาดอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตยในปี ๒๔๗๕ เป็นการถ่ายโอนอำนาจจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่ เป็นรัฐใหม่ที่ใช้ระบอบรัฐธรรมนูญนิยม หรือประชาธิปไตย บนความแข็งแกร่งของระบบราชการที่มีอยู่ก่อนแล้ว  ความจำเป็นของระบอบใหม่ที่ต้องมีผู้นำจากการเลือกตั้งของประชาชนจึงถูกใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการเปลี่ยนแปลง รัฐบาลยังคงผูกขาดอำนาจและบทบาทไว้ที่ส่วนกลางทั้งหมด  ประชาชนจึงถูกครอบงำและถูกกำกับเพียงทำหน้าที่ปฎิบัติตามกฎหมาย เสียภาษีและไปเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือการไปเลือกตั้ง เป็นเพียงพลเมืองดีผู้มีหน้าที่ตามที่รัฐกำหนดให้  จึงยังไม่มีพลเมืองที่ไปมีส่วนร่วมในการกำหนดการมีอำนาจและการสืบทอดอำนาจทางการเมือง การมีส่วนร่วมทางการเมืองจึงจำกัดอยู่เพียงระดับการเลือกตั้ง นอกจากนั้นแล้ว การมีส่วนร่วมในการพัฒนาทางสังคมของประชาชนก็มีขอบเขตจำกัดอยู่เพียงการไปเข้าร่วมในโครงการของทางราชการ เช่นกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น จึงทำให้ประชาชนถอยห่างจากการเมือง และคอยรอรับความช่วยเหลือจากทางราชการ ซึ่งเป็นลักษณะของประชาชนที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้ที่เหนือกว่าและขาดความเชื่อมั่นในการพึ่งตัวเอง

และแม้ว่ากระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศจะกดดันให้มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นช่วงทศวรรษ ๒๕๔๐  แต่การกำหนดอำนาจดังกล่าวนี้มิได้เกิดจากการเข้าไปมีส่วนร่วมคิดและกำหนดจากประชาชนในท้องถิ่นทั้งในเรื่องของอำนาจหน้าที่และการเงิน-การคลัง ทำให้อำนาจของท้องถิ่นยังถูกยึดโยงอยู่ที่อำนาจส่วนกลาง คือ รัฐบาล นักการเมืองในส่วนปกครองท้องถิ่นเองก็มีพฤติกรรมทางการเมืองไม่แตกต่างจากส่วนกลางที่มาจากการเลือกตั้งระดับชาติ  ทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ใหม่ที่กดทับความอ่อนแอของประชาชนมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลเป็นผู้ผูกขาดอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมนี้ ยังได้มีการกำหนดและบงการความสัมพันธ์อาณาบริเวณของการเมืองและเศรษฐกิจออกจากกัน มิได้กระตุ้นส่งเสริมพลังต่างๆ ในประชาสังคม หากแต่จำกัด-ควบคุมโดยอาศัยมาตราการทางกฎหมาย กฎระเบียบ และประกาศข้อบังคับต่างๆ เช่น การห้ามสมาคมการค้า องค์กร สมาคม มูลนิธิ มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง อันเป็นการแยกประชาสังคมออกจากการเมือง และมีผลทำให้เฉื่อยชาและเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมในทางการเมือง ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวยังคงเป็นข้อปฎิบัติจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะการรวมศูนย์การปกครองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จึงกลายเป็นระบอบคณาธิปไตยในความเป็นจริง เพราะวัฎจักรทางการเมืองที่คณะบุคคลและบุคคล ต่างสลับกันขึ้นครองอำนาจ และมีลักษณะการใช้อำนาจเพื่อความมั่นคงของตน ซึ่งเป็นลักษณะอำนาจนิยมที่สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ดังที่พบเห็นกันโดยทั่วไป คือ วัฒนธรรม  ผู้น้อย-ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสกว่า และมีลักษณะของการแบ่งพรรคแบ่งพวกขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนหรือพวกของใครจึงจะได้ดี  มีแต่การยกย่องผู้มีอำนาจวาสนา คนไทยจึงมีคติว่า "รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี" หรือ "พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง"    อันสะท้อนทัศนคติที่คนไทยโดยทั่วไปต้องรู้จักการเอาตัวรอดไว้ก่อนไม่ว่าจะถูกหรือผิด และดีที่สุดคือ ไม่ต้องแสดงความคิดเห็น เพราะผู้ใหญ่หรือผู้อาวุโสทั้งวัยวุฒิหรือคุณวุฒิจะไม่พอใจ และมีผลต่อการงานและชีวิตส่วนตัวได้     การใช้อำนาจและระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยจึงมีอยู่มากในระบบราชการ เช่น การมีเส้นสายเพื่อเข้าสู่ตำแหน่งมากว่าพิจารณาจากความรู้ความสามารถโดยเฉพาะในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่านักการเมืองที่อยู่ในอำนาจจะมีอิทธิพลสูงและใช้อำนาจของตนในการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรมโดยอ้างความเหมาะสม เมื่อประเทศไทยเร่งรัดพัฒนาประเทศเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในช่วงต้นทศวรรษ ๒๕๓๐  เป็นต้นมา เกิดวัฒนธรรมบริโภค นักธุรกิจมุ่งแสดงหากำไรอย่างขาดสติ นักการเมืองส่วนใหญ่ก็ใช้อำนาจทางการเมืองหาผลประโยชน์เพื่อสร้างอิทธิพลของตนภายในพรรค และอาศัยพรรคและกระบวนการเลือกตั้งที่เต็มไปด้วยการให้อามิสสินจ้างรองรับความชอบธรรมที่จอมปลอม ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่ปรากฎอยู่ทั่วไป ดังจะเห็นได้ชัดในระบบการเมืองที่เกิด "ระบบมุ้ง" ที่ผู้อุปถัมภ์ (ด้วยเงิน) แก่สมาชิกในกลุ่ม เป็นผุ้มีอิทธิพลและคนกุมอำนาจที่แท้จริงในพรรค อีกทั้งการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีก็จะจัดไปตามกลุ่มผู้นำ ซึ่งสามารถคุมคะแนนเสียงในกลุ่มของตนไว้ได้เท่าใด ระบบอุปถัมภ์บนพื้นฐานของเงินหรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ จึงกลายเป็นคุณลักษณะสำคัญของการเมืองไทย เมื่อนักธุรกิจเข้าสู่การเมืองมากขึ้น ทำให้การเมืองกลายเป็นเรื่องธุรกิจการเมือง ที่นักธุรกิจใช้ช่องทางการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจและสมคบคิดกับข้าราชการผู้ซึ่งรู้กฎหมายและระเบียบวิธีการต่างๆ เป็นช่องทางเพื่อหาผลประโยชน์เพิ่มเติม เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งธุรกิจและการเมือง และมีการคอร์รัปชั่นง่ายและมากขึ้น จนทำให้เรื่องคอร์รัปชั่นกลายเป็นเรื่องธรรมด่าที่เกิดขึ้นได้ ดังที่มีผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องคอร์รัปชั่นว่า "นักการเมืองโกงกินไม่เป็นไร ขอให้มีผลงานบ้าง" ซึ่งเท่ากับแสดงว่าเราได้ยอมรับการใช้อำนาจที่ไม่สุจริต ขาดคุณธรรมของผู้มีฐานะและอำนาจบารมีทางสังคมและการเมือง และเป็นผู้อยู่ต้นทางของระบบอุปถัมภ์อันเลวร้าย

