Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๑) กำเนิด และ อานิสงส์ ของ PLC

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ถอดความจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many
ผมตั้งชื่อบันทึกชุดนี้ว่า “บันเทิงชีวิตครู...” เพราะเชื่อว่า “ครูเพื่อศิษย์” ทำหน้าที่ครูด้วยความบันเทิงใจ รักและสนุก ต่อการทำหน้าที่ครู ให้คุณค่าต่อการทำหน้าที่ครู แม้จะเหนื่อยและหนัก รวมทั้งหลายครั้งหนักใจ แต่ก็ไม่ท้อถอย โดยเชื้อไฟที่ช่วยให้แรงบันดาลใจไม่มอดคือ คุณค่าของความเป็นครู
ผมขอร่วมบูชาคุณค่าของความเป็นครู และครูเพื่อศิษย์ ด้วยบันทึกชุดนี้ ชุดก่อนๆ และชุดต่อๆ ไป ที่จะพากเพียรทำ เพื่อบูชาครู เป็นการลงเงิน ลงแรง (สมอง) และเวลา เพื่อร่วมสร้าง “บันเทิงชีวิตครู” โดยไม่หวังผลตอบแทนส่วนตัว หวังผลต่ออนาคตของบ้านเมืองเป็นหลัก
Richard DuFour เป็น “บิดาของ PLC” ตามหนังสือเล่มนี้เขาบอกว่าเขาเริ่มทำงานวิจัย พัฒนา และส่งเสริม PLC มาตั้งแต่ คศ. 1998 คือ พ.ศ. ๒๕๔๑ ก่อนผมทำงาน KM ๕ ปี คือผมทำงาน KM ปี พ.ศ. ๒๕๔๖
ที่จับ ๒ เรื่องนี้โยงเข้าหากันก็เพราะ PLC (Professional Learning Community) ก็คือ CoP (Community of Practice) ของครูนั่นเอง และ CoP คือรูปแบบหนึ่งของ KM
ตอนนี้ PLC แพร่ขยายไปทั่วสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่ต้องการพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของประเทศ เช่นสิงคโปร์

 

