Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

แผนกลยุทธ์สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

พิมพ์ PDF

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2556 ได้เข้าร่วมงานสัมมนาประชาพิจารณ์ (ร่าง)แผนกลยุทธ์สำนักงานปลัดกระแรงงาน พ.ศ. 2556-2559

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร  เป็นผู้บรรยายการดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์สำนักงานปลัดกระทรวง โดยเริ่มจากการกล่าวถึง "ความจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์"

1. เป็นทิศทางในการทำงานของหน่วยงาน

2.เป็นวิธีการเชิงกลยุทธ์เพื่อให้เกิดความสำเร็จที่รวดเร็วขึ้น

3.เกิดการประสานงาน บูรณาการ เป็นเนื้อเดียวกับหน่วยงานอื่น

4.มีกลไกในการกำกับติดตาม และ ประเมินความสำเร็จ

โครงสร้างของแผนยุทธศาสตร์

1.Vision วิสัยทัศน์  หมายถึง

ภาพองค์กรในอนาคต

ภาพกว้างๆซึ่งผู้นำในหน่วยงานปรารถนาให้องค์กรไปสู่

แนวคิดหรือมุมมองใหม่เกี่ยวกับสถานภาพองค์กรที่พึงปรารถนาในอนาคตซึ่งสามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจทั่วทั้งองค์กร

อยากเห็นองค์กรในอนาคต ใน 5-10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร


วิสัยทัศน์ของสำนักปลัดกระทรวงแรงงาน ได้แก่

"เป็นองค์กรชั้นนำในการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน สนับสนุนและผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อความ สำเร็จในการบริหารแรงงานของประเทศ"

2. Mission พันธกิจ หมายถึง

 

ข้อความที่กำหนดถึงภารกิจที่องค์กรมุ่งหวังจะกระทำให้เกิดผลสำเร็จตามวิสัยทัศน์องค์กรที่มีอยู่

สิ่งที่องค์กรมุ่งมั่น ตั้งใจ อยากให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน ใน 1-2 ปีนี้

งานตามหน้าที่ ตามเหตุผลของการจัดตั้งองค์การ

พันธกิจของสำนักปลัดกระทรวงแรงงานได้แก่

วิจัยและพัฒนาสารสนเทศ เศรษฐกิจและสังคมด้านแรงงาน

กำหนด ขับเคลื่อน ติดตามและประเมินผล ยุทธศาสตร์ด้านแรงงานเชิงกลยุทธ์

สื่อสาร และสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านแรงงาน

สร้างค่านิยมองค์กร และพัฒนาองค์กร รวมถึงระบบบริหารงานบุคคลเชิงรุก

3.Strategic Issues ประเด็นยุทธศาสตร์ หมายถึง

เรื่อง หรือ ประเด็นใหญ่ๆ ที่ต้องทำให้เกิดความสำเร็จตามวิสัยทัศน์
การมีประเด็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน จะทำให้สามารถกำหนดเป้าประสงค์ (Goal) ที่ชัดเจน และ รู้ว่าประเด็นที่ต้องดำเนินการตามกลยุทธ์มีกี่เรื่อง
ประเด็นยุทธศาสตร์
3.1การพัฒนาหน่วยงานให้เป็นองค์กรชั้นนำในการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน
3.2การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านแรงงานเชิงบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพ
3.3การผลักดันให้การบริหารจัดการแรงงานของประเทศให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ประเทศ
4. Goal เป้าประสงค์ หมายถึง
ผลบั้นปลายที่ต้องการให้เกิด หลังจากการดำเนินการตามกลยุทธ์แล้ว

เป้าประสงค์
4.1.สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่มีสมรรถนะสูงในการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ด้านแรงงานและเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง
4.2.หน่วยงานและภาคีเครือข่ายมีการทำงานร่วมกันเพื่อให้บังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ
4.3.ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ด้านแรงงานที่สามารถชี้นำการบริหารแรงงานของประเทศ
5.กลยุทธ Strategy   ได้แก่วิธีการที่วิเคราะห์แล้วเห็นว่าดีที่สุดในการนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าประสงค์
5.1.สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานที่มีสมรรถนะสูงในการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ด้านแรงงานและเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานทั้งในและนอกกระทรวง
1.การบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมคุณภาพบุคลากร และองค์กร
2.การบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายเชิงรุก
3.การเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมด้านแรงงาน
4.การกำหนด ติดตาม และประเมินผล ยุทธศาสตร์ แผนข้อเสนอด้านแรงงาน
5.2.หน่วยงานและภาคีเครือข่ายมีการทำงานร่วมกันเพื่อให้บังเกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ
1.สร้างและพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันในพื้นที่
2.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ
5.3.ประเทศไทยมียุทธศาสตร์ด้านแรงงานที่สามารถชี้นำการบริหารแรงงานของประเทศ
1.การพัฒนาระบบค่าจ้างของประเทศ
2.การพัฒนากลไกด้านแรงงานรองรับประชาคมอาเซียน
3.การพัฒนาการให้บริการด้านแรงงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
4.การจัดการด้านแรงงานในภาวะวิกฤต