การผูกขาดการใช้อำนาจที่ไม่ส่งเสริมประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมือง จึงสร้างผลเสียต่อสังคมโดยรวม     เป็นการไม่เชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเหตุผลของมนุษย์ กดประชาชนให้อยู่ในพันธนาการทางความคิดแบบผู้อาวุโส ผู้น้อยไม่สามารถแสดงความคิดเห็นของตนได้ เป็นเผด็จการทางความคิดและการกระทำที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสังคมและสร้างชาติ ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ขาดพลัง ต้องยอมรับผลเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของรัฐที่มาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางมากจนเกินไป

๒.การศึกษา

ระบบการเมือง-การปกครองมีความสอดคล้องต้องกันกับพฤติกรรมมนุษย์ในสังคม การศึกษาไทยก็ถูกออกแบบและกำกับโดยระบอบการเมือง หรือผู้นำทางการเมืองนั่นเอง ซึ่งรัฐบาลไทยในอดีตก็ได้เน้นการกล่อมเกลาให้ราษฎรได้เข้าใจหน้าที่ของตนเพื่อตอบสนองต่อรัฐโดยมีรัฐเป็นศูนย์กลาง การจัดการศึกษาในเมืองหลวงจึงเน้นหนักไปในการสร้างคนเพื่อรับใช้กลไกหลักของรัฐ เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี ขณะที่การขยายการศึกษาไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศเป็นการสร้างพลเมืองที่ดี ดังเช่น หนังสือธรรมจริยาที่ใช้สอนตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ก็เป็นมาตราของรัฐในการให้การกล่อมเกลาทางการเมืองอย่างเป็นระบบ

สำหรับรัฐไทยใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญนิยม หรือระบบประชาธิปไตย ก็ได้มีการนำระบบการจัดการศึกษาสมัยใหม่ที่มีหลักสูตรกลาง มีการเรียนการสอนในระบบที่ควบคุมโดยรัฐนั้น ก็ล้วนเป็นส่วนสำคัญของการควบคุมทางสังคมด้านอุดมการณ์ของรัฐที่ต้องดำเนินไปพร้อมๆกับการควบคุมทางสังคมด้านการใช้อำนาจการปกครองบังคับ  การศึกษาแบบนี้จึงมีแผนการศึกษา หลักสูตรการจัดการศึกษาระดับต่างๆอย่างครบถ้วน และใช้เป็นการทั่วไปทั้งประเทศ การจัดการศึกษาที่รวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลางเช่นนี้ได้ละเลยความสำคัญของความเป็นชุมชน ความเป็นพหุสังคมที่มี ศาสนา ภาษา เชื้อชาติ และวัฒนธรรมที่อยู่ร่วมกันในประเทศอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้  ท้องถิ่นจึงไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเรียนรู้ในแบบวิถีชุมชนเพื่อรักษาอัตลักษณ์และภูมิปัญญาของชุมชนที่มีอยู่อย่างหลากหลาย จึงทำให้ชุมชนอ่อนแอและไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ อีกทั้งการกระจายโอกาสทางการศึกษาที่ขาดความเสมอภาคและเท่าเทียมในพื้นที่ที่ห่างไกลในยุคการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศนับตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ เป็นต้นมา กระทั่งเข้าสู่ยุคบริโภคนิยม ก็ยิ่งเป็นสาเหตุให้ผู้คนละทิ้งท้องถิ่นเพื่อแสวงหาโอกาสทางการศึกษาในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ เพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข"  ก็ยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมสูงยิ่งขึ้น  และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศในช่วงปลายศวรรษ ๒๕๓๐ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ "ต้มยำกุ้ง" อันเนื่องจากระบบการศึกษาไทยไม่สามารถสร้างพลเมืองของประเทศให้มีความสามารถปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง กระทั่งนำสู่กระแสการเรียกร้องให้มีการปฎิรูปการศึกษา การเมือง และสังคม เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกในยุคโลกาภิวัตน์

นอกจากนี้ บรรยากาศการเรียนรู้ในระบบการศึกษาไทยในระยะยาวนานนั้น  เป็นการสอนตามความสนใจของผู้สอนที่มุ่งป้อนวิชาความรู้ (Information Processing) เพื่อให้ผู้เรียนเชื่อฟัง จดจำ และทำตาม ไม่ได้ฝึกฝนให้ทำ และนำไปคิด เพื่อนำสู่การปฎิบัติและแสดงออก เป็นการเน้นวิชาการ แต่ขาดการส่งเสริมทักษะทางสังคม ผู้เรียนจึงถูกแยกส่วนออกจากอาณาบริเวณทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ไม่สามารถเชื่อมโยงบทบาทของตนกับสังคมภายนอกได้ และไม่สามารถสร้างจิตสำนึกของการเป็นเจ้าของสังคมที่เขามีชีวิตอยู่ และไม่มีความพร้อมที่จะรับผิดชอบไปภายภาคหน้า ให้สมกับคำกล่าวที่ว่า "เยาวชน คือ อนาคตของชาติ"  แม้ว่าหลักสูตรจะยังมีการให้ความรู้เรื่องของสังคมทั่วไป รวมทั้งระบอบการเมื่อง-การปกครอง และระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เป็นเพียงการสอนให้ท่องจำและทำตามในเรื่องรูปแบบการปกครอง และจำลองการเลือกตั้งในโรงเรียน ซึ่งไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจทางสังคมและการเมืองมากไปกว่าการให้ฝึกทดลองจากการมีสภานักเรียน  และการเลือกตั้ง  การศึกษาจึงทำให้คนไทยรู้จักประชาธิปไตยเพียงการเลือกตั้ง  แต่ขาดทักษะชีวิต  การคิด การใช้ชีวิตในแบบสังคมประชาธิปไตยที่ต้องการการแสดงออกถึงวุฒิภาวะในการใช้ความคิด การมีเหตุมีผล การมีความรับผิดชอบให้เกิดขึ้นได้จริง ดังที่นักการศึกษาของไทย                 ศ.ดร.สุมน อมรวิวัฒน์ ได้ให้ความเห็นของการศึกษาเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและพลเมืองว่า "การเรียนรู้มีข้อจำกัดคือวิถีชีวิตในครอบครัวไทย ในการบริหารการจัดการศึกษา และวิถีชีวิตในสังคมไทยทั่วไป เพราะเมื่องไทยยังไม่เป็นสังคมเปิดให้มีการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยมากพอ (Democratic Learning Society) ชีวิตเด็ก-นักเรียน จะถูกพ่อ แม่ และคนรอบข้างครอบงำ  กำกับ สั่งการทั้งหมด จึงจำเป็นต้องให้การศึกษาอบรมพ่อ แม่ ครู ผู้บริหารการศึกษาให้มากขึ้น"

