Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

พระพุทธศาสนากับการตลาด บทความของ พระมหาหรรษา

พิมพ์ PDF

บทความของ รศ.ดร.พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร "พุทธวิพากษ์การตลาด กิเลสมาร์เก็ตติ้ง"

 

เมื่อวาน (๑๙ ตุลาคม ๕๕) รับนิมนต์อาจารย์เจ้าคุณพระสุธีธรรมานุวัตร คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ไปเป็นประธานสอบสารนิพนธ์ของนิสิตปริญญาเอก มจร นายชิณญ์ ทรงอมรศิริ เกี่ยวกับการนำเอาหลักการตลาดมาวิเคราะห์ และอธิบายปัจจัยแวดล้อม และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล เนื่องจากส่วนตัวกำลังเขียนหนังสือเรื่อง "พระพุทธศาสนากับการตลาด" ในเวลาเดียวกัน ครั้นได้อ่านงานของนิสิตท่านนี้ เห็นได้ชัดว่าเด็กหนุ่มท่านนี้ทำงานได้ค่อนข่างดี ปัจจัยสำคัญคือพื้นฐานด้านการตลาดที่นิสิตท่านนี้จบการศึกษา ดังนั้น เมื่อนำกรอบที่ได้มามองพระพุทธศาสนาจะทำให้มีทิศทางในการศึกษาและนำเสนอมากยิ่งขึ้น อาจจะติดขัดบ้างในประเด็นการวิเคราะห์แง่มุมทางพุทธเพราะยังเข้าไม่ถึงข้อมูลพื้นฐานสำคัญในหลายๆ ประเด็น แต่โดยภาพรวมแล้วเห็นว่า งานนี้จะมีคุณค่าต่อวงการตลาดตะวันออก ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการศึกษาและนำไปปฏิบัติ

จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เรียน Mini MBA ด้านการตลาดมาจากสำนักพาณิชศาสตร์และการบัญชี ธรรมศาสตร์ แม้ศักยภาพส่วนตัวจะเป็นนักการตลาดหัดขับ และมีความรู้เพียงน้อยนิด (Mini) ในศาสตร์ด้านนี้ แต่ก็ถือโอกาสแลกเปลี่ยนในห้องเรียนเสมือนจริงบ่อยๆ กับคณาจารย์จำประจำคณะ และอาจารย์พิเศษที่มีชื่อเสียง สิ่งที่ทุกท่านเห็นสอดรับกันประการหนึ่งเกี่ยวกับ "จุดอ่อนของการตลาด" คือ "การตลาดกระตุ้นตัวตัณหา พระพุทธศาสนากระตุ้นตัวธรรมฉันทะดังนั้น ส่วนใหญ่ การตลาดมักจะเน้น "โฆษณา" กระตุ้นอารมณ์ (Emotion) เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความอยาก และตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า มากกว่าคำนึงถึงคุณค่าของการใช้จริง (Function) ด้วยเหตุผลนี้ จึงเป็นที่มาของคำว่า "กิเลสมาร์เก็ตติ้" เพราะให้ความใส่ใจ และกระตุ้นตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ให้จำเริญและเพลิดเพลินกับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และอารมณ์

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ "การตลาดจะเน้นเสมอว่าต้องทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกว่าแตกต่าง และได้รับการปฏิบัติที่แตกต่าง"   เพราะธรรมชาติของลูกค้าที่มีกำลังซื้อจะซื้อความแตกต่าง และความสะดวกสบายในการเข้าถึงสินค้าและการบริการที่ดีกว่า  ด้วยเหตุนี้ เจ้าของสินค้าและบริการจึงเน้นที่จะสนองตอบ และการปฏิบัติต่อลูกค้าที่มุ่งหวังจะได้รับการบริการที่แตกต่าง  และเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจึงมีความจำเป็นต้องจ่ายในราคาที่แตกต่าง  จากเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงมีความจำเป็นต้องแบ่งกลุ่มลูกค้า (Segmentation) โดยการจัดกลุ่มคนออกเป็นบัตรทอง บัตรเงิน และบัตรธรรมดา หรือชั้นหนึ่ง ชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัด  แม้ว่าลูกค้าจำนวนตั้งใจจ่ายเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย และเข้าถึงการบริการที่ดีกว่า อย่างไรก็ดี จากตัวแปรดังกล่าว การตลาดอาจจะทำให้เราเห็นแง่มุมในเชิงลบ ๒ ประเด็นใหญ่ คือ (๑) ความไม่เท่าเทียมกันในสังคมระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ทั้งการเลือกปฏิบัติ สถานะทางสังคมที่แตกต่าง  ข่องว่างระหว่างความรวยกับจน และโอกาสในการเ้ข้าถึงการบริการที่ไม่เสมอภาคเนื่องจากมีกำลังซื้อน้อยกว่า (๒) หลายคนกำลังซื้ออัตตามาประดับตัวเอง โดยการซื้อเกียรติยศ ซื้อความมีหน้ามีตาในสังคม ว่าเป็นกลุ่มคนพิเศษ  ด้วยเหตุนี้  การตลาดในบางมุมจึงหมายถึงการทำการศึกษาและเข้าใจกิเลสของมนุษย์ แล้วนำกิเลสมนุษย์มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นรูปธรรมที่คนสามารถเข้าถึงและสัมผัสได้ โดยเฉพาะการตอบสนองกิเลสมากกว่าการพัฒนาคุณค่าแท้ของชีวิต