 

หลังการบรรยายของ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร ได้เปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมรับฟัง ซักถาม หรือเสนอแนะ ปรากฎว่ามีผู้เสนอแนะ และสอบถามข้อสงสัยเป็นจำนวนมาก สำหรับผมเองได้ขอให้วิทยากรช่วยให้คำนิยามของคำว่า "แรงงาน" ในวิสัยทัศน์ "เป็นองค์กรชั้นนำในการบริหารจัดการยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน สนับสนุนและผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อความ สำเร็จในการบริหารแรงงานของประเทศ"

ได้รับคำตอบที่ไม่ตรงกับประเด็นที่ผมถาม อย่างไรก็ตามหลังจากพยายามอธิบายถึงประเด็นคำถาม ในที่สุด  รศ.สมชัย จึงจับกลุ่มหัวข้อที่เกี่ยวกับแรงงาน และได้อธิบายความหมายในแต่ละกลุ่ม ประกอบด้วย

1.แรงงาน labor  หมายถึงคนทำงานทุกคน รวมถึงคนทุกคนที่ทำงาน เช่น เจ้าของธุรกิจ ผู้บริหาร ลูกจ้าง พ่อค้า แม่ค้า คนทำสวน ชาวนา  ครูสอนหนังสือ ข้าราชการ

2.กำลังงาน Workforce หมายถึงคนที่อยู่ในอายุทำงาน ไม่ว่าจะเป็นคนที่ทำงาน หรือคนนั่งอยู่เฉยๆไม่ทำอะไรเลย

3.ทรัพยากรมนุษย์ Human Resource หมายถึงคนที่เป็นลูกจ้างอยู่ในองค์กร ก็ถือว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรนั้นๆ  แต่ผมตีความหมายว่าทรัพยากรมนุษย์ คือคนทุกคนที่เกิดมาบนโลก เป็นทรัพยากรของแผ่นดิน ทรัพยากรมนุษย์เหล่านี้ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแลและบริหารจัดการให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ไม่ใช่ทรัพยากรที่สร้างภาระให้กับสังคมและประเทศชาติ

4.การจัดการแรงงาน Labor administration  ผมจำคำอธิบายไม่ได้

5.การจัดการทรัพยากรมนุษย์ Human Resource Management เป็นเรื่องของการบริหารจัดการพนักงานของแต่ละองค์กร แต่ผมรวบไปถึงภาครวมของทั้งประเทศ

ผมพยายามชี้ประเด็นให้เจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้อง ไปกำหนดนิยามเรื่องแรงงานให้ชัดเจนและประกาศให้เข้าใจเหมือนกัน และให้ไปศึกษา        ขบวนการเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ ให้เข้าใจ จึงจะสามารถกำหนดพันธกิจที่เหมาะสมและมีประเด็นยุทธศาสตร์ ให้ได้ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้

มีเจ้าหน้าที่บางท่านของกระทรวงแรงงาน เสนอว่าควรจะตัดคำว่า "องค์กรชั้นนำ" ออกไป เพราะไม่เชื่อว่าองค์กรจะสามารถแข่งขันกับองค์กรอื่นได้ แต่ผมเห็นว่า สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ต้องทำให้ได้ตามวิสัยทัศน์ ที่กำหนดไว้ เพราะเป็นหน่วยงานเจ้าภาพโดยตรงด้านแรงงาน

รู้สึกดีใจที่การชี้ประเด็นของผม ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับกลางที่เกี่ยวข้องกับสำนักนโยบายและแผนยุทธ์ศาสตร์ จับประเด็นได้และจะนำข้อเสนอของผมไปใช้ในแผนของกระทรวงแรงงาน

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

8 ก.พ.2556


 

การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างไร : ๖. สิ่งที่จูงใจนักเรียนให้อยากเรียน โดย อาจารย์ วิจารณ์ พานิช

พิมพ์ PDF

บันทึก ๑๖ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ How Learning Works : Seven Research-Based Principles for Smart Teachingซึ่งผมเชื่อว่า ครู/อาจารย์ จะได้ประโยชน์มาก หากเข้าใจหลักการตามที่เสนอในหนังสือเล่มนี้  ตัวผมเองยังสนใจเพื่อเอามาใช้ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเองด้วย

 

ตอนที่ ๖ นี้ มาจากบทที่ 3  What Factors Motivate Students to Learn?

