Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : 2003. เดินออกกำลังที่ตลาดหาดใหญ่

พิมพ์ PDF

เช้ามืดวันที่ ๓๐ ส.ค. ๕๖ ผมออกจากโรงแรมเซนทารา กลางเมืองหาดใหญ่   เดินออกไปทางถนน สาย ๓หรือนิพัทธ์อุทิศ ๓ เดินไปทางทิศใต้   ความรู้สึกแรกคือความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าตอนที่ผมออกมาวิ่งเมื่อหลายปีที่แล้ว อย่างมากมาย   ทางเท้าปูด้วยกระเบื้องเคลือบสวยงาม และเป็นสีและลายชุดเดียวกันทั้งหมด   และไม่มีเสาไฟและสายไฟริมถนน รกรุงรังอีกแล้ว    ทราบภายหลังว่า ทางเทศบาลจัดการเอาลงใต้ดินหมด

ยามเช้าวันนี้อากาศเย็นสบาย   รถยังมีน้อยมาก จึงไม่มีเสียงหนวกหู   และไม่รู้สึกว่ามีมลพิษทางอากาศอย่างในเมือง โดยทั่วไป    ผมเดาว่าอีกสักชั่วโมงเดียว อากาศและบรรยากาศก็จะไม่ดีอย่างนี้

เดินผ่านมูลนิธิสงเคราะห์คนชราอนาถา อยู่ติดกับสมาคมกว๋องสิว ทำให้ผมนึกชมสปิริตคนจีน   ที่มีจิตสาธารณะ และจิตกุศล รวมตัวกันบริจาคเงินตั้งสมาคมและมูลนิธิช่วยเหลือกัน   โดยเฉพาะช่วยเหลือคนชราอนาถา    ที่หาดใหญ่มีหลายมูลนิธิ   ทำอย่างไรสังคมไทยจะปลูกฝังจิตสาธารณะให้เข้มแข็งเช่นนี้บ้าง

ผมเดินไปจนสุดถนนสาย ๓ แล้วเลี้ยวขวา ไปสู่ถนนสาย ๑  ผ่านร้านที่ผมคิดถึงบ่อยๆ และไม่ได้ไปกินนานมากแล้ว  ชื่อร้านเจ็งง้วน อยู่ปลายสุดถนนสาย ๑ ทางทิศใต้   ลักษณะของร้านยังเหมือนเดิมไม่ผิดเพี้ยน คือไม่หรูหรา    สมัยผมไปกิน อาหารอร่อยและมีลักษณะจำเพาะ   ได้แก่ปลากระบอกนึ่งเกลือ   เต้าหู้ทอด (กินกับน้ำจิ้มคือน้ำเกลือใส่ต้นกระเทียมหั่น  หากใช้น้ำจิ้มผิด จะโดนดุ)  แฮ่กึ๊น  ฯลฯ

ผมเดินขึ้นเหนือไปตามถนนสาย ๑   ถ่ายรูปถนนและอาคารบ้านเรือน   จนไปพบคนกำลังเอากรงนกกรงหัวจุกมาแขวนที่หน้าร้านหลายกรง    ความชอบนกชนิดนี้ ทำให้ผมอดถ่ายรูปไม่ได้    สมัยผมอยู่หาดใหญ่ ผมเลี้ยงนกชนิดนี้ และชนิดอื่นๆ ที่บ้านพัก    ช่วงที่บ้าเลี้ยงนก ผมเลี้ยงราวๆ ๒๐ ตัว

เดินผ่านอาคารเก่าที่เดาว่าเขาคงอนุรักษ์ไว้    มีการปรับปรุงและทาสีใหม่หลากสีสวยงามเป็นลูกกวาดทีเดียว

ตอนเช้าเช่นนี้ ร้านที่เปิดมักเป็นร้านอาหาร ส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารจีน จำพวกแต้เตี๊ยม   และมีร้านอิสลามด้วย

การได้ไปเดินออกกำลังกายและชมบรรยากาศ และชีวิตผู้คนยามเช้าที่หาดใญ่วันนี้ ทำให้ผมรำลึกถึงวันเก่าๆ   ที่ผมไปอยู่ที่หาดใหญ่เกือบ ๒๐ ปี   ผมแทบไม่เคยได้มาชมบรรยากาศยามเช้าตรู่ในเมืองเช่นนี้ เป็นการทำความรู้จักซึมซับบ้านเมือง และชีวิตผู้คนที่ดีมาก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๐ ส.ค. ๕๖

 

มูลนิธิสงเคราะห์คนชราอนาถา

สมาคมกว๋องสิวหาดใหญ่

ร้านเจ็งง้วน

นกกรงหัวจุก

 

ทางเท้าและถนนที่เป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงาม

 

อาคารเก่า

 

อาคารเก่าทาสีลูกกวาด

 

บรรยากาศสวยงาม

 

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2013 เวลา 07:46 น.
 