จุดเด่นในเชิงบวกที่น่าสนใจประการหนึ่งของการตลาดคือ การสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ให้แก่สินค่า ผลิตภัณฑ์ (Product) ด้วยการจัดทำหีบห้อให้น่าสนใจ (Packaging) และการบริการ (Service) โดยการค้นหาจุดเน้นของตัวเอง Positioning) เพื่อฉีกแนวให้ผู้บริโภค หรือลูกค้าเห็นความแตกต่าง (Differentiation) ของสินค้าอย่างเห็นได้ชัดว่ามีความโดดเด่นอย่างไร ทั้งสี กลิ่น (Mood&Tone) คุณภาพของสินค้า ตราสินค้า และการบริการ จนนำไปสู่การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและการบริการในที่สุด ดังนั้น หลักการนี้ จึงเริ่มต้นจากการทำให้ลูกค้าจดจำได้ง่าย (Perception) ว่าต้องการจะสื่ออะไร เพื่อนำไปสู่การตระหนักรู้ว่า สินค้ายี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งมีความสำคัญต่อการตอบสนองทางอารมณ์และคุณค่าแท้ (Awareness)  และัตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและการบริการ (Action) ในหลายสถานการณ์ การตลาดที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เกิดจากการที่เ้จ้าของสินค้าทำให้ "ลูกค้ารับรู้ แต่ลูกค้าไม่เคยรู้สึก" ว่า เพราะเหตุใดสินค้านั้นจึงมีความจำเป็นและสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ

หากนำหลักการ และภาษาของการตลาดมาอธิบายในมิตินี้ พระพุทธศาสนาเคยใช้หลักการ "Differentiation" ในสมัยพุทธกาล (อาจเรียกชื่อไม่เหมือนกัน) เช่น เรื่อง จากวรรณะที่พระเจ้าสร้างมาเป็นการจัดแบ่งตามหน้าที่ทางสังคม กรรมและการเกิดใหม่ พระพรหมจากผูู้สร้างโลกมาเป็นผู้อาราธนาธรรม และพรหมวิหาร จากโมกษะมาเป็นนิพพาน และการบูชายัญด้วยสัตว์มาเป็นการปฏิบัติตามไตรสิกขา ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แม้พระองค์จะเป็นกษัตริย์ แต่ได้ออกแบบสังคมสงฆ์ให้สอดรับกับประชาธิปไตย ทั้งอุดมการณ์ ระบบ และวิถีประชาธิปไตยได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง การทำหีบห่อผลิตภัณฑ์ (Dhamma Packaging) ได้มีการวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค(Customers need) แล้วหลังจากนั้นจึงการออกแบบ และนำเสนอให้สอดรับกับผู้บริโภค และลูกค้า (Consumers&Customers) เช่น ธรรมะสำหรับชาวนาในกสิกสูตร ธรรมะสำหรับคนฝึกม้า ธรรมะสำหรับพ่อค้าในวาณิชชสูตร ทั้งวิสัยทัศน์ ความเชี่ยวชาญ และความสัมพันธ์ ธรรมะสำหรับคนมีความทุกข์ที่นางวิสาขาสูญเสียหลานสาว ธรรมะสำหรับผู้ปกครอง: ทศพิธราชธรรมฯลฯ

คำถามที่น่าสนใจอย่างยิ่งนั้น ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ซึ่งเป็นกรรมการ  ได้สอบถามนิสิตว่า  "ถ้าย้อนกลับไปได้ เราทราบว่าพระพุทธเจ้าใช้หลักการตลาดมาเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เราจะเลือกซื้อสินค้า และผลิตภัณฑ์ที่พระองค์เสนอขายหรือไม่?!!??"  แม้คุณชิณญ์ในฐานะนักการตลาดได้ตอบคำถาม ดร.พิพัฒน์ในลักษณะ "เผื่อเหลือเผื่อขาด"  แต่บุคคลที่น่าจะตอบได้ชัดเจนท่านหนึ่ง อาจจะเป็น "ดนัย จันทร์เจ้าฉาย" ที่พยายามจะตอบว่า "การตลาดมีความจำเป็นต่อการพัฒนาองค์กรทางศาสนา เพราะหากต้องการให้หลักธรรมทางพุทธศาสนาแพร่ไปให้กว้างไกล การพึ่งพาการตลาดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก  ดังนั้น พุทธศาสนาอาจจะต้องถูกทำให้เป็นสินค้า โดยเฉพาะเมื่อต้องการแข่งขันกับสินค้าและวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น ดนตรี กีฬา และความบันเทิง"

การตอบคำถามของนักการตลาดแบบ "White Ocean" ท่านนี้  อาจจะสรุปได้ว่า พระพุทธศาสนาแม้จะเป็นสิ่งที่ดี และมีคุณค่าแก่มนุษยชาติ แต่เพื่อทำให้สิ่งที่มีคุณค่ามีประโยชน์ และนำไปใช้ได้อย่างสมสมัยสอดรับกับความต้องการของมนุษยชาตินั้น จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องอาศัยเครื่องมือ คือ "การตลาด" เข้าไปช่วยสนับสนุน ส่งเสริม และสร้างแง่มุมเชิงบวกต่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น ประเด็นคือ สิ่งมีคุณค่า แม้จะมีคุณค่าในตัวของตัวเอง และหากจำเป็นจะให้สิ่งมีคุณค่าเกิดประโยชน์ จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางการตลาดเข้ามาสร้างการรับรู้ให้แก่คนทั่วไป ด้วยเหตุนี้ การตลาดจึงถือว่าจำเป็นในมุมมองของเขา

แง่มุมของดนัยค่อนข้างจะสอดรับกับมารา ไอน์สไตน์ (Mara Einstein) ที่ย้ำในประเด็นเดียวกันนี้ว่า "ศาสนาเป็นเหมือนกับตราสินค้าเช่นเดียวกับตราสินค้าอุปโภค และบริโภคอื่นๆ เพียงแต่ว่าตราสินค้าทางศาสนาจัดเป็น "ตราสินค้าหรือแบรนด์แห่งศรัทธา"  เพื่อสร้างการรับรู้ และรักษาความภักดีระหว่างศาสนากับลูกค้า ด้วยเหตุนี้ ศาสนาจึงมีความจำเป็นจะต้องปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการลูกค้า และสอดคล้องกับลักษณะของตลาด และวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้น"