 

บันทึกตอนที่ ๖ อธิบายหลักการเรื่องทฤษฎีว่าด้วยแรงจูงใจในการเรียน และยุทธศาสตร์ในการกำหนดคุณค่า และตอนที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องยุทธศาสตร์ทำให้ นศ. มีความคาดหวังเชิงบวก และยุทธศาสตร์ในการจัดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าและความมั่นใจว่าสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้

 

บทที่ ๓ ของหนังสือ เริ่มด้วยคำบ่นและคร่ำครวญของศาสตราจารย์ ๒ คน  ที่สอนวิชาปรัชญา และวิชา Thermodynamics  ว่า นศ. ไม่สนใจเรียน ขี้เกียจ ขาดเรียน  แม้ครูในวิชา Thermodynamics จะได้เตือน นศ. ตั้งแต่ต้นเทอมแล้ว ว่าวิชานี้ยาก นศ. ต้องตั้งใจเรียนจริงๆ จึงจะสอบผ่าน

 

นี่คือความผิดพลาดที่พบบ่อยที่สุดของครู/อาจารย์ในยุคปัจจุบัน  ที่ตั้งความคาดหวังผิดๆ ว่า นร./นศ. ในปัจจุบันจะตั้งใจเรียน เหมือน นร./นศ. ในสมัยที่อาจารย์เป็น นร./นศ.

 

หนังสือบอกว่า เมื่อศึกษาวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดของการจัดการเรียนการสอนในทั้ง ๒ กรณี  จะพบว่าต้นเหตุหลักที่ทำให้ นศ. ไม่สนใจเรียน อยู่ที่ตัวอาจารย์เอง ไม่ได้อยู่ที่ นศ.

 

ศาสตราจารย์วิชาปรัชญามีความกระตือรือร้นและรักวิชานี้มาก  จึงหลงคิดว่า นศ. จะให้คุณค่าต่อวิชานี้เหมือนที่ตนห็นคุณค่า  ศ. ท่านนี้ไม่ได้พยายามมองวิชา บทเรียน และบรรยากาศในการเรียนจากมุมมองของ นศ.  (ไม่ได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา)   บทเรียนจึงไม่ได้จัดตามมุมมองหรือมุมกระตุ้นความสนใจของ นศ.  แต่จัดตามความสนใจของครู

 

ศาสตราจารย์ ก ที่สอนวิชา Thermodynamics ใช้แทคติคเดียวกันกับอาจารย์ที่เคยสอนวิชานี้แก่ตน  คือเตือน นศ. ว่าวิชานี้ยาก ให้ตั้งใจเรียน  คำเตือนแบบนี้กระตุ้นความสนใจแก่ นศ. ที่ตั้งใจเรียนอย่างศาสตราจารย์ ก  แต่ไม่กระตุ้นความสนใจ เอาใจสู้ แก่ นศ. สมัยนี้  และกลับก่อผลในทางตรงกันข้าม คือทำให้ท้อถอย


แรงจูงใจคืออะไ

หนังสือเล่มนี้ให้นิยามแรงจูงใจ (motivation) ว่าหมายถึงการลงทุนส่วนตัวของบุคคล เพื่อการบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง

เป็นการให้นิยามแรงจูงใจเพื่อให้เป็นรูปธรรม เป็นพฤติกรรม สามารถวัดได้  ผมคิดต่อว่า หากให้นิยามแนวนี้ ส่วนที่อยู่ภายในจิตใจของเรา เป็นนามธรรม วัดยากหรือวัดไม่ได้ คือ แรงบันดาลใจ (inspiration) หรือแรงปรารถนา(passion)

การลงทุนส่วนตัวนี้ อยู่ในรูปของใจจดจ่อ การให้เวลา ความอดทนพากเพียรพยายาม ทำซ้ำๆ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก  ไม่ถอดใจเมื่อล้มเหลว   ผมนึกถึงการใช้ทุนทรัพย์เพื่อซื้อสิ่งของและบริการเพื่อบรรลุเป้าหมาย  และตัดสินว่า ไม่ใช่แรงจูงใจ เพราะเป็นการลงทุนนอกกาย (และใจ)

 


ทฤษฎีว่าด้วยแรงจูงใจในการเรียน

แรงจูงใจในการเรียนของ นศ. เป็นตัวเริ่มต้น กำกับทิศทาง และสร้างความต่อเนื่อง ในการเรียน ของ นศ.

ในแต่ละช่วงชีวิตของคนเรา (โดยเฉพาะ นศ.) เรามีเป้าหมายหลายอย่างแข่งขันกันอยู่  แข่งกันแย่ง “ทรัพยากรส่วนตัว” คือความสนใจ เวลา ความพยายาม ของแต่ละคน

นี่คือธรรมชาติที่ครูพึงเข้าใจและตระหนักอยู่ตลอดเวลา  ว่า นศ. เขามีเป้าหมายอื่นอยู่ในขณะนั้นด้วย  และแม้แต่เป้าหมายด้านการเรียน เขาก็ยังต้องเรียนวิชาอื่นด้วย

