Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ขอฝากจากกระบี่

พิมพ์ PDF

ค่ำวันที่ ๒๒ เม.ย. ๕๖ คณะสัมมนา Leadership Forum for Health Professional Education Development ก็ลงเครื่องบินการบินไทยที่สนามบินนานาชาติกระบี่

เป็นครั้งแรกที่ผมไปกระบี่ทางเครื่องบิน  และเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสสนามบินแห่งนี้ ซึ่งกว้างขวางใหญ่โต  และเมื่อนั่งรถตู้ไปร้านอาหาร “เรือนไม้” และจากร้านอาหารไปหาดนพรัตน์ธารา  ผมก็บอกตัวเองว่า จังหวัดกระบี่เปลี่ยนแปลงไปมาก  หลังจากผมไปครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า ๒๐ ปีมาแล้ว  สมัยผมยังทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จุดเด่นของร้านอาหารเรือนไม้ คือเรือนไม้ไผ่ ที่หลังคาทรงสูงมุงด้วยไม้ไผ่สองชั้น  คล้ายหลังคาไม้สักของภาคเหนือ  ไต่ถามได้ความรู้ว่าฝนตกน้ำไม่รั่ว  และเขารับประกันอยู่ได้ ๑๐ ปี  ไม้ไผ่มาจากกำแพงเพชร หลังคาแบบนี้ให้ความเย็นดีมาก เพราะปล่อยให้อากาศร้อนออกไปทางหลังคาได้  และทรงของหลังคาต้องสูงและมีความชันสูง มิฉนั้นน้ำฝนจะรั่ว

ไม่ใช่เด่นเฉพาะเรือนไม้ไผ่  อาหารของร้านนี้ก็อร่อยด้วย  เป็นครั้งแรกที่ผมได้กิน “หอยชักตีน” เผา ของชาวปักษ์ใต้ หรือหอยหวานของชาวกรุงเทพ

เราไปขึ้นเรือที่หาดนพรัตน์ธารานั่งไป ๑๐ นาทีก็ถึงท่าของโรงแรม  ที่สะพานขึ้นเรือทำด้วยทุ่นลอยผูกติดกันอย่างดี  แต่มันก็มีคลื่นเล็กน้อยต้องเดินทรงตัวให้ดี  และตอนขากลับ บ่ายสี่โมงวันที่ ๒๔ เม.ย. น้ำลงและคลื่นแรง  เดินยาก เจ้าหน้าที่ของเรือต้องมาช่วยพยุง

ผมนอนฟังความไพเราะของเสียงคลื่นตอนเช้ามืดของวันที่ ๒๓ และ ๒๔  ที่ระเบียงห้อง๑๒๖๔  ได้ฟังเสียงคลื่นและเสียงนกกางเขนร้องไพเราะจับใจ  น่าจะเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ผมได้ฟังเสียงคลื่นประสานเสียงนกกางเขน

เช้าวันที่ ๒๓ ผมเดินออกกำลังที่ชายหาด  ได้สูดอากาศบริสุทธิ์เข้าปอดลึกๆ  และเดินข้ามเขาไปที่ฝั่งอ่าวนาง  โดยที่ทางโรงแรมจัดทำบันไดและราวจับให้อย่างดี  ปีนขึ้นและปีนลง ๑๐ นาที ก็ไปถึงฝั่งอ่าวนาง  แต่ผมไม่ได้ไปเดินที่หาด  ได้แต่ถ่ายรูปจากไกลๆ

ที่ฝั่งอ่าวนางผมไปเห็นแอ่งน้ำเสียที่ดำเป็นน้ำครำ และไหลออกทะเล  ถามชาวบ้านว่าน้ำเสียมาจากไหนก็ไม่มีใครรู้  ผมนึกตำหนิทางผู้บริหารโรงแรมเซนทารา ว่าละเลยไม่รู้จักเอาใจใส่การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อความยั่งยืนของธุรกิจโรงแรมของตน  แบบเดียวกับที่ผมไปพบที่ชุมพร ตาม บันทึกนี้

ชายหาดส่วนที่เป็นของโรงแรมเซนทารา เป็นเสมือนหาดส่วนตัว  เพราะมาถึงได้ทางเรือ หรือเดินข้ามเขามาเท่านั้น  และเขามียามคอยห้ามคนที่ไม่ใช่แขกพักที่โรงแรมเข้ามา  เสน่ห์ของชายหาดนี้คือเกาะรูปร่างแปลกๆ

เช้าวันที่ ๒๔ ผมเดินออกกำลังกายภายในบริเวณโรงแรม  ได้ชื่นชมต้นไม้ และบรรยากาศ และได้ถ่ายภาพสวยงามให้ความสดชื่นอย่างยิ่ง

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/538890

 

สังคมไทยอ่อนแอทางปัญญา

พิมพ์ PDF

สังคมไทยอ่อนแอทางปัญญา โดย ดร.เสรี พงศ์พิศ

จากบทความเรื่อง: ปรัชญาชีวิต (๒๖) สังคมไทยอ่อนแอทางปัญญา

 

“สังคมไทยอ่อนแอทางปัญญา มีความรู้น้อย ใช้ระบบอำนาจเป็นใหญ่เนื่องจากขาดความรู้ เช่น ระบบราชการ คือ ตัวแทนขององค์กรเชิงอำนาจ มีแต่เน้นกฎหมาย ระเบียบ การสั่งการและการควบคุม ซึ่งถือว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด เพราะสังคมไทยปัจจุบันมีปัญหาที่ซับซ้อน และยากต่อการแก้ไขมากขึ้น”

ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี วิเคราะห์สังคมไทยมานานหลายปีว่า ปัญหาสำคัญคือความอ่อนแอทางปัญญา เพราะขาดการเรียนรู้ จึงมักใช้แต่อำนาจและเงิน ซึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เนื่องจากสังคมวันนี้มีความซับซ้อน ถ้าไม่ใช่ข้อมูล ความรู้และปัญญาก็แก้ไม่ได้