หัวใจสำคัญที่สุดของ PLC คือมันเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตที่ดีของครู ในยุค ศตวรรษที่ ๒๑ ที่การเรียนรู้ในโรงเรียน (และมหาวิทยาลัย) ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง โดยครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ครูสอน” (teacher) มาเป็น “ครูฝึก” (coach) หรือครูผู้อำนวยความสะดวกในการเรียน (learning facilitator) ห้องเรียนต้องเปลี่ยนจากห้องสอน (class room) มาเป็นห้องทำงาน (studio) เพราะในเวลาเรียนส่วนใหญ่ นักเรียนจะเรียนเป็นกลุ่ม โดยการทำงานร่วมกัน ที่เรียกว่าการเรียนแบบโครงงาน (Project-Based Learning)
การศึกษาต้องเปลี่ยนจากเน้นการสอน (ของครู) มาเป็นเน้นการเรียน (ของนักเรียน) การเรียนเปลี่ยนจากเน้นการเรียนของปัจเจก (Individual Learning) มาเป็นเรียนร่วมกันเป็นกลุ่ม (Team Learning) เปลี่ยนจากการเรียนแบบเน้นการแข่งขัน เป็นเน้นความร่วมมือหรือช่วยเหลือแบ่งปันกัน
ครูเปลี่ยนจากการบอกเนื้อหาสาระ มาเป็นทำหน้าที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความท้าทาย ความสนุก ในการเรียน ให้แก่ศิษย์ โดยเน้นออกแบบโครงงานให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกันลงมือทำ เพื่อเรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing) เพื่อให้ได้เรียนรู้ฝึกฝนทักษะ 21st Century Skills แล้วครูชวนศิษย์ร่วมกันทำ reflection หรือ AAR เพื่อให้เกิดการเรียนรู้หรือทักษะที่ลึกและเชื่อมโยง รวมทั้งโยงประสบการณ์ตรงเข้ากับทฤษฎีที่มีคนเผยแพร่ไว้แล้ว ทำให้เกิดการเรียนรู้เชิงทฤษฎีจากการปฏิบัติ ไม่ใช่จากการฟังและท่องบ่น
หัวใจของการเปลี่ยนแปลงคือ เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by Doing) เปลี่ยนจากเรียนรู้จากฟังครูสอน (Learning by Attending Lecture/Teaching)
ทั้งหมดนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนและวงการศึกษาโดยสิ้นเชิง เป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับจิตสำนึก ระดับรากฐาน และระดับโครงสร้าง จึงต้องมี “การจัดการการเปลี่ยนแปลง” (Change Management) อย่างจริงจังและอย่างเป็นระบบ โดยต้องมีทั้งการจัดการแบบ Top-Down โดยระบบบริหาร (กระทรวงศึกษาธิการ) และแบบ Bottom-Up โดยครูช่วยกันแสดงบทบาท
มองจากมุมหนึ่ง PLC คือเครื่องมือสำหรับให้ครูรวมตัวกัน (เป็นชุมชน – community) ทำหน้าที่เป็น Change Agent ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับ “ปฏิรูป” การเรียนรู้ เป็นการปฏิรูปที่ “เกิดจากภายใน” คือครูร่วมกันดำเนินการ เพื่อให้การปฏิรูปการเรียนรู้ดำเนินคู่ขนาน และเสริมแรงกัน ทั้งจากภายในและจากภายนอก
PLC เป็นเครื่องมือให้ครูเป็น actor ผู้ลงมือกระทำ เป็น “ประธาน” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่วงการศึกษา ไม่ใช่ปล่อยให้ครูเป็น “กรรม” (ผู้ถูกกระทำ) อยู่เรื่อยไป หรือเป็นเครื่องมือปลดปล่อยครู ออกจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ สู่ความสัมพันธ์แนวราบ เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่การศึกษา รวมทั้งสร้างการรวมตัวกันของครู เพื่อทำงานสร้างสรรค์ ได้แก่ การเอาประสบการณ์การจัดการเรียนรู้แบบ PBL และนวัตกรรมอื่นๆ ที่ตนเองทดลอง เอามาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน เกิดการสร้างความรู้หรือยกระดับความรู้ในการทำหน้าที่ครู จากประสบการณ์ตรง และจากการเทียบเคียงกับทฤษฎีที่มีคนศึกษาและเผยแพร่ไว้
เป็นเครื่องมือ นำเอาเกียรติภูมิของครูกลับคืนมา โดยไม่รอให้ใครหยิบยื่นให้ แต่ทำโดยลงมือทำ ครูแต่ละคนลงมือศึกษา 21st Century Skills, 21st Century Learning, 21st Century Teaching, PBL, PLC แล้วลงมือทำ ทำแล้วทบทวนการเรียนรู้จากผลที่เกิด (reflection) เอง และร่วมกับเพื่อนครู เกิดเป็น “ชุมชนเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์” ซึ่งก็คือ PLC นั่นเอง
ผมมองว่า PLC คือเครื่องมือที่จะช่วยนำไปสู่การตั้งโจทย์และทำ “วิจัยในชั้นเรียน” ที่ทรงพลังสร้างสรรค์ จะช่วยการออกแบบวิธีวิทยาการวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลผลการวิจัย และการสังเคราะห์ออกมาเป็นความรู้ใหม่ ที่เชื่อมโยงกับบริบทความเป็นจริงของสังคมไทย ของวงการศึกษาไทย คือจะเป็นผลการวิจัยในชั้นเรียนที่ไม่ใช่จำกัดอยู่เฉพาะข้อมูลในชั้นเรียนเท่านั้น แต่จะเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงของผู้คน ที่เป็นบริบทของการเรียนรู้ของนักเรียน และการทำหน้าที่ครูด้วย
เอาเข้าจริง ผมเขียนตอนที่ ๑ นี้ โดยไม่ได้รวบรวมจากบทที่ ๑ ของหนังสือ Learning by Doing แต่เป็นการเขียนจากใจของผมเอง เพราะพอเริ่มต้น ความรู้สึกก็ไหลหลั่งถั่งโถม ให้ผมเขียนรวดเดียวออกมาเป็นบันทึกนี้
ตอนที่ ๒ จะถอดความจาก Chapter 1 : A Guide to Action for Professional Learning communities at Work
วิจารณ์ พานิช
๑๘ ก.ค. ๕๔


