Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ประชาธิปไตย ระบบคานอำนาจยังต้องคงอยู่

พิมพ์ PDF

บทเรียนจากความจริง

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

บทความจากหนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2556

ติดตามย้อนหลังที่ลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

ขอบคุณท่านผู้อ่านแนวหน้าที่ติดตามบทความของผมเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เรื่องโครงการ 2 ล้านล้าน และส่งข้อมูลกลับมาเป็นกำลังใจให้ผมอย่างคับคั่ง

เช่น ความคิดเห็นจากคุณ Kiatisak ว่า “รัฐบาลกู้เพื่อโกง คนจึงไม่เห็นด้วยเพราะประชาชนไม่ค้านการพัฒนาประเทศแต่เขาค้านการหลบหลีกการตรวจสอบต่างหาก”

และจากคุณ Crat ว่า “ขอให้รัฐบาลทำให้ชัดเจนตรวจสอบได้เท่านั้นเอง ถ้ารัฐบาลจริงใจไม่คิดทุจริตและอยากทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติ”

ช่วงนี้ประเทศไทยนอกจากอากาศจะร้อนมากๆ แล้ว การเมืองยังร้อนหนักมาก น่าวิตกไม่ว่าเรื่อง 2 ล้านล้าน ซึ่งมีปัญหามากมายยังมีเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องนโยบายจำนำข้าวที่มีปัญหามาก และนโยบายรถคันแรกที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงและสุดท้ายคือ เรื่องเขาพระวิหารที่กำลังจะมีการตัดสินในระดับศาลโลกเร็วๆนี้

กลับมาถึงเรื่อง 2 ล้านล้าน ปัญหาหลัก คือ รีบร้อนไม่มีรายละเอียด ไม่มีแบบแผนที่ชัดเจน หนังสือ Nation ว่าแผนการจ่ายเงินคืนของรัฐบาลไม่ชัดเจน

สัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนเรื่องความไม่สมดุลของการพัฒนาประเทศ สัปดาห์นี้ขอเพิ่มอีก 2-3 ข้อ

ข้อแรก คือ เรื่องคอร์รัปชั่นมีใครไว้ใจรัฐบาลชุดนี้ บ้างว่าโปร่งใสทำเพื่อคนส่วนใหญ่ เพราะปัญหาคอร์รัปชั่นมีมากมาย ถึงจะมีท่านชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นคนมารับหน้าอยู่แต่พอทำจริงๆใครจะดูแลเรื่องการโกงบ้านโกงเมือง ท่านชัชชาติ อาจจะตามไม่ทัน

เรื่องขาดแคลนแรงงาน ในช่วงก่อสร้างปัจจุบันทั้งที่ยังไม่มีโครงการใหญ่ๆ แบบ 2 ล้านล้าน ประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานอย่างมากเรื่องโครงการรถไฟสีม่วง สีน้ำเงินที่กำลังทำอยู่แต่ล่าช้าต้องชะลอการเปิดไปอีก 6 เดือน

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าก่อสร้างเสร็จจริงๆ มีคนตั้งคำถามต่อไปว่าจะหาผู้บริหารโครงการที่เก่งและมีความสามารถจากที่ไหน แค่Airport Link อันเดียว ก็กลายเป็นสุสานรถไฟไม่มีคนนั่ง

ผมคิดว่ารัฐบาลเสียงข้างมากของคุณทักษิณ ต้องมีการถ่วงดุลอำนาจอย่างมาก อย่าให้เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ดังนั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงนี้จึงมีสว.และสส. ฝ่ายค้าน จำนวนมาก

ไม่เห็นด้วย ไม่ใช่ค้านไม่ให้แก้แต่ต้องแก้โดยให้มีการถ่วงดุลอำนาจ จึงขอความกรุณาคนไทยช่วยกันเฝ้ามองรัฐบาลชุดนี้ ว่าจะใช้เสียงข้างมากอย่างไรเพื่อใคร?

ผมจึงขอคัดค้านการแก้ 2 มาตรา ของรัฐธรรมนูญ มาตราอื่นผมไม่ติดใจ แต่มาตรา 68 ยังต้องคงไว้ เรายังไม่สามารถจะพึ่งอัยการสูงสุดได้ในการส่งสารรัฐธรรมนูญควรจะให้ประชาชนมีสิทธิ์ร่วมด้วย เพราะอัยการสูงสุดต้องอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาล ความจริงในเรื่องนี้รัฐบาลเสียงข้างมากก็มีประชาชนเป็นฐานมากมายทำไมต้องไปตัดสิทธิ์ขั้นพื้นฐานของประชาชนออกไปฐานการเมืองจากประชาชน มีประโยชน์ต่อพรรคทุกๆ พรรคไม่ใช่เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น หากถ้าวันหนึ่งพรรคเพื่อไทยมาเป็นพรรคฝ่ายค้านบ้างล่ะ?

ประเด็นที่ 2 เรื่องที่ผมคัดค้านคือ ให้ สว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ผมคิดว่าสภาสูงกับสภาล่างในประเทศไทยควรจะแบ่งหน้าที่กัน เพราะประชาชนยังไม่พร้อมไม่จำเป็นต้องเป็นการเลือกตั้งทั้งหมด สภาสูงส่วนหนึ่งควรจะต้องมาจากวิชาชีพเฉพาะทางบ้าง  ดังนั้นการสรรหาครึ่งหนึ่งของสภาสูงยังจำเป็นอยู่

รัฐบาลชุดนี้ ไม่พอใจเพราะสว.สรรหาปัจจุบันอาจจะมีความเห็นแตกต่างกับรัฐบาลเสียงข้างมากทำให้ทำอะไรไม่สะดวก คือ คุมไม่ได้แต่เป็นการคานอำนาจที่แท้จริง ประเด็นหลักคือประชาธิปไตยในวันนี้ ต้องมีการคานอำนาจ ถ่วงดุลให้ได้

น่าสนใจในรายการ FM 96.5 MHz ซึ่งมีรศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ พูดว่าในประวัติศาสตร์เคยมีมาแล้ว ถ้าไม่มีการคานอำนาจจริงๆ ก็จะเกิดเผด็จการทางรัฐสภาเสียงข้างมากลากไป ทำได้ทุกอย่างเคยเกิดขึ้นที่เยอรมันสมัยฮิตเลอร์และปัจจุบันก็กำลังเกิดที่ระบบปูตินในรัสเซีย ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่าประเทศไทยจะเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าการคานอำนาจในระบอบประชาธิปไตยต้องมีอีก 2 อย่างคือ

-  ให้สื่อเป็นกลาง

-  ให้มีองค์กรอิสระอย่างแท้จริงซึ่งเป็นเรื่องยากมากในปัจจุบัน แต่ถ้าพวกเราไปกลัวและกล้าแสดงความเห็นจะไม่เสียใจทีหลัง

ขอบคุณ “สื่อแนวหน้า”Social media  และองค์กรอิสระที่ยังผนึกกำลังอยู่และสุดท้ายขอบคุณ ฯพณฯพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่กรุณามาเตือนรัฐบาลเสมอในเรื่องคอร์รัปชั่น ท่านได้กล่าวในงานครบรอบ 13 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดินว่า“คนที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงต่อประเทศไทย คือ คนที่เนรคุณต่อประเทศ”

ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์

เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ

อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

www.gotoknow.org/blog/chiraacademy

แฟกซ์0-2273-0181


 

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๑. ความจริง ๗ ประการ

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนต่อไปนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

 

หนังสือเล่มนี้มี ๗ บท บรรยายหลักการ ๗ ประการ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ที่ได้จากการวิจัย  ได้แก่

 

 

 

๑.  พื้นความรู้เดิมของนักเรียน มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร

 