การปฏิรูปการศึกษาก็มีปัญหา เพราะเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ปฏิรูปการศึกษา แต่ปฏิรูปกระทรวงหรือโครงสร้างมากกว่าปฏิรูปความคิด หรือกระบวนทัศน์ ซึ่งต้องปรับวิธีคิด การจัดการ กระบวนการเรียนรู้ เนื้อหาและวิธีการ

การปฏิรูปโดยการยกให้เป็นงานของคณะกรรมการปฏิรูป โดยประชาชนทั้งประเทศไม่มีส่วนร่วมไม่อาจก่อให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาได้ เพราะงานนี้ต้องการพลังใจพลังความคิดและความร่วมมือของคนไทยทั้งชาติจึงจะสำเร็จ

ท่านเคยแนะนำว่า ควรเริ่มการปฏิรูปด้วยการผนึกพลังของคนไทยทั้งชาติ ตั้งเป้าประสงค์ร่วมกันชัดเจนว่า “เราจะช่วยกันปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาความทุกข์ของคนไทย” ก็จะเกิดพลังทางสังคมและพลังทางปัญญาอย่างมหาศาล การปฏิรูปจึงจะสำเร็จได้

ท่านวิจารณ์การศึกษาว่า มีแต่โรงสอน ไม่มีโรงเรียน หรือสอนมากแต่เรียนน้อย อาจารย์ก็มักสอนอะไรแบบ “ลอยอยู่ในอวกาศ” หรือบอกว่า “ที่ผ่านมา วิชาการได้ทอดทิ้งชุมชน การศึกษาที่ผ่านมามิได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคม ดังนี้วิชาการจึงอ่อนแอทางปัญญา เพราะไม่รู้จริงกับปัญหา”

นักวิชาการส่วนใหญ่ไม่ติดดิน ไม่ติดกับปัญหาและสถานการณ์ที่เป็นจริง ไม่เข้าใจชีวิต ปัญหา ความคิด ความฝัน ความใฝ่ฝันและความต้องการของผู้คน ของชุมชน ของสังคม ยังสอนตามตำรา และไม่สามารถหาคำตอบใหม่ๆ ที่ใกล้ความเป็นจริงได้ เพราะยังคิดอยู่แต่ในกรอบ หลายครั้งก่อให้เกิดปัญหาใหม่ด้วยซ้ำ งานวิจัยก็กลายเป็นขยะที่ทำเสร็จก็เก็บเข้าตู้ ตั้งไว้บนหิ้ง

ความทุกข์ความสุขเป็นอะไรที่ไม่สามารถรู้ได้ด้วยเหตุผล แต่รู้ได้ด้วยใจ ด้วยประสบการณ์

ขอบคุณข้อมูลจาก โฮมเพจ ดร.เสรี พงศ์พิศ Sunday, 27 November 2005

http://www.phongphit.com/content/view/251/54/

 

แนวคิดประชาสังคมในทัศนะของอดัม สมิธ

พิมพ์ PDF

ข้อเสนอของสมิธเป็นเป้าหมายสูงสุดทางการเมือง เป็นเรื่องของการนำปรัชญาทางศีลธรรมมาเป็นกฏทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยุติธรรมถือว่าเป็นคุณธรรมอันดับแรกที่ต้องมีในสังคมพาณิชยกรรมและสังคมแห่งเสรีชน ส่วนคุณธรรมด้านอื่นๆ ได้แก่ ความปรารถนาที่จะประกอบความดี (benevolence) ซึ่งเป็นคุณธรรมที่พลเมืองจะต้องมีความผูกพัน ข้อเสนอที่เป็นแก่นของปรัชญาที่สมิธเสนอก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมระหว่างความยุติธรรมกับความปรารถนาที่จะประกอบความดีเพื่อให้พลเมืองผู้พอใจในเสรีนิยมมีความรู้สึกตระหนักในคุณธรรม เมื่อพลเมืองมีเสรีภาพก็ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมขึ้นมากำกับด้วยเพื่อลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือทำในสิ่งที่ทำลายคุณธรรม พลเมืองที่มุ่งประกอบความดีจะแสดงความดีออกมาได้ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมคุ้มครองให้ประกอบความดี

อดัม สมิธ มีชีวิตอยู่ระหว่า ค.ศ.1723-1790 เป็นนักปรัชญาชาวสกอตต์ที่สนใจปัชญาทางศีลธรรมมีแนวคิดในทำนองเดียวกับเฟอร์กูสัน  งานเขียนของสมิธแสดงให้เห็นถึงความสนใจในการถกอภิปรายถึงสังคมสมัยใหม่ สมิธได้รับอธิพลทางความคิดจากปรัชญาการเมืองของอริสโตเติลที่เชื่อว่า มนุษย์โดยพื้นฐานแล้วก็คือพลเมือง มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง มนุษย์จะดำรงอยู่ได้ก็ต้องอยู่ในสังคมที่มนุษย์สร้างขึ้นมา มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วจึงมีความรักสังคมที่เขาอยู่ และมีความปรารถนาที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความสามัคคี และสังคมนี้ควรได้รับการปกป้องเพื่อการดำรงชีวิตของพวกเขา สมิธได้เสนอแนวคิดที่ท้าทายสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางศีลธรรมของมนุษย์อันมีเหตุกำเนิดมาจากสังคมพาณิชยกรรมและการปฎิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป เฟอร์กูสันพยายามค้นหาคำอธิบายถึงสังคมที่มีความซับซ้อนของประชาสังคมสมัยใหม่ซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันและการเกิดความเป็นปัจเจกชนนิยมขึ้น สมิธเน้นว่าสังคมพาณิชยกรรมไม่เพียงแต่นำไปสู่ความฉ้อโกง และความเลวร้ายทางศีลธรรมของมนุษย์ที่เกิดจากความขัดแย้งทางคุณธรรมที่มุ่งประโยชน์ส่วนตน แต่ในอีกทางหนึ่งสังคมพาณิชยกรรมก็มีส่วนดีที่ยังทำให้การเติบโตอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนที่เป็นธรรม ใช้วิธีการจ้างงานเพื่อแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในงานเขียนเรื่องทฤษฎีแห่งความรู้ทางศีลธรรม (The Theory of Moral Sentiments)  สมิธเสนอว่าการใช้ชีวิตในสังคมสาธารณะต้องมีคุณธรรม การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการต้องมีความเป็นธรรมและต้องมีการจัดระเบียบทางสังคมที่ดีเกิดขึ้น

