Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

การบริหารจัดการความขัดแย้งทางความคิด

พิมพ์ PDF
การบริหารจัดการ การโต้แย้งทางความคิด

ได้อ่านบทความของอาจารย์วิจารณ์ พาณิช ทำให้เกิดความคิดต่อยอดเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการนำปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมประเทศไทย ไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ (ทำปัญหาให้เป็นโอกาส)

อยากเห็นการนำแนวความคิดนี้ไปใช้กับเรื่องความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยในปัจจุบัน เช่น 1.เรื่องประกันราคาข้าว 2.เรื่องการประมูล 3 G 3.เรื่องการบริหารจัดการน้ำ 4.เรื่องพลังงานของประเทศ (ปตท ปล้นประชาชน) 5.ความปองดอง 6.ความขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อประเทศชาติ 7.ฯลฯ

โดยสามารถจัดให้มีเวทีในการนำเรื่องความคิดเห็นที่ขัดแย้ง มาดำเนินการตามแนวคิดที่กล่าวมา โดยทำในเวทีสถาบันการศึกษา หรือในรายการทีวี หรือในคณะกรรมาธิการในรัฐสภา หรือในเวที workshop ที่หน่วยงานภาครัฐใช้งบประมาณมากมายในการจัดประชุม เสวนา เป็นต้น

( บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช ด้านล่าง )

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบวิเคราะห์อย่างลึก คือให้วิเคราะห์ทั้งสองด้านของข้อโต้แย้ง เพื่อฝึกฝนให้ไม่คิดแบบ ใช่-ไม่ใช่ คือเห็นความซับซ้อนภายในประเด็นหรือเรื่องนั้นๆ นอกจากนั้นการได้ฝึกฟังความเห็นของเพื่อน และแสดงความเห็นของตนเอง เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 31. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (11) ข้อโต้แย้งทางวิชาการ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๓๐ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 11 : Academic Controversy

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 11 ข้อโต้แย้งทางวิชาการ

จุดเน้น  : ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   การอ่าน การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  : สูง

 

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบวิเคราะห์อย่างลึก    คือให้วิเคราะห์ทั้งสองด้านของข้อโต้แย้ง    เพื่อฝึกฝนให้ไม่คิดแบบ ใช่-ไม่ใช่    คือเห็นความซับซ้อนภายในประเด็นหรือเรื่องนั้นๆ    นอกจากนั้นการได้ฝึกฟังความเห็นของเพื่อน และแสดงความเห็นของตนเอง เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร

 

ขั้นตอนดำเนินการ

1.           ครูหาประเด็นตามเนื้อหาในรายวิชา ที่เป็นข้อโต้แย้งหรือหาข้อยุติที่ชัดเจนไม่ได้   รวมทั้งจะช่วยสร้างมุมมองที่แตกต่าง    เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับ นศ.    แต่ก็ไม่สร้างความขัดแย้งหรืออารมณ์รุนแรงเกินไปในกลุ่ม นศ.

2.           เขียนเรื่องขึ้นเป็นกรณีศึกษา    พิมพ์สำเนาลงกระดาษต่างสี    พร้อมคำสั่งหรือแนวทางให้ นศ. ดำเนินการ    เพื่อแจกให้ นศ. ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ สี สมมติว่า สีเขียว(กำหนดให้สีเขียวมีจุดยืนหนึ่งตามในกรณีศึกษา)    กับ สีน้ำเงิน ซึ่งกำหนดให้มีจุดยืนตรงกันข้าม

3.           แบ่ง นศ. ออกเป็น ๒ สี เท่าๆ กัน    แจกเอกสารกรณีศึกษา และบอกให้ นศ. แต่ละคนอ่านเรื่อง และกำหนดความเห็นของตนเองไว้

4.           ให้ นศ. จัดกลุ่ม กลุ่มละ ๔ คน   แต่ละกลุ่มมีสีเขียว ๒ คน   สีน้ำเงิน ๒ คน

5.           ให้ นศ. ในแต่ละกลุ่มจับคู่สีเดียวกัน  ระดมความคิดกันเพื่อหาข้อสนับสนุนจุดยืนตามที่ได้รับมอบตามสี   ใช้เวลา ๒ - ๓ นาที

6.           ให้ นศ. แยกกลุ่ม เดินไปหาเพื่อนสีเดียวกันในห้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน    โดยมีเป้าหมายรวบรวมข้อคิดเห็นสำหรับสนับสนุนจุดยืนตามสีของตน

7.           นศ. กลับมารวมกลุ่ม ๔ คนอย่างเดิม   (ตามข้อ 4)

8.           ให้คู่สีเขียวนำเสนอจุดยืนของตน   คู่สีน้ำเงินฟังโดยไม่พูดอะไร

9.           ให้คู่น้ำเงินซักถามเพื่อความกระจ่าง    แล้วให้คู่น้ำเงินนำเสนอ  คู่เขียวฟัง   หลังจากนั้นคู่เขียวซักถาม