การตั้งข้อสังเกตของมาราว่า "ตราสินค้าของศาสนาเหมือนกับตราสินค้าอื่นๆ" นั้น อาจจะทำให้นักการศาสนาแนวอนุรักษ์นิยมมีท่าทีเชิงลบต่อมุมมองดังกล่าว แต่การนำเสนอว่า "เป็นตราหรือแบรนด์แห่งศรัทธา"  อาจจะทำหลายท่านมีความโน้มเอียงต่อท่าทีดังกล่าว  แต่หากมองในมิติของพระพุทธศาสนาแล้ว ตราหรือแบรนด์ของพระพุทธศาสนาเป็นทั้ง "แบรนด์แห่งศรัทธาและปัญญา"  กล่าวคือ สะท้อนแง่มุมทั้งอารมณ์ (Emotion) และการใช้สติปัญญาตระหนักรู้ และดำเนินชีวิต (Function) จะเห็นได้ว่า ในชุดขององค์ธรรมต่างๆ เมื่อเริ่มต้นด้วยศรัทธาแล้ว ปัญญาจะเป็นสิ่งที่เข้ามาสนับสนุนองค์ธรรมศรัทธาอยู่เสมอ เช่น พละ ๕ และอริยทรัพย์

จะเห็นว่า การตลาดที่เน้นแต่ "อารมณ์" เพื่อกระตุ้นให้เกิดตัณหา หรือความรู้จักอยากทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนั้น อาจจะทำให้มนุษย์เผชิญหน้ากับการแสวงหาสิ่งเสพเพื่อตอบสนองความอยากอย่างต่อเนื่อง แต่การที่มนุษย์มีปัญญารู้เท่าทันความอยาก และเสพอย่างมีสติ โดยตระหนักรู้ถึงคุณค่าแท้ ย่อมทำให้มีท่าทีต่อบริโภคสินค้าและการบริการในฐานะเป็น "สิ่งจำเป็น" มากกว่า "จำยอม" และสนองตอบในฐานะเป็นทาสของการบริโภคเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ และกระแสสังคม หรือค่านิยมผิดๆ

สรุปแล้ว การตลาดจึงดำรงอยู่ในฐานะเป็น "เครื่องมือของศาสนา" มากกว่า "ศาสนาจะเป็นเครื่องมือของการตลาด"  เพราะการตลาดจะเข้ามาทำหน้าที่ในการพัฒนาช่องทางให้ศาสนาในฐานะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางสติปัญญา เพื่อจะพาให้มนุษย์หลุดรอดออกจากความกลัว ความสิ้นหวัง และไร้แรงบันดานใจ  และช่วยใช้หลักการศาสนาไปเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การค้นพบตัวเอง และเข้าถึงความจริงสูงสุดในทางศาสนา หากจะมองในมิตินี้ หากจะมองว่า ธรรมะเป็นประดุจแพข้ามฝาก การตลาดก็อาจจะเป็น "ถ่อ" หรือ "ใบพาย" เพื่อที่จะค้ำยัน และพายเพื่อช่วยให้แพไปถึงฝั่งโดยเร็ววัน


 

ห้องเรียนในฝัน บทความของ อาจารย์จำลอง สุวรรณเรือง

พิมพ์ PDF
"เด็กชายกล้า" หัวหน้าห้อง ป.5/2 โรงเรียนนาทองวิทยา ซึ่งตั้งอยู่ห่างจาก
ตัวจังหวัดประมาณ 87 กิโลเมตร ตื่นแต่เช้าเป็นพิเศษ เพราะวันนี้เป็นวัน
เปิดเรียนวันแรกของภาคเรียนที่ 2 เขารีบเช็ค Email Address ว่าคุณครูมัลลิการ์
ซึ่งเป็นครูประจำชั้นมอบหมายงานอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า

ปกติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนๆกับคุณครูห้อง ป.5/2 ใช้กระบวนการ
หลายอย่าง ซึ่งส่วนมากคุณครูจะเน้นให้นักเรียนเห็นประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวม
เรียนรู้ร่วมกัน มีการทำงานร่วมกัน ฝึกฝนให้รู้ใช้เทคนิคและวิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเอง
มีอิสระและความรับผิดชอบ โดยคุณครูเป็นเพียงผู้กระตุ้น ยั่วเย้า ส่งเสริมการเรียน
ให้แก่ผู้เรียนเท่านั้น
Tablet ของทุกคนมีขนาดใหญ่ขึ้น คือ หน้าจอขนาด 10 นิ้ว และที่สำคัญ
บรรจุเนื้อหาสาระในหลักสูตรอย่างครบถ้วน สามารถค้นคว้าความรู้ใน
website ได้อย่างรวดเร็ว

การติดต่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกจากนักเรียนทุกคน รวมทั้ง
คุณครูด้วย จะมี Email Address เป็นของตนเองแล้ว ทุกคนยังมี Weblog
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Weblog ของ gotoknow.org และ facebook อีกด้วย
ห้อง ป.5/2 จัดที่นั่งเป็นรูปวงรี คุณครูมัลลิการ์ นั่งอยู่ที่นั่งเสมือนเป็นหนึ่ง
ในสมาชิกคนหนึ่งเท่านั้น โดยไม่แยกไปนั่งต่างหากแต่อย่างใด
ด้านซ้ายของห้องเป็นห้องครัวติดกับห้องน้ำแยกชายและหญิง
ด้านขวาเป็นห้องรับแขกติดกับห้องพยาบาล
สมาชิก ป.5/2 ทั้งหมด 45 คน ในจำนวนนี้ มีชาวต่างชาติประเทศใน
กลุ่มอาเซี่ยน 12 คน ต่างยิ้มแย้มแจ่มใสทักทายกันตามประสาคน
ที่ไม่ได้พบหน้ากันหลายวัน ก่อนที่คุณครูมัลลิการ์
จะแนะนำสมาชิกใหม่ 4 คนให้ทุกคนได้รู้จัก คือ
" Sampaguita Jasmine จากสาธารณรัฐฟิลิปปินส์"
"Vanda Miss Joaquim  สาธารณรัฐสิงคโปร์"
" Moon Orchid จากสาธารณรัฐอินโดนีเซีย"
และ "Hibiscus  จากประเทศมาเลเซีย"

