Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

หนังสือวิธีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ใรศตวรรษที่ 21

พิมพ์ PDF

ขออนุญาตนำบันทึก ของ คุณหมอวิจารณ์ พานิช หัวข้อ "ปราชญ์ตีความเขียนคำนิยามหนังสือครูเพื่อศิษย์" มาเผยแพร่ดังต่อไปนี้

10 พ.ค. 2555

เรียนคุณหมอวิจารณ์ ที่เคารพรัก

ผมได้อ่านหนังสือ “วิถีสร้างการเรียนรู้เพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21” อย่างเร็วๆ ข้ามๆ จบ   รู้สึกประทับใจที่คุณหมอสนใจเรื่องการศึกษา ครู-นักเรียน  วิธีการสอน-เรียน มากถึงขนาดนี้   หนังสือเล่มนี้ทำให้วิชาครุศาสตร์ซึ่งผมสนใจน้อยมาก กลายเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และผมอ่านจนจบเล่ม

คุณหมอซึ่งเคยประสบผลสำเร็จงดงามจากการกระตุ้นการวิจัยของประเทศชาติ   จากการจัดการความรู้   นี้เรื่องวิธีการเรียนการสอนและความสัมพันธ์ครู-ศิษย์ อาจารย์กำลังเริ่มขบวนการที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง   ผมขอเอาใจช่วยครับ

ผมขีดเส้นไว้เมื่อผมอ่านตรงที่ชอบ   ผมชอบมากที่ให้ความสำคัญไปที่ศิษย์ มากกว่าที่วิชา (สาระ)   ศิษย์สำคัญกว่าเนื้อหาวิชา,  นักเรียนสมัยนี้มีอิสระ และต้องให้เขาเรียนด้วยความสนุก, ให้คิดนอกกรอบ   แต่ต้องเก่งความรู้ในกรอบก่อน   ไม่งั้นจะเป็นคิดเลื่อนลอย,  อย่าชมความสามารถ ให้ชมความมานะพยายาม,  คนเราจะคิดได้ลึกซึ้งหรือมีวิจารณญาณ ต้องมีความรู้มาก ที่เขาเรียกว่า มีต้นทุนความรู้ (background knowledge),  ผู้เชี่ยวชาญที่แท้จริง นอกจากมีความรู้มากแล้ว ยังมีความสามารถพิเศษในการดึงเอาความรู้ที่ถูกต้องมาใช้ตามสถานการณ์,  ครูเปลี่ยนจากการบอกเนื้อหาสาระ มาเป็นทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความท้าทาย ความสนุก ในการเรียน ให้แก่ศิษย์,  ความสำคัญขององค์กร เคออร์ดิค  คือ สมาชิกมีเป้าหมายระดับความมุ่งมั่น (purpose) ชัดเจนร่วมกัน   แต่วิธีบรรลุความมุ่งมั่นทุกคนมีอิสระที่จะใช้ความสร้างสรรค์ของตน ที่จะปรึกษากัน แล้วเอาไปทดลอง   ควรจัดโรงเรียนแบบ เคออร์ดิค นี้ด้วย   ข้อนี้คุณหมอเขียนมานานแล้ว และผมชอบมาก,  ความเห็นไม่ตรงกันไม่เป็นไร หากร่วมกันทำเป้นใช้ได้,  ศิษย์ของเรา ไม่ใช่ศิษย์ของฉัน  ข้อนี้ชอบมาก  แต่คิดว่าปฏิบัติจริงยากหน่อย

ผมคิดว่า ผมเองจะลองเริ่มพยายามแน่วแน่ที่ปณิธานและเป้าหมาย แต่ยืดหยุ่นที่วิธีการ,  เรียนรู้จากการลงมือทำ  ข้อนี้เตือนใจผมดีมาก   และรู้สึกคุณหมอจะเน้นเรื่องนี้ตลอดเล่มนี้,  ไม่ยอมให้งานด่วนที่ไม่สำคัญเข้ามาครอบครองชีวิตเรา   ตัวเราเองต้องเป็นนายของเวลา สำหรับทำงานที่สำคัญ,  จำชื่อนักเรียนให้ได้,   ผมชื่นชอบข้อแนะนำเหล่านี้มากเป็นพิเศษ   ขอขอบคุณคุณหมอครับ

...........