 

รื่นเริงบันเทิงใจไปกับการเรียนรู้ โดยอาจารย์วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF

ช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๖ ผมมีบรรยายเรื่องปฏิรูปการเรียนรู้หลายครั้ง  ประกอบกับกำลังอ่านและเขียน บล็อก จากหนังสือ How Learning Worksจึงมีโอกาสไตร่ตรองกับตัวเองหลายสิบรอบหรืออาจจะเป็นร้อยรอบทำให้คิดว่าตนเองพบวิธีเรียนแบบเรียนสนุกเรียนแล้วเกิดความสุขที่คนทุกคนบรรลุได้ไม่ว่าจะเกิดมามีสมองเป็นอย่างไร

เคล็ดลับคือต้องเรียนให้เกิด mastery learning ซึ่งหมายความว่าว่า เรียนให้รู้จริง

กล่าวในอุดมคติ เป้าหมายของการศึกษาคือ ให้คนไทยทุกคนบรรลุสภาพเรียนรู้แบบรู้จริง

ซึ่งจะทำให้ เป็นการเรียนรู้เจือความสุข  กระบวนการเรียนรู้ เป็นการบวนการสร้างความสุข  เป็นกระบวนการเสวยสันติสุข จากการเรียนรู้โดยการสร้างสรรค์ของตนเองอย่างต่อเนื่อง

กระบวนการเรียนรู้ จึงมีส่วนทำให้ชีวิตเลื่อนไหลไปอย่างเป็นอัตโนมัติ ที่ MihalyCsikszenmihalyiเรียกว่าเป็นสภาวะของflowเป็นสภาพของชีวิตที่ทั้งสุข ทั้งสร้างสรรค์

ที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะฝึกการเรียนมาถูกทาง  คือเรียนด้วยการสร้าง ไม่ใช่เรียนโดยการเสพหรือจากการรับถ่ายทอดความรู้

การเรียนแบบผิดทาง จึงเป็นการเรียนแบบปิดทาง ไม่มีโอกาสเข้าสู่วิถีการเรียนที่นำไปสู่สภาพ “รู้จริง” (mastery) ได้

เวลานี้ระบบการศึกษาไทยกำลังจัดการเรียนแบบ “ผิดทาง” และ “ปิดทาง” ให้แก่เด็กไทยและคนไทยทั้งชาติเราจึงต้องช่วยกัน “กู้ชาติ” ทางด้านการศึกษาเพื่อขจัดมิจฉาทิฐิออกไปจากการศึกษาไทยเข้าสู่มิติใหม่คือสัมมาทิฐิที่จะทำให้เด็กไทยทุกคนได้เรียนรู้ในแนวทาง “รู้จริง”  ซึ่งเป็นแนวทางแห่งความสุขควบคู่ไปกับการเรียนรู้

ผมย้ำคำว่า “เด็กไทยทุกคน” เพราะผมเชื่อเช่นนั้นจริงๆ  คือเชื่อว่า หากจัดการเรียนรู้ในแนวทางที่ถูกต้อง คือแนว mastery learning แล้ว เด็กไทยทุกคนจะบรรลุ the state of flow ในชีวิตได้

เท่ากับการศึกษาเป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้าง Happy Life เป็น Happy Education / Happy Learning ซึ่งจะทำให้เด็กไทยทั้งหมดมีนิสัยสุข

วิจารณ์ พานิช

๑๐  ม.ค. ๕๖

 

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๒) หักดิบความคิด

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความมาจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many