เป้าหมาย

คำพูดว่าใครสักคนมีแรงจูงใจ ไม่มีความหมาย หากไม่ใช่แรงจูงใจสู่การลงมือทำ  ทำเพื่อบรรลุผลตามความมุ่งหมายหรือความคาดหวัง  เป้าหมายเป็นเสมือนเข็มทิศ  หรือภาษาไทยเรามักใช้คำว่า “ปักธง”

สิ่งที่ครูพึงตระหนักในเรื่องเป้าหมายของ นศ. ก็คือ  (๑) นศ. แต่ละคนมีหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน  ทั้งเป้าหมายทางการเรียน  เป้าหมายทางสังคม ในการหาเพื่อน หาแฟน สร้างการยอมรับนับถือในหมู่เพื่อนๆ เป็นต้น  หรือบางคนอาจต้องหาเงินเลี้ยงชีพด้วย  (๒) เป้าหมายของ นศ. กับของครูมักไม่ตรงกัน  ครูพึงเอาเป้าหมายของ นศ. เป็นหลัก ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ นศ.  ไม่ใช่เอาเป้าหมายของครูเป็นหลัก  (๓) เป้าหมายเกี่ยวกับการเรียนมีทั้งเป้าหมายที่ดี/เหมาะสม  และเป้าหมายที่ไม่ดี/ไม่เหมาะสม  เป้าหมายเกี่ยวกับการเรียนที่ไม่เหมาะสม ไม่นำไปสู่ผลการเรียนที่ลึกซึ้งแตกฉาน

ซึ่งหมายความว่า ครูต้องมีวิธีตรวจสอบทำความเข้าใจเป้าหมายของ นศ. ในชั้น ทั้งในภาพรวม และเข้าใจ นศ. เป็นรายคน

ในทางจิตวิทยาการเรียนรู้ เป้าหมายของ นศ. มีความซับซ้อน  และอาจมีเป้าหมายที่ไม่นำไปสู่การเรียนรู้ที่ดี  เรียกว่าเป้าหมายโชว์ความสามารถหรือเป้าหมายโชว์สมรรถนะ (Performance Goal)  ซึ่งแตกต่างจากเป้าหมายการเรียนรู้(Learning Goal)

เป้าหมายโชว์สมรรถนะอาจกล่าวได้ว่า เป็นหลุมพรางของเป้าหมายที่แท้จริง  หรือเป็นเป้าหมายปลอม ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้เพียงระดับผิวเผิน  คือเพียงแค่เอาไว้โชว์

ทำให้ผมหวนระลึกถึงข้อสงสัยที่ติดใจมากว่า ๕๐ ปี และคิดว่าได้คำตอบเมื่ออ่านหนังสือ How Learning Works มาถึงตอนนี้

ตอนต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ผมอายุ ๑๖ ปี เรียนอยู่ชั้น ม. ๖ (ในสมัยนั้นเรียนชั้นประถม ๔ ปี  มัธยม ๖ ปี  เตรียมอุดม ๒ ปี  แล้วจึงเข้ามหาวิทยาลัย)  เตรียมตัวสอบแข่งขันเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของนักเรียนทุกคนที่เรียนดี และต้องการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย  การเตรียมตัวอย่างหนึ่งทำโดยไปกวดวิชา  โรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ “โรงเรียนทัดสิงห์” (ทัด สิงหเสนี)  อยู่บนถนนพระราม ๑ ใกล้สี่แยกแม้นศรี  ผมไปเรียนแบบเด็กเรียนเก่งแต่ไม่มั่นใจตัวเอง  มุมานะขยันเรียนสุดฤทธิ์  และหมั่นสังเกตนักเรียนคนอื่นๆ ว่าเขามีวิธีเรียนกันอย่างไร  มีเด็กผู้ชาย (ที่จริงเป็นวันรุ่น) คนหนึ่งเป็นคนช่างพูดและเสียงดัง  ระหว่างที่เราไปนั่งรอให้ถึงเวลาเรียน  จะได้ยินเขาพูดจาอธิบายความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งวิธีทำโจทย์ข้อสอบ  ผมสังเกตว่าบางข้อเขาพูดผิด แต่ไม่ได้พูดจาโต้แย้ง (ผมไม่เคยพูดกับเขาเลย)  แต่ส่วนใหญ่ผมรู้สึกพิศวงว่าเขามีความรู้มากมายกว้างขวางเช่นนั้นได้อย่างไร  รวมทั้งผมสงสัยว่าเขารู้จริงหรือไม่  คำตอบอยู่ที่ผลสอบเข้าโรงเรียนเตรียมฯ  ผมไม่เห็นตัวเขาที่โรงเรียนเตรียมฯ เลย จึงเดาว่าเขาสอบไม่ได้  แต่ผมสงสัยเรื่อยมาว่าทำไมเขามีพฤติกรรมเช่นนั้น  มาได้คำตอบเชิงวิชาการเอา ๕๔ ปีให้หลัง  ว่าเป็นเพราะเขาหลงเรียนเพื่อโชว์  ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ (จริง)