10.      ให้เปลี่ยนข้างจุดยืน  โดยมีเวลาเตรียมคิดสักครู่   แล้วอภิปรายโต้แย้งกัน

11.      หลังจากนั้น ขอให้ทีม ๔ คนอภิปรายหาข้อยุติหรือฉันทามติใน ๔ คน

12.      จัดให้อภิปรายร่วมกันในชั้น   โดยให้ทีม ๔ คน ที่เลือกข้างความเห็นสีเขียวยกมือ   และให้ทีมที่เลือกสีน้ำเงินยกมือ    ให้ นศ. ที่เปลี่ยนความเห็นอธิบายว่าทำไมตนจึงเปลี่ยนใจ

 

ตัวอย่าง

วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ กำหนดให้ นศ. ถกเถียงกันว่า “ใครเป็นเจ้าของอดีต”   โดยครูบรรยายสั้นๆ ว่าในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ถูกกดดันให้คืนสิ่งของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์   กลับไปให้แก่ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งของเหล่านั้น    ด้วยเหตุผลว่ามีการเอามาจากประเทศต้นกำเนิดอย่างไม่ถูกต้อง    ประเทศต้นกำเนิดอารยธรรมโบราณ เช่น กรีซ  จีน  อียิปต์  อิตาลี  จอร์แดน  อิหร่าน  เตอรกี  ปากีสถาน  อ้างว่าสิ่งของเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติ   ที่ช่วยแสดงเอกลักษณ์ของชาติในโลกสมัยใหม่    แต่ภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์ และคนในประเทศตะวันตก อ้างว่าสิ่งของเหล่านั้นเป็นสมบัติของมนุษยชาติ    ที่ควรจะได้นำมาจัดแสดงเพื่อการเรียนรู้อารยธรรมมนุษย์ ที่ก้าวข้ามพรมแดนรัฐชาติ

ครูจึงใช้เครื่องมือ “ข้อโต้แย้งทางวิชาการ” เพื่อให้ นศ. ได้ทำความเข้าใจรายละเอียด   และฝึกคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง

 

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคนิคคล้าย Academic Controversy  ที่มีการพัฒนาสำหรับเรียน online ชื่อ “Progressive Project”   วิธีการคือ   ครูเสนอรายชื่อประเด็น ให้ นศ. เลือก ๑ ประเด็น   แล้วให้ นศ. จับคู่ ระหว่าง นศ. ก  กับ นศ. ข    เริ่มโดย นศ. อ่านเอกสาร   แล้ว นศ. ก เขียนเหตุผลสนับสนุน ๓ ข้อ ส่งให้ นศ. ข    แล้ว นศ. ข เขียนเหตุผลค้าน ๓ ข้อ   แล้วส่งครู    ครูส่งผลงานนี้ไปยัง นศ. อีกคู่หนึ่ง ให้ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของเหตุผลสนับสนุนและเหตุผลค้าน   ส่งกลับให้ครู (Conrad RM, Donaldson JA. (2004). Engaging the online learner : Activities and resources for creative instruction. San Francisco : Jossey-Bass.)

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

แทนที่จะให้ นศ. กลุ่ม ๔ คน หาข้อฉันทามติด้านเขียวหรือด้านน้ำเงิน    เปลี่ยนเป็นให้หาทางสร้างฉันทามติใหม่ ที่เป็นการรอมชอมระหว่างสองขั้ว

 

คำแนะนำ

การให้ นศ. โต้แย้งจากมุมที่ต่างกันทั้งสองมุม ช่วยให้ นศ. ได้ฝึกติดจากต่างมุม   โดยไม่ถูกแรงกดดันจากความคิดแบ่งขั้วในสังคม

 

ข้อคิดเห็นของผม

น่าจะดัดแปลงวิธีการข้างต้น    ให้ นศ. ไปค้นหาข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับข้อโต้แย้งเรื่องนั้นเพิ่มเติมจากในเอกสารกรณีศึกษาของครู   ก็จะทำให้ นศ. ได้ฝึกค้นคว้า   และจะทำให้ได้ฝึกการวิเคราะห์ในมิติที่ซับซ้อนและลึกยิ่งขึ้น

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Jacobson D. (2002). Getting students in a technical class involved in the classroom. In Stanley DA (Ed.), Engaging large classes : Strategies and techniques for college faculty.  Bolton, MA : Anker, pp. 214-216.

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ต.ค. ๕๕

 

เรียนรู้ตลอดชีวิต บทความของคุณวัฒนา คุณประดิษฐ์

พิมพ์ PDF

Constructivism  กับ  การศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาตลอดชีวิต

Constructivism  คือ ลัทธิการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับสร้างองค์ความรู้ 
การศึกษาตามอัธยาศัยมีแนวโน้มในการเป็นลัทธิการศึกษาแนวสร้างองค์ความรู้.
ซึ่งก็แตกต่างอย่างสุดขั้วจากลัทธิการศึกษาอีกประเภทหนึ่ง  คือ ลัทธิท่องจำคำตอบ
แล้วเอาไปสอบอย่างสิ้นเชิง

สมมุติฐานของความรู้และองค์ความรู้  มาจากความรู้  ตัวความรู้ ข้อเท็จจริง
ก็มาจากประสาทสัมผัสทั้งห้า  ทั้งรูป แสง สี  รส กลิ่น สัมผัส  นำเอามาปรุงแต่ง
เป็นการจัดประเภท สร้างเรื่องราว  สร้าง หลักการ กฎ  และการอธิบาย 
การกระทำต่อความรู้เช่นจัดประเภท สร้างเรื่องราว หลักการ กฎ และคำอธิบาย
นั่นแหละคือการสร้างองค์ความรู้