นอกจากคุณครูมัลลิการ์แล้วยังมีคุณครูที่มาจาก
ประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซี่ยนอีก 10 คน สลับสับเปลี่ยน
กันมาสอนนักเรียนห้อง ป.5/2 เป็นรายวิชา ซึ่งส่วนมาก
คุณครูจะพานักเรียนออกห้องไปสอนตามสถานที่ต่างๆ
อย่างเหมาะสมกับรายวิชาที่ตนเองรับผิดชอบ
นักเรียน ป.5/2 ทุกคนเรียนอย่างมีความสุข
ทุกคนมีความเชื่อว่าอนาคต "เขาและเธอ
จะต้องเป็นสมาชิกที่ดีของประเทศ และ
ของอาเซี่ยนอย่างแน่นอน"
ท่านผู้อ่านล่ะครับพร้อมหรือยังที่จะสนับสนุน
ให้ห้องเรียนห้อง ป.5/2 โรงเรียนนาทองวิทยา
เกิดขึ้นจริงไม่ใช่เพียง "ห้องเรียนในฝัน"
 

สอนเก่ง สอนดี ครูเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติอะไร

พิมพ์ PDF
ครูต้องมีคุณสมบัติ 4 เก่งซึมซับอยู่ในตัวครูก่อนจึงจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาสนใจเรียนรู้

ได้อ่านบทความของ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน หัวข้อ "

สอนเก่ง สอนดี ครูเหล่านี้ต้องมีคุณสมบัติอะไร

จึงขอแสดงความคิดเห็นดังนี้

ผมมีความเห็นว่าครูสอนดี คือครูที่ทำการบ้านมาดี เอานักศึกษาเป็นศูนย์กลาง จะต้องทำความเข้าใจนักศึกษาทั้งห้อง แยกนักศึกษาเป็นกลุ่ม สร้างแรงบันดาลใจให้นักศึกษาเกิดความต้องการในการศึกษาหาความรู้ ครูต้องเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษา ใช้กลยุทธ์และวิธีการเฉพาะในแต่ละกลุ่มนักศึกษา เพื่อให้เรียนรู้และเข้าใจในการซึมซับคุณสมบัติ 4 เก่ง ให้อยู่ในตัวนักศึกษา คุณสมบัติ 4 เก่ง ประกอบด้วย 1.เก่งคน หมายถึงเข้าใจคนรอบข้าง มีมนุษย์สัมพันธ์และสามารถบริหารคนได้ รู้และเข้าใจคนรอบข้าง แต่ก่อนที่จะทำอย่างนั้นได้จะต้องเริ่มจากการบริหารตัวเอง เข้าใจและรู้จักตัวเอง รู้เท่าทันอารมณ์และสามารถควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ จึงจะเรียกได้ว่าเก่งคน 2.เก่งคิด คิดในสิ่งที่สร้างสรรค์ คิดในสิ่งที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่ประโยชน์ของตนเองหรือประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งและทำให้กลุ่มอื่นได้รับความเดือดร้อน ไม่กลัวปัญหาและอุปสรรค์ สามารถคิดนำปัญหาและอุปสรค์มาสร้างโอกาส 3.เก่งงาน เข้าใจงานและเป้าหมายของงาน เรียนรู้และเข้าใจงานของตัวเอง ทำงานและรับผิดชอบงาน มีทักษะในการทำงานไม่ว่าจะเป็นทักษะทางแรงงานหรือทักษะทางความคิด สามารถพัฒนาและเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากทำงานเก่งแล้วยังต้องเข้าใจเป้าหมายของงาน สามารถทำงานร่วมกับคนอื่น มีวิสัยทัศน์ในการทำงาน 4.เก่งการดำรงชีวิต สามารถแบ่งเวลาในการดำรงชีวิต ไม่เบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น สร้างความสุขอย่างยั่งยืน

ส่วนความลึกของแต่ละเก่งขึ้นอยู่กับแต่ละคนในแต่ละมิติ เช่นวัย อาชีพ ตำแหน่ง สถานะทางครอบครัวและสังคม

ครูต้องหาวิธีการและกลยุทธ์เฉพาะกับนักศึกษาแต่ละคนให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ เมื่อนักศึกษาเกิดแรงบันดาลใจแล้ว นักศึกษาผู้นั้นจะไปหาวิธีการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง ครูมีหน้าที่ในการเป็นโค้ช ผู้ให้กำลังใจ และให้การสนับสนุน ครูหลายท่านอาจจะแย้งว่า นักศึกษามีจำนวนมากครูไม่สามารถเข้าใจและเข้าถึงนักศึกษาทุกคนได้ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ถ้าครูมีความตั้งใจจริง ผมเชื่อว่าทำได้ ถ้าครูสามารถฝึกตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณสมบัติ 4 เก่งได้ เรื่องที่ผมกล่าวมาก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินกำลัง

บทความของ ดร.จันทวรรณ ปิยะวัฒน์

ช่วงเดือนนี้เรากำลังช่วยกันฝันว่า ห้องเรียนที่ดีควรเป็นอย่างไร ดิฉันก็เป็นครูคนหนึ่งที่มีความฝันค่ะ