ตอนที่ ๒ นี้จับความจาก Chapter 1 : A Guide to Action for Professional Learning communities at Work

วงการศึกษาของเราเดินทางผิดมาช้านาน  โดยที่ทางถูกคือ คนเราเรียนรู้ได้ดีที่สุดโดยการลงมือทำ ขงจื๊อกล่าวว่า “ฉันได้ยิน แล้วก็ลืม  ฉันเห็น ฉันจึงจำได้   เมื่อฉันลงมือทำ ฉันจึงเข้าใจ”   หากจะให้ศิษย์เรียนรู้ได้จริง เรียนรู้อย่างลึก อย่างเชื่อมโยง ครูต้องหักดิบความเคยชินของตน เปลี่ยนจากสอนโดยการบอก เป็น ให้นักเรียนลงมือทำ   ครูเปลี่ยนบทบาทจากครูสอน ไปเป็นครูฝึก

นอกจากนั้น ในแนวทางใหม่นี้ เน้นเรียนโดยร่วมมือ มากกว่าแข่งขัน   และแข่งกับตัวเอง มากกว่าแข่งกับเพื่อน

บทบาทของครูที่เปลี่ยนไป  ที่จะต้องเน้นให้แก่ศิษย์ ได้แก่

เน้นให้ศิษย์เรียนรู้จากการลงมือทำ ใน PBL (Project-Based Learning)


ส่งเสริมแรงบันดาลใจ ให้กำลังใจ (reinforcement) ในการเรียนรู้


ส่งเสริมและสร้างสรรค์จินตนาการ

ส่งเสริมให้กล้าลอง ลงมือทำ


เป็นครูฝึก ใน PBL

ออกแบบ PBL


มีทักษะในการชวนศิษย์ทำ Reflection จากประสบการณ์ใน PBL


ชวนทำความเข้าใจคุณค่าของประสบการณ์จากแต่ละ PBL

PLC ไม่ใช่ ...


เพื่อให้เข้าใจ PLC อย่างแท้จริง   จึงควรทำความเข้าใจว่าสิ่งใดไม่ใช่ PLC   กิจกรรมแคบๆ ตื้นๆ สั้นๆ ต่อไปนี้ ไม่ใช่ PLC

o โครงการ (project)
o สิ่งที่ฝ่ายบริหารกำหนดให้ทำ


o สิ่งที่ทำ ๑ ปี หรือ ๒ ปี แล้วจบ


o สิ่งที่ซื้อบริการที่ปรึกษาให้ทำ


o การประชุม  (โรงเรียนใดอ้างว่ามี PLC จากการที่มีครูจำนวนหนึ่งนัดมาประชุมร่วมกันสม่ำเสมอ  แสดงว่ายังไม่รู้จัก PLC ของจริง   ซึ่งนอกจากการประชุมแล้ว ยังต้องมีองค์ประกอบสำคัญอื่นๆ ที่จะกล่าวถึงต่อไป)


o การรวมตัวกันของครูกลุ่มหนึ่งในโรงเรียน   (PLC ที่แท้จริง ต้องเป็นความพยายามร่วมกันของทั้งโรงเรียน หรือทั้งเขตการศึกษา)


o การรวมกลุ่มกันเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครู  (PLC ที่แท้จริง ต้องเป็นกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของทั้งองค์กร หรือทั้งเขตการศึกษา


o สโมสร ลปรร. จากการอ่านหนังสือ (book club)

PLC คืออะไร

PLC คือกระบวนการต่อเนื่อง ที่ครูและนักการศึกษาทำงานร่วมกัน   ในวงจรของการร่วมกันตั้งคำถาม   และการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ   เพื่อบรรลุผลการเรียนรู้ที่ดีขึ้นของนักเรียน   โดยมีความเชื่อว่า หัวใจของการพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนให้ดีขึ้น อยู่ที่การเรียนรู้ที่ฝังอยู่ในการทำงานของครูและนักการศึกษา