๒.  วิธีที่นักเรียนจัดระเบียบโครงสร้างความรู้ของตน มีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร

 

๓.  มีปัจจัยอะไรบ้าง ที่จูงใจนักเรียนให้เรียน

 

๔.  นักเรียนพัฒนาการเรียนรู้รอบด้าน (Mastery Learning) ของตนอย่างไร

 

๕.  การลงมือทำและการป้อนกลับ (feedback) แบบไหน ที่ส่งเสริมการเรียนรู้

 

๖.  ทำไมการพัฒนานักเรียนและบรรยากาศในชั้นเรียนมีผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียน

 

๗.  นักเรียนพัฒนาขึ้นเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างไร

 

 

ผู้เขียนคำนำของหนังสือ คือ ศาสตราจารย์ Richard E. Mayerผู้มีชื่อเสียงด้าน educational psychology แห่งมหาวิทยาลัย UCSB ท่านบอกว่า หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการนำเอาความรู้จากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านการเรียนรู้ (The Science of Learning) ไปใช้ในการสอนในมหาวิทยาลัย  คือหนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นจากข้อมูลหลักฐานจากการวิจัยล้วนๆ   หรือเป็นหนังสือที่ช่วยย่อยความรู้จากการวิจัย ออกสู่การปฏิบัติ  ทำให้ความรู้ที่เข้าใจยาก นำเอาไปใช้ได้ง่าย   จึงเขียนแบบตั้งคำถามที่ใช้ในการสอนหรือเรียนตามปกติ  แล้วนำเอาหลักฐานจากการวิจัยมาตอบ   ดังจะเห็นได้จากชื่อบทในหนังสือทั้ง ๗ บท ข้างบน

การเรียนรู้เป็นผลจากการทำหรือการคิดของนักเรียน  การทำและการคิดของนักเรียนเท่านั้น ที่มีผลต่อการเรียนรู้ของเขา  ครูสามารถช่วยให้ศิษย์เรียนได้โดยเข้าไปกระตุ้นสิ่งที่นักเรียนทำเพื่อการเรียนรู้ของตนเองเท่านั้น

นี่คือคำแปลจากถ้อยคำของ ศาสตราจารย์ Herbert A. Simonนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล ผู้ล่วงลับ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสาขา Cognitive Science  ที่หนังสือเล่มนี้นำมาเป็นประโยคเริ่มต้นของบทนำ

ผมตีความว่า สิ่งที่ “ครูเพื่อศิษย์” ทำให้แก่ศิษย์หลายอย่าง เป็นสิ่งที่สูญเปล่า ไม่เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของศิษย์  เป็นการทำงานที่ไร้ประโยชน์ด้วยความหวังดีเต็มเปี่ยม แต่ไร้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของศิษย์ หรือบางเรื่องอาจก่อผลร้ายด้วยซ้ำ  หนังสือเล่มนี้จะช่วยลดความผิดพลาดจากความไม่รู้หรือความเข้าใจผิดๆ ได้


การเรียนรู้คืออะไร

เมื่อเอ่ยถึงคำว่าการเรียนรู้ (learning) ในหนังสือเล่มนี้  ผู้เขียนให้ความหมายว่า คือ กระบวนการ ที่นำไปสู่ การเปลี่ยนแปลง ที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ การเรียนรู้ทำให้มีการเพิ่มสมรรถนะ (performance) และเพิ่มความสามารถของการเรียนรู้ในอนาคต

องค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการของนิยามนี้คือ

 

๑.  การเรียนรู้เป็นกระบวนการไม่ใช่ผล (เป็น process ไม่ใช่ product)  แต่ตรวจสอบว่าเกิดการเรียนรู้ได้โดยดูที่ผลหรือสมรรถนะ

 

๒.  การเรียนรู้เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงความรู้ ความเชื่อ พฤติกรรม หรือเจตคติ  และมีผลระยะยาวต่อการคิดและพฤติกรรมของนักเรียน

 

๓.  การเรียนรู้ไม่ใช้สิ่งที่ให้แก่นักเรียน  แต่เป็นสิ่งที่นักเรียน ลงมือทำ ให้แก่ตนเอง  เป็นผลโดยตรงจากสิ่งที่นักเรียนตีความ และตอบสนองต่อ ประสบการณ์ ของตน  ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว  ทั้งในอดีตและในปัจจุบัน

 


หลักการของการเรียนรู้

ก. การเรียนรู้เป็นกระบวนการพัฒนาการ ที่สัมพันธ์กับพัฒนาการด้านอื่นๆ ในชีวิตของนักเรียน

ข. ทุนที่นักเรียนถือเข้ามาในชั้นเรียน ไม่ได้มีเฉพาะทักษะ ความรู้ และความสามารถ เท่านั้น  ยังมีปัจจัยด้านประสบการณ์ทางสังคม และอารมณ์  ที่มีผลต่อทัศนคติ ค่านิยม ของนักเรียนต่อตนเอง และต่อผู้อื่น  อันจะส่งผลต่อความสนใจหรือไม่สนใจเรียน

พึงตระหนักว่า หลัก ๗ ประการในหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้มีผลแยกกันต่อการเรียนรู้ของนักเรียน  แต่ก่อผลในเวลาเดียวกัน หรือปนๆ กันไป

ต่อไปนี้เป็นหลัก ๗ ประการโดยย่อ


ความรู้เดิมของนักเรียน อาจส่งเสริมหรือขัดขวางการเรียนรู้ก็ได้

นักเรียนไม่ได้มาเข้าเรียนในชั้นแบบมา ตัว/หัว เปล่า  แต่มีทุนเดิมด้านความรู้ ความเชื่อ และเจตคติ ติดมาด้วย  จากวิชาที่เคยเรียน และจากชีวิตประจำวัน  ทุนเดิมเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อการเรียนรู้ หรือพฤติกรรมในชั้นเรียนของนักเรียน  ถ้านักเรียนมีพื้นความรู้เดิมที่แน่นและแม่นยำถูกต้อง  และได้รับการกระตุ้นความรู้เดิมอย่างเหมาะสม  ความรู้เดิมนี้ก็จะเป็นฐานของการสร้างความรู้ใหม่ขึ้นในตัวนักเรียน  แต่ถ้าความรู้เดิมคลุมเครือ ไม่แม่นยำ และได้รับการกระตุ้นในเวลาหรือด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม  ความรู้เดิมจะกลายเป็นสิ่งขัดขวางการเรียนรู้


วิธีที่นักเรียนจัดระเบียบโครงสร้างความรู้ของตน มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้ความรู้ที่มีอยู่เดิม

ตามปกตินักเรียนจะปะติดปะต่อชิ้นความรู้  หากการปะติดปะต่อนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง เกิดเป็นโครงสร้างความรู้ที่ดี มีความแม่นยำและมีความหมาย  นักเรียนก็จะสามารถเรียกเอาความรู้เดิมที่มีอยู่ออกมาใช้ได้อย่างแคล่วคล่องว่องไว  ในทางตรงกันข้าม หากการจัดระเบียบความรู้ในสมองนักเรียนเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม หรือเกิดอย่างไร้ระบบ  นักเรียนก็จะดึงความรู้เดิมออกมาใช้ได้ยาก


แรงจูงใจของนักเรียน มีผลต่อพฤติกรรมตั้งใจเรียน และมานะพยายาม ของนักเรียน

เรื่องนี้มีความสำคัญต่อนักศึกษาระดับอุดมศึกษา เพราะ นศ. เปลี่ยนสภาพจากนักเรียนที่มีครูคอยดูแล  มาสู่สภาพกำกับหรือบังคับตัวเอง  มีอิสระว่าจะเรียนหรือไม่เรียนอะไร อย่างไร เมื่อไร  แรงจูงใจจึงเป็นตัวกำหนด ทิศทาง ความเอาใจใส่ ความมุ่งมั่นพยายาม และคุณภาพของพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนเอง  หาก นศ. มองเห็นคุณค่าของเป้าหมายการเรียนรู้  กิจกรรมการเรียนรู้  และเห็นลู่ทางความสำเร็จ  และได้รับการหนุนเสริมจากสภาพแวดล้อม  นศ. ก็จะมีแรงจูงใจต่อการเรียน