การสร้างองค์ความรู้ มีสิ่งสำคัญในการสร้างอย่างหนึ่งก็คือ ตรรกะและระบบความคิด
ตรรกะและระบบความคิด มีอยู่สองอย่าง คือ นิรนัย และ อุปนัย 
นิรนัย (Deductive) ก็คือตรรกะการให้เหตุผล ที่ร้อยเรียงความรู้มาจาก กฎ หลักการ  ที่รับรู้มาก่อนแล้ว
เพียงแต่เรียบเรียงให้สอดคล้องกับ กฎ ความรู้ หลักการ เหล่านั้น
อุปนัย (Inductive)  ก็คือตรรกะ การให้เหตุผล ที่เกิดจากการสร้าง กฎ หลักการ จากข้อเท็จจริง
โดยเรียบเรียงจากข้อเท็จจริง

ตรรกะแบบนิรนัย ส่วนใหญ่  เป็นความรู้สำเร็จรูปที่กำหนดเป็นความจริงขึ้นมา  การท่องจำกฎ
หลักการ ที่เชื่อว่าเป็นจริง  ถือว่าปลอดภัยเพราะหลักการเหล่านี้ได้ถูกกลั่นกรองโดยนักวิชาการ
แต่ไม่มีองค์ความรู้ใหม่   ในแต่ละบริบท  ตรรกะชุดนี้ยึดความจริงสูงสุดของอำนาจที่กำหนด
จากหลักสูตร  ไม่ให้ความสำคัญของคนหรือผู้เรียนรู้  ผู้เรียนรู้อยู่ในฐานะของ Object

ตรรกะแบบอุปนัย  ใช้วิธีการเรียบเรียงข้อเท็จจริง  เข้าไปสู่ หลักการ กฎ  วิธีการเหล่านี้จะพบว่า
มีหลักการ กฎที่หลากหลาย  เนื่องจากมีองค์ความรู้และวิธีการที่แตกต่างตรงบริบท และเน้นความสำคัญ
และให้ความสำคัญของมนุษย์  และสถาปนามนุษย์ให้อยู่ในฐานของ Subject

ยกตัวอย่างองค์ความรู้ทางการเกษตรแผนใหม่ผ่านระบบการศึกษา  เน้นการจัดการเกษตรเชิงเดี่ยวแบบ
พึ่งพา  ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และเทคโนโลยที่จะซื้อ  ไปสู่ระบบการจัดการฟาร์ม  ด้วยหลักวิทยาศาสตร์
จัดการทำต้นทุน กำไร ขาดทุน แบบการบริหารธุรกิจ  ความเป็นจริงแบบนี้ได้ถูกสร้างโดยนักวิชาการ
ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ  ที่ได้เรียนรู้ระบบเกษตรแบบปฏิวัติเขียว เขาจึงนำมาเขียนหลักสูตร

ส่วนอีกองค์ความรู้หนึ่ง  มาจากเกษตรกรที่สังเกตวิถีชีวิตของตนเอง  ว่าทำอะไรก็เป็นหนี้สินเพราะอะไร
เกิดการคิดวิเคราะห์ออกมา และทดลองการผลิตแบบใหม่ที่ไม่พึ่งพาตลาด  พึ่งพาตนเอง  ผลของการค้นคิด
ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตของการพึ่งพาตนเอง  อันเกิดจากการคิดจากขอ้เท็จจริงที่มีอยู่  และสรุปลงเป็น
ทฤษฎีว่า  ถ้าใช้การผลิตแบบเดิมพึ่งพาตลาด จะต้องชอกช้ำใจ  และเป็นหนี้ตลอดกาล  หากผลิตการเกษตร
แบบพึ่งพาตนเอง ก็จะมีซุปเปอร์มาเก็ตอยู่ในสวนของตนเอง 

ความล่มจมของเกษตรกรไทย มาจากวิธีแบบไหน คงจะสรุปเป็น กฎและทฤษฎีได้
แต่เนื่องจากความพยายามของนายทุนบรรษัทข้ามชาติ ทำให้ระบบเกษตรแบบพึ่งพา
ได้สนับสนุนและถูกชื้อตัวจากการหลอกไปแลกแจกกระดาษ  ตลอดจนการทำให้เกิดหลักสูตร
ที่พึ่งพาการใข้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง  ผ่านการส่งเสริมของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง
กับการเกษตร  เพื่อให้เกษตรกรของเราเป็นผู้บริโภคปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และปัจจัยการผลิต
ราคาแพง  ด้วยการจูงใจด้วยกำไรที่เป็นตัวเงิน ซึ่งก็ถูกกำหนดโดยกลไกของการตลาด
ที่มีพ่อค้าคนกลางได้รับผลประโยชน์สูงสุด

การศึกษาตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิตของขบวนการปราชญ์ชาวบ้านอีสาน
เป็นไปในรูปแบบของการสร้างองค์ความรู้ จากปรากฎการณ์  ที่เป็นอยู่  ทำให้หลุดพ้น
จากการเป็นหนี้ และมีคุณภาพชีวิตที่มีอยู่  และปรากฎการณ์สำคัญอีกปรากฎการณ์หนึ่ง
คือปรากฏการณ์หมอเขียว  หมอเขียวทำงานสาธารณสุข ได้สังเกตว่า วิธีวิทยาทางการแพทย์
ส่วนใหญ่เฉพาะโรคเรื้อรัง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของคนป่วยไข้ได้  หมอเขียวจึงได้พยายาม
หาวิธีการรักษาแบบพึ่งพาตนเอง ไม่พึ่งพาหมอ  ด้วยการทดลองทุกอย่างด้วยตนเอง และ
รักษาคนรอบข้าง  จนเกิดทฤษฎีแบบหมอเขียว ทฤษฎีสมดุลร้อนเย็น สมัยใหม่  การสร้าง
องค์ความรู้แบบนี้ทำให้คนหันมาพึ่งพาตนเอง  เป็น Super Constructivism  ที่มีปรากฎการณ์
ที่เห็นได้ สัมผัสได้  ได้ผลจริง

สรุปแล้วว่า Constructivism อยู่คู่ กับ การเรียนรู้ตลอดชีวิต  การศึกษาตามอัธยาศัย
ชนิดแยกออกจากกันไม่ออก  เพียงแต่ถูกกีดกัน  ลดบทบาท  ไม่ให้คนได้พึ่งพาตนเองได้
ก็เท่านั้นเอง

 

คำสำคัญ (keywords): เรียนรู้ตลอดชีวิต
· เลขที่บันทึก: 506163
· สร้าง: 19 ตุลาคม 2555 09:51 · แก้ไข: 19 ตุลาคม 2555 09:51
· ผู้อ่าน: 11 · ดอกไม้: 1 · ความเห็น: 1 · สร้าง: ประมาณ 1 ชั่วโมง ที่แล้ว
· สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน
 

บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช เทคนิคช่วยความจำ

พิมพ์ PDF
นี่คือเทคนิคช่วยความจำแก่ นศ. ในเนื้อหาส่วนที่ต้องจำ เช่นคำศัพท์ ข้อเท็จจริงบางเรื่อง ปีของเหตุการณ์ ชื่อบุคคล เป็นต้น

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 26. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (6) เกม “ทีมเป็นหรือตาย”

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๒๓ นี้ ได้จาก Chapter 12  ชื่อ Knowledge, Skills, Recall, and Understanding    และเป็นเรื่องของ SET 6 :  Team Jeopardy

 

SET 6 เกม “ทีมเป็นหรือตาย”

จุดเน้น  : ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   อภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  : ต่ำ

 

นี่คือเทคนิคช่วยความจำแก่ นศ. ในเนื้อหาส่วนที่ต้องจำ   เช่นคำศัพท์  ข้อเท็จจริงบางเรื่อง  ปีของเหตุการณ์  ชื่อบุคคล    ชื่อเกม Team Jeopardy นั้น ศ. เอลิซาเบธ เอามาจากรายการทีวี Jeopardy!   หากครูท่านใดจัดเกมนี้ให้ นศ. เล่น ก็ตั้งชื่อให้โดนใจได้ตามบริบทของ นศ. ของท่านเอง

นศ. เล่นแข่งขันกันเป็นทีม   แต่ละทีมหมุนเวียนกันเลือกคำถามในชนิดคำถามของรอบนั้น ปรึกษากันแล้วตอบ

คำถามในสลากเป็นเรื่องราวในวิชาที่เรียน    โดยเขียนในรูปของคำตอบ   เช่นวิชาประวัติศาสตร์ไทย ชั้น ป. ๔   สลากใบหนึ่งเขียนว่า “พระมหากษัตริย์ผู้ก่อตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง”   คำตอบคือ พระเจ้าอู่ทอง    สลากอีกใบหนึ่งเขียนว่า  “พ.ศ. ที่กรุงศรีอยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าครั้งที่ ๑”   คำตอบคือ ๒๑๑๒

 

ขั้นตอนดำเนินการ

  1. เลือกเครื่องมือเล่นเกม   เช่น ฉายคำถามขึ้นจอ   หรืออย่างอื่น
  2. คิดชนิดของคำถาม ว่าจะมีชนิดใดบ้าง   เช่น คน  สถานที่  เหตุการณ์  วันที่  พ.ศ.  สิ่งของ เป็นต้น   กำหนดว่าจะให้มีกี่คำถามในแต่ละชนิดคำถาม   จะให้มีการแข่งขันกี่รอบ
  3. ทำตารางสำหรับฉายขึ้นจอ   บอกชนิดของคำถาม  และคะแนนสำหรับคำถามหากตอบถูก   เช่นตัวอย่างข้างล่าง

 

ชนิดที่ ๑

ชนิดที่ ๒

ชนิดที่ ๓

ชนิดที่ ๔

ชนิดที่ ๕

๑๐

๑๐

๑๐

๑๐

๑๐

๑๕

๑๕

๑๕

๑๕

๑๕

๒๐

๒๐

๒๐

๒๐

๒๐

๒๕

๒๕

๒๕

๒๕

๒๕

 