สมิธแบ่งความแตกต่างระหว่างสังคมดั้งเดิมกับสังคมที่มีความอารยะโดยใช้เกณฑ์ที่พิจารณารูปแบบของพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สมิธพยายามอธิบายว่าการแบ่งงานกันทำช่วยทำให้เกิดความมั่งคั้งของชาติได้อย่างไร นอกจากนี้ได้อธิบายถึงตลาดเสรีว่านำไปสู่การขยายตัวอย่างมากของสังคมพาณิชยกรรมและการปรับปรุงระบบการแบ่งงานกันทำ ยิ่งพาณิชยกรรมขยายตัวมากเท่าใด การแบ่งงานกันทำก็ยิ่งมีความสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น สมิธเห็นว่าสังคมพาณิชยกรรมเป็นการพัฒนาการขั้นสุดท้าย เป็นสังคมที่มีการแบ่งงานกันทำในระบบการผลิต มีระบบกฎหมาย สัญญา การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินและเงินตราในหมู่เอกชน สังคมในยุคนี้มีอุตสาหกรรมที่ทันสมัย มีการสะสมทุนเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ซึ่งทำให้ใช้เวลาน้อยลงในการผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่ง การแบ่งงานกันทำเมื่อมองทั้งระบบสังคมแล้วจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือทางสังคมเกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุด สถาพสังคมแบบนี้นำไปสู่ความแบ่งแยกความสัมพันธ์ระหว่างสังคมพาณิชยกรรมออกจากสังคมการเมืองสมัยใหม่

ข้อเสนอของสมิธเป็นเป้าหมายสูงสุดทางการเมือง เป็นเรื่องของการนำปรัชญาทางศีลธรรมมาเป็นกฏทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความยุติธรรมถือว่าเป็นคุณธรรมอันดับแรกที่ต้องมีในสังคมพาณิชยกรรมและสังคมแห่งเสรีชน ส่วนคุณธรรมด้านอื่นๆ ได้แก่ ความปรารถนาที่จะประกอบความดี (benevolence) ซึ่งเป็นคุณธรรมที่พลเมืองจะต้องมีความผูกพัน ข้อเสนอที่เป็นแก่นของปรัชญาที่สมิธเสนอก็คือ มีความเป็นไปได้ที่จะเชื่อมระหว่างความยุติธรรมกับความปรารถนาที่จะประกอบความดีเพื่อให้พลเมืองผู้พอใจในเสรีนิยมมีความรู้สึกตระหนักในคุณธรรม เมื่อพลเมืองมีเสรีภาพก็ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมขึ้นมากำกับด้วยเพื่อลงโทษผู้ฝ่าฝืนหรือทำในสิ่งที่ทำลายคุณธรรม พลเมืองที่มุ่งประกอบความดีจะแสดงความดีออกมาได้ต้องมีกฎหมายที่ยุติธรรมคุ้มครองให้ประกอบความดี

สมิธเห็นว่าปัจเจกชนมีความโน้นเอียงมาแต่กำเนิดที่จะเคารพกฎแห่งความยุติธรรมตามธรรมชาติ  มนุษย์นำตัวเข้าสู่ประชาสังคมก็ด้วยหลักสองประการ ได้แก่ หลักแห่งอรรถประโยชน์ (principle of utility) และหลักแห่งอำนาจหน้าที่ (principle of authority) กล่าวคือ ในหลักประการแรกนั้น มนุษย์โดยธรรมชาติมีความปรารถนาที่จะทำสภาพของตนเองให้ดีขึ้น ความปรารถนานี้โดยปกติมนุษย์ทำให้เป็นรูปธรรมขึ้นมาโดยใช้วิธีการหาเหตุผลมาอ้างเพื่อแสวงหาความมั่นคง (argumentation of fortune) เพื่อให้บรรลุเหตุผลดังกล่าวปัจเจกชนควรที่จะพอใจกับเสรีภาพส่วนตัวที่จะตัดสินใจว่าตนเองควรจะใช้ทรัพยากรและทักษะของตนมาร่วมกิจกรรมของประชาสังคมอย่างไร สมิธพรรณาว่า เป็นระบบสังคมเสรีทุกคนมีเสรีภาพอย่างสมบูรณ์ที่จะนำตัวเองเข้าสู่การหาประโยชน์ตามแนวทางของตนเพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ตน หรือสร้างอรรถประโยชน์ให้แก่ตน มนุษย์จึงต้องนำตนเองเข้าสู่ประชาสังคม

ส่วนหลักแห่งอำนาจหน้าที่ สมิธเห็นว่า รัฐบาลมีหน้าที่เพียงสามประการเท่านั้นคือ หนึ่งปกป้องการรุกรานของศัตรูจากภายนอก สองปกป้องสาธารณะต่างๆรวมทั้งงานด้านการศึกษา และสามบริหารงานยุติธรรม รัฐต้องมีมาตรการต่างๆ ที่ป้องกันไม่ให้ปัจเจกบุคคลฝ่าฝืนกฎแห่งความยุติธรรม เพื่อให้ปัจเจกชนได้ดำรงชีวิตเพื่อแสวงหาประโยชน์ตามที่ตนต้องการ เมื่อรัฐทำหน้าที่นี้ได้สมบูรณ์เป็นหลักประกันให้เสรีชนเข้าสู่ประชาสังคม ความเห็นของสมิธดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของประชาสังคมแบบเสรีนิยม

สมิธเน้นว่า มนุษย์เราโดยธรรมชาติมีความเป็นสังคมและแสดงออกถึงความเป็นสัตว์สังคมของตนออกมาในเชิงสถาบันที่ไม่มีแบบแผนเป็นทางการ มนุษย์รับรู้ว่าโลกประกอบด้วยการปฎิบัติทางสังคมอันหลากหลายและมีสถาบันทางสังคมมากมาย ในสังคมการค้าแบบเสรีจำเป็นต้องมีคุณธรรมของพลเมือง (civic virtue) ที่แสดงออกในพื้นที่ปริมณฑลสาธารณะในลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยนการกระทำต่อกันด้วยความยุติธรรม ในตลาดเสรีเป็นพื้นที่ที่มนุษย์แลกเปลี่ยนหมุนเวียน แรงงาน ทุน รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับความดีของมนุษย์ และความเห็นทางการเมือง ตลาดเสรียังเป็นแหล่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งเรืองทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ ปรัชญา และศิลปะ สมิธเชื่อว่าความรู้สึกทางอารมณ์ จินตนาการ และความเข้าใจสรรพสิ่งเป็นพื้นฐานของความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และเป็นจุดสำคัญที่ทำให้มนุษย์คิดเกี่ยวกับสังคมแบบเสรี

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

11 มิถุนายน 2556

ข้อมูลจากหนังสือ พัฒนาการและพัฒนาประชาสังคม โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์

 

ทฤษฎีสัญญาประชาคม

พิมพ์ PDF

ทฤษฎีสัญญาประชาคม

เป็นการนำเสนอความคิดที่อธิบายความชอบธรรมใหม่เกี่ยวกับที่มาของอำนาจรัฐ จากเดิมที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ผู้ปกครองซึ่งก็คือกษัตริย์มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจปกครองที่ได้รับมาจากพระเจ้าที่เรียกว่า อำนาจเทวสิทธิ์ (Diving Right) อำนาจจากสวรรค์นี้ผู้ปกครองได้รับผ่านมาทางศาสนจักร ตามความเชื่อแบบเดิมนี้อำนาจของอาณาจักรและอำนาจของศาสนจักรจึงเป็นอันเดียวกัน แต่อำนาจรัฐตามแนวคิดของนักปรัชญากลุ่มสัญญาประชาคมเสนอขึ้นมาใหม่ อ้างที่มาของอำนาจรัฐว่าเกิดจากการยินยอมพร้อมใจกันของมนุษย์ในสังคมมาตกลงจัดระเบียบการอยู่ร่วมกันด้วยการมอบอำนาจให้ผู้นำทำหน้าที่แทนตนในนามของส่วนรวม นักปรัชญาทั้งสามคนให้เหตุผลแตกต่างกันในการอธิบายถึงความจำเป็นที่มนุษย์ยินยอมมาอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและยอมมอบอำนาจให้ผู้อื่นปกครอง โดยนักทฤษฎีแต่ละคนมีคำอธิบายอ้างถึงพื้นฐานธรรมชาติของมนุษย์ในแง่มุมที่แตกต่างกัน แต่ที่มีทัศนะเหมือนกันคือธรรมชาติของมนุษย์เป็นเหตุแห่งการทำข้อตกลงยินยอมในการจัดตั้งและมอบอำนาจให้ผู้นำ

 

โทมัส ฮอบส์ (มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1588-1679) เสนอแนวคิดที่ท้าทายอำนาจของศาสนจักรที่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์และกฏต่างๆ รวมทั้งมอบเทวสิทธิ์ให้แก่กษัตริย์เป็นผู้ปกครอง แต่ฮอบส์มีแนวคิดว่าสังคมและรัฐบาลไม่ได้ถูกบวชหรือสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้าหรือธรรมชาติ หากแต่มนุษย์เองมีความจำเป็นต้องสร้างรัฐขึ้นอย่างไม่เป็นธรรมชาติ เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์เป็นสัตว์ที่เห็นแก่ตัว ละโมบ อยู่ไม่สุข และไม่มั่นคง พฤติกรรมของมนุษย์ถูกผลักดันไปโดยตัณหาของตนและพยายามใช้เหตุผลที่จะทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงของตนเอง การป้องกันตัวที่ดีที่สุดคือ การโจมตีก่อน ทำให้เกิดการแย่งชิงและสงคราม ภาวะทางธรรมชาติของมนุษย์ก็คือสงคราม ชีวิตมนุษย์จึงอยู่อย่างโหดร้าย ยากไร้ และอายุสั้น ในภาวะธรรมชาติมนุษย์มีความเท่าเทียมกันทั้งในความสามารถของร่างกายและสติปัญญา ความเสมอภาคที่สำคัญที่สุดคือ ความเท่าเทียมในการประหัตประหารกัน เพราะความกังวลสูงสุดของมนุษย์คือ การปกปักรักษาตนเอง ความเสมอภาคด้วยความสามารถนำไปสู่ความเสมอภาคด้านความหวังและการแข่งขันซึ่งเกิดจากความโลภของมนุษย์ ความเป็นศัตรูกันโดยธรรมชาติของมนุษย์จึงเกิดขึ้น ฮอบส์มีความเห็นว่า ความกลัวตาย ความปรารถนา และความหวัง ได้โน้มนำมนุษย์ไปสู่สันติสุขโดยชี้นำให้มีกฎสำหรับใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสันติ มนุษย์จึงเริ่มสร้างเงื่อนไขให้เกิดสันติภาพ มนุษย์แต่ละคนควรจะเต็มใจสละสิทธิของตนที่มีต่อสิ่งทั้งปวง การยินยอมสละสิทธิร่วมกันนี้เรียกว่าสัญญาประชาคม (Social Contract) ประชาชนสังคมเกิดขึ้นได้โดยสัญญาประชาคม โดยที่แต่ละคนมีพันธะผูกพันกับตนเองด้วย มนุษย์ร่วมกันทำสัญญาว่า จะไม่ขัดขืนคำสั่งของตัวบุคคลหรือคณะบุคคลที่พวกเขายอมรับว่ามีอำนาจในองค์อธิปัตย์ (Sovereing) ของพวกเขา มนุษย์ต้องยอมสละสิทธิที่จะปกป้องตัวเองและตกลงให้องค์อธิปัตย์ ผู้มีอำนาจใช้สิทธินี้แทนปัจเจกชน องค์อธิปัตย์จึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมนุษย์ทุกคนเพื่อปกป้องไม่ให้เกิดความขัดแย้ง การแย่งชิง และการประหัตประหารกัน ปัจเจกชนต้องเชื่อฟังรัฐและมีเสรีภาพได้เท่าที่องค์อธิปัตย์จะอนุญาต ปัจเจกชนจะกบฎต่อรัฐได้ถ้าองค์อธิปัตย์ทำลายสิทธิทางธรรมชาติในการป้องกันตนเองของปัจเจกชน เช่น การฆ่าหรือทำร้ายพวกเขา