  • ดิฉันฝันอยากสอนนักเรียนให้มีทักษะในการเรียนรู้มากกว่าที่จะสอนให้รู้เนื้อหา
  • ฝันอยากเห็นนักเรียนทุกคนอ่าน reading assignments หรือดู  clip VDOs มาก่อนล่วงหน้า เพื่อลดเวลาในการ lecture ลง
  • ฝันอยากบอกเล่าประสบการณ์ที่ตนเองมีมากกว่าสอนเนื้อหาในหนังสือ
  • ฝันอยากได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกับนักเรียนมากกว่าที่ดิฉันจะพูดอยู่ฝ่ายเดียว
  • ฝันอยากเห็นห้องเรียนมีความสนุกสนาน นักเรียนมีความสนใจกระตือรือร้นอยากเรียนรู้
  • ฝันอยากให้นักเรียนมีทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้ดี เพราะความรู้ที่เด็กไทยเข้าถึงได้ถูกจำกัดด้วยทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษ

แต่กว่า 10 ปีที่รับราชการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ดิฉันคิดว่าตัวเองก็ยังคงไม่รู้ว่าจะสอนให้ดีต้องสอนอย่างไร เรียกได้ว่ามีแต่วิชาชีพที่ตนมีประสบการณ์แต่ไม่มีทักษะในการสอนดี

และคิดต่อไปว่าแล้วในชั้นเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษากว่า 100 คนจะสอนให้ดีได้อย่างไร หลายคนบอกว่าเริ่มต้นด้วยการจำชื่อนักศึกษาให้ได้ครบทุกคน แค่นี้ก็ยากแล้วค่ะแต่ก็มีคนทำได้นะคะ

ครูสอนดีเหล่านี้มีคุณสมบัติอย่างไรหนอ? และมีเทคนิควิธีการสอนอย่างไร? สอนอะไร? สอนเนื้อหามากไหม? หรือทำโครงการเป็นหลัก? มีใครทำวิจัยเรื่องนี้อยู่บ้างไหมค่ะ เพราะถ้ารู้ได้ก็คงเป็นแนวทางในการพัฒนาครูได้เป็นอย่างดีค่ะ

และเมื่อครูในห้องเรียนสอนได้ดี โรงเรียนกวดวิชาคงไม่จำเป็นอีกต่อไป แต่ก็คงต้องมาหาหนทางกันว่าแล้วครูจะหารายได้เสริมมาดำรงชีวิตอย่างไร เพื่อนดิฉันหลายคนลาออกจากการเป็นครูไปเป็นตัวแทนขายประกัน

แต่อย่างไรดิฉันก็ยังมีประเด็นที่ยังสงสัยก็คือ ครูที่เรียกว่าสอนดีต้องเป็นคุณสมบัติอย่างไร? ต้องจบปริญญาโทเอกไหม? ต้องเป็นคนช่างพูดหรือเปล่า? ต้องมีประสบการณ์ในการสอนไหม?


 

บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF
เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้มีโลกทัศน์กว้างขวาง มีความเข้าใจความรู้ที่ซับซ้อน ไม่ชัดเจน และไม่แน่นอน

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 32. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (12) โต้วาที

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๓๐ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 12 : Split-room Debate

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 12 โต้วาที

จุดเน้น  : ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :    การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  : สูง

 

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้มีโลกทัศน์กว้างขวาง    มีความเข้าใจความรู้ที่ซับซ้อน ไม่ชัดเจน และไม่แน่นอน

หลังฟังการบรรยาย หรืออ่านกรณีศึกษา    จัด ๒ ฝั่งของห้องเรียน เป็นฝั่งฝ่าย ก   กับฝั่งฝ่าย ข   ให้ นศ. เลือกเองว่าตนจะอยู่ฝ่ายใด   เพื่อโต้วาทีกัน   โดยมีกติกาว่าผลัดกันพูดฝ่ายละคน   เมื่อฝ่ายหนึ่งพูดจบเวลา ก็ชี้ตัวบุคคลของฝ่ายตรงกันข้ามให้เป็นผู้พูด   และมีกติกาให้ย้ายข้างได้โดยสมัครใจ เมื่อได้รับข้อมูลความรู้มากขึ้น จนเปลี่ยนใจ   รวมทั้งอนุญาตให้เดินไปพูดคุยกับเพื่อนได้ทั้งห้อง

 

ขั้นตอนดำเนินการ

  1. ครูหาประเด็นตามเนื้อหาในรายวิชา ที่เป็นข้อโต้แย้งหรือหาข้อยุติที่ชัดเจนไม่ได้    และมีประเด็นโต้แย้งได้เป็น ๒ ค่าย   เหมาะต่อการนำมาเป็นประเด็นโต้วาที   ตั้งชื่อสั้นๆ ให้ดึงดูดความสนใจ   และมีประเด็นโต้แย้งชัดเจน  แต่ก็มีความกว้างยืดหยุ่นเพียงพอที่จะโต้วาทีกันได้สนุก
  2. เตรียมให้ นศ. มีพื้นความรู้เรื่องนั้นเพียงพอ    โดยการบรรยาย หรือมีเอกสารให้อ่าน  หรือมอบหมายให้ นศ. ค้นคว้ามาก่อน
  3. กำหนดกติกา  เช่น นศ. สามารถนำเสนอประเด็นได้เพียงคราวละประเด็นเดียว    หรือกำหนดเวลาให้นำเสนอได้เพียงคนละ ๓ นาที   เป็นต้น   และเลือก นศ. เป็น “ผู้ช่วยกรรมการ” เช่น ทำหน้าที่จับเวลา
  4. อธิบายกติกา พร้อมตอบข้อซักถาม   กำหนดพื้นที่ของฝ่ายเสนอ   พื้นที่ของฝ่ายค้าน
  5. ให้เวลา นศ. คิดสักครู่ แล้วให้แต่ละคนเลือกเดินเข้าสู่พื้นที่ฝ่ายที่ตนเห็นว่ามีน้ำหนักมากกว่า
  6. ให้ฝ่ายเสนอพูดก่อน    จบลงด้วยการชี้ฝ่ายตรงข้าม ๑ คนเป็นผู้พูด
  7. ทำสลับฝ่ายเช่นนี้จนหมดประเด็นที่จะเสนอหรือโต้แย้ง    ครูประกาศยุติการโต้วาที    ให้ นศ. กลับไปนั่งตามปกติ   และอภิปรายเพื่อสรุปประเด็นสำคัญ   รวมทั้งทำความเข้าใจเรื่องการเปลี่ยนใจ หรือเปลี่ยนความคิด