เพื่อให้เกิดความชำนาญ (mastery) ในการเรียน นศ. ต้องฝึกทักษะองค์ประกอบ ฝึกนำองค์ประกอบมาบูรณาการเข้าด้วยกัน เพื่อใช้งานในบริบทที่หลากหลาย  เกิดความชำนาญในการบูรณาการต่างแบบ ในต่างบริบทของการใช้งาน

นศ. ต้องไม่ใช่แค่เรียนความรู้ และทักษะ เป็นท่อนๆ  สำหรับนำมาใช้งานที่ซับซ้อนและหลากหลาย  นศ. ต้องได้ฝึกนำแต่ละท่อนเหล่านั้น มาประกอบกันเข้าเป็นชุด สำหรับใช้งานแต่ละประเภท ที่จำเพาะต่อแต่ละสถานการณ์นศ. ต้องได้ฝึกเช่นนี้จนคล่องแคล่ว ในด้านการนำความรู้มาใช้ในหลากหลายสถานการณ์

ครูต้องทำความเข้าใจขั้นตอนของการพัฒนาความชำนาญนี้ ในตัว นศ.  เพื่อให้ครูทำหน้าที่ โค้ช ฝึกความชำนาญแก่ นศ. อย่างเป็นขั้นตอน


การฝึกปฏิบัติอย่างมีเป้าหมาย ผสานกับการได้รับคำแนะนำป้อนกลับ (feedback) อย่างชัดเจน ช่วยให้ นศ. เรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ

การเรียนรู้อย่างมีเป้าหมายและเข้าใจเป้าหมายในมิติที่ลึกและชัดเจน (มีเกณฑ์ของการบรรลุผลสำเร็จ) กำหนดเป้าหมายที่ท้าทายในระดับที่เหมาะสม  ปริมาณความรู้เหมาะสม  และทำซ้ำบ่อยๆ อย่างเหมาะสม  จะนำไปสู่ความชำนาญ  นอกจากนั้น นศ. ยังต้องการคำแนะนำให้กำลังใจและสะท้อนกลับ ว่า นศ. บรรลุผลสำเร็จในส่วนใดเป็นอย่างดีแล้ว  ยังทำไม่ได้ดีในส่วนใด  ควรต้องปรับปรุงอย่งไร  โดยให้คำแนะนำนี้ในโอกาสเหมาะสม ด้วยวิธีการที่เหมาะสม ในความถี่ที่เหมาะสม  จะช่วยให้การเรียนมีความก้าวหน้า และบรรลุผลในระดับเชี่ยวชาญได้


ระดับพัฒนาการในปัจจุบันของ นศ.  มีปฏิสัมพันธ์กับสภาพบรรยากาศในชั้นเรียน ทางด้านสังคม อารมณ์ และ ปัญญา ส่งผลต่อการเรียนรู้

การเรียนรู้ที่มีความสำคัญต่อ นศ. ไม่ได้มีเฉพาะด้านสติปัญญาเท่านั้น  ยังมีเรื่องทางสังคมและอารมณ์ ควบคู่ไปด้วยพร้อมๆ กัน  ครูพึงตระหนักว่า นศ. ยังไม่มีวุฒิภาวะสูงสุดในด้านสังคมและอารมณ์  ยังอยู่ระหว่างการเรียนรู้พัฒนา ไปพร้อมๆ กับพัฒนาการของร่างกาย  ในส่วนพัฒนาการทางร่างกายนั้น กระบวนการเรียนรู้ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้  แต่เข้าไปส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคมและอารมณ์ได้  ผ่านการจัดบรรยากาศในห้องเรียน

บรรยากาศเชิงลบ มีผลขัดขวางการเรียนรู้  บรรยากาศเชิงบวก ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้


เพื่อบรรลุการเป็นผู้กำกับดูแลการเรียนรู้ของตนเองได้  นศ. ต้องฝึกทักษะการตรวจสอบประเมิน และปรับปรุงกระบวนการการเรียนรู้ของตนเอง

นศ. ต้องได้เรียนรู้และฝึกฝนกระบวนการทำความเข้าใจการเรียนรู้ (metacognitive process)  คือเรียนรู้การเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจการเรียนรู้ของตนเอง  และสามารถปรับปรุงพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองได้   ได้แก่ รู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง  รู้ความยากง่ายของบทเรียน  รู้วิธีเรียนวิธีต่างๆ   รู้วิธีประเมินตรวจสอบว่าวิธีเรียนนั้นๆ ให้ผลดีแค่ไหน

นศ. โดยทั่วไปไม่สามารถพัฒนาทักษะเหล่านี้ได้ด้วยตนเอง  ครูต้องจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ศิษย์พัฒนาทักษะเหล่านี้  นี่คือทักษะด้านการเรียนรู้ (Learning Skills)

 

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ธ.ค. ๕๕

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/514229

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๒. ความรู้เดิมส่งผลต่อการเรียนรู้ของ นศ. อย่างไร

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

 

ตอนที่ ๒ นี้ มาจากบทที่ ๑  How Does Students’ Prior Knowledge Affect Their Learning?

 

ชื่อของบทนี้ทำให้ผมนึกถึงคำว่าความรู้สะสม“met before” ที่ครูโรงเรียนเพลินพัฒนาใช้  เป็นขั้นตอนหนึ่งในการสำรวจพื้นความรู้ของนักเรียน  สำหรับนำมาใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้ต่อยอดจากพื้นความรู้เดิม

 

หลักการของการเรียนรู้ คือการเอาความรู้เดิมมาใช้จับความรู้ใหม่  แล้วต่อยอดความรู้ของตนขึ้นไป  นศ. ที่มีความรู้เดิมแบบไม่รู้ชัด หรือรู้มาผิดๆ ก็จะจับความรู้ใหม่ไม่ได้ หรือจับผิดๆ ต่อยอดผิดๆ  การเรียนรู้แบบเชี่ยวชาญหรือชำนาญ (mastery) ก็จะไม่เกิด   และที่สำคัญจะทำให้ นศ. ตกอยู่ในสภาพ “เรียนไม่รู้เรื่อง”  ส่งผลต่อเนื่องให้เบื่อการเรียน  และการเรียนล้มเหลวกลางคัน

 

ตรงกันข้าม นศ. ที่ความรู้เดิมแน่นแม่นยำถูกต้อง  ก็จะสามารถเอาความรู้เดิมมาจับความรู้ใหม่ และต่อยอดความรู้ของตนได้อย่างรวดเร็ว  และมีความสุขสนุกสนาน เกิดปิติสุขในการเรียน

 

บันทึกตอนที่ ๒ และ ๓ จึงจะอธิบายวิธีการทบทวนความรู้เดิม  และนำมาใช้ในการล่อและจับความรู้ใหม่  สำหรับต่อยอดความรู้ขึ้นไป   โดยบันทึกตอนที่ ๒ จะมี ๓ หัวข้อใหญ่ คือ (๑) การปลุกความรู้เดิม  (๒) วิธีตรวจสอบความรู้เดิมของ นศ.  (๓) วิธีกระตุ้นความรู้ที่แม่นยำ

 

ในบันทึกตอนที่ ๓ จะมีอีก ๓ หัวข้อใหญ่ คือ  (๑) วิธีทำความเข้าใจความรู้เดิมที่ไม่เพียงพอ  (๒) วิธีช่วยให้ นศ. ตระหนักว่าความรู้เดิมของตนยังไม่เหมาะสม  (๓) วิธีแก้ความรู้ผิดๆ