ฉัตรทิพย์

 

ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ ที่ไม่ได้ตั้งใจให้ผมนำข้อความในจดหมายไปเผยแพร่ ผมจึงยกร่างบันทึกนี้ ส่งไปให้ท่านอ่านและให้ความเห็นชอบก่อน   ผมถือเป็นคำนิยมที่มีค่ายิ่ง ที่ช่วยย้ำประเด็นสำคัญให้แก่ผู้อ่าน

ท่านใดสนใจติดตามอ่านหนังสือ สามารถเข้าไปอ่านได้ที่

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/481440

 

 

สินทรัพย์ทางปัญญาโดย ศ.วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF

บทความเรื่องApple’s War on Androidในนิตยสาร Businessweek ฉบับวันที่ ๒๙ มี.ค. ๕๕  ช่วยให้เราเห็นวิถีของธุรกิจในโลกแห่งนวัตกรรม   ว่าเวทีต่อสู้แข่งขันมีอยู่หลายเวทีในเวลาเดียวกัน  ทั้งในการทำงานวิจัยและพัฒนา   การผลิต และการตลาด    บทความนี้บอกเวทีต่อสู้แข่งขันที่อยู่เบื้องหลังคือการฟ้องร้องในคดีละเมิดสินทรัพย์ทางปัญญา(intellectual property) ที่มีการจดสิทธิบัตรไว้

สนุกยิ่งกว่าละคร (น้ำเน่า) ในทีวี คือละครน้ำเน่าความสัมพันธ์สองหน้า (หรือหลายหน้า) ของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ที่ด้านหนึ่งก็ร่วมมือกัน คือบริษัท Apple ว่าจ้างให้ Samsung ผลิตชิป A5 ที่มีความเร็วสูงมาก   ในขณะเดียวกัน Apple ก็ฟ้อง Samsung ว่าละเมิดสินทรัพย์ทางปัญญาของตน เอาไปใช้ใน สมาร์ทโฟน และ แทบเล็ต ตระกูล Galaxy   ธุรกิจกับการเมืองเหมือนกันในข้อนี้…ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร

Apple จำใจต้องจ้างให้ Samsung ผลิตชิป A5 เพราะในกลุ่มบริษัทผู้ผลิตชิปทั้งหลาย Samsung ผลิตได้คุณภาพดีที่สุด   สะท้อนภาพของพลังคุณภาพที่แท้จริง    ศัตรูก็ยังต้องคบค้าเพราะความสามารถในการผลิตสินค้าคุณภาพ

ที่จริงการต่อสู้กันเรื่องสินทรัพย์ทางปัญญาไม่ได้มีนัยยะตื้นๆ แค่นี้   แต่เป็นส่วนหนึ่งของสงครามยึดครองความเป็นจ้าวครองตลาด ครองพัฒนาการหรือนวัตกรรมของสินค้าไอทีในอนาคต

และตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการต่อสู้ทางกฎหมายสินทรัพย์ทางปัญญา ก็ไม่ได้มีแค่บริษัทยักษ์ใหญ่    แต่ยังมีบริษัทที่ปรึกษากฎหมาย ที่ทำหน้าที่ทนายต่อสู้ให้แก่บริษัทยักษ์ใหญ่แต่ละฝ่าย   รวมทั้งมีผู้พิพากษาที่ชำนาญด้านคดีสินทรัพย์ทางปัญญาโดยเฉพาะ

อ่านแล้วผมก็บอกตัวเองว่า ใครที่มุ่งทำมาหากินกับการผลิตสินค้าตลาดบน ที่มุ่งคุณภาพ ก็ต้องมุ่งลงทุนสร้างนวัตกรรมหนีคู่แข่งโดยเอาใจตลาดหรือลูกค้า    และต้องคอยระแวดระวังปกป้องสินทรัพย์ทางปัญญาของตนไม่ให้ถูกละเมิดแบบโจ๋งครึ่มด้วย   หรือหากผลประโยชน์สูงมาก การละเมิดแบบแยบยล (อย่างกรณี Samsung – Android ต่อ Apple นี้) ก็ต้องยอมลงทุนให้ทนายมือดี ค่าตัวสูง เข้ามาดำเนินการฟ้องร้องต่อสู้   นี่คือชีวิตของธุรกิจสมัยใหม่   ที่ถือว่าผลผลิตทางปัญญาเป็นทรัพย์สินส่วนตัว