ขอความร่วมมือทางออนไลน์จากประชาชนได้อย่างไร

พิมพ์ PDF

ดิฉันเองคิดว่า การที่ สรอ. เข้ามาสนับสนุนการเติบโตของชุมชน GotoKnow ของเรา และ สรอ. ได้รับความคิดเห็นจากสมาชิกในประเด็นต่างๆ ของ สรอ. ขอความรู้ หรือที่เรียกว่า Crowdsourcing เพื่อนำไปประกอบการกำหนดนโยบายทางด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นโครงการที่มีประโยชน์มากนะคะ

เช่น ในปีที่ผ่านมา สรอ. ขอความรู้จากชุมชน  GotoKnow ด้านเทคโนโลยีการศึกษา และข้อมูลที่ได้ทางทีมงานก็นำมารวบรวมและสกัด แล้วจึงนำมาเผยแพร่ต่อในเวลาต่อมา นี่เป็นตัวอย่างต้นแบบในการบูรณาการด้าน e-Participation หรือ การมีส่วนร่วมของประชาชนทางออนไลน์ กับด้าน e-Policy ค่ะ

แต่นี่ก็คงเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ค่ะ สรอ. ยังสามารถทำอะไรได้อีกเยอะแยะกับการสร้าง e-participation ค่ะ เช่น การทำ votes และ polls หรืออาจจะเป็นการ online public decision making ในระดับต่างๆ เป็นต้น

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือทำอย่างไรจึงจะได้ความใส่ใจและความกระตือรือร้นจากประชาชนในต่อการมีส่วนร่วมเหล่านี้อย่างต่อเนื่องทางออนไลน์

ดิฉันคิดว่าไม่ยากนะคะแต่ต้องทำอย่างจริงจังค่ะ ด้วยวิธีการเหล่านี้ค่ะ เช่น

 

  1. สรอ. ควรมีเว็บไซต์กลางของการทำ e-participation ค่ะ
  2. สื่อสารออนไลน์กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ จะสั้นแบบรายวัน หรือจะยาวหน่อยแบบรายสัปดาห์ และมีหลายช่องทางให้ประชาชนสามารถติดตามข่าวสารได้ค่ะ
  3. นอกจากมีเนื้อหาที่เกิดขึ้นจากทางภาครัฐแล้วควรจะสร้างให้เกิดเนื้อหาจากทางประชาชน แสดงให้เห็นการสื่อสารแบบสองทางที่เป็นไปอย่าง active ไม่ใช่มีเพียงแค่ข้อมูลจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงด้านเดียวค่ะ
  4. โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้ความสำคัญกับการแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ (Contribution) ของประชาชนค่ะ เช่น hilight ประโยคเด่นของประชาชน เป็นต้น
  5. ชี้แจงกันให้ชัดค่ะว่า ข้อมูลจากประชาชนได้นำใช้เป็น input ในด้านอะไร และเผยแพร่ผลลัพธ์ให้ประชาชนได้ทราบด้วยค่ะ

น่าสนุกนะคะ ถ้ามีให้วิธีการมีส่วนร่วมทางออนไลน์ของประชาชนมากกว่าวิธีการทำ Crowdsoucring อย่างที่ทำใน GotoKnow แต่อย่างไรก็ตามประชาชนควรได้เห็นประโยชน์และได้เห็นผลลัพธ์ด้วยค่ะ

 

รบกวนขอความเห็นจากทุกท่านด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย จันทวรรณ

 

บริการออนไลน์ของรัฐมีครอบคลุมแล้วหรือยังค่ะ

พิมพ์ PDF

เมื่อพูดถึงคำว่า รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ดิฉันเชื่อว่าหลายๆ ท่านจะคิดถึงการให้บริการออนไลน์ของรัฐเป็นสิ่งแรกค่ะ ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการนำเอาบริการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนต้องไปรับบริการมาอยู่บนออนไลน์ให้ได้มากที่สุดค่ะ