ปลุกความรู้เดิม

ความรู้มีหลายประเภท ประเภทหนึ่งเรียกว่า “ความรู้ที่แสดงให้เห็นได้” (Declarative Knowledge)  หรือ “know what”  อีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “ความรู้เชิงกระบวนการ” (Procedural Knowledge) หรือ “know how” และ “know when”  ซึ่งในคำไทยน่าจะหมายถึง รู้จักกาละเทศะ หรือการประยุกต์ใช้ความรู้   และผมคิดว่า DK น่าจะใกล้เคียงกับ Explicit Knowledge  และ PK น่าจะใกล้เคียงกับ Tacit Knowledge

ผมตีความตามความรู้เดิมเรื่องการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ของตนเอง  ว่า DK คือตัวสาระความรู้  หรือความรู้เชิงทฤษฎี  ไม่เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑  ต้องเรียนรู้ PK  หรือความรู้ปฏิบัติ ซึ่งก็คือทักษะในการประยุกต์ใช้ความรู้ ไปในเวลาเดียวกันด้วย

ย้ำว่า ต้องมีทั้งสองแบบของความรู้ และรู้จักใช้ให้เสริมกันอย่างเหมาะสม จึงจะเป็นประโยชน์จริง

บอกสาระความรู้ได้ แต่เอาไปใช้ไม่เป็น ยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดี  และตรงกันข้ามเอาความรู้ไปใช้ทำงานได้ แต่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงได้ผล ก็ยังไม่ใช่การเรียนรู้ที่ดี  ต้องทั้งทำได้ และอธิบายได้  คือต้องมีทั้ง DK และ PK จึงจะเป็นการเรียนรู้ที่ครบถ้วน

ผลการวิจัยบอกว่า การมีความรู้เดิม เอามารับความรู้ใหม่  มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้และจดจำความรู้ใหม่  และแม้ นศ. จะมีความรู้เดิมในเรื่องนั้น แต่อาจนึกไม่ออก  การที่ครูมีวิธีช่วยให้ นศ. นึกความรู้เดิมออก จะช่วยการเรียนรู้ได้มาก  นี่คือเคล็ดลับสำคัญในการทำหน้าที่ครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑ ในการส่งเสริมการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองของ นศ.

ผลการวิจัยบอกว่า วิธีกระตุ้นทำโดยตั้งคำถาม why?  จะช่วยให้ นศ. นึกออก

ถึงตอนนี้ผมก็นึกออกว่า ในบริบทไทย นี่คือโจทย์วิจัยสำหรับ นศ. ปริญญาเอก  ดังตัวอย่าง  “วิธีปลุกความรู้เดิม ขึ้นมารับความรู้ใหม่ ในนักเรียนไทยระดับ ป. ๕”

 


กรณีที่ความรู้เดิมถูกต้อง แต่ไม่เพียงพอ

นศ. อาจมีความรู้ชนิด DK อย่างถูกต้องครบถ้วน  ตอบคำถามแบบ recall ได้อย่างดี  แต่เมื่อเผชิญสถานการณ์จริง นศ. ไม่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้นั้นได้ (เพราะขาด PK)  สมัยผมเป็นนักศึกษาแพทย์โดนอาจารย์ด่าในเรื่องนี้เป็นประจำ  สมัยผมเป็นอาจารย์ ศ. พญ. อนงค์ เพียรกิจกรรม บ่นให้ฟังบ่อยๆ  ว่าพา นศพ. ไป ราวน์ คนไข้  เมื่อมีคนนำเสนอประวัติ การตรวจร่างกาย และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ แล้ว  อาจารย์ถาม นศพ. ว่าหาก นศพ. เป็นเจ้าของคนไข้ จะปฏิบัติรักษาอย่างไร  นศพ. มักตอบว่า “ถ้า .... ก็ ....”  คือตอบด้วย DK  ไม่สามารถนำเอา PK มาประกอบคำตอบได้   สมัยนั้น (กว่า ๓๐ ปีมาแล้ว) นศ. ถูกกล่าวหาว่าบกพร่องในการเรียน (เราเรียกว่าโดนอาจารย์ด่า)

แต่สมัยนี้ หากถือตามหนังสือ How Learning Works เล่มนี้ ครูคือผู้บกพร่อง  คือครูไม่ได้ช่วยให้ นศ. เชื่อมโยง PK กับ DK  คือจริงๆ แล้ว นศ. กำลังอยู่ในกระบวนการเชื่อมโยงความรู้สองชนิดเข้าด้วยกัน  การเรียนโดย ward round ของนักศึกษาแพทย์เป็นการเรียนเพื่อเชื่อมโยงความรู้สองชนิดนี้  และอาจารย์ควรเข้าใจกลไกการเรียนรู้นี้  และรู้วิธีกระตุ้นหรือปลุกความรู้เดิม ขึ้นมาประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์

รายวิชาใด ยังไม่มีขั้นตอนการเรียนรู้โดยการฝึกประยุกต์ใช้ความรู้ (แบบ ward round ของ นศพ.) ก็ควรจัดให้มี  และนี่คือโจทย์วิจัยและพัฒนาสำหรับ Scholarship of Instruction ในวิชาของท่าน

ผลการวิจัยบอกว่า อาจารย์สามารถช่วยปลุกความรู้เดิมของ นศ. โดยการตั้งคำถามที่เหมาะสม  ซึ่งผมเรียกว่า “คำถามนำ”  และหนังสือเล่มนี้เรียกว่า elaborative interrogationและหนังสือเเล่มนี้ย้ำว่า เป็นหน้าที่ของอาจารย์ ที่จะต้องช่วยปลุกความรู้เดิมของ นศ. ขึ้นมารับความรู้ใหม่  หรือขึ้นมาทำให้การเรียนรู้ครบถ้วนขึ้น

วิธีปลุกความรู้เดิมของ นศ. วิธีหนึ่ง ทำโดยบอกให้ นศ. บอกว่าความรู้ในวิชานั้นๆ เชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับชีวิตจริงของตนอย่างไร

ที่จริงหนังสือ How Learning Works เล่มนี้ กล่าวถึงผลงานวิจัยมากมาย  แต่ผมไม่ได้เอามาเล่าต่อ  เอามาเฉพาะการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยเหล่านั้น

 


กรณีที่ความรู้เดิมไม่เหมาะสม

นศ. มีทั้งความรู้เชิงเทคนิค หรือความรู้เชิงวิชาการ  และความรู้จากชีวิตประจำวัน  และ นศ. อาจสับสนระหว่างความรู้ ๒ ประเภทนี้  ความสับสน นำเอาความรู้ในชีวิตประจำวันมาต่อยอดความรู้ทางวิชาการ อาจทำให้ความรู้บิดเบี้ยว

หนังสือสรุปว่า ผลงานวิจัยบอกครู ๔ อย่าง

(๑) ครูต้องอธิบายการนำความรู้ไปใช้ในต่างบริบท อย่างชัดเจน

(๒) สอนทฤษฎี หรือหลักการที่เป็นนามธรรม  พร้อมกับยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม หลากหลายรูปแบบ หลากหลายบริบท

(๓)เมื่อยกตัวอย่างปรียบเทียบ ยกทั้งที่เหมือน และที่แตกต่าง

(๔) พยายามกระตุ้นความรู้เดิม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่


กรณีที่ความรู้เดิมไม่ถูกต้อง

ข้อความในส่วนนี้ของหนังสือ บอกเราว่า  นศ. มีความรู้เดิมที่ผิดพลาดมากกว่าที่เราคิด  และความรู้ที่ผิดพลาดบางส่วนเป็น “ความฝังใจ” แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงยากมาก  แต่ครูก็ต้องทำหน้าที่ช่วยแก้ไขความรู้เดิมที่ไม่ถูกต้องเหล่านี้

ครูต้อง

 

 

(๑) ประเมินความรู้เดิมของ นศ.  ตรวจหาความรู้เดิมที่ผิดพลาด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับรายวิชาที่ นศ. กำลังเรียน

 

 

(๒) กระตุ้นความรู้เดิมที่ถูกต้อง ของ นศ.