PLC เป็นกิจกรรมที่ซับซ้อน (complex)  มีหลากหลายองค์ประกอบ  จึงต้องนิยามจากหลายมุม   โดยมีแง่มุมที่สำคัญต่อไปนี้


- เน้นที่การเรียนรู้
- วัฒนธรรมร่วมมือเพื่อการเรียนรู้ของทุกคน ทุกฝ่าย
- ร่วมกันตั้งคำถามต่อวิธีการที่ดี และตั้งคำถามต่อสภาพปัจจุบัน
- เน้นการลงมือทำ
- มุ่งพัฒนาต่อเนื่อง
- เน้นที่ผล (หมายถึงผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ของศิษย์)

ผมขอเสริมนิยาม PLC ตามความเข้าใจของผม ว่าหมายถึงการรวมตัวกันของครูในโรงเรียนหรือเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อ ลปรร. วิธีการจัดการเรียนรู้ให้ศิษย์เรียนรู้ได้ทักษะ 21st Century Skills   โดยที่ผู้บริหารโรงเรียน  คณะกรรมการโรงเรียน  ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารการศึกษาระดับประเทศ เข้าร่วมจัดระบบสนับสนุน   ให้เกิดการ ลปรร. ต่อเนื่อง   มีการพัฒนาวิธีการเรียนรู้ของศิษย์อย่างต่อเนื่อง   เป็นวงจรไม่รู้จบ   ในภาษาของผม นี่คือ CQI (Continuous Quality Improvement) ในวงการศึกษา   หรืออาจเรียกว่าเป็น R2R ในวงการศึกษาก็ได้

PLC ที่แท้จริงต้องมีการทำอย่างเป็นระบบ  มีผู้เข้าร่วมขับเคลื่อนในหลากหลายบทบาท  โดยมีเป้าหมายพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของการเรียนของศิษย์

ทำไมเราไม่ลงมือทำสิ่งที่เรารู้


คำตอบคือ เพราะคนเรามีโรค "ช่องว่างระหว่างการรู้กับการลงมือทำ" (Knowing - Doing Gap)   บันทึกที่จับความจากหนังสือเล่มนี้ จะช่วยถมหรือเชื่อมต่อช่องว่างนี้ โดยเปลี่ยนโรงเรียนไปเป็น PLC เพื่อ

ช่วยให้นักการศึกษามีถ้อยคำที่เข้าใจตรงกันต่อกระบวนการหลักของ PLC   จริงๆ แล้วครูและนักการศึกษาใช้คำว่า professional learning communities, collaborative teams, goals, formative assessment, etc กันเกร่อ   ในความหมายที่แตกต่างกัน
หลักการหนึ่งของการบริหารการเปลี่ยนแปลง คือการมีถ้อยคำที่ใช้ร่วมในความหมายที่เข้าใจชัดเจนร่วมกัน   การเปลี่ยนโรงเรียนตามจารีตเดิมไปเป็น PLC จะต้องมีถ้อยคำเหล่านี้   ซึ่งจะปรากฎในตอนต่อๆ ไปของบันทึก   และค้นได้ที่เว็บไซต์ go.solution-tree.com/PLCbooks


ยืนยันให้ประจักษ์ว่าการใช้กระบวนการ PLC จะก่อประโยชน์ทั้งต่อนักเรียนและต่อครูและนักการศึกษา   คือทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึก กว้าง และเชื่อมโยง ทั้งต่อนักเรียนและต่อครู   ที่สำคัญยิ่งในความเห็นของผมก็คือ ช่วยเผยศักยภาพที่แท้จริงของปัจเจกออกมา ผ่านกระบวนการกลุ่ม