และแม้นว่าประเทศไทยเราจะเคยมีวิชา "หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม" ซึ่งปัจจุบันวิชาเหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งในวิชาสังคมศึกษา แม้โรงเรียนจะได้มีการฝึกให้นักเรียนรู้จักวิธีการของระบอบประชาธิปไตย เช่น ให้มีสภานักเรียน มีการเลือกตั้ง และมีพรรคการเมืองจำลองขึ้น แต่เมื่อพ้นวัยเรียนไปแล้ว ก็ไม่ได้มีส่วนเรียนรู้อย่างเป็นระบบอย่างต่อเนื่อง จึงเท่ากับว่าการเรียนรู้ทางสังคมและการเมืองในฐานะที่เป็นพลเมืองของคนไทย เกิดจากการมีประสบการณ์ตรงที่ไม่ใช่การไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง หากแต่เป็นการเข้าร่วมชุมชนทางการเมือง การได้รับข้อมูลข่าวสารที่ไม่ได้อยู่ในช่วงปกติของสือมวลชน การศึกษาไทยจึงปล่อยให้การเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยไว้นอกห้องเรียน ก่อให้เกิดการกระตือรือร้นที่จะผลักดันประเด็นปัญหาด้านนโยบาย และเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านหรือสนับสนุนบางเรื่อง ดังที่เกิดขึ้นในอดีต เช่นเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖  และ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ จนกระทั่งถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนับแต่ปี ๒๕๔๙ จนถึงปัจจุบัน

การสอนในระบบการศึกษาไทยที่เน้นการสอนให้เชื่อฟังและทำตามนี้ เป็นไปตามแนวคิดเรื่องการเป็นพลเมืองที่เชื่อฟัง ทำตามกฎระเบียบ และเคารพกฎหมายของสังคม ซึ่งสะท้อนถึงความเป็น "คนดี" ในค่านิยมการศึกษาไทย และเป็น"พลเมืองดี" ที่เคารพกฎหมายอย่างที่เป็นอยู่ในสังคมไทยทุกวันนี้  การเป็น "เด็กดี" จึงต้องเคารพและเชื่อฟังผู้ใหญ่ ทำให้เด็กในวันนี้ เมื่อเป็นผู้ใหย่ในวันหน้าก็ไม่อาจโต้แย้งหรือแสดงความคิดเห็นต่อผู้ใหญ่กว่า อาวุโสกว่า หรือมีอำนาจไว้ได้ ซึ่งทัศนคติดังกล่าว ได้ถ่ายทอดเป็นบุคลิกของคนไทย และกลายเป็นวิถีไทยที่ถูกหล่อหลอมกล่อมเกลาผ่านระบบการศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันท่ามกลางบรรยากาศทางสังคมและการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ขาดพลังขับดันที่จะอยากรู้ ไม่กล้าแสดงออก ไม่แสวงหาความถูกต้อง ตลอดจนจริยธรรมก็พลอยลดน้อยถอยลงด้วย การหลีกหนีความรับผิดชอบ และจำกัดขอบเขตสำนึกของตนเอง เพราะเกรงกลัวอำนาจของผู้ที่อยู่ในสถานะที่เหนือกว่า

การศึกษาที่รวมศูนย์อำนาจการจัดการไว้ที่รัฐบาลดังกล่าวส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมของคนที่ไม่ค่อยเข้าใจบทบาทของรัฐบาลที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของตนเอง และไม่สนใจเรื่องส่วนรวม นักเรียนจึงมุ่งแข่งขันกันเรียน จนเมื่อสำเร็จการศึกษาก็มุ่งหาเลี้ยงชีพเพื่อประโยชน์ของตน และทิ้งภาระทางสังคม-การเมืองไว้กับนักการเมือง อันเป็นค่านิยมของการบูชายกย่องผู้มีความสำเร็จทางเศรษฐกิจ มากกว่าการให้ความสำคัญกับการสร้างคนที่มีความรู้คู่คุณธรรมที่พร้อมเสียสละเพื่อส่วนรวม

๓.สื่อสารมวลชน

ดร.วิชัย ตันสิริ ได้เขียนไว้ในหนังสือ วัฒนธรรมการเมืองและการปฎิรูปว่า "ครูที่สำคัญที่สุดของเยาวชนด้านวัฒนธรรมการเมือง คือนักการเมืองและผู้นำทางการเมือง รองลงมาคือ สื่อสารมวลชน" และผู้นำทั้งสองกลุ่มนี้ มีบทบาทและภาระที่ต้องแสดงตนให้สอดคล้องกับระบบและวิถีประชาธิปไตย การทำหน้าที่ของนักการเมืองและสื่อจะทำให้ประชาชนสัมผัสได้ และรู้เห็นอยู่ตลอดเวลา  การถ่ายทอดวิธีคิด การทำงาน และบุคลิกภาพที่สื่อออกไปสู่ประชาชน  ล้วนมีผลต่อการจดจำและเอาเป็นตัวอย่างได้ง่าย

กล่าวสำหรับสื่อสารมวลชนนั้น ในอดีตที่ตั้งกรมโฆษณาการขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ นี้ ก็เพื่อโฆษณาความคิด ความเชื่อของผู้นำ และแจ้งข่าวสารของราชการให้ประชาชนปฎิบัติตาม เป็นการสื่อสารเพียงด้านเดียวที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมด้วยโดยอาศัยสื่อวิทยุเป็นเครื่องมือสื่อสารจากรัฐบาลถึงประชาชนในการแถลงข่าว การปราศรัยในพิธีและโอกาสสำคัญๆ ของผู้นำในคณะรัฐบาล อันเป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรประชาสัมพันธ์ของรัฐ ที่ต่อมาพัฒนาเป็นกรมประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลจวบจนปัจจุบัน การทำหน้าที่ของสื่อจึงถูกผูกขาดและกำกับโดยนโยบายของรัฐบาล เรียกว่าเป็นกระบอกเสียงของรัฐ ยิ่งในช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการ หรือกึ่งประชาธิปไตย  ผู้มีอำนาจทางการเมืองก็ได้ใช้สื่อดังกล่าวเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อ และใช้เป็นเครื่องมือกำจัดศัตรูทางการเมือง เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล นอกจากนี้ยังทำลายผู้ที่มีแนวคิดอุดมการ์ทางการเมืองแตกต่างจากตน ซึ่งการทำหน้าที่ของสือดังกล่าว จึงไม่ได้สะท้อนความคิด ความทุกข์-สุข และความต้องการของประชาชนแต่อย่างใด