  1. เตรียมคำถามสำหรับแต่ละชนิดของคำถาม เรียงลำดับยากง่าย    และกำหนดคะแนนสำหรับแต่ละคำถาม
  2. กำหนดวิธีขอเช้าแข่ง    วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ให้หัวหน้าทีมยกมือและร้องว่า “พร้อม”
  3. กำหนดกติกาการเล่น   ซึ่งมีความหลากหลายได้มาก   ตัวอย่างกติกาดังข้างล่าง

-               แต่ละทีมมีหัวหน้าทีม ใช้เวลาไม่เกิน ๓๐ วินาทีเลือกคำถามตามในตาราง (เช่น ชนิดที่ ๑ ช่อง ๒๕ คะแนน)

-               ทีม ก เริ่มเล่น   ครูอ่านคำถาม  ทีม ก มีเวลาปรึกษากัน ๑ นาที และแจ้ง “พร้อมตอบ”

-               เมื่อทีม ก แจ้งพร้อมตอบ  หัวหน้าทีมมีเวลา ๓๐ วินาที ในการตอบ ต่อเพื่อนทั้งชั้น

-               หากตอบถูก ทีม ก ได้คะแนนตามที่ระบุไว้    และทีม ข จะเป็นผู้เล่นต่อไป

-               หากตอบผิด  ทีม ก ได้ ๐ คะแนน   และทีม ข ได้โอกาสตอบ   หากทีม ข ตอบถูก  ก็จะได้คะแนนของข้อนั้น   และได้โอกาสเลือกเล่นคำถามอีก ๑ ข้อ

-               หากตอบไม่ได้ในเวลาที่กำหนด   ทีมนั้นไม่ได้คะแนนของข้อนั้น   และทีมต่อไปได้โอกาสตอบ    หากตอบถูก ได้โอกาสเลือกตอบอีกข้อหนึ่ง

-               เมื่อเล่นจบ ทีมที่ได้คะแนนสูงสุดได้ที่ ๑, ๒, ๓ ตามลำดับ   หากคะแนนเท่ากัน มีการแข่งตัดเชือก

-               สมาชิกของทีมที่ได้ที่ ๑ ได้คะแนนสะสม ๕๐ แต้ม   ที่ ๒ ได้ ๓๐   ที่ ๓ ได้ ๑๐

 

  1. แบ่ง นศ. ในชั้นเป็นทีม ทีมละ ๕ - ๖ คน   และให้เลือกหัวหน้าทีม ๑ คน เป็นผู้ขอเข้าแข่ง   เลือกคำถาม  และตอบคำตอบหลังปรึกษากันในทีม
  2. เขียนกติกา  ติดประกาศไว้ในชั้น   และทำความเข้าใจกับ นศ.   รวมทั้งตอบคำถามจนเข้าใจทั่วกัน
  3. จับฉลากว่าทีมไหนเล่นก่อน
  4. เริ่มเล่น  ดำเนินตามกติกา
  5. กาช่องคำถามที่ถูกเลือกแล้ว
  6. จัดให้มีแผ่นกระดาษติดประกาศคะแนนของแต่ละทีม

 

ตัวอย่าง

วิชา ประวัติศาสตร์อเมริกัน

ครูใช้การเล่นเกมช่วยทบทวนสาระ ๑ สัปดาห์ก่อนสอบกลางเทอม  และก่อนสอบปลายเทอม   โดยในวันก่อนเล่นเกม ครูแจกคู่มือทบทวนสาระของวิชา ว่าสาระประกอบด้วยความรู้ในชนิดใดบ้าง    นศ. บอกว่าชอบการทบทวนโดยเล่นเกมมาก   และผลสัมฤทธิ์ของการเรียนของ นศ. ดีขึ้นกว่าเดิม

 

การปรับใช้กับการเรียน online

จัดไม่ได้

 

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

  • อาจเปลี่ยนรูปแบบของคำถาม  เช่นแทนที่จะถามด้วยคำตอบ ก็ใช้คำถามธรรมดา
  • เพื่อช่วย นศ. Visual learner  หรือ นศ. ต่างชาติที่ไม่เก่งภาษาที่ใช้ในชั้นเรียน   ฉายคำถามขึ้นจอ แทนครูอ่าน
  • อาจตั้งคำถามชนิดที่ต้องใช้ความคิดซับซ้อน  หรือให้แก้ปัญหา   โดยให้เวลาคิดเพิ่มขึ้น
  • อาจซ่อน “คำถามคะแนนพิเศษ” ที่จะได้แก่ทีมที่บังเอิญเลือก    เพื่อสร้างความตื่นเต้น
  • ไม่ควรมีคะแนนติดลบ   เพราะจะสร้างความกังวลแก่ นศ. โดยใช่เหตุ
  • อาจให้ นศ. ผลัดกันทำหน้าที่จัดเกม
  • มีเว็บไซต์ www.learningware.com มี ซอฟท์แวร์สำหรับสร้างเกม   และแนะนำวิธีใช้ online
  • อาจดัดแปลงได้อีกมากมาย

คำแนะนำ

  • การเล่นเกมเป็นหรือตายเหมาะมากในวิชาที่มีสาระที่ต้องจำมาก    ไม่ค่อยเหมาะแก่วิชาที่เน้นการคิด
  • อย่าลืมจัดให้มีคู่มือการเรียน เพื่อให้ นศ. เตรียมตัว
  • ใช้ นศ. เป็น “ ผู้ช่วยพิธีกร”
  • การเล่นเกมนี้ เน้นการทำงานเป็นทีมหรือช่วยเหลือกัน   ดังนั้น ครูน่าจะสร้างกติกาอนุญาตให้ทีมขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในชั้นได้
  • อย่าลืมมีกติกาลงโทษ นศ. ที่ป่วนเกม หรือขี้โกง

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Yaman D, Covington M. I’ll take learning for 500 : Using game shows to engage, motivate, and train. San Francisco : Pfeiffer, pp. 47-49.