ช่วยครูและนักการศึกษาประเมินสถานการณ์จริงในโรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาของตน   หลักการคือ ในการเปลี่ยนแปลงจากจุด ก ไปสู่จุด ข นั้น จะง่ายขึ้นหากผู้เกี่ยวข้องมีความชัดเจนว่าจุด ข เป็นอย่างไร   และจุด ก ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นอย่างไร   การจัดการการเปลี่ยนแปลงโดยทั่วไปมักมั่ว เพราะไม่มีความชัดเจนทั้งต่อจุด ก และจุด ข   บันทึกจากการตีความหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจทั้งจุด ก และจุด ข ได้ชัดเจน ในเรื่องจารีต วัฒนธรรม กระบวนทัศน์ ฯลฯ ที่ครูและนักการศึกษาเคยชินอยู่กับมันจนละเลยหรือขาดความสามารถในการทำความชัดเจน   การดำเนินการตามคู่มือจะช่วยให้มองสภาพความเป็นจริงจากสายตาของคนนอก   ช่วยให้มองผ่านม่านบังตาได้


หาทางทำให้ครูและนักการศึกษาใช้หรือร่วมกิจกรรม PLC   หนังสือฉบับนี้เป็นคู่มือเพื่อการลงมือดำเนินการ   เป็นเครื่องมือเชื่อมความรู้กับการลงมือทำ   คำถามในเรื่องนี้ไม่ใช่ “จะหาความรู้ในเรื่องที่เราจะทำได้อย่างไร”   คำถามที่ถูกต้องคือ “จะลงมือทำในสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วได้อย่างไร”     โดยมีคู่มือดำเนินการค้นได้ที่ go.solution-tree.com/PLCbooks

ลงมือทำ


ประสบการณ์ของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จากการทำงานร่วมกับเขตพื้นที่การศึกษาต่างๆ (ในสหรัฐอเมริกา) มานานกว่า ๑๐ ปี   เขตพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จสูงคือเขตที่ลงมือทำอย่างไม่รีรอ   ประสบความสำเร็จมากกว่าเขตที่มัวแต่ตระเตรียมความพร้อม

วิจารณ์ พานิช
๑๙ ก.ค. ๕๔




 

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๑๐) วิธีจัดการความเห็นพ้องและความขัดแย้ง

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ถอดความมาจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many

ตอนที่ ๑๐ นี้จับความจาก Chapter 9 : Consensus and Conflict in a Professional Learning Community

ผมอ่านหนังสือบทนี้แล้ว บอกตัวเองว่า นี่คือสุดยอดของหลักการว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลง   และวิธีจัดการนักต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ไม่ให้เข้ามาทำลายบรรยากาศของการสานฝัน   เพราะโดยวิธีนี้ ผู้ไม่เห็นด้วยก็ได้รับโอกาสแสดงออกอย่างเต็มที่   แต่เขาต้องยอมรับความเห็นของคนอื่นด้วย   ไม่ใช่ดันทุรังกับความเห็นของตนโดยไม่ฟัง ไม่เคารพความเห็นของครูส่วนใหญ่

ผมชอบวิธีออกเสียงแบบ “กำปั้นหรือนิ้ว” (fist or fingers)  ที่ทำหลังจากครูร่วมกันทำความเข้าใจ PLC อย่างทะลุปรุโปร่งด้วยวิธีประชุมแบบ “แบ่งสองกลุ่ม”   ผมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า   นอกจากประชุมแบบแบ่งสองกลุ่มแล้ว   ครูควรใช้เทคนิคการประชุมแบบสวมหมวกหกใบด้วย   โดยแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มละ ๑๐ คน (แบบสุ่ม) เพื่อใช้วิธีประชุมโดยใช้ความคิดแบบหมวก ๖ ใบ ทำความเข้าใจในมิติที่รอบด้าน   (ผมเคยบันทึกวิธีประชุมแบบนี้ไว้ที่นี่)   แล้วจึงออกเสียงลงมติแบบ “กำปั้นหรือนิ้ว”