แม้สื่อกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จะมีการพัฒนามากขึ้นตามลำดับ ตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และกระแสความต้องการของประชาชนที่ต้องการเข้ามาทำงานในด้านสื่อสารมวลชนมากขึ้น แต่การทำงานของเอกชนด้านสื่อก็ยังต้องถูกกำกับภายใต้การดูแลของรัฐอย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการลิดรอนเสรีภาพของสื่อ และของประชาชนที่ต้องการจะรู้ข่าวสาร ทั้งของราชการและของสังคมทั่วไป

จนกระทั่งภายหลังเหตุการณ์ทางการเมืองเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ จึงได้มีกระแสการเรียกร้องให้มีการปฎิรูปทางการเมืองหลายด้าน ครั้งสำคัญ รวมถึงการปฎิรูปสื่อสาธารณะเพื่อประโยชน์ขอนประชาชนตั้งแต่ระดับชุมชนโดยเห็นว่า "คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมเป็นการสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และเป็นความสำเร็จที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้ในปี ๒๕๔๐ จนถึงรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสื่อสาธารณะของตนเอง ที่รวมกลุ่มกันอยู่ในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ

การที่ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำจากสื่อ ภายใต้การกำกับของรัฐมาอย่างยาวนาน ทำให้ผลต่อการกล่อมเกลาทางการเมืองของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่รู้ ไม่สนใจ และไม่เข้าใจเรื่องการเมือง ทั้งที่ทุกเรื่องของชีวิตเกี่ยวพันกับการเมืองจนกลายเป็นวิถีชีวิตของคนไทย คนไทยโดยทั่วไปจึงไม่เห็นความสำคัญกับการเมืองและไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว และอาจนำอันตรายมาสู่ตนได้ จึงเห็นว่าเป็นเรื่องของนักการเมือง และรัฐบาลเท่านั้น การที่ประชาชนถูกหล่อหลอมภายใต้สถานะการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยดังกล่าว จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพลเมืองตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งแม้นปัจจุบันสื่อมวลชนจะได้รับเสรีภาพมากขึ้นภายหลังการมีรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ แต่รัฐบาลหลายรัฐบาลก็ยังพยายามเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชนตลอดมา การพัฒนาพลเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตย จึงต้องการสื่อที่มีเสรีภาพ เพื่อเปิดโอกาสให้พลเมืองแสดงความคิดเห็นเต็มที่ ซึ่งสื่อมวลชนคือภาพสะท้อนการมีเสรีภาพของสังคม

๔.สถาบันครอบครับ

เนื่องจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตย การใช้ชีวิตการงานในสถาบัน องค์กรต่างๆ  จึงมีลักษณะแบบถูกจำกัดทั้งการมีทัศนคติแบบอุปถัมภ์ การไม่ให้ความเท่าเทียมกันในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น ระบบการเลี้ยงดูในครอบครัวก็ได้รับอิทธิพลนี้ไปด้วย ซึ่งอันที่จริงแล้วการบ่มเพาะตั้งแต่เด็กนั้นเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อให้เขามีจิตใจที่อ่อนโยน มีคุณธรรม รู้จักการมีเหตุผล แบ่งปัน รู้จักรับฟัง มีการแสดงออก และหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาทด้วยการใช้กำลัง และรักความยุติธรรม แต่การเลี้ยงดูเด็กของคนไทยไม่เป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร เพราะเราสอนเด็กแบบอำนาจนิยมจากการคุ้นชินการใช้ชีวิตภายในรัฐที่ใช้อำนาจในการปกครองบังคับ เราจึงสอนเด็กโดยใช้ระบบอาวุโสเป็นใหญ่ ผูกขาดความถูกผิดทุกอย่างที่ลูกต้องเชื่อฟังและปฎิบัติตามโดยขาดเหตุผล เด็กไม่เข้าใจว่าเขาควรมีวินับอย่างไร  แต่ต้องคอยเอาใจผู้ใหญ่ พ่อ แม่ ผู้อาวุโสทุกๆคนที่อยู่ในครอบครัว เขาจึงไม่มีวินัย ไม่รู้จักรับผิดชอบตัวเอง จัดการตัวเองไม่ได้ ไม่รู้จะปฎิบัติอย่างไร เพราะคตินิยมที่ว่า "เด็กดี คือ ผู้ที่เชื่อฟังผู้ใหญ่" นั่นเอง

ดังนั้น ระบบการอบรมเลี้ยงดู จะช่วยสร้างประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้ก็ตั้งแต่ที่บ้าน ตั้งแต่เล็ก ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างการใช้เสรีภาพ ความรับผิดชอบและความมีวินัย โดยเฉพาะการสร้างนิสัยให้เป็นผู้มีวินัยที่ควบคุมตัวเองได้ เพราะคำว่า วินัย หมายถึงข้อบังคับหรือข้อปฎิบัติอย่างสมัครใจจนเป็นนิสัย วินัยเป็นสิ่งสำคัญมากในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น เป็นการปกครองตนเอง ดังนั้น ถ้าประชาชนในชาติขาดความรับผิดชอบและไม่มีวินัยในตนเองแล้ว นั่นย่อมหมายถึงการไม่สามารถบังคับหรือควบคุมตัวเองให้อยู่ในกรอบ กติกาที่ตนเองและผู้อื่นร่วมกำหนดขึ้นได้ ซึ่งส่งผลทำให้ไม่สามารถที่จะใช้สิทธิในการปกครองอย่างเหมาะสมได้เช่นกัน ซึ่งการเป็นผู้มีวินัยนั้นยังเป็นผู้ที่มีความซื่อตรงต่อหน้าที่ของตนด้วย คือ มีความรับผิดชอบต่อสถานภาพต่างๆ ที่ตนเป็นอยู่  ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกของชุมชน  ของครอบครัว และพลเมืองของประเทศ ซึ่งการมีวินับนี้มีความจำเป็นมากสำหรับสังคมไทย เพราะคนไทยโดยทั่วไปนั้นมักขาดวินัย แต่ชอบอิสระ ดังคำกล่าวที่ว่า "ทำอะไรตามใจคือไทยแท้" คนไทยจึงชอบหลบหลีกกฎหมาย หรือระเบียบสังคม เช่น การฝ่าฝืนกฎจราจร การหลีกเลี่ยงภาษี เป็นต้น