วิจารณ์ พานิช

๑๒ ต.ค. ๕๕

 

บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF

สัปดาห์ระหว่างวันที่ ๑๐ - ๑๕ ก.ย.​ ๕๕ ผมมีโอกาสเรียนรู้เรื่องนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพถึง ๒ ช่วง   คือเมื่อเช้าวันจันทร์ที่ ๑๐ กับ เช้าวันเสาร์ที่ ๑๕

เช้าวันที่ ๑๐ ก.ย. ผมไปร่วมประชุมคณะกรรมการกำกับทิศของโครงการประเมินการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๐-๒๕๕๔   การประเมินนี้ดำเนินการโดย HITAP โดยที่ สช. ทำงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ ด้วยเครื่องมือ ๓ ชิ้น   คือ (๑) ธรรมนูญสุขภาพ  (๒) สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ และสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่  (๓) CHIA (Community Health Impact Assessment)

การประชุมนี้ เป็นการให้คำแนะนำต่อรายงานความก้าวหน้าของการประเมิน   ที่รายงานโดย (๑) ศ. นพ. ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล  (๒) ดร. ภญ. สิตาพร ยังคง  และ (๓) รศ. ดร. ลือชัย ศรีเงินยวง   ซึ่งหลังฟังท่านทั้งสามนำเสนอแล้ว ผมมีความเห็นว่า เรื่องนี้ขึ้นกับว่า คสช. มีเป้าหมายที่แท้จริงเป็นอะไรแน่   เป็นการพัฒนานโยบายเป็นชิ้นๆ   หรือเป็นการพัฒนากระบวนทัศน์และขีดความสามารถของสังคมไทยในการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพ    โดยผมอยากให้เลือกเป้าหมายหลังเป็นตัวหลัก    อาจมองว่าสัดส่วนระหว่างเป้าหมายแรกกับเป้าหมายหลัง = 1:2 ซึ่งหากคิดเช่นนี้ เครื่องมือ ๓ ชิ้นที่มีอยู่จะไม่เพียงพอ

 

ผมจึงเสนอเครื่องมือชิ้นที่ ๔ คือหลักสูตรการศึกษา    ผมเสนอให้ สช. ตั้งงบประมาณสักปีละ ๑๐ ล้านบาท นำไปร่วมมือกับ สกว. ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น    ให้ดำเนินการส่งเสริมการเรียนแบบ PBLในโรงเรียน ที่โจทย์คือการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพในพื้นที่    ที่จะทำให้เด็กได้เรียนครบทั้ง ๘ หน่วยสาระ   โดย สช. ต้องร่วมกับ สกว. จัด workshop ฝึกอบรมครูในโรงเรียนที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ ให้รู้วิธีตั้งโจทย์ PBL  และวิธีทำหน้าที่ coach การเรียนรู้ด้วยการลงมือทำของนักเรียน   เพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ครบทุกหน่วยสาระวิชาจากการลงมือทำโครงงานพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพในพื้นที่   ซึ่งนักเรียนจะต้องเก็บข้อมูลในพื้นที่ โดยต้องขอความช่วยเหลือจากพ่อแม่และคนในครอบครัว ผู้นำชุมชน และคนในพื้นที่   คำถามของเด็ก จะค่อยๆ สร้างกระบวนทัศน์เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพขึ้นภายในชุมชนหรือพื้นที่    และเมื่อเด็กทำโครงงานจบ ก็ให้เสนอรายงานต่อประชาคมในพื้นที่ ก็จะยิ่งสร้างความตระหนักเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายสาธารณะกับสุขภาวะของคนในชุมชน

 

โครงงานแบบนี้ทำได้ในนักเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมต้น ไปจนถึงมัธยมปลาย   แม้ระดับอุดมศึกษาก็ใช้ได้   ขึ้นอยู่กับการตั้งโจทย์ให้ซับซ้อนมากน้อยแตกต่างกัน

 

วันที่ ๑๕ ก.ย. ผมไปร่วมประชุม โครงการเสริมสร้างศักยภาพนักพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ของ สช.