การประชุมแบบ “แบ่งสองกลุ่ม” ทำโดย แบ่งครู (แบบสุ่ม) ออกเป็นสองกลุ่ม   คือกลุ่มเห็นด้วย กับกลุ่มคัดค้าน   ให้กลุ่มเห็นด้วยระดมความคิดหาเหตุผลที่ทำให้เห็นด้วยกับ เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการ เพื่อใช้ PLC ยกระดับผลสัมฤทธิ์ของการเรียนรู้ของนักเรียน   และให้กลุ่มไม่เห็นด้วยระดมความคิดหาเหตุผลที่ทำให้ไม่เห็นด้วย   แล้วจึงให้กลุ่มแรกนำเสนอผลการประชุมกลุ่ม จบแล้วให้สมาชิกของกลุ่มหลังช่วยเพิ่มเติมเหตุผลที่ทำให้เห็นด้วย   หลังจากนั้นให้กลุ่มหลังนำเสนอ ตามด้วยการเพิ่มเติมเหตุผลที่ไม่เห็นด้วยโดยสมาชิกของกลุ่มแรก

การออกเสียงแบบ “กำปั้นหรือนิ้ว” มีความหมายดังนี้


ชู ๕ นิ้ว : ฉันชอบกิจกรรมนี้ และอาสาเป็นแกนนำ


ชู ๔ นิ้ว : ฉันเห็นด้วยอย่างยิ่ง


ชู ๓ นิ้ว : ฉันเห็นด้วย และยินดีร่วมมือ


ชู ๒ นิ้ว : ฉันยังไม่แน่ใจ ยังไม่สนับสนุน


ชู ๑ นิ้ว : ฉันไม่เห็นด้วย


ชูกำปั้น : หากฉันมีอำนาจ ฉันจะล้มโครงการนี้

การออกเสียงแบบเปิดเผยก็มีข้อดีข้อเสีย แล้วแต่สถานการณ์   หากเหมาะสมอาจโหวตลับก็ได้   ถ้าเสียงก้ำกึ่ง ไม่ควรดำเนินการทั้งโรงเรียน   ควรทำเป็นโครงการทดลองไปก่อน โดยกลุ่มครูที่เห็นด้วย

หลักการจัดการความขัดแย้งคือ ทำให้ความไม่เห็นพ้องเป็นเรื่องธรรมดา  นำเอาความไม่เห็นพ้องมาเปิดเผย และใช้เป็นรายละเอียดของการทำงาน ที่จะไม่ทำให้เกิดความยุ่งยากบางอย่างที่ผู้เห็นพ้องนึกไม่ถึง แต่ผู้ไม่เห็นพ้องกังวลใจ   คือใช้พลังลบให้เป็นพลังบวกของการสร้างการเปลี่ยนแปลง

การจัดการการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำภายใต้เงื่อนไขว่าต้องได้รับฉันทามติจากทุกคน   เพราะเงื่อนไขนั้นเป็นเงื่อนไขเพื่อดำรงสถานะเดิม (status quo)

ทำอย่างไรกับคนที่มีความเห็นคัดค้าน  คำแนะนำคือ อย่าสนใจความเห็น ให้สนใจพฤติกรรม ความเห็นไม่ตรงกันไม่เป็นไร   หากร่วมกันทำเป็นใช้ได้   จริงๆ แล้วควรเคารพความเห็นที่ต่าง ควรแสดงให้ทุกคนเห็นว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนเช่นนี้ มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายด้านมาก   แต่เพื่อประโยชน์ต่อการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงต้องหยิบเอาบางด้านมาทำก่อน   แล้วในโอกาสต่อไป อีกบางด้านจะได้รับความเอาใจใส่ และหยิบมาดำเนินการตามขั้นตอน

วิธีประชุมให้ได้มองรอบด้านร่วมกัน ทำโดยการประชุมระดมความคิดโดยใช้การคิดแบบหมวกหกใบ

อ่านบทนี้แล้ว ทำให้ผมเห็นว่าในวงการศึกษาของสหรัฐอเมริกายังไม่เก่งเรื่อง change management แม้จะมีหนังสือและผลงานวิจัยว่าด้วยเรื่องนี้มากมาย