การขาดวินัยของคนไทย ส่วนหนึ่งมาจากการกล่อมเกลาทางสังคม ไม่ว่าระบบการศึกษา และสถาบันทางสังคมต่างๆ ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องวินัยอย่างจริงจังตั้งแต่เด็กๆ ดังคำกล่าวที่ว่า "วินัยเกิดขึ้นที่บ้าน"  นอกจากนี้เพลง "เด็กดี" มี ๑๐ ประการ ที่แต่งขึ้นในอดีตและมีการร้องมาจนถึงปัจจุบันในโรงเรียนต่างๆนั้น ก็ไม่ปรากฎว่าจะมีเรื่องวินัยอยู่ด้วย แต่เน้นในเรื่องความกตัญญู ความรักชาติ  และนับถือศาสนา เป็นสำคัญ ทำให้เด็กไทยไม่ได้ฝึกฝนกล่อมเกลาในด้านนี้จึงไม่สามารถจะมีวินัยในตนเอง  ไม่สามารถบังคับตนเองให้อยู่ในระเบียบวินัย หรือการตรงต่อเวลาได้ กลายเป็นลักษณะที่ไม่พึงประสงค์ของการเป็นพลเมื่องที่ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน เพราะผู้ที่ขาดวินัยมักจะขาดความรับผิดชอบด้วย ย่อมสร้างความเสียหายแก่ส่วนรวมได้ง่าย

จากปัจจัยทั้ง ๔ ประการ จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบของการฉุดรั้งและไม่ส่งเสริมโอกาสให้ประชาชนเป็นพลเมืองนั้น ล้วนมาจากโครงสร้างทางการเมือง การมีระบบอุปถัมภ์ที่หยั่งรากลึกมายาวนานจากสถาบันที่ถืออำนาจทางการเมือง สถาบันที่ใช้อำนาจทางการเมือง คือรัฐ และระบบราชการ สู่สถาบันการศึกษา อันเป็นโรงงานบ่มเพาะเมล็ดพันธ์พลเมือง สู่ชุมชนและครอบครัว ที่ล้วนมาจากการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ราชการส่วนกลางมากจนเกินไปเพราะขาดสำนึกถึงความสำคัญและความจำเป็นของการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของพลเมือง การไม่เชื่อในคุณค่าของมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีและมีเหตุผลนั้น มีผลทำให้สังคมขาดพลัง และรัฐบาลประเภทนี้ไม่สามารถที่จะบริบาลประชาชนได้จากภัยพิบัติตามธรรมชาติ  ดังปรากฎอย่างชัดเจนแล้วในกรณีภัยธรรมชาติ อุทกภัยที่เกิดขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและชุมพรในปี พ.ศ.๒๕๓๒  และปี ๒๕๕๔ นี้  ซึ่งผลจากภัยธรรมชาตินี้เอง ทำให้เกิดการเปิดเผยจุดอ่อนของอำนาจรัฐที่รวมศูนย์มากเกินไปอย่างชัดแจ้ง และปฎิเสธพลังการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมหรือพลเมืองในการแก้ไขปัญหาใหญ่ของชาติ

 

คุณลักษณะของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย คัดลอกจากหนังสือ " การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

พิมพ์ PDF

 

ต่อเมื่อทำให้ประชาชนได้เป็นพลเมืองที่มีความรู้และความสามารถจะดูแลปกครองตนเองและปกครองกันเองได้ ไม่ปล่อยให้ผูกขาดอยู่แต่ในมือของรัฐราชการ รัฐบาล หรือนักธุรกิจการเมือง การก้าวสู่ความเป็น"พลโลก" ในทางสากลก็อยู่ไม่ไกล

"ระบอบประชาธิปไตย ต้องการนักประชาธิปไตย"  เป็นคำกล่าวที่เกิดจากประสบการณ์ของชาวเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ให้ความสำคัญกับพลเมืองในการมีส่วนร่วมในทางการเมือง (Political Participation) มีจิตวิญญาณสาธารณะ (Civic Engagement) และมีความรับผิดชอบทางสังคม  (Social Responsibility) ซึ่งการที่พลเมืองจะแสดงออกถึงบทบาทเหล่านี้ได้เขาต้องมีการศึกษา มีความรู้และความเข้าใจทางการเมือง (Political Literacy)  มีความเสมอภาค (Equality) รักในความยุติธรรม (Justice) มีเสรีภาพ (Freedom)  ในการแสดงออกเพื่อประโยชน์ของปัจเจกและส่วนรวม และแน่นอน การมีอยู่ของเสียงส่วนใหญ่ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิของเสียงส่วนน้อยด้วย คือ ไม่ละเลยเสียงข้างน้อย คุณลักษณะดังกล่าวของพลเมืองเยอรมันก็เพื่อผดุงระบอบประชาธิปไตยไม่ให้หันกลับไปหาระบอบอื่นที่อยู่ในด้านตรงข้ามที่สังคมเยอรมันได้เผชิญมาแล้วในสงครามโลกครั้งที่สอง กล่าวโดยสรุปแล้ว ลักษณะพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยที่เป็นสากลนั้น ได้มีการทำการศึกษาวิจัยจากนักวิชาการจากทุกทวีปมารวมตัวกัน เพื่อเตรียมตัวเข้าสู่ศตวรรษที่ ๒๑ และได้มีการพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลก โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

๑.การเป็นผู้ที่มีความรู้ มีการศึกษา และความสามารถที่จะมองเห็นและเข้าใจในสังคมของตนและสังคมโลก เช่น เป็นสมาชิกของสังคมโลก

๒.มีความสามารถที่จะทำงานร่วมกับผู้อื่นและรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นในบทบาทส่วนตนและต่อสังคม

๓.มีความสามารถที่จะเข้าใจ ยอมรับ และอดทนต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม

๔.มีความสามารถที่จะคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผลและเป็นระบบ

๕.มีความเต็มใจที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยท่าทีสันติ ไม่ใช่ความรุนแรง

๖.มีความเต็มใจที่จะเปลี่ยนการใช้ชีวิตและอุปนิสัยการบริโภคเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

๗.ความสามารถที่จะเข้าใจและปกป้องสิทธฺิมนุษยชน

๘.มีความเต็มใจและมีความสามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

ซึ่งบุคลิกลักษณะทั้ง ๘ ประการนี้ มีลักษณะเป็นพลเมืองสากล คือเป็นได้ทั้งพลเมืองของประเทศและเป็นพลโลก ด้วยเหตุที่โลกปัจจุบันนี้ แต่ละประเทศก็ต่างมีสถานที่พึ่งอิงพิงกันไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวได้ ผลที่เกิดขึ้น ณ.ที่หนึ่งก็จะส่งผลต่ออีกที่หนึ่งเสมอ  เพราะโลกปัจจุบันมีการสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง และไม่มีพรมแดน การพูดถึงประชาธิปไตยในปัจจุบันจึงกล่าวล่วงไปถึงประชาธิปไตยด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะการทำลายสิ่งแวดล้อม ณ. ที่หนึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออีกที่หนึ่งได้ พลเมืองในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องมีจิตใจรักสิ่งแวดล้อม การกินอยู่ ดำรงชีพ ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้เกิดการทำลายและแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด บนโลกใบนี้อันจะเป็นการละเมิดต่อชีวิตผู้อื่นและทำลายล้างซึ่งกันและกัน ซึ่งขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นหลักสำคัญอันหนึ่งของประชาธิปไตย