เป้าหมายที่ไม่ดีอีกอย่างหนึ่ง คือเป้าหมายหลบเลี่ยงการทำงานหนัก (Work-avoidant goals) ซึ่งนำไปสู่การทำงานลวกๆ ขอไปที  นศ. อาจมีเป้าหมายเรียนเพื่อรู้จริงต่อวิชา ก  แต่มีเป้าหมายหลบเลี่ยงการทำงานหนักของวิชา ข ก็ได้

การที่ นศ. มีหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องทำให้เป้าหมายการเรียนย่อหย่อน  หากครูมีวิธีช่วยเอื้ออำนวยให้เป้าหมายหลายอย่างช่วยเสริม (synergy) ซึ่งกันและกัน  ตัวอย่างเช่น ทำให้เป้าหมายการเรียนรู้ เป้าหมายด้านความชอบ (Affective Goal)  และเป้าหมายทางสังคม (Social Goal) คือได้เพื่อน ได้รับความยอมรับนับถือจากเพื่อน เสริมซึ่งกันและกัน  ทำให้เป้าหมายการเรียนรู้มีพลังเข้มแข็งขึ้น  นี่คือข้อสรุปจากผลการวิจัย

ทำให้ผมหวนระลึกถึงสมัยที่ตนเองกำลังเป็น นศ.  เป็นวัยรุ่น  ที่ผู้ใหญ่เตือนว่าอย่าเพิ่งริมีแฟน จะทำให้เสียการเรียน  ลุงคนหนึ่งถึงกับสอนให้ท่อง “สตรีคือศัตรู”  ซึ่งผมก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง  และสมัยผมเรียนแพทย์ผมมีเพื่อนที่เรียนอ่อน  แต่เมื่อมีแฟนการเรียนดีขึ้นมาก เข้าใจว่าต้องขยันเรียน เอาไปติวแฟน  ซึ่งเข้าตำราเรื่อง Learning Pyramid ว่าการสอนผู้อื่นเป็นวิธีเรียนที่ดีที่สุด

จะเห็นว่า เรื่องเป้าหมายชีวิตในขณะนั้น กับผลการเรียนรู้ เป็นเรื่องซับซ้อน  มีประเด็นให้เอาใจใส่ทดลอง หรือทำวิจัยได้ไม่สิ้นสุด  โดยอาจนำเอาเรื่องตัวเบี่ยงเป้าหมาย หรืออุปสรรคขัดขวางเป้าหมายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งโจทย์ก็ได้


การให้คุณค่า

เมื่อ นศ. มีหลายเป้าหมายในเวลาเดียวกัน  มีเรื่องที่จะต้องทำให้เลือกหลายตัวเลือกในเวลาเดียวกัน  นศ. ย่อมเลือกทำสิ่งที่ตนคิดว่ามีคุณค่าสูงสุดต่อตนเอง

มีผู้ให้ความเห็นไว้ว่านศ. ที่ตั้งใจเรียน เกิดจากการให้คุณค่าเชิงนามธรรม (subjective value) ต่อการเรียนรู้แบบใดแบบหนี่งหรือหลายแบบใน ๓ แบบ ต่อไปนี้

๑.  Attainment value  เป็นคุณค่าจากความพึงพอใจที่เกิดจากการได้เรียนรู้  หรือจากความสำเร็จ

๒.  Intrinsic value  เป็นความพึงพอใจจากการทำสิ่งนั้นๆ เอง  ไม่สนใจผล

๓.  Instrumental value  เป็นคุณค่าที่นำไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าการเรียนรู้  เช่นความมีชื่อเสียง  การมีรายได้สูง ที่เป็นผลได้ภายนอก (Extrinsic Reward) ในกรณีนี้ นศ. ตั้งใจเรียน เพราะมีความหวังว่าเมื่อสำเร็จ ตนจะมีชีวิตที่ดี

ประเด็นสำคัญต่อครูก็คือ  ครูพึงชี้ให้ นศ. เห็นคุณค่าของการเรียนวิชานั้นๆ ให้ นศ. เห็นหรือเข้าใจชัดเจน   และหากกระบวนการเรียนรู้ของ นศ. คนนั้นลื่นไหลได้ผลดี  จากคุณค่าเริ่มต้นแบบที่ 3  ต่อไปจะเกิดคุณค่าแบบที่ 2 และ 1 ขึ้นได้เอง


ความเชื่อมั่นว่าบรรลุได้

จากผลการวิจัย ชี้ว่า แม้ นศ. จะเห็นคุณค่าของการเรียนวิชานั้น  แต่หากใจไม่สู้ ไม่เชื่อว่าตนจะเรียนวิชานั้นได้  ก็ไม่เกิดแรงจูงใจต่อการเรียนวิชานั้น