ฮอบส์มีชีวิตอยู่ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองของอังกฤษที่ต้องประสานรอยร้าวระหว่างกษัตริย์กับรัฐสภาได้เสนอความเห็นไว้ว่าน่าจะมอบอำนาจการปกครองให้กษัตริย์มีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์เพียงคนเดียวทำหน้าที่ในการใช้องค์อธิปัตย์

 

จอห์น ล็อก (มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ.1632-1704) มีทัศนะเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ต่างจาก ฮอบส์ โดยล็อกมองว่ามนุษย์มีเหตุผลและจิตสำนึกที่จะแยกความถูกผิดได้ ภาวะธรรมชาติของมนุษย์มีความสมบูรณ์และมีเสรีภาพเต็มที่ที่จะจัดการกับชีวิตของตนเองตามแนวทางที่เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด มนุษย์มีอิสระจากการแทรกแซงจากคนอื่น  อย่างไรก็ตามมนุษย์ก็ไม่ได้มีอิสระที่จะทำสิ่งต่างๆได้ตามความพึงพอใจของตนทุกประการ ในภาวะธรรมชาติเป็นช่วงก่อนมีสังคมการเมือง (pre-political) เป็นภาวะที่ไม่มีองค์อำนาจ (authority) หรือรัฐบาลที่จะลงโทษผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย (เพราะเป็นสภาที่ยังไม่มีกฏหมาย) แต่มันไม่ใช่ภาวะที่จะไปล่วงสิทธิของคนอื่น สภาพธรรมชาติมีกฎแห่งธรรมชาติปกครองอยู่ซึ่งผูกพันทุกๆคนไว้ ทุกคนมีความเท่าเทียมที่จะถูกปกครองหรือผูกมัดโดยกฏแห่งธรรมชาติ

ในทัศนะของล็อกมองว่ากฏแห่งธรรมชาติถือว่าเป็นพื้นฐานของศีลธรรมที่พระเจ้าประทานมาให้ด้วยคำบัญชา มนุษย์เราจะต้องไม่ทำอันตรายชีวิต เสรีภาพ และทรัพย์สินของคนอื่น เราถูกห้ามโดยกฏธรรมชาติมิให้ทำอันตรายคนอื่น ภาวะแห่งธรรมชาติจึงเป็นภาวะที่มีเสรีภาพและสันติภาพ ภาวะตามธรรมชาติจึงไม่ใช่ภาวะสงครามตามความเห็นของ ฮอบส์ แต่ก็สามารถพัฒนาไปสู่การเกิดสงครามได้ เมื่อมนุษย์ทำร้ายคนอื่น ภาวะสงครามเริ่มขึ้นเมื่อคนหนึ่งประกาศสงครามกับอีกคนหนึ่ง โดยการขโมยทรัพย์สินหรือโดยความพยายามที่จะให้คนอื่นเป็นทาส ด้วยเหตุที่ว่าภาวะธรรมชาติไม่มีอำนาจแห่งสังคมการเมืองที่มนุษย์จะใช้เป็นช่องทางเรียกร้องความยุติธรรม และด้วยเหตุที่ภาวะธรรมชาติยอมให้มนุษย์ปกป้องชีวิตตนเองได้ ดังนั้นเพื่อสันติภาพมนุษย์จึงต้องสละภาวะธรรมชาติออกไป  โดยมาทำสัญญาประชาคมร่วมกันเพื่อสร้างรัฐบาลของชาวประชา (civil government) ขึ้นเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน เป็นการสร้างสังคมการเมืองขึ้นมาจากเจตจำนงร่วม ที่มีฐานะเป็นองค์อธิปัตย์ มนุษย์ได้สร้างองค์ทางการเมืองขึ้นมา (body politic) เป็นรัฐบาลที่ผ่านการยินยอมตามข้อตกลงของมนุษย์ มนุษย์ได้รับของสามสิ่งที่ไม่มีในภาวะธรรมชาติแต่ได้จากการทำสัญญาร่วมกัน คือ อำนาจทางกฏหมาย (นิติบัญญัติ) อำนาจการพิจารณาโทษผู้ทำผิด (ตุลาการ) และอำนาจในการนำกฏหมายไปบังคับใช้ (บริหาร) มนุษย์แต่ละคนจึงยอมมอบตนเองให้กับอำนาจทั้งสามนี้เพื่อปกป้องตนเองและลงโทษผู้ละเมิดกฏแห่งธรรมชาติ และยอมมอบอำนาจนี้ให้กับรัฐบาลที่ได้สร้างขึ้นมาโดยผ่านการทำข้อตกลง