ที่จริงแนวคิดเรื่องการจดสิทธิบัตรการค้นพบหรือการประดิษฐ์ที่จะมีผลต่อการนำไปใช้ทางธุรกิจ ได้รับการสร้างขึ้นประมาณ ๕๐๐ ปีมาแล้ว   และยิ่งเข้มข้นและซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ

ผมคิดเรื่องใช้ปัญญาสร้างทรัพย์สินไม่เป็น   แม้ทำคลินิกก็ทำไม่เป็น   สิ่งที่คล้ายๆ สินทรัพย์ทางปัญญา คือ PowerPoint ที่ผมคิดขึ้นและนำไปใช้บรรยายตามที่ต่างๆ ผมก็เอาขึ้นเว็บเพื่อมอบให้แก่สังคม   ใครจะเอาไปใช้ก็ได้   บางคนที่ได้ PowerPoint ของผมไปยึดถือความเคารพในสิทธินี้ มาถามผมว่า มีคนมาขอต่อ จะให้ได้ไหม   ผมบอกว่ารีบให้ไปเลย เพราะผมอยากเผยแพร่ความคิดนี้อยู่แล้ว   ยิ่งแพร่หลายมากและมีคนเอาไปหาทางใช้พัฒนาบ้านเมืองมากเท่าไร ผมก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

แต่การไม่มุ่งผลประโยชน์ตนเป็นที่ตั้งนี้มันให้ผลตอบแทนต่อชีวิตมากเหมือนกันนะครับ   คือสินทรัพย์ทางปัญญามันไม่มากับเป้าหมายที่เงิน   แต่ให้ผลเป็นทุนทางสังคม ได้เครือข่ายคนที่มุ่งทำประโยชน์ทางสังคมเป็นที่ตั้ง เรียกว่ามี social capital    ผมพอใจที่ทุนทางสังคมของผมเปิดโอกาสให้ผมได้ทำงานจุดประกายการเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน   แม้จะได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

กลับบ้านมาค้นด้วย Google ทราบข่าวว่า คดีนี้ Apple ทั้งชนะและแพ้ดังข่าวนี้จากการตัดสินของศาลอุทธรณ์   สะท้อนภาพความซับซ้อนในการตีความประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิด   เพื่อการต่อสู้คดีของคู่ความ และการตัดสินคดีของศาล

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ พ.ค. ๕๕

บนรถแท็กซี่จากสนามบินสุวรรณภูมิกลับบ้าน

 

 

บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF
การดำเนินการพัฒนาโรงเรียนตามแนวที่โครงการ นี้ใช้ ได้พัฒนาทักษะด้านการคิดของครู ทำให้ครูเปลี่ยนพฤติกรรมจากทำงานโดดเดี่ยว มาเป็นทำงานเป็นทีม ครูกลายเป็นผู้เรียนรู้ จากการออกแบบการเรียนรู้แก่ศิษย์

จากเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สู่เรียนรู้ทักษะชีวิต สู่การปฏิรูปการศึกษา

เช้าวันที่ ๒๙ ส.ค. ๕๕ ผมไปร่วมการประชุมปฏิบัติการผู้ประสานงานภูมิภาค โครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ครั้งที่ ๒/๒๕๕๕   จัดโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และกระทรวงศึกษาธิการ

ที่จริงโครงการนี้เป็นส่วนเล็กๆ ของการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในสังคมไทย   โดยมูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์  และกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษา ทั่วประเทศ   และดำเนินการแบบค่อยๆ ดำเนินการอย่างมีคุณภาพ   ให้มีโรงเรียนตัวอย่างที่จัดการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงได้ดี   ได้รับการยกย่องและมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นศูนย์เรียนรู้ขับเคลื่อนเครือข่ายโรงเรียนจำนวนหนึ่ง    คือดำเนินการขยายขบวนการเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนให้เต็มแผ่นดิน อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

มูลนิธิสยามกัมมาจลเข้าร่วมมือ ดึงมหาวิทยาลัยในพื้นที่เข้าหนุนโรงเรียนเป้าหมาย    เพื่อสร้างทักษะการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียนให้แน่นขึ้น สำหรับให้ขบวนการเศรษฐกิจพอเพียงผสมกลมกลืนเข้าไปในการเรียนตามปกติ ทั้ง ๘ หน่วยสาระ   รวมทั้งนำเอาแนวคิดการเรียนรู้ให้ได้ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑ เข้าไปบูรณาการด้วย   ซึ่งหมายความว่า มีการนำเอาวิธีการเรียนแบบ PBL  และการรวมตัวกันทำงานและเรียนรู้ของครู ที่เรียกว่า PLC เอามาใช้

ทีมมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง และครูแกนนำในโรงเรียนมา ลปรร. กันเมื่อวันที่ ๒๘ ส.ค.   แล้วนำผลมารายงานต่อคณะกรรมการชี้ทิศทาง ที่ผมเป็นประธาน   ผมได้ฟังเพียง ๓ ทีมเท่านั้น   คือทีม มช. กับโรงเรียนในภาคเหนือตอนบน   ทีม มมส. กับโรงเรียนในภาคอีสาน   และทีม มรภ. กำแพงเพชร กับโรงเรียนในภาคเหนือตอนล่าง    ฟังแล้วก็ชื่นใจ ที่ได้เห็นการทำงานจริงจัง เพื่อประโยชน์ทวีคูณ   คือได้ทั้งทักษะด้านการครองชีวิตแบบพอเพียง    และได้การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ ๒๑

เราได้เห็นว่า การดำเนินการพัฒนาโรงเรียนตามแนวที่โครงการนี้ใช้    ได้พัฒนาทักษะด้านการคิดของครู   ทำให้ครูเปลี่ยนพฤติกรรมจากทำงานโดดเดี่ยว มาเป็นทำงานเป็นทีม   ครูกลายเป็นผู้เรียนรู้ จากการออกแบบการเรียนรู้แก่ศิษย์

ผมได้ชี้ให้ที่ประชุมเห็นว่า โครงการนี้ได้ก้าวหน้าจากที่เห็นในการประชุม steering เมื่อวันที่ ๙ พ.ค. ๕๕ อย่างน่าชื่นใจ    เราได้เห็นภาพการเรียนรู้ของครูคู่ขนานไปกับการเรียนรู้ของศิษย์

ผมจึงให้ความเห็นเชิงเสนอแนะต่อกระทรวงศึกษาธิการผ่าน อ. รจนา สินที หัวหน้ากลุ่มโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระทรวงศึกษาธิการ    รวมทั้งต่อท่านอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตเลขาธิการ สพฐ.คือ ดร. คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา    เป็นข้อเสนอแนะ ๒ ข้อ คือ

๑. ใช้งบประมาณส่วนที่เป็นงบพัฒนาครู ในการสนับสนุนกิจการนี้    เพราะที่เราได้ฟังคือกิจกรรม HRD (Human Resource Development) ของครู   ที่ได้ผลดี   ดีกว่าวิธีจัดหลักสูตรอบรมครูอย่างเทียบกันไม่ติด   ผมเสนอให้เปลี่ยนวิธีพัฒนาครูจาก training mode ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน   มาเป็น learning mode ที่เรียนรู้แนบแน่นกับการทำงานประจำนั่นเอง    ผมเสนอให้ใช้งบพัฒนาครูร้อยละ ๘๐ สนับสนุนโครงการแบบนี้   ที่เหลืออีกร้อยละ ๒๐ ใช้อบรมครู    โดยที่อบรมตามความต้องการของครู    โดยที่ครูที่ผ่าน learning mode จะบอกได้ว่าตนต้องการให้จัดหลักสูตร training เรื่องอะไร

๒. เปลี่ยนผลงานเพื่อประเมินเข้าสู่ตำแหน่ง คศ. จากวิธีทำผลงานในกระดาษ (ซึ่งบางกรณีมีการจ้างทำ) มาเป็นการนำผลงานแบบที่นำเสนอในเช้าวันนี้มาเป็นผลงานเพื่อเข้าสู่ตำแหน่ง คศ.   การให้คุณแก่ครูก็จะเชื่อมโยงกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของศิษย์

ผมเสนอให้เปลี่ยนการบริหารการศึกษาของประเทศจากแนวทางรวมศูนย์ ไปเป็นแนวทางกระจายอำนาจให้แก่พื้นที่   เน้นการวัดผลของการพัฒนาการศึกษาที่ผลสัมฤทธิ์ของเด็ก    เน้นการวัดโดยคนนอก

และได้แนะนำวิธีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียนแบบ กลับทางห้องเรียน ซึ่งผมได้บันทึกไว้ ที่นี่

กิจกรรมของโครงการนี้ ส่วนใหญ่เกิดผลเป็นการฝึกทักษะชีวิต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑

ท่านที่สนใจค้นคลังความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง  และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงโดยสถานศึกษา อ่านได้ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๕

 

บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF

หนังสือ The Price of Inequality : How Today's Divided Society Endangers Our Future หน้า ๙๖ หัวข้อ A distorted economy -- rent seeking and financialization -- and a less well-regulated economy กระตุ้นให้ผมเขียนบันทึกนี้

ข้อความระบุพฤติกรรมของบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทยา ในหนังสือ   กระตุ้นให้ผมทบทวนตัวเอง   ว่าผมรังเกียจและขยะแขยงพฤติกรรมเหล่านั้น   และเฝ้าสั่งสอนฝึกฝนตนเอง ให้เอาชนะแรงขับดันฝ่ายต่ำ ที่มาจากความเห็นแก่ตัว

ตามในหนังสือ สะท้อนความเห็นแก่ตัวจัด จัดมาก ถึงจัดที่สุด ของวงการธุรกิจ   ที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อกำไรสูงสุด   โดยมีวิธีที่แยบยลคือหาทางให้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายการเมือง   เขาจึงมีนักวิ่งเต้น (lobbyist) ถึง ๓,๑๐๐ คน ที่ทำงานให้แก่อุตสาหกรรมสุขภาพ,  และอีก ๒,๑๐๐ คน ทำงานให้แก่อุตสาหกรรมพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ   ผู้เขียนหนังสือ คือศาสตราจารย์  Joseph Stiglitz ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ บอกว่าพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ก่อผลดีต่อเศรษฐกิจ   ค่าใช้จ่ายสำหรับผลประโยชน์จากการเอาเปรียบสังคม เป็นการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจ   โดยค่าใช้จ่ายในการวิ่งเต้นในสหรัฐอเมริกา ปี ค.ศ. ๒๐๑๑ สูงถึง ๓,๒๐๐ ล้านเหรียญ หรือกว่าแสนล้านบาท   เงินเหล่านี้เป็นสิ่งสูญเปล่า และก่อผลร้ายต่อเศรษฐกิจของประเทศ คือทำให้ productivity ลดลง   เขามีคำอธิบายที่ซับซ้อนที่ผมไม่นำมาบันทึก ณ ที่นี้

ผมมีความเชื่อมาตลอด ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ว่าความเห็นแก่ตัวจัดเป็นการทำร้ายสังคม และทำร้ายตนเอง   ที่ว่าทำร้ายตนเองก็เพราะคนที่เห็นแก่ตัวจัด คนดีเขาไม่นับถือ  ยากแก่การทำงานใหญ่   หรือทำงานใหญ่ได้ ก็เป็นงานในหมู่คนเห็นแก่ตัวจัดด้วยกัน   ซึ่งจะเป็นงานที่ก่อโทษแก่สังคม   ผมได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่เด็กว่าอย่าประกอบอาชีพที่เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนสังคม  แต่ที่ผู้ใหญ่สอนผมตอนผมเป็นเด็กนั้น เราเข้าใจการเบียดเบียนแบบชัดเจนตรงไปตรงมา   เช่นขายเหล้า   ประกอบอาชีพที่มีการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เป็นต้น   แต่เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ ผมจึงได้เรียนรู้ว่า  โลกเราเต็มไปด้วยการเบียดเบียนแบบซ่อนเร้น แอบแฝง   มองเผินๆ เหมือนเป็นของดี   ต้องการการค้นคว้าวิจัยอย่างลึกซึ้ง จึงจะมองเห็นมายาเหล่านี้

จะเห็นว่าข้อความในหนังสือเล่มนี้ (ซึ่งเน้นเรื่องของสหรัฐอเมริกา) บอกเราว่า ในสังคมวัตถุนิยม ทุนนิยม การเมืองกับธุรกิจมีแนวโน้มจะร่วมมือกันเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกัน   โดยสูบเอาผลประโยชน์มาจากส่วนรวม (rent seeking)   ผมคิดว่าสังคมไทยก็เดินตามแนวทางนี้

ใน สรอ. สังคมของเขาเข้มแข็ง  มีกลไกด้านสื่อ ที่คอยดูแลผลประโยชน์ของสังคม   และมีกลไกทางวิชาการเข้มแข็งที่คอยตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงซ้อน ที่ทั้งซับซ้อนและซ่อนเงื่อน และบอกแก่สังคม   ดังกรณีของหนังสือเล่มนี้