คุณลักษณะของพลเมืองในสังคมไทยก็ควรที่จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันดังกล่าวข้างต้น เพราะประเทศไทยเป็นสมาชิกของสังคมโลก เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน (ASEAN)  และอีก ๒ ปีข้างหน้า ASEAN จะก้าวเข้าสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ จึงมีแต่การสร้างพลเมืองไทยให้มีมาตราฐานสากล ให้ยืนอยู่ได้ท่ามกลางการแข่งขันอย่างรุนแรงในทุกที่ในโลก ไม่ว่าในกลุ่มอาเซียน (ASEAN) ในกลุ่มประชาคมยุโรป (EU)  หรือในเวทีใดๆก็ตาม คุณลักษณะทั้ง ๘ ประการนั้น มีเงื่อนไขหลักอยู่ที่ให้คุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ความร่วมมือกัน ความเข้าใจกัน ใช้เหตุผล แม้แตกต่างกัน และมีสันติโดยไม่ต้องมีความรุนแรงหรือละเมิดต่อกัน บนพื้นฐานของความเป็นมนุษย์หรือสรรพสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติอันเป็นคุณค่า-คุณธรรมร่วมที่อยู่เหนือชาติ ภาษา และวัฒนธรรมประเพณีทั้งมวล

ต่อเมือทำให้ประชาชนได้เป็นพลเมืองที่มีความรู้และความสามารถจะดูแลปกครองตนเองและปกครองกันเองได้ ไม่ปล่อยให้ผูกขาดอยู่แต่ในมือของรัฐราชการ รัฐบาล หรือนักธุรกิจการเมือง การก้าวสู่ความเป็น "พลโลก"ในทางสากลก็อยู่ไม่ไกลแล้ว

การจะสร้างพลเมืองอย่างไร ให้มีความรู้ทางการเมืองและให้รู้เท่าทันการเมือง (Political Literacy)  หรือให้รู้บทบาทของพลเมืองที่มีทัศนคติและทักษะในการทำงานอุทิศตนเพื่อสังคมและส่วนรวมได้มากขึ้น  มีความเชื่อมั่นในพลังการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่มาจากรัฐ และทำอย่างไรให้คนไทยได้รู้สึกถึงการเป็นเจ้าของ (Ownership) ประเทศของตน เจ้าของสิ่งของสาธารณะทั้งหลายที่ได้มาโดยภาษีอากร น้ำพักน้ำแรงของทุกคน เพื่อที่ทุกคนจะได้รู้สึกหวงแหนและรักษาไว้ให้เป็นสาธารณะสมบัติจนชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนของสังคมจะต้องช่วยกันคิดอย่างมีฉันทานุมัติ และสร้างเจตจำนงทางการเมืองร่วมกัน (Political Will)  ในการสร้างคนให้มีการใช้ชีวิต วิธีคิด วิธีทำงาน ให้สอดคล้องกับระบอบการเมือง และเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยให้เดินไปข้างหน้าให้ได้นั้น จึงพึงพิจารณาจุดอ่อน และจุดแข็ง ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยให้ได้อย่างเข้าใจ เพื่อการพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีอยู่ให้เป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยให้ได้

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2013 เวลา 22:17 น.
 

ประชาธิปไตย

พิมพ์ PDF

 

ประชาธิปไตยในสังคมไทย

ข้อความนี้คัดลอกมาจากหนังสือ "การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง" ของ ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

คำว่า "ประชาธิปไตย" นั้น แท้จริงแล้วก็คือระบอบการเมืองที่เปิดโอกาสให้สำหรับทุกคนได้เป็นตัวแสดง ไม่ให้ใครมาผูกขาดคิดรับเหมาทำแทนโดยไม่ผ่านการยอมรับได้ง่ายๆ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้พูดไว้ในหนังสือการเมืองของพลเมืองฯว่า "ประชาธิปไตยนั้นมีเนื้อหาและวิญญาณที่เป็นเอกอุ คือการปกครองของเราเอง เพื่อเราเอง และที่ตอกย้ำให้ถึงที่สุดก็คือโดยพวกเรากันเอง" พูดง่ายๆก็คือ การปกครองกันเอง การปกครองแบบนี้ คนในสังคมก็ต้องพูดกันรู้เรื่อง มีเหตุมีผล มีวิจารณญาณและมีความรับผิดชอบ ไม่ใช่เฮกันไปตามวาทกรรมของผู้นำ หรือนักการเมืองที่มักผูกขาดการชี้นำแบบเผด็จการ

โดยที่ประชาธิปไตยนั้น เป็นทั้งระบอบการเมืองและวิถีชีวิต บิดาทางรัฐศาสตร์ของตะวันตก ได้แก่ เพลโต (Plato) และอาริสโตเติ้ล (Aristotle) ได้กล่าวไว้ว่า ระบบการเมือง-การปกครอง กับพฤติกรรมมนุษย์ หรือบุคลิกภาพและวัฒนธรรมการเมืองของสมาชิกในสังคมนั้นจะต้องสอดคล้องกัน จากความเห็นดังกล่าว การสร้างพลเมืองให้สอดคล้องกับระบบการปกครอง ก็จะเป็นการค้ำจุนตัวระบอบ ซึ่งการใช้ชีวิตจนเป็นวิถีชีวิตของพลเมืองที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับอุดมการณ์ของระบอบก็จะทำให้การเมืองมีความมั่นคง

สำหรับประชาธิปไตยในประเทศไทยขณะนี้ หากอนาคตของประเทศอยู่ที่ประชาธิปไตย และพลเมืองคือผู้สนับสนุนค้ำจุนตัวระบอบ เรายังไม่มีฉันทานุมัติ (Consensus) ในเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการสะท้อนปัญหาความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างรัฐที่ควบคุมกลไกทางการเมือง กับพลเมืองผู้เป็นที่มาของอำนาจทางการเมือง นอกจากนี้ปัญหาที่ทับซ้อนกันก็คือ เราจะ "สร้างพลเมือง" หรือเปลี่ยนแปลงประชาชนให้เป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตและมีวัฒนธรรมการเมืองที่สอดคล้องกับระบอบการเมืองหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตยได้อย่างไร และโดยวิธีใด