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ย. ๕๕

 

 

· เลขที่บันทึก: 505328
· สร้าง: 12 ตุลาคม 2555 11:09 · แก้ไข: 12 ตุลาคม 2555 11:09
· ผู้อ่าน: 65 · ดอกไม้: 4 · ความเห็น: 0 · สร้าง: 2 วัน ที่แล้ว
· สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน
 

บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช เทคนิคให้นักศึกษาเรียนรู้เนื้อหาสาระ

พิมพ์ PDF
เทคนิคให้ นศ. เรียนเนื้อหาสาระโดยการเรียนแบบที่ไม่ใช่การบรรยายหน้าชั้น แต่เรียนจากสถานีนิทรรศการความรู้ ได้ฟัง ซักถาม แลกเปลี่ยน จดบันทึก เมื่อพอใจแล้วก็เคลื่อนไปสถานีต่อไป ตัวนิทรรศการจัดได้หลากหลายแบบ ตั้งแต่ง่ายที่สุดคือใช้กระดาษ ฟลิพชาร์ท เขียนคำถามคำเดียว หรือเขียนข้อความที่คัดลอกมา ไปจนถึงหนังสั้น วิดีโอคลิป หรือวัสดุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนพร้อมคำถามหรือประเด็นอภิปราย

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 25. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (5) สถานีความรู้

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๒๓ นี้ ได้จาก Chapter 12  ชื่อ Knowledge, Skills, Recall, and Understanding    และเป็นเรื่องของ SET 5 :  Stations

 

SET 5   สถานีความรู้

จุดเน้น  : ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   หลากหลาย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  : สูง

 

นี่คือเทคนิคให้ นศ. เรียนเนื้อหาสาระโดยการเรียนแบบที่ไม่ใช่การบรรยายหน้าชั้น    แต่เรียนจากสถานีนิทรรศการความรู้   ได้ฟัง ซักถาม แลกเปลี่ยน จดบันทึก   เมื่อพอใจแล้วก็เคลื่อนไปสถานีต่อไป    ตัวนิทรรศการจัดได้หลากหลายแบบ   ตั้งแต่ง่ายที่สุดคือใช้กระดาษ ฟลิพชาร์ท เขียนคำถามคำเดียว   หรือเขียนข้อความที่คัดลอกมา    ไปจนถึงหนังสั้น วิดีโอคลิป   หรือวัสดุสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนพร้อมคำถามหรือประเด็นอภิปราย

 

ขั้นตอนดำเนินการ

  1. เลือกประเด็นที่เหมาะต่อการเรียนจากนิทรรศการ   และเตรียมคิดว่าวัตถุ หรือรายการสิ่งของใดบ้างที่จะนำมาใช้กระตุ้นความสนใจและการเรียนรู้ในมิติที่ลึก และดึงดูดความสนใจของ นศ.
  2. วางแผนว่าจะมีกี่สถานี   สถานีอะไรบ้าง   แต่ละสถานีใช้เวลาเท่าไร   ใช้อะไรเป็นนิทรรศการ   สถานีแบบ stand alone จะดีกว่า คือไม่ใช่ว่าต้องผ่านสถานีที่ ๑ ก่อน จึงจะศึกษาสถานีที่ ๒ รู้เรื่อง   เพราะจะเปิดโอกาสให้ นศ. มีอิสระที่จะเริ่มที่สถานีไหนก็ได้
  3. เตรียมนิทรรศการ   และจัดทำคู่มือการเรียนจากสถานีความรู้แต่ละสถานี   พร้อมด้วยใบงานคำถาม
  4. วางแผนจัดการกลุ่ม นศ. เข้าชมนิทรรศการ ว่าจะให้เข้าไปเป็นกลุ่ม กลุ่มละกี่คน   เวียนเส้นทางอย่างไร ฯลฯ    ยิ่งกลุ่มเล็กจะยิ่งทำให้การเรียนรู้เข้มข้น เช่น ๒ - ๓ คน
  5. แบ่ง นศ. ออกเป็นกลุ่ม  มอบใบงาน   และอธิบายวิธีเรียนจากนิทรรศการ   พร้อมกับมอบหมายคำถาม

ตัวอย่าง

วิชา African American Literature

ใช้การเรียนจากสถานีนิทรรศการเป็นกิจกรรมติดตามผลการอ่านหนังสือที่มอบหมาย   ซึ่งตามตัวอย่างคือ Autobiography of My Mother โดย Jamaica Kincaid จัดสถานีนิทรรศการ ๖ สถานี   แบ่ง นศ. เป็นกลุ่มละ ๕ คน   สถานีแรก คัดลอก ๒ ประโยคแรกมาไว้    และตั้งคำถามว่า ถ้อยคำนี้ให้ความหมายหรือความคาดหวังอะไรแก่ นศ.   นศ. แต่ละกลุ่มได้รับปากกาสำหรับเขียนคำตอบ (ลงบนกระดาษที่จัดไว้ที่แต่ละสถานี)    ปากกาของแต่ละกลุ่มต่างสีกัน   เมื่อครบเวลา ๑๐ นาที ครูออกคำสั่ง “เปลี่ยนกลุ่ม”   เมื่อวนครบรอบแล้ว วนใหม่อีกรอบ ไปโหวดว่าคำตอบของกลุ่มไหนแสดงความคิดที่ลุ่มลึกหรือน่าสนใจที่สุด   การเรียนคาบนี้จบลงด้วยการอภิปรายทั้งชั้น   และการมอบรางวัลแก่กลุ่มที่ได้รับคะแนนโหวดสูงสุด

 

วิชาคณิตศาสตร์

เป้าหมายของการเรียนจากนิทรรศการ ก็เพื่อให้ นศ. ในรายวิชาคณิตศาสตร์เรียนแก้ตัว ได้เข้าใจคุณค่าของคณิตศาสตร์ต่อชีวิตในอนาคตของตน   โดยจัดนิทรรศการ “คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน : ตัวเลขมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของแต่ละวันอย่างไร”  ในช่วงต้นๆ ของภาคการศึกษา    โดยจัดให้มี ๕ สถานี