ในภาษาวิชาการ ความเชื่อมั่นต่อการบรรลุผล เรียกว่า outcome expectanciesซึ่งมีทั้งตัวบวกและตัวลบ  ตัวบวกเรียกว่า positive outcome expectancies ส่วนตัวลบ เรียกว่า negative outcome expectancies จะเห็นว่า ตัวหลังทำให้ใจไม่สู้  และตัวแรกทำให้ใจสู้มุมานะ

การให้กำลังใจแก่ นศ.  ที่ครูให้เป็นรายบุคคล มีถ้อยคำแสดงความเชื่อมั่นว่าทำได้ ที่เหมาะสมตามบริบทของ นศ. คนนั้นๆ พร้อมกับคำแนะนำให้เอาใจใส่บางจุด ปรับปรุงบางเรื่อง จะเป็นเสมือนน้ำทิพย์ชโลมใจ นศ.

เป้าหมายของ นศ. บางคนคือ “เหรียญทอง”  ครูที่เข้าใจจิตใจของ นศ. จะสามารถใช้เทคนิคนี้ช่วยสร้างกำลังใจ/แรงจูงใจ ให้ นศ. มีความมานะพยายาม และบรรลุเป้าหมายได้

ความเชื่อมั่นต่อการบรรลุผลเชิงบวก มีตัวช่วยตัวหนึ่ง ชื่อ efficacy expectancies ซึ่งหมายถึงความมั่นใจว่าตนมีทักษะต่างๆ เพียงพอที่จะช่วยให้ตนบรรลุผลตามเป้าหมายได้

หากครูช่วยชี้ให้ นศ. ใช้ efficacy expectancies หรือ learning skills ที่เหมาะสมต่อการเรียนวิชานั้น  ก็จะเป็นกำลังใจให้เกิดความ “ฮึดสู้” ได้


มุมมองต่อสภาพแวดล้อมมีผลต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างการให้คุณค่า และความเชื่อมั่นว่าบรรลุได้

สรุปอย่างง่ายที่สุด  แรงจูงใจต่อการเรียน เกิดจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ๓ ปัจจัยของ นศ.  คือ (๑) เป้าหมาย  (๒) ความเชื่อมั่นว่าเรียนวิชานั้นได้สำเร็จ  และ (๓) มุมมองต่อสภาพแวดล้อมว่าเอื้อให้ตนเรียนได้สำเร็จ

ย้ำนะครับว่า เรื่องสภาพแวดล้อมนั้น จุดสำคัญอยู่ที่ว่า นศ. มีมุมมองต่อสภาพแวดล้อมอย่างไร  ไม่ใช่ตัวสิ่งแวดล้อมโดยตรง  นศ. ในชั้นส่วนใหญ่อาจมองว่า สิ่งแวดล้อมให้ชั้นเรียนดีมาก ช่วยสนับสนุนการเรียนของตนอย่างดีเยี่ยม  แต่ นศ. บางคนอาจมีมุมมองเป็นลบ  เช่นคิดว่าตนน่าจะสอบไม่ผ่าน เพราะครูคนนี้ไม่ชอบ นศ. ผู้ชายที่ตัวดำ  หรือคิดว่า ในชั้นเรียนมีแต่คนเรียนเก่งทั้งนั้น เวลาครูตัดเกรดเราก็จะเป็นคนคะแนนโหล่ สอบตกแน่ๆ  เป็นต้น


ยุทธศาสตร์ในการกำหนดคุณค่า

ต่อไปนี้เป็นเทคนิคที่ครูสามารถใช้ส่งเสริมให้ศิษย์มองเห็นคุณค่าของวิชาที่ตนสอน


เชื่อมโยงสาระเข้ากับความสนใจของ นศ.

จะเห็นว่า ครูที่ดีต้องเอา นศ. เป็นตัวตั้ง  ต้องเข้าใจความสนใจของ นศ. แต่ละคน  และคอยชี้ให้เห็นว่าการเรียนวิชานั้น ในตอนนั้นๆ เชื่อมโยงกับความสนใจของ นศ. อย่างไร

 


มอบงานที่สอดคล้องกับโลกแห่งชีวิตจริง

ครูต้องหาทางต่างๆ ที่จะช่วยให้ นศ. เห็นว่าวิชาที่ครูสอน มีความเชื่อมโยงกับชีวิตจริงอย่างไร   วิธีหนึ่งทำได้โดยให้ทำโครงงาน (project)  หรือกรณีศึกษา (case studies) ที่เป็นเรื่องจริง  หรือให้ไปฝึกงานหรือสหกิจศึกษา ณ สถานที่ทำงานจริง

 


แสดงความสอดคล้องกับวิชาการในปัจจุบันของ นศ.