สิ่งที่สะท้อนให้เราเห็นก็คือสังคมไทยอ่อนแอ ไม่อาจแก้ปัญหาเมื่อเผชิญกับวิกฤติใหญ่ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในปี ๒๕๔๐  วิกฤติการเมือง ความแตกแยกแบ่งสี ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๙ และวิกฤติมหาอุทกภัย ๒๕๕๔ สิ่งที่น่าพิจารณาคือ หลังการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ จวบจนปัจจุบัน ทั้งกลไกการเมืองระดับบนสุด และกลไกบริหารด้านต่างๆของรัฐมิได้มีความแข็งแกร่งหรือความสามารถในการจัดการเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติการณ์ที่รุนแรงดังกล่าวมาแล้วได้ แม้ว่าเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญภายหลังปี ๒๔๗๕ คือ การขยายมิติการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง โดยการนำเอาระบอบประชาธิปไตยเข้ามาแทนที่ระบอบเดิม แต่ก็ปรากฎว่ามิตินี้ยังไม่สามารถผนึกกำลังเป็นปึกแผ่นแน่นหนาได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านอุดมการณ์ ค่านิยม และด้านสถาบันทางการเมือง ประชาชนโดยทั่วไปยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงใดๆได้ ทำให้บทบาทของรัฐราชการมากขึ้น ด้วยเหตุนี้เมือถึงประเทศไทย จึงทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีขึ้นได้ก็โดยผ่านการเลือกตั้ง และการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ตามที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนด การมีบทบาททางการเมืองของประชาชนจึงถูกจำกัดอยู่เพียงการเป็น "ผู้เข้าร่วม" ทางการเมือง หาใช่ผู้ "มีส่วนในการกระทำร่วม" ทางการเมืองตลอดระยะเวลานับแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แม้ในอีก ๑ ขวบปีข้างหน้าคือปี ๒๕๕๕ ก็จะครบรอบ ๘๐ ปี ของการนำเอาระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศ และคนไทยมีรัฐธรรมนูญใช้แล้วถึง ๑๘ ฉบับ แต่ความเข้าใจและความรู้ทางการเมืองของคนไทยยังอยู่ในลักษณะจำกัด ความอ่อนแอของสังคมจึงสะท้อนได้จากการไม่สามารถสร้างมิติการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เป็นพลังสังคมร่วมกับรัฐในการพัฒนาความมั่นคงทางสังคม เพื่อร่วมกันฝ่าวิกฤติใหญ่ๆ ของชาติไปให้ได้ เรื่องการเมืองจึงยังไม่สัมพันธ์หรือสอดคล้องกับวัฒนธรรมและการใช้ชีวิตของคนไทยโดยทั่วไป หรืออาจกล่าวได้ว่า คนไทยยังขาดวัฒนธรรมการเมือง จึงควรที่เราจะได้ทำความคุ้นเคยกับ "การเมือง" ให้มากขึ้น เพราะการเมืองเกี่ยวข้องกับทุกคน ทุกเรื่อง ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต  การไม่สนใจการเมืองและไม่มีความรู้และความเข้าใจการเมือง จึงมีผลทำให้คนไทยถอยห่างจากการเมืองมากขึ้น และปล่อยให้ธุระทางการเมืองเป็นเรื่องของข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ และกลายเป็นธุรกิจการเมืองไปแล้ว  เมื่อข้าราชการ นักธุรกิจ และนักการเมือง ร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมืองในทุกระดับ จึงเกิดการคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ กลายเป็นมะเร็งร้ายทางการเมืองที่กัดกร่อนสังคมไทยอยู่ในทุกวันนี้

โปรดติดตามอ่านตอนต่อไปได้ในบันทึก " การเมือง"

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2013 เวลา 00:02 น.
 

"การเมือง " คัดลอกจากหนังสือ การศึกษาเพื่อสร้างพลเมือง โดย ทิพย์พาพร ตันติสุนทร

พิมพ์ PDF

 

การเมืองจึงเป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่ในเมือง ที่มารวมกันทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มิใช่เฉพาะเรื่องแก่งแย่งหรือแบ่งปันผลประโยชน์กัน การเมืองจึงเป็นเรื่องการทำความดี เป็นเรื่องของคุณธรรม

คำว่า "การเมือง" มีรากศัพท์มาจากคำว่า "Polis" เป็นคำกรีกโบราณ แปลว่า เมือง ส่วนการเมืองก็คือกิจกรรมที่ทำกันในเมืองเพื่อทำให้เกิดสิ่งที่ดีสำหรับชีวิตส่วนรวม ในความหมายนี้ การเมืองจึงเป็นเรื่องกิจสาธารณะ เรื่องของประโยชน์ส่วนรวม การเมืองจึงเป็นกิจกรรมธรรมชาติเพื่อมนุษย์ชาติ รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเมือง และการเมืองมิใช่มีไว้สำหรับนักการเมืองเท่านั้น ดังที่อาริสโตเติ้ล ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "โดยธรรมชาติแล้วพวกเราล้วนเป็นผู้สร้างการเมือง"

การเมืองจึงเป็นเรื่องของทุกคนที่อยู่ในเมือง ที่มารวมกันทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม มิใช่เฉพาะเรื่องแก่งแย่งหรือแบ่งปันผลประโยชน์กัน การเมืองจึงเป็นเรื่องการทำความดี เป็นเรื่องของคุณธรรม

สำหรับการเมืองในประเทศไทยที่เราได้เห็นมี ๒ ประเภท ประเภทแรก คือ การเมืองแบบตัวแทน โดยประชาชนมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้ง มีระบบรัฐสภา มีรัฐบาล เมื่อภายหลังการเลือกตั้ง อำนาจทางการเมืองถูกจำกัดวงอยู่ในหมู่นักการเมืองและข้าราชการ การเมืองในแบบแรกถูกผูกขาดโดยนักการเมืองหรือรัฐบาล ดังจะเห็นนโยบาลและโครงการต่างๆที่รัฐบาลประกาศออกมาโดยประชาชนไม่ได้รู้เห็นเป็นใจ เป็นการเมืองที่ผูกขาดการให้บริการ และประชาชนรอรับการบริการ ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือไม่ดีก็ตาม

ส่วนประเด็นที่สอง คือการเมืองของพลเมือง หรือการเมืองภาคพลเมือง ถือเป็นอำนาจทางการเมืองที่มีพื้นฐานมาจากพลังในสังคมนอกกลไกรัฐ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นอำนาจที่มาจากประชาสังคม (civil society) ซึ่งหมายถึง สถาบันและพลังต่างๆในสังคมที่มิใช่สถาบันของรัฐ ซึ่งได้แก่ ส่วนเอกชน อันหมายรวมถึงองค์กร และพลังอาสาเอกชนที่อยู่นอกสถาบันอำนาจรัฐด้วย

เป็นการเมืองที่พลเมืองเชื่อว่าตนสามารถเป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีได้ แก้ปัญหาได้ เป็นการเมืองที่คนสนใจต่อปัญหาสังคมและต้องการแก้ไข โดยการรวมกลุ่มกันเป็นองค์กร สมาคม หรือชุมชน  เพื่อทำกิจสาธารณประโยชน์น้อยใหญ่ เป็นอิสระจากกลไกอำนาจรัฐ ไม่เห็นว่าการเมืองเป็นเรื่องของนักการเมืองและรัฐบาลเท่านั้น พลเมืองจึงไม่ใช่เพียงผู้หย่อนบัตรเลือกตั้ง และปฎิบัติตามกฎหมาย