 

การจะทำรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ น่าจะเริ่มที่บริการพื้นฐานทั้งหลายจะต้องนำมาเป็นบริการออนไลน์ให้หมดค่ะ และให้บริการได้อย่างสมบูรณ์ทางออนไลน์ค่ะ ไม่ใช่มีเว็บไซต์เพียงเพื่อขอแบบฟอร์มแล้วต้องไปแจ้งยื่นเรื่องต่อที่หน่วยบริการนะคะ

มีบริการอะไรอีกบ้างค่ะที่ทุกท่านอยากให้มีทางออนไลน์ ดิฉันคงคิดคนเดียวไม่หมดนะคะ

  • จ่ายค่าสาธารณูปโภค
  • ทำบัตรประชาชน
  • แจ้งย้ายที่อยู่
  • แจ้งเกิด แจ้งตาย
  • จ่ายภาษี
  • เสียค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าปรับ
  • การจัดการบ้าน ที่ดิน รถ

รบกวนขอความเห็นจากทุกท่านด้วยนะคะ

ขอบคุณค่ะ

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย จันทวรรณ

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2013 เวลา 07:50 น.
 

ฝึกศิษย์ให้เป็นคนที่ควบคุมตนเองได้

พิมพ์ PDF

ทักษะกำกับดูแลตนเองได้ (personal mastery) หรือวินัยในตน (self-discipline)  เป็นสุดยอดของทักษะทั้งปวง เป็นทักษะพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี ชีวิตที่พอเพียง    การศึกษาต้องปูพื้นฐานทักษะนี้ให้แก่เด็กทุกคน   ย้ำว่า แก่เด็กทุกคน

และย้ำว่า เป็นหน้าที่ของระบบการศึกษาที่เป็นทางการ ที่จะต้องรับผิดชอบปลูกฝังทักษะ หรือลักษณะนิสัยนี้ ให้แก่เด็กทุกคน    โดยผมเชื่อว่า ทำได้โดยวิธี สอนแบบไม่สอน

วิธีการที่แยบยลยิ่ง เล่าไว้ในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

การที่เมื่อเด็กเข้าสู่วัยรุ่น แล้วบางคนเสียคน จากการติดเน็ต  ติดเกม  ติดยาเสพติด มั่วเซ็กส์ ตั้งครรภ์ ฯลฯ นั้น    เป็นดัชนีบอกความล้มเหลวย่อหย่อนของการศึกษา    เป็นผลจากความล้มเหลวสะสมทีละน้อยๆ ในเรื่องการพัฒนาทักษะการกำกับดูแลตนเองของเด็ก    ครูทุกคนที่เคยสอนเด็กที่เสียคนตอนวัยรุ่น ควรได้ตระหนัก ว่าการเสียคนของเด็กคนนั้น ตนมีส่วนรับผิดชอบด้วย    และควรนำมาเป็นเครื่อง กระตุ้นเตือนตนเอง ให้แสวงหาวิธีวางพื้นฐานทักษะกำกับดูแลตนเอง ให้หนักแน่นกว่านี้

นี่คือการสร้างภูมิคุ้มกัน ให้แก่ศิษย์ ให้อยู่ในสังคมสมัยใหม่ ที่เต็มไปด้วยอบายมุข ได้โดยไม่เข้าไปเกลือกกลั้ว   ในสมัยโบราณ ปราชญ์สอนว่า ทางอบาย ๔ ได้แก่ เป็นนักเลงหญิง  เป็นนักเลงสุรา  เป็นนักการพนัน  และ คบคนชั่วเป็นมิตร   หรือบางที่เราพูดกันว่า สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร   คำสอนเหล่านี้ยังเป็นจริงในชีวิตสมัยใหม่   แต่มีทางเสื่อมอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีกมากมาย เช่นติดเกม  ติดเน็ต  บ้าสินค้าแบรนด์เนม ฯลฯ   เพราะสังคมสมัยใหม่ ได้พัฒนาตัวล่อตัวลวง เพื่อแสวงประโยชน์จากวัยรุ่นมากมาย และนับวันจะเพิ่มขึ้นทั้งชนิดของตัวล่อลวง และทั้งความรุนแรงหรือความแยบยลของการลวง    จนคนทั้งสังคมไม่รู้สึกว่าถูกลวง