ล็อคมีความเห็นว่า เป้าหมายปลายทางของการอยู่ร่วมกันก็เพื่อพิทักษ์ความมั่นคงของชีวิต เสรีภาพ และความอยู่ดีมีสุขโดยทั่วไปของมนุษย์ อย่างไรก็ตามล็อกเห็นว่าข้อตกลงที่ทำสัญญากับรัฐบาลนี้สามารถทำลายลงได้ เมื่อมนุษย์มีเหตุผลในการต่อต้านอำนาจของรัฐบาลได้ เมื่อผู้ปกครองทำตัวเป็นทรราช เช่นทำลายระบบกฏหมายและปฏิเสธความสามารถของประชาชนในการออกกฏหมายเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สุดท้ายทรราชได้นำตัวเองเข้าสู่สงครามกับประชาชน ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองตามภาวะธรรมชาติ เหมือนเมื่อก่อนจะตกลงสร้างสังคมขึ้นมา กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เมื่อรัฐบาลไม่ปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทรราชกลับทำตัวเป็นปรปักษ์กับผลประโยชน์ของประชาชน ประชาชนมีสิทธฺิที่จะต่อต้านอำนาจผู้ปกครองโดยล้มสัญญาประชาคม แล้วเข้าสู่กระบวนการสร้างสังคมการเมืองขึ้นมาใหม่

ฌ็อง ฌ้ากส์ รุสโซ (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ.1712-1778) ได้พรรณาระบวนการทางประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติตั้งแต่เริ่มต้นที่อยู่ในภาวะธรรมชาติจนกระทั่งก้าวหน้าสู่ความเป็นประชาสังคม (Civil Society) รุสโซ่มีความเห็นว่าตามภาวะแห่งธรรมชาติมนุษย์อยู่ในภาวะสันติภาพและเป็นช่วงที่มีคุณธรรมสูงสุด (Quixotic time) มีชีวิตเรียบง่าย และโดดเดี่ยว ความต้องการเล็กๆน้อยๆ สามารถหามาสร้างความพอใจได้อย่างสบายๆตามที่หาได้ในธรรมชาติ เพราะธรรมชาติมีความสมบูรณ์และมีประชากรไม่มาก จึงไม่มีการแข่งขันแย่งชิง มนุษย์ไม่ค่อยสนใจพฤติกรรมของกันและกัน เหตุผลที่จะนำไปสู่ความกลัวและความขัดแย้งมีน้อยมาก มนุษย์อยู่กันอย่างเรียบง่ายและมีศีลธรรมอันบริสุทธิ์ ทำให้มนุษย์มีความเมตตาสงสารต่อผู้อื่น จึงไม่มีเหตุผลให้มนุษย์ต้องทำร้ายผู้อื่น แต่เมื่อเวลาผ่านไปมนุษย์ได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลง มีประชากรเพิ่มมากขึ้น วิถีการหาความพึงพอใจของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปด้วย มนุษย์ค่อยๆมาอยู่รวมกันเป็นครอบครัวและชุมชน  พร้อมกับมีการคิดค้นและประดิษฐ์สิ่งต่างๆขึ้นเพื่อใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น ทำให้มนุษย์มีเวลาว่างที่จะครุ่นคิดเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นๆ อันเป็นผลมาจากค่านิยมสาธารณะ (public value) เมื่อมีการเปรียบเทียบกันทำให้เกิดความละอายขายหน้าและความรู้สึกอิจฉาซึ่งกันและกัน รวมทั้งมีการดูถูกเหยียดหยามและความหยิ่งยะโส ตามแนวคิดของรุสโซ่สิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ไม่มีความเรียบง่ายอีกต่อไปก็คือ การมีสมบัติส่วนตัว ทำให้มนุษย์เปลี่ยนจากภาวะอันบริสุทธิ์ไปสู่ลักษณะที่มีความโลภ การแข่งขัน ความทะนงตน ความไม่เท่าเทียมกัน และความชั่วร้าย มนุษย์จึงหลุดหายไปจากภาวะแห่งธรรมชาติ

การมีทรัพย์สินส่วนตัวนำไปสู่สภาพความไม่ยุติธรรม บางคนสะสมทรัพย์สินมากขึ้น ขณะที่คนอื่นๆ ถูกบังคับให้ทำงานเพื่อสร้างทรัพย์สินให้คนอื่น พัฒนาการของชนชั้นทางสังคมก็เริ่มต้นขึ้น  ผู้มีทรัพย์สินได้แสดงเจตนาออกมาว่า มันจะเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามากถ้าสังคมได้สร้างรัฐบาลขึ้นมาเพื่อปกป้องทรัพย์สินของปัจเจกชนจากการลักขโมยและจากการใช้กำลังบังคับเอาทรัพย์สินของคนอื่น ดังนั้นสังคมจึงตกลงกันจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมาโดยการทำสัญญา ซึ่งอ้างเหตุผลว่าจะเป็นการรับประกันความเท่าเทียมกันและปกป้องทุกคน เป็นการสร้างรัฐบาลขึ้นมาโดยการทำสัญญาประชาคมเป็นข้อตกลงว่า มนุษย์จะมีเสรีภาพและอยู่ร่วมกันอย่างไร โดยไม่ยอมให้มีการใช้กำลังและมีการบีบบังคับจากคนอื่น รุสโซ่ยืนยันว่าสามารถทำได้โดยการทำให้เจตจำนงเฉพาะตนเป็นเจตจำนงร่วม (general will)  ด้วยการทำข้อตกลงกับคนอื่นๆอย่างเท่าเทียมและมีเสรีภาพที่จะแสดงเจตจำนง มนุษย์จึงยอมสละทิ้งสิทธิและเสรีภาพที่มีอยู่ตามธรรมชาติ การยินยอมมอบตนเองให้กับเจตจำนงร่วมที่มนุษย์ได้สร้างองค์กรหรือกายใหม่ขึ้นมาเป็นกายร่วม (collective body)  สมมุติกันขึ้นมาว่าเปรียบเสมือนกับเป็นบุคคลหรือกายใหม่เรียกว่า องค์อธิปัตย์ มนุษย์จึงมีพันธะต่อเจตจำนงร่วม ตามความเห็นของรุสโซ่คนเราไม่สามารถถ่ายโอนเจตจำนงของตนให้กับคนอื่นได้ (เหมือนดังที่ทำกันในระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน) การแสดงเจตจำนงเฉพาะตนเพื่อแปลงมาเป็นเจตจำนงร่วมนั้น รุสโซ่เห็นว่าพลเมืองทุกคนต้องมาร่วมกันพิจารณาตัดสินอย่างเห็นฟ้องต้องกันเป็นมติมหาชนว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร เช่น ควรออกกฏหมายอะไรบ้าง ดังนั้นพลเมืองต้องหมั่นรวมตัวประชุมกันอย่างสม่ำเสมอ ตามนัยนี้ก็คือประชาธิปไตยทางตรงที่เหมาะกับรัฐขนาดเล็กที่ผู้คนรู้จักตัวตนว่าใครเป็นใคร