 

 

(๓) ตรวจสอบความรู้เดิมที่ยังบกพร่อง

 

 

(๔) ช่วย นศ. หลีกเลี่ยงการประยุกต์ความรู้เดิมผิดๆ  คือไม่เหมาะสมต่อบริบท

 

 

(๕)​ช่วยให้ นศ. แก้ไขความรู้ผิดๆ ของตน

 

 


วิธีตรวจสอบความรู้เดิมของ นศ. ทั้งด้านความเพียงพอ และด้านความถูกต้อง

คุยกับเพื่อนครู

วิธีที่ง่ายที่สุดคือถามเพื่อนครูที่เคยสอน นศ. กลุ่มนี้มาก่อน  ว่า นศ. มีผลการเรียนเป็นอย่างไร  ส่วนไหนที่ นศ. เรียนรู้ได้ง่าย  ส่วนไหนที่ นศ. มักจะเข้าใจผิด หรือมีความยากลำบากในการเรียนรู้


จัดการทดสอบเพื่อประเมิน

อาจจัดทำได้ง่ายๆ โดยทดสอบในช่วงต้นของภาคการศึกษา   อาจจัดการทดสอบอย่างง่ายๆ แบบใดแบบหนึ่ง ดังนี้  (๑) quiz  (๒) สอบแบบให้เขียนเรียงความ  (๓) ทดสอบ concept inventoryโดยอาจค้นข้อสอบของวิชานั้นๆ ได้จาก อินเทอร์เน็ต เอามาปรับใช้


ให้ นศ. ประเมินตนเอง

ทำโดย ครูจัดทำแบบสอบถามมีคำถามตามพื้นความรู้ หรือทักษะ ที่ นศ. ต้องมีมาก่อนเรียนวิชานั้น  และที่เป็นเป้าหมายของการเรียนวิชานั้น  จัดทำเป็นแบบสอบถามแบบให้เลือกคำตอบที่ตรงกับตัว นศ. มากที่สุด  คำตอบได้แก่

 

  • ·  ฉันเคยได้ยิน/เห็น มาก่อน (คุ้นเคย)
  • ·  ฉันสามารถบอกความหมาย/นิยาม ได้ (ความรู้ระดับ factual)
  • ·  ฉันอธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ (conceptual)
  • ·  ฉันสามารถใช้แก้ปัญหาได้ (application)

 


ใช้การระดมสมอง

การระดมสมองในชั้นเรียน ตอบคำถามที่ครูตั้ง อาจช่วยให้ครูประเมินพื้นความรู้ของ นศ. ได้  แม้จะเป็นการประเมินที่ไม่เป้นระบบและอาจไม่แม่นยำนัก  โดยประเภทคำถามของครูจะช่วยให้ครูประเมินพื้นความรู้ว่าอยู่ในระดับใดได้  เช่น “นศ. นึกถึงอะไร เมื่อได้ยินคำว่า ...” (ตรวจสอบความเชื่อ ความเชื่อมโยง)  “องค์ประกอบสำคัญของ … มีอะไรบ้าง” (ถามความรู้ - factual)  “หากจะดำเนินการเรื่อง ... นศ. จะเริ่มอย่างไร”  (ถาม Procedural Knowledge)  “หากจะดำเนินการเรื่องข้างต้นในชาวเขาภาคเหนือ มีประเด็นที่ต้องดำเนินการต่างจากในภาคอื่นอย่างไร”(ถาม Contextual Knowledge)


ให้ทำกิจกรรม Concept Map (ผังเชื่อมโยงหรือแผนผังความสัมพันธ์)

Concept Mapเป็นได้ทั้งเครื่องมือเรียนรู้ และเครื่องมือประเมินพื้นความรู้   หากครูต้องการประเมินทั้งความรู้เกี่ยวกับ concept และความเชื่อมโยงระหว่าง concept  ก็อาจให้ นศ. เขียนเองทั้ง concept และ link ระหว่าง concept  หากต้องการรู้ความคิดเชื่อมโยงเท่านั้น ครูอาจให้คำที่เป็น concept จำนวนหนึ่งในวิชานั้นๆ  ให้ นศ. เขียน link เชื่อมโยง


สังเกตรูปแบบ (pattern) ของความเข้าใจผิดของ นศ.

ความเข้าใจผิดของ นศ. ที่เข้าใจผิดเหมือนๆ กันทั้งชั้น หรือหลายคนในชั้น  สังเกตเห็นง่ายจากตำตอบข้อสอบ  คำตอบ quiz  หรือในการอภิปรายในชั้น  หรือครูอาจตั้งคำถามต่อ นศ. ทั้งชั้น ให้เลือกตัวเลือกด้วย clicker  จะได้ histogram ผลคำตอบ ที่แสดงความเข้าใจผิด  สำหรับให้ครูอธิบายความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ นศ.  เพื่อแก้ความเข้าใจผิด

ผลการวิจัยบอกว่า ความเข้าใจผิดบางเรื่องแก้ยากมาก  มันฝังใจ นศ.  ครูต้องหมั่นชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้อง จากตัวอย่างหรือบริบทที่แตกต่างหลากหลาย


วิธีกระตุ้นความรู้เดิมที่แม่นยำ

ใช้แบบฝึกหัด

เป็นแบบฝึกหัดเพื่อช่วยให้ นศ. ฟื้นความจำเกี่ยวกับความรู้ที่ได้เรียนมาแล้ว สำหรับนำมาเชื่อมต่อกับความรู้ใหม่ในบทเรียน  ซึ่งจะช่วยให้การเรียนมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้นมาก  ทำได้หลากหลายวิธี เช่น ให้ นศ. ระดมความคิดว่า ความรู้ใหม่ที่เพิ่งได้เรียน เชื่อมโยงกับความรู้เดิมอย่างไร  หรือให้ทำ Concept Map

ครูต้องตระหนักว่า กิจกรรมนี้อาจทำให้เกิดการเรียนความรู้ที่ถูกต้องก็ได้  เกิดการเรียนความรู้ที่ผิดก็ได้  ครูต้องคอยระวังไม่ให้ นศ. หลงจดจำความรู้ผิดๆ


เชื่อมโยงวิชาใหม่ กับความรู้ในวิชาที่เรียนมาแล้ว

นศ. มักเรียนแบบแยกส่วน (compartmentalize) ความรู้  แยกความรู้จากต่างวิชา ต่างภาควิชา ต่างคณะ ต่างอาจารย์  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ความรู้เชื่อมโยงกันหมด  ครูจึงต้องอธิบายความเชื่อมโยงให้ชัดเจน


เชื่อมโยงวิชาใหม่ กับความรู้ในวิชาที่ครูเคยสอน

การที่ครูเอ่ยถึงวิชาที่ นศ. เคยเรียนไปแล้ว (เพียง ๒ - ๓ ประโยค) เอามาเชื่อมโยงกับวิชาที่ นศ. กำลังจะเรียน  จะช่วยการเรียนรู้ของ นศ. อย่างมากมาย

อาจให้ นศ. ทำแบบฝึกหัดเชื่อมโยงความรู้ เรื่อง ก ที่เรียนไปเมื่อ ๒ สัปดาห์ที่แล้ว กับเรื่อง ข ที่เพิ่งเรียนในวันนี้  หรือให้การบ้าน ให้ นศ. ไปทำ reflection เขียนเชื่อมโยงความรู้ในรายวิชาที่เรียนไปตอนต้นเทอม เข้ากับความรู้ที่ได้เรียนในสัปดาห์นี้  เป็นต้น