การฝึกศิษย์ให้รู้เท่าทันสิ่งลวงหลอกเหล่านี้ เพื่อให้ควบคุมกำกับตนเองได้ ไม่ให้ติดกับ หรือตกเป็นเหยื่อ จึงต้องเอาเรื่องราวของการตกเป็นเหยื่อมาเป็นกรณีศึกษา ที่เรียกว่า CBL (Case-Based Learning)   รวมทั้งการเรียนรู้ทักษะเชิงซ้อนจากการทำงาน หรือทำโครงการชนิดต้องดำเนินการระยะยาว ตามแนวทางของครูเรฟ ในหนังสือ ครูนอกกรอบกับห้องเรียนนอกแบบ

อาจฝึกนักเรียน ด้วยวิธีกระตุ้น Executive function ในสมอง ด้วยวิธีการตาม บันทึกนี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๓ ส.ค. ๕๖

ระหว่างนั่งรถยนต์ไป อ. บ้านแหลม  จ. เพชรบุรี

 

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2013 เวลา 07:44 น.
 

ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๐๒. แนะนำหนังสือ เสียงของความหวัง

พิมพ์ PDF

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผศ. สมปอง ทองผ่อง มอบหนังสือ เสียงของความหวัง : เรื่องเล่าผู้หญิงเพื่อกระบวนการสันติภาพ ชายแดนใต้ ๑ เล่ม เมื่อวันที่ ๒๙ ส.. ๕๖   ในการประชุมสภาวิทยาเขตปัตตานีครั้งแรก

 

ผมเอามานอนอ่านที่โรงแรมที่หาดใหญ่ แล้วบอกตนเองว่า นี่คือบทเรียนของความซับซ้อนของสังคม   ที่การศึกษาไทยต้องส่งเสริมให้ผู้คนเรียนรู้ และรู้จัก สภาพความเป็นจริงแบบนี้ ให้จงได้

การศึกษาต้องไม่หยุดอยู่แค่เรียนสิ่งที่ชัดเจน  สิ่งที่ผู้คนเห็นพ้องกันหมด แต่จะต้องเลยไปสู่สิ่งที่มองได้หลายแง่หลายมุม หลายมิติ   ที่คนเราตีความแตกต่างกัน   คนเราต้องเรียนรู้ความเป็นจริงนี้ และยอมรับสภาพไม่เห็นพ้องเช่นนี้ จะยิ่งดี หากได้ฝึกฝนจนไม่เพียงยอมรับ   แต่ไปไกลถึง เคารพคนที่เคารพความคิดเห็น และความเชื่อ ที่แตกต่างของคนอื่นเป็น   จะมีชีวิตที่ดี   ผมคิดถึงคำว่า จาคะในทางพุทธ ซึ่งแปลว่าการให้   การให้ที่ประเสริฐที่สุดอย่างหนึ่ง คือให้ความเคารพ ยอมรับ นับถือ   แม้เขาจะแตกต่างจากเรา

การฟัง ถือเป็นการให้ และการแสดงความเคารพอย่างหนึ่ง

ในสังคมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอย่างในสามจังหวัด ชายแดนใต้   มี ความจริงที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง หากไม่ ฟังให้ ได้ยินในระดับเข้าถึง สิ่งที่ไม่ได้พูด” (ในกรณีนี้คือ สิ่งที่ไม่ได้เขียน) เราก็จะไม่สามารถเข้าถึง ความจริงนี้ได้

หนังสือเล่มนี้ กลายเป็นบทเรียน หรือแบบฝึกหัด ฝึกเข้าถึงความจริงที่ซับซ้อน ของผม และเรื่องเล่าหลายเรื่อง ให้ความสะเทือนใจอย่างยิ่ง    สะท้อนสภาพสังคมที่ไม่เป็นธรรม สังคมแห่งความระแวง สังคมแห่งการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ของเจ้าหน้าที่รัฐในบางเหตุการณ์ตามเรื่องเล่า   และสะท้อนภาพของความไม่เข้าใจความเดือดร้อนแสนสาหัสของประชาชน บางคนที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐ ส่วนที่ไม่เป็นธรรม ไม่เข้าใจ ไม่สนใจความเดือดร้อนของชาวบ้านตัวเล็กๆ ที่ดิ้นรนเพื่อความเป็นอยู่ของตน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓๑ ส.ค. ๕๖

 

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich

แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2013 เวลา 07:57 น.
 


หน้า 443 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5606
Content : 3049
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8603059

facebook

Twitter


บทความเก่า