 

ตัวอย่าง

วิชาภาวะผู้นำทางการศึกษา

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ ได้ทำความเข้าใจเชิงลึกในหลายหลายด้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา    เพื่อให้ได้ลับ/ฝึก ความคิดเห็นของตนให้ชัดเจน หรือคมชัด   เพื่อเตรียมเข้าสู่หน้าที่ผู้บริหารโรงเรียน   โดยใช้การเรียนรู้ผ่านการโต้วาที    โดยเตรียมโจทย์จำนวนหนึ่ง เช่น  “โรงเรียนของรัฐควรสอนลัทธิพระเจ้าสร้างโลก คู่ขนานไปกับการสอนวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรวิทยาศาสตร์”  “ควรใช้ระบบใบสำคัญจ่าย (voucher) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีโอกาสเลือก และให้เกิดการแข่งขันระหว่างโรงเรียน”    และหลังการโต้วาที ครูให้ นศ. เขียนเรียงความเพื่อสรุปประเด็นจากมุมมองทั้งสองด้าน และสรุปมุมมองของตนเอง

 

การปรับใช้กับการเรียน online

ทำคล้ายโต้วาทีแบบพบหน้า   ครูเขียนคำอธิบายเหตุผลเป้าหมายของการโต้วาที   กำหนดหัวข้อโต้วาที   และบอกข้อกำหนดต่างๆ   สร้างเวทีโต้วาที online พร้อมกับบอกประเด็นการโต้วาที    แล้วให้ นศ. แต่ละคนบอกเหตุผลด้านเห็นด้วย   เสร็จแล้วให้ บอกเหตุผลที่ไม่เห็นด้วย   แล้วให้ นศ. แต่ละคนเปลี่ยนข้าง    จบแล้วให้ นศ. แต่ละคนเขียนข้อสรุปและสังเคราะห์ พร้อมเพิ่มข้อคิดเห็นส่วนตัว

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·      แทนที่จะเป็นการโต้วาทีทั้งชั้น   อาจปรับเป็นจัดทีม   หรือจัดเป็นคู่ ให้โต้กัน

·      อาจหาหัวเรื่องที่มีประเด็นโต้แย้งกัน ๓ ทางเลือก   จัดโต้วาที ๓ ฝ่าย

·      อาจกำหนดให้ นศ. ค้นคว้ามาล่วงหน้า    เพื่อให้ได้ข้อมูลหลักฐานแน่นแฟ้นขึ้น

·      หลังการโต้วาทีให้ นศ. เขียนเรียงความ ว่าตนชัดเจนขึ้นในประเด็นใดบ้าง   แปลกใจเรื่องอะไรบ้าง เพราะอะไร   เปลี่ยนใจเรื่องอะไรบ้าง เพราะอะไร   ได้รับความรู้ใหม่อะไรบ้าง

 

คำแนะนำ

เทคนิคนี้จะได้ประโยชน์จริงจัง เมื่อนศ. มีพื้นความรู้หรือข้อมูลเรื่องนั้นมากเพียงพอ    จึงควรจัดให้ นศ. เตรียมหาความรู้มาก่อน   พึงป้องกันสภาพที่ นศ. โต้กันด้วยวาทะที่ไร้ความเข้าใจแท้จริง หรืออย่างขาดข้อมูล   คือต้องไม่ใช่โต้วาทีเอามันด้วยวาทะเชือดเฉือนหรือสนุกโปกฮา

ครูพึงเลือกเรื่องสำหรับใช้เครื่องมือนี้ ที่มีมุมมองได้ ๒ ขั้นจริงๆ    และไม่ใช่ขั้วถูก-ผิด

ในกรณีที่ นศ. ย้ายมาอยู่ฟากหนึ่งจนอีกฝ่ายหนึ่งเหลือเพียง ๒ - ๓ คน ครูควรยุติการโต้   และชมเชยฝ่ายข้างน้อยในความกล้าหาญยืนหยัดแม้จะมีแรงกดดัน

การจัดการโต้วาทีที่ได้ผลดี  จะช่วยให้ นศ. ได้เรียนรู้วิธีคิดแบบวิเคราะห์ที่พุ่งเป้า  ลึก  และมีมุมมองที่หลากหลาย    นศ. ควรได้ฝึกให้ความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับความเห็นของตนเอง    เพื่อฝึกวิธีคิดที่หลุดพ้นจากทัศนคติแบบขั้วตรงกันข้าม หรือขาว-ดำ    ซึ่งจะช่วยเพิ่มความอกทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง

ตามปกติ นศ. จะสบายใจที่จะโต้วาทีอยู่ข้างที่ “เป็นพระเอก” ไม่สบายใจที่จะอยู่ฝ่าย “ผู้ร้าย”   ครูต้องสร้างบรรยากาศที่หนุนให้ นศ. สบายใจที่จะอยู่ฝ่ายไหนก็ได้   โดยเข้าใจว่า นี่คือกระบวนการเรียนรู้วิธีคิดเชิงวิเคราะห์

หากประเด็นโต้วาทีเป็นเรื่องใกล้ตัว นศ.  หรือตรงกับยุคสมัย   นศ. ก็จะสนใจมาก

หลังจบการโต้วาทีไปแล้ว    ครูอาจมอบหมายกิจกรรมต่อเนื่อง    เช่นให้เขียนบทวิเคราะห์เรื่องดังกล่าว ยาว ๑ - ๒ หน้า    โดยอาจให้สมมติตัวเองเป็นนักวิเคราะห์นโยบาย ให้แก่ผู้ยกร่างกฎหมาย   หรือเป็นที่ปรึกษาของ ซีอีโอ บริษัท

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Frederick PJ. (2002). Engaging students actively in large lecture settings. In Stanley CA (Ed.), Engaging large classes  : Strategies and twchniques for college faculty. Bolton, MA : Anker, pp 62-63.