แนวความคิดตามปรัชญาการเมืองว่าด้วยสัญญาประชาคมของปรัชญาเมธีทั้งสามท่านมีอิทธิพลทางความคิดต่อคนยุโรปในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงต้นศตวรรษที่ 18 ความเชื่อในเรื่องเทวสิทธิมีน้อยลง แต่หันมามีความเชื่อว่า รัฐมาจากการร่วมมือของประชาสังคมในการร่วมตกลงสร้างกฏ กติกา เพื่อจัดระเบียบทางสังคมและยินยอมมอบอำนาจให้แก่ผู้ปกครองทำหน้าที่ในองค์อธิปัตย์

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

10 มิถุนายน 2556

ข้อมูลจากหนังสือ "พัฒนาการและพัฒนาประชาสังคม" โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์

ตอนต่อไป "แนวคิดประชาสังคมในยุคสมัยใหม่

 

แนวคิดประชาสังคมยุคใหม่

พิมพ์ PDF

ยุคประวัติศาสตร์สมัยใหม่เริ่มตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 18 สังคมยุโรปก้าวเข้าสู่สังคมพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมในยุคนี้มีปรัชญาเมธีทางการเมืองหลายคนที่มีแนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคม นักปรัชญาแต่ละคนมีแนวคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับประชาสังคมต่างกัน และยังมีแนวคิดเกี่ยวกับประชาสังคมแตกต่างไปจากแนวคิดในยุคโบราณและยุคก่อนสมัยใหม่ นักปรัชญาการเมืองที่มีแนวคิดกับประชาคมสังคมที่กล่าวถึงในยุคนี้ได้แก่

๑.อดัม เฟอร์กูสัน (มีชีวิตในช่วง ค.ศ.1723-1816) นักปรัชญาชาวสก็อตได้นำแนวคิดประชาสังคมมาอธิบายในทฤษฎีการเมืองใหม่ ในทัศนะของเฟอกูสันมองว่าประชาคมเป็นสังคมที่ได้รับการขัดเกลาและปรุงแต่งให้มีความเป็นอารยธรรม เป็นสังคมที่อยู่ในขั้นตอนที่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การเมือง การสังคม เฟอกูสันเห็นว่าความก้าวหน้าคือตัวชี้วัดถึงความมีอารยธรรม จุดมุ่งหมายของมนุษย์คือการสลัดความลำบากและความไม่สะดวกสบายออกไป ขณะเดียวกันก็มุ่งไขว่คว้าหาความได้เปรียบต่างๆ เพื่อการปรับปรุงการดำรงชีวิตในปัจจุบันให้ดีขึ้น ความก้าวหน้าของอารยธรรมเป็นสิ่งที่ค่อยๆเกิดขึ้นโดยตัวของมันเอง อารยธรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ไม่มีรัฐบาลใดที่สามารถจะดำเนินการตามแผนและโครงการให้เกิดอารยธรรมขึ้นมาได้ องค์กรทางสังคมและรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ กำเนิดขึ้นมาจากธรรมชาติที่แตกต่างกันของแต่ละสังคม ประชาสังคมเป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาเองพร้อมกับการขัดเกลาและปรุงแต่งสังคม มีการพัฒนาการค้นคว้าทางเทคโนโลยีและแบ่งงานกันทำ เฟอกูสันเห็นว่าเส้นทางแห่งความก้าวหน้าของมนุษย์มีหลายขั้นตอนตั้งแต่จากความป่าเถื่อนในยุคดั้งเดิมจนกระทั่งก้าวไปสู่อารยธรรมที่มีความก้าวหน้า สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัต

อารยธรรมพัฒนาขึ้นมาพร้อมๆกับการปรุงแต่งสังคมและการค้นคว้าหาวิธีการปรับปรุงการดำรงชีวิตให้ดีขึ้น เฟอกูสันเห็นว่าการมีทรัพย์สินส่วนตัวเป็นหัวใจสำคัญของความก้าวหน้า เมื่อปัจเจกชนมีการถือครองทรัพย์สินความมีสิทธิก็เกิดขึ้น เป็นสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินรวมไปถึงแรงงาน เช่นมีสิทธิที่จะมีแรงงานไว้ใช้ สิทธิในการมีอำนาจผูกขาดในแรงงานของตน  เมื่อมนุษย์มีทรัพย์สินขณะเดียวกันก็มีการไตร่ตรองและคิดที่จะหาทรัพย์สิน ทำให้แต่ละคนต้องดูแลผลประโยชน์ของตนเอง นำทรัพย์สินมาผูกพันแสดงความเป็นตัวตน นำไปสู่การแบ่งระดับชั้นและสถานะทางสังคม เฟอกูสันเห็นว่าสิทธิในทรัพย์สินและการปกป้องทรัพย์สินเป็นเงื่อนไขสำคัญของเสรีภาพส่วนบุคคล ของพลเมือง ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขัดเกลาและปรุงแต่งสังคมไปสู่ความมีอารยธรรม