วิธีจัดการแบบไม่ต้องจัดการ ต่อการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงคือการจัดเวทีชื่นชมให้รางวัลและ ลปรร. เรื่องราวของความสำเร็จเล็ก (SSS – Success Story Sharing)   เพื่อทำให้เสียงของความกระตือรือร้น ความสนุกสนานชื่นชมยินดี หรือเสียงเชิงบวก  กลบเสียงโอดครวญของนักคิดเชิงลบ   ไม่ให้มาทำลายบรรยากาศของความสร้างสรรค์ ไปสู่การพัฒนา เพื่อผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน  กลยุทธนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากหนังสือ ผู้บริหารองค์กรอัจฉริยะฉบับนักปฏิบัติ อ่านบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ได้ที่นี่

วิจารณ์ พานิช
๒๐ ส.ค. ๕๔

 

บันเทิงชีวิตครูสู่ชุมชนการเรียนรู้ (๑๑) ชุมชนแห่งผู้นำ

พิมพ์ PDF

บันทึกชุดนี้ ถอดความมาจากหนังสือ Learning by Doing : A Handbook for Professional Learning Communities at Work. 2nd Ed, 2010 เขียนโดย Richard DuFour, Rebecca DuFour, Robert Eaker, Thomas Many

ตอนที่ ๑๑ นี้จับความจาก Chapter 10 : The Complex Challenge of Creating Professional Learning Communities ซึ่งเป็นบทสุดท้ายของหนังสือ

เคล็ดลับสู่ความสำเร็จของ PLC คือการขับเคลื่อนความเป็นผู้นำในหมู่ครู   ให้ออกมาโลดแล่นสร้างความริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อบรรลุเป้าหมายยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน

PLC คือเครื่องมือ ให้ครูทุกคนได้มีโอกาสเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง   โดยมีเป้าหมายหลักที่ผลการเรียนรู้ของนักเรียน  แต่จริงๆ แล้วยังมีผลลัพธ์ที่การเปลี่ยนแปลงโรงเรียนโดยสิ้นเชิง (school transformation) อีกด้วย  วิธีทำงานเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเปลี่ยนไป วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนไป

โรงเรียนกลายเป็นองค์กรเรียนรู้   ผู้คนจะไม่หวงความรู้   จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันอย่างเข้มข้นและไม่เป็นทางการ

บทนี้ให้คำแนะนำแก่ครูใหญ่ และผอ. เขตการศึกษาว่าต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง   และใช้ยุทธศาสตร์ผู้นำรวมหมู่ ไม่ใช่ผู้นำเดี่ยว   และยามที่ต้องยืนหยัดก็ต้องกล้ายืนหยัด

 

การเปลี่ยนแปลงทั้ง ๗ หมวด


เป้าหมายของ PLC คือการเปลี่ยนแปลงในระดับ transformation  โดยที่เป็นการเปลี่ยนไปเรียนรู้ไป ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ใน ๗ หมวดต่อไปนี้

 

คำแนะนำแก่ครูใหญ่และ ผอ. เขตการศึกษา

• เชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน   อย่าจัดการการเปลี่ยนแปลงบนพื้นฐานของหลักการ   ให้อยู่กับความเป็นจริง


• เริ่มด้วยเหตุผลเชิงอุดมการณ์ (Why) แล้วเข้าสู่ปฏิบัติการจริงโดยเน้น How


• ทำให้การกระทำกับคำพูดไปทางเดียวกัน และส่งเสริมกัน


• แน่วแน่ที่ปณิธานและเป้าหมาย ยืดหยุ่นที่วิธีการ

• ใช้ภาวะผู้นำรวมหมู่


• จงคาดหวังว่าจะมีความผิดพลาด จนเตรียมเรียนรู้จากความผิดพลาด


• เรียนรู้จากการลงมือทำ


• สร้างขวัญกำลังใจและความฮึกเหิม โดยการเฉลิมผลสำเร็จเล็กๆ ตามเป้าหมายรายทาง

 

วิจารณ์ พานิช 
๒๐ ส.ค. ๕๔  




 


หน้า 512 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8662014

facebook

Twitter


บทความเก่า