วิจารณ์ พานิช

๑๘ ต.ค. ๕๕

 

 

 

· เลขที่บันทึก: 506146
· สร้าง: 19 ตุลาคม 2555 05:22 · แก้ไข: 19 ตุลาคม 2555 05:22
· ผู้อ่าน: 39 · ดอกไม้: 3 · ความเห็น: 0 · สร้าง: 1 วัน ที่แล้ว
· สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน
 

การบริหารจัดการความขัดแย้งทางความคิด

พิมพ์ PDF
การบริหารจัดการ การโต้แย้งทางความคิด

ได้อ่านบทความของอาจารย์วิจารณ์ พาณิช ทำให้เกิดความคิดต่อยอดเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการนำปัญหาความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นในสังคมประเทศไทย ไปบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ (ทำปัญหาให้เป็นโอกาส)

อยากเห็นการนำแนวความคิดนี้ไปใช้กับเรื่องความขัดแย้งทางความคิดที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยในปัจจุบัน เช่น 1.เรื่องประกันราคาข้าว 2.เรื่องการประมูล 3 G 3.เรื่องการบริหารจัดการน้ำ 4.เรื่องพลังงานของประเทศ (ปตท ปล้นประชาชน) 5.ความปองดอง 6.ความขัดแย้งทางการเมืองที่กระทบต่อประเทศชาติ 7.ฯลฯ

โดยสามารถจัดให้มีเวทีในการนำเรื่องความคิดเห็นที่ขัดแย้ง มาดำเนินการตามแนวคิดที่กล่าวมา โดยทำในเวทีสถาบันการศึกษา หรือในรายการทีวี หรือในคณะกรรมาธิการในรัฐสภา หรือในเวที workshop ที่หน่วยงานภาครัฐใช้งบประมาณมากมายในการจัดประชุม เสวนา เป็นต้น

( บทความของอาจารย์วิจารณ์ พานิช ด้านล่าง )

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบวิเคราะห์อย่างลึก คือให้วิเคราะห์ทั้งสองด้านของข้อโต้แย้ง เพื่อฝึกฝนให้ไม่คิดแบบ ใช่-ไม่ใช่ คือเห็นความซับซ้อนภายในประเด็นหรือเรื่องนั้นๆ นอกจากนั้นการได้ฝึกฟังความเห็นของเพื่อน และแสดงความเห็นของตนเอง เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร

 

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 31. เทคนิคดึงความสนใจ นศ.  (11) ข้อโต้แย้งทางวิชาการ

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด    จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley ในตอนที่ ๓๐ นี้ ได้จาก Chapter 13  ชื่อ Analysis and Critical Thinking    และเป็นเรื่องของ SET 11 : Academic Controversy

บทที่ ๑๓ ว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ   ประกอบด้วย ๘ เทคนิค  คือ SET 8 – 15   จะนำมาบันทึก ลรร. ตอนละ ๑ เทคนิค

 

SET 11 ข้อโต้แย้งทางวิชาการ

จุดเน้น  : ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :   การอ่าน การอภิปราย

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  : สูง

 

เป็นเครื่องมือฝึก นศ. ให้คิดแบบวิเคราะห์อย่างลึก    คือให้วิเคราะห์ทั้งสองด้านของข้อโต้แย้ง    เพื่อฝึกฝนให้ไม่คิดแบบ ใช่-ไม่ใช่    คือเห็นความซับซ้อนภายในประเด็นหรือเรื่องนั้นๆ    นอกจากนั้นการได้ฝึกฟังความเห็นของเพื่อน และแสดงความเห็นของตนเอง เป็นการฝึกทักษะการสื่อสาร

 

ขั้นตอนดำเนินการ

1.           ครูหาประเด็นตามเนื้อหาในรายวิชา ที่เป็นข้อโต้แย้งหรือหาข้อยุติที่ชัดเจนไม่ได้   รวมทั้งจะช่วยสร้างมุมมองที่แตกต่าง    เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับ นศ.    แต่ก็ไม่สร้างความขัดแย้งหรืออารมณ์รุนแรงเกินไปในกลุ่ม นศ.

2.           เขียนเรื่องขึ้นเป็นกรณีศึกษา    พิมพ์สำเนาลงกระดาษต่างสี    พร้อมคำสั่งหรือแนวทางให้ นศ. ดำเนินการ    เพื่อแจกให้ นศ. ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ สี สมมติว่า สีเขียว(กำหนดให้สีเขียวมีจุดยืนหนึ่งตามในกรณีศึกษา)    กับ สีน้ำเงิน ซึ่งกำหนดให้มีจุดยืนตรงกันข้าม

3.           แบ่ง นศ. ออกเป็น ๒ สี เท่าๆ กัน    แจกเอกสารกรณีศึกษา และบอกให้ นศ. แต่ละคนอ่านเรื่อง และกำหนดความเห็นของตนเองไว้

4.           ให้ นศ. จัดกลุ่ม กลุ่มละ ๔ คน   แต่ละกลุ่มมีสีเขียว ๒ คน   สีน้ำเงิน ๒ คน