การวัดถึงความก้าวหน้าและการมีอารยะธรรมจะดูที่การมีกฎหมายแห่งชาติ ความก้าวหน้าทางการค้าและพฤติกรรมที่ได้รับการขัดเกลาปรุ่งแต่งแล้วของพลเมือง ความก้าวหน้าของสังคมดังกล่าวเป็นลักษณะสำคัญในการนำไปสู่พัฒนาการของประชาสังคม แต่การพัฒนาไปสู่การเป็นประชาสังคมนั้นยังมีเงื่อนไขอื่นๆอีก คือการแข่งขันทางการค้าระหว่างชาติและภาวะตรึงเครียดจากการถูกรุกรานและสงคราม สถานการณืเหล่านี้เรียกร้องให้คนในชาติมีใจเป็นหนึ่งเดียวเพื่อป้องกันสาธารณะ นำไปสู่การปรับปรุงส่วนราชการต่างๆ ขึ้นมารองรับโดยต้องใช้คนที่มีความสามารถทางปัญญาและความประเสริฐทางศีลธรรม ความรู้สึกผูกพันทางอารมณ์และความเป็นมิตรของคนในชาติประกอบกับความรู้สึกเป็นปรปักษ์อย่างรุนแรงกับศัตรู ทำให้พลเมืองมีความกระตือรือร้นและความเข้มแข็งพร้อมที่จะมาเป็นผู้พิทักษ์สังคม สงครามในทัศนะของเฟอกูสันจึงเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทัพของสังคมและจิตวิญญาณแห่งความรักชาติ

ตามความคิดของเฟอกูสันความก้าวหน้ามิได้หมายถึงเพียงความก้าวหน้าทางศิลปะและเทคโนโลยีเท่านั้นแต่รวมไปถึงการปรับปรุงทางศีลธรรมด้วย ความก้าวหน้าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าหากมนุษย์ไม่แสวงหาความสมบูรณ์ซึ่งหมายถึงความเข้าใจในธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมทางการเมือง การอบรมพัฒนาความดีและปลูกฝังความรู้สึกทางศีลธรรมเป็นประเด็นสำคัญของแนวคิดประชาสังคม ความเข้มแข็งของรัฐไม่ได้ขึ้นอยู่กับความมั่งคงเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือคุณธรรมของพลเมือง

เฟอร์กูสันเห็นว่าไม่มีระบบกฎหมายใดๆ ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายทางการเมืองหรืกฎธรรมชาติใดๆสามารถที่จะปกป้องสังคมการเมืองได้ สังคมการเมืองอาจถูกกัดเซาะให้ผุกร่อนได้หากปราศจากการทำนุบำรุงคุณธรรมของพลเมือง ถึงแม้นจะมีสถาบันทางการเมืองที่ดีที่สุดก็ไม่เพียงพอต่อการป้องกันรักษาเสรีภาพของบุคคลได้ เสรีภาพที่ใช้กันอย่างรื่นรมย์จะไม่ถูกปกป้องอีกต่อไปหากไม่มีการเฝ้าระวังทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพลเมือง หากไม่มีส่วนร่วมทางการเมือง รัฐบาลของสังคมพาณิชยกรรมอาจกลายมาเป็นรัฐบาลเผด็จการที่ทำในสิ่งเลวร้ายต่่อสาธารณะขึ้นมาได้ ในทัศนะของเฟอร์กูสันเห็นว่าการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นความจำเป็นทางศีลธรรมของพลเมืองและเป็นคุณลักษณะพื้นฐานของประชาสังคม เสรีภาพทางการเมืองต้องเข้าใจว่าเป็นเสรีภาพแบบพลเมือง (civic liberty) ซึ่งฟอร์กูสันแยกออกต่างหากจากเสรีภาพส่วนตัว (private liberty) การปรุงแต่งทางการเมืองจะต้องพัฒนาฝึกฝนให้สมาชิกในสังคมเป็นผู้มีเหตุผลและมีจิตใจที่จะทำหน้าที่ทางสังคมและปฎิบัติการสาธารณะต่างๆ สิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลรวมทั้งความมั่นคงในทรัพย์สินจะไม่มีความสมบูรณ์พอหากพลเมืองไม่มีความคิดที่จะแสดงออกถึงความมีคุณธรรมและดำรงชีวิตแบบพลเมืองผู้กระตือรือร้น เฟอร์กูสันเน้นว่า เสรีภาพทางการเมืองและการมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นตัวบ่งบอกถึงรัฐที่มีความอิสระและเป็นรูปแบบของรัฐบาลที่ดี

ประชาสังคมจะเติบโตรุ่งเรืองขึ้นมาพร้อมกับพลเมืองผู้มีความรักในความเป็นธรรมและมีความผูกพันต่อสาธารณะ ชีวิตของพลเมืองจะไม่มีความหมายใดๆหากดำรงตนอยู่นอกปริมณฑลสาธารณะ กล่าวคือมีแต่ชีวิตส่วนตัวโดยไม่มีชีวิตสาธารณะ

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

10 มิถุนายน 2556

ข้อมูลจากหนังสือพัฒนาการและการพัฒนาประชาสังคม โดย ผศ.ทศพล สมพงษ์


 


หน้า 475 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5609
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8630063

facebook

Twitter


บทความเก่า