สถานีแรกชื่อ “เล่นแล้วชนะ”  ประกอบด้วยโปสเตอร์ชักชวนเล่นการพนันหลากหลายชนิด   แล้วให้ นศ. จับสลากกระดาษสีจากกล่อง    แล้วทำความเข้าใจว่า probability ที่จะชนะคือเท่าไร

สถานีที่ ๒ ชื่อ “การออมกับการกู้”  แสดงดอกเบี้ยธรรมดา กับดอกเบี้ยทบต้น   เอาตัวเลขดอกเบี้ยเงินฝาก  กับดอกเบี้ยเงินกู้ (กรณีประเทศไทยน่าจะเอาดอกเบี้ยเงินผ่อนรถยนต์) มาให้ดู    แล้วถามว่า ความรู้จากข้อมูลเหล่านี้ จะมีผลต่อการดำรงชีวิตในอนาคต ด้านการเงิน ของตนอย่างไร

สถานีที่ ๓, ๔, ๕ ได้แก่ “การเพิ่มประชากร”  “ทำครัวด้วยตัวเลข” และ “คณิตศาสตร์ : ภาษาสากล”

หลังจาก นศ. ผ่านครบทุกสถานี   จัดการอภิปรายทั้งชั้น   แล้วจึงเก็บกระดาษใบงาน

 

วิชาประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา

เพื่อให้ นศ. เข้าใจมิติเชิงลึกของ “กรณี วอเตอร์เกท” ที่ทีมงานของพรรครีพับลิกันลอบดักฟังการประชุมพรรคเดโมแครต ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕   ซึ่งต่อมามีผลให้ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปลด   ครูมอบให้ นศ. เข้าไปเรียนรู้นิทรรศการ online ของ Ford Library ชื่อ “The Watergate Files” ซึ่งมี ๕ นิทรรศการย่อย    โดยครูมีเอกสารใบงานเป็นคู่มือในการศึกษาจากแต่ละนิทรรศการ   พร้อมคำถามให้ นศ. ตอบทั้งแบบ ตอบด้วยหลักฐาน (objective answer)  และตอบด้วยความคิดเชิงนามธรรมของตนเอง (subjective answer)    และสุดท้าย ให้ นศ. เขียนเรียงความสะท้อนการเรียนรู้ของตน

 

การปรับใช้กับการเรียน online

ใช้ได้ดี   ดังตัวอย่างวิชาประวัติศาสตร์ข้างบน

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

  • หา เว็บไซต์ ที่มีนิทรรศการ ออนไลน์ เอาไว้ใช้ประโยชน์    ใน สรอ. สามารถค้นหาได้ด้วยคำว่า “educational exhibits”   เขาแนะนำ Resources for Science Learning ของ Franklin Institute

คำแนะนำ

  • อาจติดโปสเตอร์นิทรรศการที่ผนังห้องเรียน    การจ้างพิมพ์โปสเตอร์เดี๋ยวนี้ราคาไม่สูง   และพิมพ์ได้จาก อีเล็กทรอนิก ไฟล์
  • การเรียนจากนิทรรศการนี้ นศ. ที่มีสไตล์เรียนรู้ แบบ visual และ kinesthetic learner จะเรียนได้ดี
  • กรณีที่ข้อมูลในนิทรรศการซับซ้อนมาก ต้องให้เวลาแก่การเรียนจากนิทรรศการมากพอ
  • การเรียนจากนิทรรศการที่จัดอย่างดี จะได้การเรียนรู้ที่ลึกและเชื่อมโยง
  • ถ้าสภาพห้องเรียนไม่เหมาะต่อนิทรรศการ อาจไปใช้สถานที่อื่น
  • อย่าลืมให้ นศ. อาสาสมัคร มีส่วนจัดนิทรรศการ

 

หมายเหตุของผม

วงการศึกษาไทยควรพิจารณาดำเนินการพัฒนาศักยภาพของแหล่งเรียนรู้ภายนอกสถานศึกษา (เช่น พิพิธภัณฑ์  แหล่งประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี   สวนพฤกษศาสตร์  วนอุทยาน ฯลฯ)  ให้จัดนิทรรศการเพื่อการเรียนรู้ได้เหมาะต่อการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษายิ่งขึ้น   รวมทั้งมีนิทรรศการ online ด้วย

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Brookfield SD, Preskill S. (2005) Discussion as a way of teaching : Tools and techniques for democratic classrooms. San Francisco : Jossey-Bass, pp. 107-108.

วิจารณ์ พานิช

๑๐ ต.ค. ๕๕

 

· เลขที่บันทึก: 505297
· สร้าง: 12 ตุลาคม 2555 04:23 · แก้ไข: 12 ตุลาคม 2555 12:13
· ผู้อ่าน: 42 · ดอกไม้: 3 · ความเห็น: 0 · สร้าง: 2 วัน ที่แล้ว
· สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน
 


หน้า 521 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5613
Content : 3053
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8642971

facebook

Twitter


บทความเก่า