ใช้การเปรียบเทียบเชื่อมโยงเข้ากับชีวิตประจำวัน

การอธิบายความรู้เชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของตัว นศ. เอง  หรือเข้ากับชีวิตประจำวันใกล้ตัว นศ.  จะช่วยให้เกิดความเข้าใจชัดเจนขึ้น  เช่นเมื่อสอนเรื่องพัฒนาการเด็ก ครูอาจเอ่ยเตือนความทรงจำให้ นศ. คิดถึงตนเองตอนเป็นเด็ก หรือคิดถึงน้องของตน  เมื่อเรียนวิชาเคมี อาจเอ่ยถึงตอนปรุงอาหาร

ให้ นศ. ให้เหตุผลตามความรู้เดิมของตน

เมื่อจะเรียนความรู้ใหม่ ครูอาจกระตุ้นความรู้เดิมโดยให้แบบฝึกหัด  ตั้งคำถามที่กระตุ้นให้ นศ. ทบทวนดึงเอาความรู้ที่มีอยู่แล้ว เอามาอธิบายหรือตอบโจทย์ที่ครูตั้ง


ข้อสังเกตของผม

โปรดสังเกตว่า ในบันทึกนี้ (และบันทึกต่อๆ ไป)  ครูทำหน้าที่smart teaching โดยตั้งโจทย์หรือคำถามที่เหมาะสม ให้ นศ. ตอบ  เพื่อการเรียนรู้ของ นศ.  ไม่ใช่ครูทำหน้าที่บอกสาระความรู้

คุณค่าที่สำคัญยิ่ง ของครูในศตวรรษที่ ๒๑ คือ การทำหน้าที่ตรวจสอบความเข้าใจผิดๆ ของ นศ.  แล้วหาทางแก้ไขเสีย  สำหรับเป็นพื้นความรู้ที่ถูกต้องแม่นยำ  ให้ศิษย์นำไปใช้จับความรู้ใหม่ เพื่อการเรียนรู้ที่ถูกต้องในอนาคต

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ ธ.ค. ๕๕

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/515116

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๓. วิธีจัดการความรู้เดิม

พิมพ์ PDF

ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ คุณค่าของครูอยู่ตรงช่วยให้ นศ. เรียนรู้ตรงทาง คือ นศ. มีปัญหาเรียนรู้มาผิดๆ มากกว่าที่เราคิด พื้นความรู้ที่บิดเบี้ยวนี้ ทำให้เอามาต่อความรู้ใหม่ไม่ติด หรือต่อติดก็ยิ่งขยายความเข้าใจผิดๆ ยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๓ นี้ มาจากบทที่ 1  How Does Students’ Prior Knowledge Affect Their Learning?

บันทึกตอนที่ ๒ และ ๓ อธิบายวิธีการทบทวนความรู้เดิม  และนำมาใช้ในการล่อและจับความรู้ใหม่  สำหรับต่อยอดความรู้ขึ้นไป   โดยบันทึกตอนที่ ๒ ได้อธิบาย ๓ หัวข้อใหญ่ไปแล้ว คือ (๑) การปลุกความรู้เดิม  (๒) วิธีตรวจสบอความรู้เดิมของ นศ.  (๓) วิธีกระตุ้นความรู้ที่แม่นยำ

ในบันทึกตอนที่ ๓ จะเพิ่มเติมอีก ๓ หัวข้อใหญ่ คือ  (๑) วิธีทำความเข้าใจความรู้เดิมที่ไม่เพียงพอ  (๒) วิธีช่วยให้ นศ. ตระหนักว่าความรู้เดิมของตนยังไม่เหมาะสม  (๓) วิธีแก้ความรู้ผิดๆ


วิธีทำความเข้าใจความรู้เดิมที่ไม่เพียงพอ

ระบุความรู้เดิมที่ครูคาดหวังว่า นศ. ต้องมี

ครูต้องทำความชัดเจนกับตนเอง ว่าพื้นความรู้ที่ นศ. ต้องมีคืออะไรบ้าง จึงจะเรียนวิชาที่ตนกำลังสอนได้ดี  โดยต้องไม่ลืมว่า ต้องกำหนดทั้ง DK และ PK


จัดการเรียนรู้เสริม

หากเห็นชัดว่า นศ. มีพื้นความรู้เดิมไม่เพียงพอ  โดยครูอาจแก้ปัญหาได้หลายอย่าง  ตั้งแต่แนะนำ นศ. ที่ขาดพื้นความรู้อย่างแรงให้ถอนวิชาไปก่อน ให้ไปเรียนวิชาที่จำเป็นต้องรู้ล่วงหน้าเสียก่อน  ไปจนถึงให้ นศ. บางคนที่ขาดความรู้บางด้านหาความรู้เพิ่มเติมให้ตนเอง  โดยเอารายการคำศัพท์เฉพาะวิชาไปค้นคว้าทำความเข้าใจเอง

ในกรณีที่มี นศ. จำนวนมากขาดความรู้สำตัญส่วนหนึ่ง  ครูอาจต้องใช้เวลา ๑ - ๒ คาบ ทบทวนความรู้เหล่านั้น  หรืออาจนัดมาสอนนอกเวลา

ถ้าพื้นความรู้ของ นศ. ไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ในรายวิชาอย่างแรง  อาจต้องแก้ไขข้อกำหนดเงื่อนไขการลงเรียนรายวิชานั้น  รวมทั้งแก้ไขสาระความรู้ที่เรียนในรายวิชานั้น  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะอาจไปกระทบวิชาอื่น  ต้องมีการปรึกษาหารือกันในภาควิชา หรือในคณะ


วิธีช่วยให้ นศ. ตระหนักว่าความรู้เดิมของตนไม่เหมาะสม

ยกประเด็นเรื่องการนำความรู้มาใช้งาน

ครูของวิชานั้นๆ สามารถตั้งคำถามด้านการนำความรู้มาใช้งาน เพื่อให้ นศ. ได้ตระหนักว่าพื้นความรู้ของตนในเรื่องนั้นๆ ยังไม่แน่น  ยังไม่รู้จริง  เช่นในวิชาสถิติ ครูอาจตั้งคำถามว่า จะใช้ regression analysis มาคำนวณความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามที่ครูยกมา (เป็นตัวแปรเชิงคุณภาพ- qualitative) ได้อย่างไร  แล้วครูจึงอธิบายว่า regression analysis ใช้ได้กับตัวแปรที่เป็นตัวเลข (quantitative) เท่านั้น

มีตัวช่วย ให้ นศ. หลีกเลี่ยงการใช้งานผิดๆ

เช่นครูมีคำถามมอบให้ นศ. เอาไว้เตือนสติตนเอง เพื่อไม่ให้หลงทาง  ครูที่มีประสบการณ์จะรู้ว่าส่วนไหนในวิชานั้น ที่ นศ. หลงทางบ่อยๆ

ระบุวิธีการที่จำเพาะต่อสาขาวิชานั้นๆ อย่างชัดเจน

ตามปกติ นศ. ต้องเรียนหลายวิชาในเวลาเดียวกัน  และอาจสับสนถ้อยคำหรือวิธีการที่ใช้ต่างกันในต่างสาขาวิชา  เช่น นศ. อาจฝึกการเขียนด้วยสไตล์ที่แตกต่างกันในวิชาวิทยาศาสตร์ (เขียน lab report)  วิชาประวัติศาสตร์ (เขียนเรียงความเชิงวิเคราะห์)  และวิชาภาษา (เรียงความเชิงบรรยาย)  เมื่อมาเรียนวิชานโยบายสาธารณะ นศ. อาจสับสนว่า ควรใช้สไตล์การเขียนรายงานแบบไหน  ครูจึงควรมีคำแนะนำให้ อย่างชัดเจน