5.           ให้ นศ. ในแต่ละกลุ่มจับคู่สีเดียวกัน  ระดมความคิดกันเพื่อหาข้อสนับสนุนจุดยืนตามที่ได้รับมอบตามสี   ใช้เวลา ๒ - ๓ นาที

6.           ให้ นศ. แยกกลุ่ม เดินไปหาเพื่อนสีเดียวกันในห้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน    โดยมีเป้าหมายรวบรวมข้อคิดเห็นสำหรับสนับสนุนจุดยืนตามสีของตน

7.           นศ. กลับมารวมกลุ่ม ๔ คนอย่างเดิม   (ตามข้อ 4)

8.           ให้คู่สีเขียวนำเสนอจุดยืนของตน   คู่สีน้ำเงินฟังโดยไม่พูดอะไร

9.           ให้คู่น้ำเงินซักถามเพื่อความกระจ่าง    แล้วให้คู่น้ำเงินนำเสนอ  คู่เขียวฟัง   หลังจากนั้นคู่เขียวซักถาม

10.      ให้เปลี่ยนข้างจุดยืน  โดยมีเวลาเตรียมคิดสักครู่   แล้วอภิปรายโต้แย้งกัน

11.      หลังจากนั้น ขอให้ทีม ๔ คนอภิปรายหาข้อยุติหรือฉันทามติใน ๔ คน

12.      จัดให้อภิปรายร่วมกันในชั้น   โดยให้ทีม ๔ คน ที่เลือกข้างความเห็นสีเขียวยกมือ   และให้ทีมที่เลือกสีน้ำเงินยกมือ    ให้ นศ. ที่เปลี่ยนความเห็นอธิบายว่าทำไมตนจึงเปลี่ยนใจ

 

ตัวอย่าง

วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ

ศาสตราจารย์ผู้สอนวิชานี้ กำหนดให้ นศ. ถกเถียงกันว่า “ใครเป็นเจ้าของอดีต”   โดยครูบรรยายสั้นๆ ว่าในปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ถูกกดดันให้คืนสิ่งของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์   กลับไปให้แก่ประเทศที่เป็นแหล่งกำเนิดของสิ่งของเหล่านั้น    ด้วยเหตุผลว่ามีการเอามาจากประเทศต้นกำเนิดอย่างไม่ถูกต้อง    ประเทศต้นกำเนิดอารยธรรมโบราณ เช่น กรีซ  จีน  อียิปต์  อิตาลี  จอร์แดน  อิหร่าน  เตอรกี  ปากีสถาน  อ้างว่าสิ่งของเหล่านี้เป็นสมบัติของชาติ   ที่ช่วยแสดงเอกลักษณ์ของชาติในโลกสมัยใหม่    แต่ภัณฑารักษ์ นักประวัติศาสตร์ และคนในประเทศตะวันตก อ้างว่าสิ่งของเหล่านั้นเป็นสมบัติของมนุษยชาติ    ที่ควรจะได้นำมาจัดแสดงเพื่อการเรียนรู้อารยธรรมมนุษย์ ที่ก้าวข้ามพรมแดนรัฐชาติ

ครูจึงใช้เครื่องมือ “ข้อโต้แย้งทางวิชาการ” เพื่อให้ นศ. ได้ทำความเข้าใจรายละเอียด   และฝึกคิดวิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง

 

การปรับใช้กับการเรียน online

เทคนิคคล้าย Academic Controversy  ที่มีการพัฒนาสำหรับเรียน online ชื่อ “Progressive Project”   วิธีการคือ   ครูเสนอรายชื่อประเด็น ให้ นศ. เลือก ๑ ประเด็น   แล้วให้ นศ. จับคู่ ระหว่าง นศ. ก  กับ นศ. ข    เริ่มโดย นศ. อ่านเอกสาร   แล้ว นศ. ก เขียนเหตุผลสนับสนุน ๓ ข้อ ส่งให้ นศ. ข    แล้ว นศ. ข เขียนเหตุผลค้าน ๓ ข้อ   แล้วส่งครู    ครูส่งผลงานนี้ไปยัง นศ. อีกคู่หนึ่ง ให้ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของเหตุผลสนับสนุนและเหตุผลค้าน   ส่งกลับให้ครู (Conrad RM, Donaldson JA. (2004). Engaging the online learner : Activities and resources for creative instruction. San Francisco : Jossey-Bass.)

 

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

แทนที่จะให้ นศ. กลุ่ม ๔ คน หาข้อฉันทามติด้านเขียวหรือด้านน้ำเงิน    เปลี่ยนเป็นให้หาทางสร้างฉันทามติใหม่ ที่เป็นการรอมชอมระหว่างสองขั้ว

 

คำแนะนำ

การให้ นศ. โต้แย้งจากมุมที่ต่างกันทั้งสองมุม ช่วยให้ นศ. ได้ฝึกติดจากต่างมุม   โดยไม่ถูกแรงกดดันจากความคิดแบ่งขั้วในสังคม

 

ข้อคิดเห็นของผม

น่าจะดัดแปลงวิธีการข้างต้น    ให้ นศ. ไปค้นหาข้อมูลหลักฐานเกี่ยวกับข้อโต้แย้งเรื่องนั้นเพิ่มเติมจากในเอกสารกรณีศึกษาของครู   ก็จะทำให้ นศ. ได้ฝึกค้นคว้า   และจะทำให้ได้ฝึกการวิเคราะห์ในมิติที่ซับซ้อนและลึกยิ่งขึ้น

 

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Jacobson D. (2002). Getting students in a technical class involved in the classroom. In Stanley DA (Ed.), Engaging large classes : Strategies and techniques for college faculty.  Bolton, MA : Anker, pp. 214-216.

วิจารณ์ พานิช

๑๗ ต.ค. ๕๕

 


หน้า 520 จาก 558
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5607
Content : 3052
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8612250

facebook

Twitter


บทความเก่า