ผมจึงเห็นโอกาสมากมายขององค์กรทางวิชาการไทย ที่จะทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคม   ไม่ให้หลงเดินทางผิดในเชิงระบบและเชิงนโยบาย   ผมขอเชิญชวนนักวิชาการไทยทุกสาขา อ่านหนังสือเล่มนี้ และคิดโจทย์วิจัยในสังคมไทยจากประเด็นสำคัญๆ

 

 

วิจารณ์ พานิช

๕ ก.ค. ๕๕

 

บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF

ศูนย์ป้องกันการรังแกแห่งชาติ

.ครูต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง ไม่เยาะเย้ยถากถางเด็ก ไม่ทำให้เด็กมีปมด้อย ทำให้เข้าใจกันชัดเจนว่า โรงเรียนต้องการฝึกทักษะความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ซึ่งจะมีประโยชน์ในชีวิตอนาคต ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้เด็กบางคนเพาะนิสัยโหดร้ายทารุณ รังแกหรือเอาเปรียบผู้อื่น

ผมมีโอกาสทำความรู้จักNational Centre Against Bullyingของออสเตรเลีย    พบแล้วแปลกใจ ว่าที่จริงเรื่องนี้สำคัญมากทีเดียวในสังคมปัจจุบัน   แต่เราไม่ค่อยคิดหาวิธีป้องกันหรือจัดการอย่างเป็นระบบ   และอย่างเป็นวิชาการ

 

ในเว็บไซต์ดังกล่าว มีส่วนเกี่ยวกับ Prof. DonnaCrossช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า เขามองประเด็นการรังแกกันระหว่างเด็กๆ อย่างไร

 

แต่ผมมองด้วยแว่น 21st Century Learning / Skills   ว่าหากโรงเรียนมีวิธีจัดการเรียนแนวใหม่นี้   เด็กจะได้รับการฝึก inter-personal skills, inter-cultural skills   และได้รับการฝึกให้เข้าใจ เห็นอกเห็นใจ คนอื่น    การรังแกกันน่าจะมีน้อยมาก   ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ก็เข้าใจว่านักเรียนที่นั่นคงจะรังแกกันน้อยมาก    แม้การหัวเราะเยาะ เยาะเย้ยถากถางกันก็ไม่มี    เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของ life skills ซึ่งต้องฝึกในกระบวนการเรียนรู้สมัยใหม่ในโรงเรียน

 

ที่สำคัญคือ ครูต้องทำตัวเป็นตัวอย่าง    ไม่เยาะเย้ยถากถางเด็ก ไม่ทำให้เด็กมีปมด้อย   ทำให้เข้าใจกันชัดเจนว่า โรงเรียนต้องการฝึกทักษะความเห็นอกเห็นใจคนอื่น   ซึ่งจะมีประโยชน์ในชีวิตอนาคต   ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้เด็กบางคนเพาะนิสัยโหดร้ายทารุณ รังแกหรือเอาเปรียบผู้อื่น

 

ผมเชื่อว่าเด็กที่มีความมั่นใจตนเอง   มีความสุขจากการได้ฝึกฝนตนเอง ได้เรียนรู้สิ่งที่ตนใฝ่ฝัน   จะไม่มุ่งรังแกผู้อื่น

 

นอกจากนั้นการเรียนโดยลงมือทำ ทำเป็นทีม ใน PBL   จะช่วยให้เด็กที่มีแรงบันดาลใจแกมก้าวร้าว ได้ใช้พลังของตนทำสิ่งที่ท้าทาย   เปลี่ยนพลังก้าวร้าวมาเป็นพลังสร้างสรรค์

 

ความเข้าใจของผมตามข้างบน เป็นการเดาเอาเองทั้งสิ้น   มันจึงเป็นโจทย์วิจัยด้วย   โดยผมไม่มีความรู้ว่าได้มีงานวิจัยเรื่องดังกล่าวแล้วแค่ไหน   เดาว่าคงมีความรู้กันแล้วไม่ใช่น้อย    แต่เดาว่าเป็นความรู้ในบริบทวัฒนธรรมและสังคมฝรั่ง    เดาว่าในบริบทของไทย น่าจะไม่ค่อยมีผลงานวิจัย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ ส.ค. ๕๕

 

 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 08 กันยายน 2012 เวลา 20:16 น.
 


หน้า 550 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8736783

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า