ชี้ให้เห็นว่าการเปรียบเทียบบางกรณีใช้ไม่ได้

การเปรียบเทียบ หรืออุปมาอุปมัย เป็นวิธีการเรียนรู้เรื่องที่ซับซ้อน และเป็นนามธรรม  แต่ก็มีข้อจำกัด ที่ นศ. ต้องเข้าใจ  เช่นเมื่อเปรียบเทียบลำไส้ว่าเหมือนท่อน้ำประปา  ครูต้องบอกว่า แต่ลำไส้มีความซับซ้อนกว่าท่อน้ำประปามาก  ผนังลำไส้ไม่เหมือนผนังท่อน้ำประปาที่แข็งทื่อ และทำหน้าที่ไม่ให้น้ำรั่วเท่านั้น  แต่ผนังลำใส้นอกจากเคลื่อนไหวบีบรัดเป็นจังหวะแล้ว ยังดูดซึมสารบางอย่างออกไปจากลำไส้ และปล่อยสารบางอย่างออกมาด้วย


วิธีแก้ความรู้ผิดๆ

ให้ นศ. ทำนายแล้วทดสอบ

วิธีหนึ่งที่อาจช่วยแก้ “ความเชื่อฝังใจ” ของ นศ. ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ที่เป็นความเชื่อผิดๆ  แต่แก้ยาก  คือให้เห็นด้วยตาของตน หรือพิสูจน์ด้วยการทดลองจริงๆ  โดยให้ นศ. ทำนายว่าผลของการทดลองจะออกมาอย่างไร ด้วยเหตุผลอะไร  เมื่อผลออกมาแล้ว ก็อภิปรายกันในชั้น ว่าทำไมจึงได้ผลเช่นนั้น

ผลการวิจัยตามที่อ้างในหนังสือเล่มนี้ บอกว่า แม้ทำอย่างนี้แล้ว ก็จะยังมี นศ. บางคนที่ยังเชื่ออย่างเดิม

ให้ นศ. อธิบายเหตุผลของตน

เมื่อให้ นศ. อธิบายเหตุผลของตน นศ. อาจสะดุดเหตุผลที่ขัดแย้งกันเอง(internal inconsistency)  แล้วเปลี่ยนความเชื่อเอง  หรือครูและเพื่อน นศ. อาจช่วยชี้ให้เห็น  แต่พึงตระหนักว่า หากเป็นเรื่องความเชื่อ เช่นทางศาสนา แม้จะเห็นเหตุผลที่ขัดแย้งกันเอง คนเราก็ไม่เปลี่ยนความเชื่อ

ให้โอกาส นศ. ใช้ความรู้ที่แม่นยำหลายๆ ครั้ง

การเปลี่ยน “ความเชื่อฝังใจ” เป็นเรื่องยาก  ครูต้องอดทน ให้โอกาส นศ. ประยุกต์ใช้ความรู้ชุดนั้นหลายๆ ครั้ง  จนในที่สุดก็เปลี่ยนความเชื่อไปเอง

ให้เวลา

ครูควรให้เวลา นศ. ไตร่ตรองเรื่องนั้นๆ  เพื่อให้ นศ. ใช้ความรู้ตรวจสอบด้วยตนเองว่า มีข้อผิดพลาดอยู่ตรงส่วนไหนของความคิด  กระบวนการนี้จะช่วยเพิ่มทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) แก่ นศ. ด้วย


สรุป

ผมสรุปเชิง AAR กับตนเองว่า  ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ นี้ คุณค่าของครูอยู่ตรงช่วยให้ นศ. เรียนรู้ตรงทางนี่แหละ  คือ นศ. มีปัญหาเรียนรู้มาผิดๆ มากกว่าที่เราคิด  พื้นความรู้ที่บิดเบี้ยวนี้ ทำให้เอามาต่อความรู้ใหม่ไม่ติด  หรือต่อติดก็ยิ่งขยายความเข้าใจผิดๆ ยิ่งขึ้นไปอีก

คุณค่าของครูที่แท้จริงอยู่ตรงนี้  ที่การช่วยให้การเรียนรู้ของศิษย์ตรงทาง ถูกต้อง และช่วยแก้ไขส่วนที่ผิด

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘  ธ.ค. ๕๕

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/515869

 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๔. การจัดระเบียบความรู้

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

ตอนที่ ๔ นี้ มาจากบทที่ 2  How Does the Way Students Organize Knowledge Affect Their Learning?

บันทึกตอนที่ ๔อธิบายหลักการเรื่องการจัดระเบียบความรู้  และตอนที่ ๕อธิบายว่าครูจะช่วยศิษย์ให้จัดระเบียบความรู้เก่ง ได้อย่างไร


วิธีการจัดระเบียบความรู้ มีผลต่อการเรียนรู้

การจัดระเบียบความรู้ (Knowledge Organization) เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้  สมองของ นศ. หรือมือใหม่ด้านความรู้ จะมีความรู้กระจัดกระจาย ไม่หนาแน่น ยังไม่ค่อยมีการจัดระบบ  และการเชื่อมต่อระหว่างความรู้แต่ละชิ้นก็ยังไม่ดีไม่คล่องแคล่ว  ต่างจากสมองของผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้หนาแน่น จัดเป็นระบบที่มีความหมาย (meaningful)  และการเชื่อมต่อระหว่างชิ้นความรู้ก็สะดวก  ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถดึงเอาความรู้ที่เหมาะสมมาใช้งานได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว

หนังสือบอกว่า การจัดระเบียบความรู้ มีผลต่อการเรียนรู้  แต่ผมตีความไปไกลกว่านั้น  ว่าการเรียนรู้นั้นเอง ที่เป็นการจัดระเบียบความรู้  เราเรียนก็เพื่อจัดระเบียบความรู้ในระบบประสาทของเราให้มีโครงสร้างดียิ่งขึ้น  คล่องแคล่วต่อการดึงเอามาใช้งานยิ่งขึ้น  คือการจัดระเบียบความรู้ เป็นทั้งเหตุ และเป็นทั้งผล อยู่ในตัวของมันเอง


โครงสร้างรับใช้หน้าที่

มนุษย์เรียนรู้ความสัมพันธ์ต่างๆ จากประสบการณ์ของตน หลากหลายแบบของความสัมพันธ์  เช่น ในเรื่องในด้านกายภาพ เราเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสวิตช์ไฟกับแสงสว่าง  โดยรู้ว่าว่าเมื่อกดสวิตช์ ไฟจะสว่าง  ในด้านหลักการ เราเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับเท่าเทียมกัน  เมื่อสมองของเราเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้น  ความรู้จะก่อตัวเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อน

รูปแบบของการจัดระเบียบโครงสร้างความรู้ขึ้นกับประสบการณ์ของคน  และสมองจะจัดระเบียบความรู้ตามเป้าหมายการใช้งานเป็นหลัก  เช่น นศ. ในวิชากายวิภาคศาสตร์และสรีรวิทยา มีการเรียนเป็นท่อนๆ ตามอวัยวะ และระบบการทำงานของอวัยวะ  ได้แก่ระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด ระบบประสาท เป็นต้น  นศ. ก็จะจัดระเบียบโครงสร้างความรู้ตามระบบการทำงานของอวัยวะ  เมื่ออาจารย์ตั้งคำถามว่า ให้ระบุและอธิบายอวัยวะต่างๆ ที่มีผลต่อความดันโลหิต  นศ. ตอบไม่ได้  เพราะคำถามนี้ถามความรู้ที่จัดระเบียบโครงสร้างแตกต่างจากที่สมองของ นศ. จัดโครงสร้างไว้