นศ. มักตั้งข้อสงสัยว่า เรียนวิชานั้นไปทำไม  ในเมื่อมันไม่เกี่ยวกับวิชาชีพที่ตนต้องการเรียน  เช่นนักศึกษาเตรียมแพทย์อาจตั้งคำถามว่าทำไมตนต้องเรียนวิชาสถิติด้วย  ไม่เห็นจะเกี่ยวข้องกับวิชาแพทย์เลย  อาจารย์จึงควรอธิบายคุณค่าของวิชาสถิติ ต่อคนที่จะเรียนแพทย์ว่า มันเป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนวิชาเวชสถิติ  ซึ่งแพทย์จะต้องใช้ตลอดชีวิต


แสดงให้เห็นว่าทักษะระดับสูงมีความหมายต่อวิชาชีพในอนาคตของ นศ. อย่างไรบ้าง

ที่จริงตัวอย่างในตอนที่แล้ว ช่วยอธิบายความหมายของตอนนี้ได้ด้วย

 


ตรวจหา และให้รางวัลแก่ผลงานที่ครูให้คุณค่า

ครูต้องหมั่นตรวจหาพฤติกรรม และผลงานที่ครูให้คุณค่า  แล้วให้คะแนนและให้คำชมอย่างชัดเจน  ตัวอย่างเช่น หากครูต้องการให้ นศ. ฝึกการทำงานเป็นทีม  เมื่อครูสังเกตเห็น นศ. กลุ่มใดทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็ง ครูต้องให้คำชม  โดยชมในชั้นเรียน และให้คำอธิบายต่อชั้นเรียนว่าครูสังเกตเห็นลักษณะการทำงานเป็นทีมที่ดีอย่างไร ใน นศ. กลุ่มนั้น   และครูคิดว่า นศ. ที่มีทักษะเช่นนี้ จะมีผลดีต่อชีวิตในอนาคตอย่างไร

 


แสดงความกระตือรือร้น และการเห็นคุณค่า ของครู ต่อวิชานั้นๆ

การแสดงอย่างจริงใจ และแจ้งชัด ว่าครูมีความกระตือรือร้น  มีพลังของความรักเห็นคุณค่าของวิชานั้นสูงยิ่ง  จะเป็นคล้ายๆ โรคติดต่อ ให้ นศ. รู้สึกพิศวงต่อวิชานั้น  เกิดความสนใจ และเห็นคุณค่าของวิชานั้น ตามไปด้วย

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ธ.ค. ๕๕

 

พระราชดำรัสในหลวง “ชีวิตมนุษย์เรานี่ อิ่มเดียว หลับเดียวเท่า

พิมพ์ PDF

 

คำว่าอิ่มเดียวหลับเดียวนั้น มาจากพระพุทธพจน์ ที่ทรงให้ตัดความโลภ เพื่อให้ ชีวิตเป็นสุข ให้รู้จักคำว่าพอ เพราะมนุษย์เรานั้นจะกินได้มากเท่าใด ก็ไม่เกินอิ่มของตน พออิ่มแล้วก็เท่านั้นแหละ อะไรก็ไม่วิเศษอีกแล้ว การนอนก็เช่นกัน จะนอนนานแค่ไหนก็แค่อิ่มนอนของตัวเองเท่านั้น มนุษย์เรานั้นวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะไม่รู้จักอิ่ม ได้มาอิ่มแล้วก็ยังอยากได้อีก

พระราชดำรัสในหลวง “ชีวิตมนุษย์เรานี่ อิ่มเดียว หลับเดียวเท่านั้น”

อิ่มเดียว หลับเดียว ข้าพเจ้าจะนำท่านย้อนหลังกลับไปเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วมา ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ใหม่ๆ ทรงโปรดการทรงภูษาเป็นสนับเพลาสั้น (กางเกงขาสั้น) ในยามดึก เวรยามรอบพระราชฐานที่ประทับ ต่างทำหน้าที่กัน ตามจุดต่างๆ ไม่มีบกพร่อง ไม่มีการละทิ้งหน้าที่ ไม่มีการหยอกล้อเฮฮา ส่งเสียงอึกทึกหรือเล่นหัวกัน เพราะต่างรู้หน้าที่ของตนว่ากำลังถวายอารักขาแลtถวายความปลอดภัย แด่องค์พระประมุขของชาติ จอมคนของปวงชนชาวไทย แม้จะมิได้ทรงเสด็จออกมาทอดพระเนตร แต่ทุกคนก็รู้หน้าที่กันเป็นอย่างดี ยิ่งดึกอากาศยิ่งหนาว ลมพัดกรูเกรียวเสียงน้ำค้างตก ใครจะนึกบ้างเล่าว่าพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวจะทรงเสด็จลงมา

ทรงพระราชดำเนินไปรเวท (เดินเล่น) บางครั้งทรงเสด็จพระราชดำเนินมาเงียบๆ แล้วก็มีพระราชดำรัสทักทายแก่ทหารมหาดเล็กที่ถวายเวรยาม และนายทหารราชองครักษ์เวร ประดุจน้ำทิพย์หยาดลงชโลมดวงใจของผู้ที่ทำการอยู่เวรยามให้ได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณว่า