"การเมือง" จึงมิใช่จะสัมพันธ์กับสิ่งที่นักการเมืองทำไปทุกเรื่อง แต่เมื่อการเมืองเป็นเรื่องกิจสาธารณะ การเมืองของพลเมืองจึงเป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้เดือดร้อนมองเห็นปัญหาและอยากแก้ไขให้ชุมชนปลอดภัยน่าอยู่และมีสันติสุข การเกิดขึ้นของพลังสังคมในรูปของประชาสังคม หรือกลุ่มพลเมืองที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข สื่อสาธารณะ การศึกษา ฯลฯ เหล่านี้จึงทำให้พลเมืองมีความหมายในทางการเมืองของสังคมประชาธิปไตย และเป็นความหมายที่กว้างทำให้การเมืองครอบคลุมการกระทำที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณะ แม้ว่าทุกเรื่องทุกอย่างจะไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยตรง แต่ก็มีมิติทางการเมืองอยู่ในแทบทุกเรื่องที่นำพาผู้คนแม้ไม่รู้จักกันให้มาร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหา ผ่านกิจกรรมสาธารณะ (Civic Engagement) ตั้งแต่ระดับชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหายาเสพติด เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชั่น เรื่องโรคเอดส์ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา เป็นต้น พลเมืองจึงเป็นผู้มีส่วนกระทำ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ทางการเมือง แต่เป็นการเมืองที่พลเมืองต้องการมีพันธะทางการเมือง                       (Political Engagement)

สถานะของพลเมืองจึงเป็นผู้ผลิตหรือผู้สร้างการเมือง ดังที่ อาริสโตเติ้ล ก็ได้กล่าวไว้ว่า "ความเป็นพลเมืองจึงมิใช่ผู้ชมหรือผู้เคราะห์ร้ายทางการเมือง แต่บทบาทนี้ได้เปลี่ยนเขาจากการเป็นประชาชนที่รอชมและเรียกร้องโอกาสจากรัฐบาล จากเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่รอการช่วยเหลือมาเป็น "ผู้กระทำ" ที่สามารถทำการเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงได้ และกลายเป็นอำนาจทางการเมืองใหม่ ที่พลเมืองสร้างขึ้นด้วยตัวเอง" นี่คือความแตกต่างระหว่างประชาชนกับพลเมืองสำหรับประเทสของเราจะทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลเมืองที่มีจิตใจประชาธิปไตยเช่นนี้ได้

สำหรับสังคมไทย นอกจากคำว่า "พลเมือง" ที่ใช้ในความหมายของความเป็นพลเมืองแล้ว คนทั่วไปส่วนใหญ่ก็มักจะใช้คำว่าประชาชนด้วย  ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า "ประชาชน" (people) นั้น มีมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งหมายถึงคนที่ไม่ใช่ผู้ปกครอง (non-ruler) ในสมัยโบราณนั้นประชาชนเป็นไพร่หรือทาสเกือบทั้งหมด การเมืองสมัยใหม่ได้ปลดปล่อยประชาชนจากการเป็นไพร่หรือทาส ให้กลายเป็นเสรีชนที่มีสถานะทางกฎหมายเท่าเทียมกัน กลายเป็นราษฎร์  เป็นประชาชนที่อยู่ใต้การปกครองที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ และต้องยึดถือปฎิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเช่นกันหมด การจะเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยก็ต้องเปลี่ยนราษฎรหรือประชาชนให้เป็นพลเมืองด้วย สำหรับประเทสตะวันตกโดยความหมายของพลเมืองนั้น คือ ผู้ที่นอกจากเสียภาษีและปฎิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองแล้ว ยังต้องมีบทบาทและอำนาจทางการเมืองมีสิทธิเข้าไปร่วมทำกิจกรรมต่างๆเพื่อส่วนรวมร่วมกับรัฐด้วย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ การสร้างความตระหนักของบทบาทพลเมืองต่อระบอบประชาธิปไตยยังไม่มีพลังและขาดความต่อเนื่อง การมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมืองจึงเป็นการเข้าร่วมทางการเมืองโดยผ่านตัวแทนคือการเลือกตั้งเท่านั้นและยังต้องตกอยู่ภายใต้บรรยากาศของการแก่งแย่งผลประโยชน์และอำนาจทางการเมืองในระดับชนชั้นนำ ที่มีรัฐประหารบ่อยครั้ง และมีเผด็จการรัฐสภาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจึงถูกกีดกันออกจากการเมืองมากยิ่งขึ้น ทำให้พลังประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นไม่มีความต่อเนื่อง ประกอบกับการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นรัฐราชการโดยมีการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทำให้แนวคิดเรื่องการสร้างพลเมือง หรือกระบวนการกล่อมเกลา (socialization) ทางสังคมเพื่อให้มีพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองจึงยังไม่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

โดยที่หัวใจปรัชญาของประชาธิปไตย คือการปกครองกันเอง พึงตัวเอง ระบอบประชาธิปไตยจึงต้องการพลเมืองที่มีวัฒนธรรมของพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ ( Responsibility) ต่อบ้านเมืองหรือส่วนรวม มีความเสียสละต่อส่วนรวม และรวมกลุ่มเพื่อทำงานส่วนรวม (Civic Engagement) มีความเป็นอิสระ (Freedom) รักในเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์  เคารพในความเสมอภาค (Human Rights) ไม่ว่าจะยากดีมีจน ก็ถือว่าตนเป็นพลเมืองของประเทศซึ่งมีหน้าที่พื้นฐานต่อบ้านเมืองร่วมกัน  ความพยายามใดๆ ของชุมชนท้องถิ่นที่พยายามพึ่งพาตนเองในการแก้ไขปัญหาจากการร่วมจิตร่วมใจของคนในชุมชนด้วยกันจนประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องเสียเวลารอนโยบายจากรัฐ-ราชการ  ไม่ว่าท้องถิ่น หรือระดับชาติ เป็นการลดการพึ่งพาจากภายนอก แต่สามารถผนึกผสานพลังจากภายในชุมชนด้วยกันเอง จึงนับว่าเป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นได้ในระดับชุมชนอย่างแท้จริง ประชาธิปไตยเช่นนี้ จึงเป็นประชาธิปไตยที่อุดมด้วยคุณธรรม เพราะชุมชนมีจิตใจที่เสียสละ ทำความดีร่วมกัน เป็นสำนึกประชาธิปไตย สำนึกสาธารณะที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะกลายเป็นฐานที่แข็งแกร่งในการสร้างพลเมืองในระดับฐานรากของสังคม

โปรดติตามอ่านตอนต่อไปในบันทึกหัวข้อ "คุณลักษณะของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย"

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2013 เวลา 00:05 น.
 


หน้า 518 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8741306

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า