ทำให้ผมหวนนึกถึงสมัยตนยังเป็นนักศึกษาแพทย์  อาจารย์สอนพวกเราเป็นรายโรค  ว่าโรคนั้นมีสาเหตุจากอะไร  มีอาการความเจ็บป่วยอย่างไร  ตรวจร่างกายพบความผิดปกติอย่างไรบ้าง  ตรวจพิเศษพบอะไรผิดปกติบ้าง ฯลฯ  พอไปดูคนไข้จริงๆ พวกเรางง ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร  เมื่อคนไข้เล่าอาการ เราก็คิดไม่ออกว่าจะต้องรี่เข้าไปตรวจร่างกายตรงไหน  ผมเพิ่งมาเข้าใจตอนนี้ว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าสมองของพวกเราจัดระเบียบความรู้เป็นรายโรค  ไม่ได้จัดโครงสร้างความรู้สำหรับการปฏิบัติรักษาผู้ป่วย  แต่เมื่อเราฝึกปฏิบัติรักษาผู้ป่วยไม่นาน เราก็คล่อง  เข้าใจว่า เพราะสมองของเราได้จัดโครงสร้างความรู้อีกแบบหนึ่งไว้ใช้งานจริง  สภาพเช่นนี้ยังเป็นจริงสำหรับนักศึกษาแพทย์ในปัจจุบัน  และน่าจะมีส่วนอธิบายคำบ่นของคนบางคนว่าบัณฑิตที่จบออกมายังทำงานไม่เป็น


การจัดระบบความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ ต่างจากของผู้เริ่มต้น: ความหนาแน่นของการเชื่อมต่อ

ผู้เริ่มต้น (นักเรียน/นักศึกษา) มีความรู้ในสมองกระจัดกระจาย ไม่หนาแน่น  และมีการเชื่อมต่อน้อย ไม่ซับซ้อน  ความสัมพันธ์ระหว่างชิ้นความรู้มักเป็นหนึ่งต่อหนึ่ง คือผู้เริ่มต้นยังไม่มีความสามารถรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ชิ้นต่างๆ ได้มากนัก

ดูตัวอย่างของการจัดระเบียบความรู้ของผู้เชี่ยวชาญได้ ที่นี่ ตรงกันข้าม การจัดระเบียบความรู้ของผู้เริ่มต้นจะมีnode น้อย  และการเชื่อมต่อระหว่าง node ก็น้อย  แต่ละ node เชื่อมโยงกับ node อื่นไม่เกิน ๒ node

 


การจัดระบบความรู้ของผู้เชี่ยวชาญ ต่างจากของผู้เริ่มต้น: ธรรมชาติของการเชื่อมต่อ

ความรู้ของผู้เริ่มต้น นอกจากไม่หนาแน่น แล้ว  ยังมีการเชื่อมต่อแบบผิวเผิน  ไม่เชื่อมต่อตามความสัมพันธ์เพื่อการแก้ปัญหา

ผู้เชี่ยวชาญ จัดระบบความรู้เป็นโครงสร้างความสัมพันธ์หลากหลายแบบแผน (pattern) แต่ละแบบแผนมีความหมายจำเพาะ ไว้ในสมอง  เมื่อมีปัญหาที่ต้องการแก้  สมองก็วิเคราะห์โครงสร้างของปัญหา และนำไปเปรียบเทียบกับโครงสร้างความรู้ที่มีอยู่ทันที  เรียกว่า pattern matching  เมื่อพบโครงสร้างความรู้ที่ตรงกับโครงสร้างปัญหา ก็นำมาใช้แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว  ในทำนอง “ไม่ต้องคิด”

นอกจากผู้เชี่ยวชาญจะจัดระเบียบโครงสร้างความรู้เป็นแบบแผนจำเพาะแล้ว  ยังจัดกลุ่มแบบแผนเป็นกลุ่มๆหรือเป็นแผนผังเพื่อให้สามารถใช้ความรู้ได้อย่างยืดหยุ่น  ยกตัวอย่าง เรามีแบบแผนภาพของไดโนเสาร์อยู่ในสมอง  เราไม่จำเป็นต้องมีแบบแผนของไดโนเสาร์แต่ละชนิดแยกๆ กัน  แต่สามารถจัดโครงสร้างระเบียบภาพไดโนเสาร์ในสมอง เป็นแผนผังแยกเป็นต่างชนิด  ทำให้ช่วยประหยัดพื้นที่ของสมอง  และสมองของผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ก็จะเชื่อมโยงโครงสร้างความรู้เกี่ยวกับภาพไดโนเสาร์ เข้ากับโครงสร้างความรู้เกี่ยวกับยุคทางธรณีวิทยา  ถิ่นที่อยู่  อาหาร ความสัมพันธ์กับสัตว์เลื้อยคลานยุคปัจจุบัน เป็นต้น

ผู้เชี่ยวชาญ จะมีความสามารถมีความยืดหยุ่นในการใช้ความรู้จากหลายโครงสร้าง ได้อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์  ดังกรณีตัวอย่าง อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถใช้ความรู้ให้เหมาะต่อสถานการณ์  คือเมื่อสอน นศพ. ที่ต้องเริ่มต้นด้วยความรู้ระบบอวัยวะ ก็ทำได้  เมื่อไปปฏิบัติดูแลผู้ป่วย ที่ต้องใช้ความรู้ในระดับที่สูงกว่า คือบูรณาการความรู้หลายระบบอวัยวะเข้าด้วยกัน ก็ทำได้

ทำให้ผมย้อนกลับไประลึกถึงการเรียนของผมสมัยเป็น นศพ.  ผมทราบว่าอาจารย์บางท่านที่เรายกย่องกันว่าสอนเก่ง ช่วยให้เราเข้าใจง่าย  ตอนท่านเป็น นศพ. ท่านสอบตกแล้วตกอีก ต้องเรียนซ้ำชั้น  แต่เวลาสอน ท่านสอนวิธีจำให้พวกเรา  สอนความเชื่อมโยงระหว่างความรู้ให้  ทำให้เรารู้วิธีทำความเข้าใจ ง่ายต่อการเรียนรู้

ต่างจากอาจารย์บางคน เรียนเก่งได้เหรียญทอง แต่สอนไม่รู้เรื่อง  คือท่านเน้นที่เนื้อหาสาระที่ซับซ้อน  โดยไม่คำนึงว่า นศพ. จะตามทันหรือไม่  ความที่ท่านหัวดีและเชี่ยวชาญ ท่านจึงสอนสาระที่ซับซ้อนมาก (ดีมาก) แต่พวกเรารับไม่ได้ เพราะเรายังเป็นมือใหม่  น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้สอนวิธีจำหรือวิธีทำความเข้าใจ หรือวิธีเชื่อมโยงความรู้แก่ นศพ.  ผมเดาว่า เพราะท่านหัวสมองดีมาก ท่านจึงเข้าใจและจดจำได้โดยไม่รู้ตัวว่าสมองของท่านจัดระเบียบโครงสร้างความรู้อย่างไร



ข้อแนะนำสำหรับครูเพื่อศิษย์ คือ  ครูต้องตระหนักในความเป็น มือใหม่ของศิษย์  ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ไม่ต้องเน้นบอกสาระความรู้ (เพราะศิษย์ค้นหาเองได้ง่าย) แต่ครูมีคุณค่ามาก ในการแนะนำวิธีเรียนรู้ วิธีจัดระเบียบโครงสร้างความรู้แก่ศิษย์ซึ่งจะกล่าวถึงในบันทึกที่ ๕

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๐  ธ.ค. ๕๕

คัดลอกมาจาก http://www.gotoknow.org/posts/516679

 


หน้า 494 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5608
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8615840

facebook

Twitter


บทความเก่า