ทรงเป็นห่วงผู้ที่มาอยู่เวรยามด้วยความจงรักภักดี แม้เวลาจะดึกดื่นแล้วก็ยังคงอยู่ในหน้าที่ด้วยอาการสงบที่เป็นการถวายชีวิตเป็นราชพลี... ตอนนั้น ทรงเสด็จพระราชดำเนินผ่านหน้าข้าพเจ้า ซึ่งกำลังหมอบกราบด้วยความเคารพอย่างสุดชีวิต ทรงหยุดพระราชดำเนินแล้วมีพระราชดำรัสเรียกชื่อของข้าพเจ้า

จากนั้นทรงพระราชดำรัสต่อไปว่า“ชีวิตมนุษย์เรานี่อิ่มเดียวหลับเดียวเท่านั้น” ทรงเสด็จพระราช ดำเนินผ่านไปจนลับพระองค์

 

ข้าพเจ้าทบทวนพระราชดำรัสจนขึ้นใจ นึกไม่ออกว่าทรงหมายความว่าอย่างไร จนรุ่งเช้าออกเวรแล้วจึงได้กลับบ้าน อีกสองสามวันต่อมาได้มีโอกาสเข้าไปคุยธรรมะกับพระที่วัดเทพธิดา จึงได้เอ่ยถามท่านมหาผู้มีเปรียญเป็นดีกรีว่า“ท่านมหาขอรับ

คำว่าอิ่มเดียวหลับเดียวนี่ หมายความว่า อย่างไรขอรับ”

ท่านมหาขมวดคิ้วแล้วย้อนถามผมด้วยความฉงนฉงาย ทำให้ผมยิ่งงงเข้าไปอีกว่า

“โยมเฉลิมศักดิ์ไปเอาคำนี้มาจากไหนกันล่ะ” ข้าพเจ้ามิได้บอกท่านตรงๆ ในที่สุดท่านก็ได้ตอบปัญหาให้ผมได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่า…..

 

โยมเฉลิมศักดิ์คำนี้น่ะ ผู้ที่ได้กล่าวถึงนี้เป็นผู้มีความรู้ในพระพุทธพจน์อันมีความหมายยาวให้ย่นย่อ เข้าใจได้ง่ายอีกด้วย คำว่าอิ่มเดียวหลับเดียวนั้น มาจากพระพุทธพจน์ ที่ทรงให้ตัดความโลภ เพื่อให้ ชีวิตเป็นสุข ให้รู้จักคำว่าพอ เพราะมนุษย์เรานั้นจะกินได้มากเท่าใด ก็ไม่เกินอิ่มของตน พออิ่มแล้วก็เท่านั้นแหละ อะไรก็ไม่วิเศษอีกแล้ว การนอนก็เช่นกัน จะนอนนานแค่ไหนก็แค่อิ่มนอนของตัวเองเท่านั้น มนุษย์เรานั้นวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้ ก็เพราะไม่รู้จักอิ่ม ได้มาอิ่มแล้วก็ยังอยากได้อีก

นอนอิ่มแล้วก็อยากนอนอีกอยาก ได้ให้มันมากขึ้นไปอีก ถ้าคนเรายึดในหลักว่าอิ่มเดียวหลับเดียว โลกก็จะเป็นสุข ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดี และแสวงหาจนทำให้เดือดร้อนกันไปทั่ว คนเรานะโยม จะบริโภคอาหารอันอิ่มเอมโอชะสักเท่าใดก็อิ่มเดียว กินข้าวคลุก น้ำปลา หรือกินอาหารจีนรสเลิศชามละเป็นพันบาท ก็อิ่มเดียวแค่อิ่มเท่านั้น กินเข้าไปไม่ได้แล้ว จะนอนบนที่นอนยัดนุ่นรองด้วยสปริง อยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำ นอนในสลัมหรือ นอนในคฤหาสน์ ก็แค่นอนหลับอิ่มเดียวเท่านั้น เต็มอิ่มแล้วก็ต้องลุกขึ้นมา ชีวิตของมนุษย์ทุกคน ก็เท่าเทียมกันด้วยอิ่มเดียวและหลับเดียวนี่แหละ



ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน



อ่านพบมาจากเฟซบุ๊คค่ะ ขอขอบพระคุณผู้นำมาโพสต์

บทความนี้คัดลอกมาจาก บันทึกของ "กัลยาณมิตรแห่งชีวิต ของคุณจริยา ไวศยารัทธ์" ใน http://www.gotoknow.org/posts/518206


 

แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 02 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 13:52 น.
 

ทักษะของครูยุคศตวรรษที่ ๒๑ โดย นาย ชวลิต ลุงศรี

พิมพ์ PDF

ครูยุคใหม่ต้องมีทักษะที่เยี่ยมยอด  ต้องตามให้ทันเทคโนโลยี  ที่มีคนให้ข้อคิดว่า  เพียงแค่คุณกระพริบตา เทคโนโลยีก็ติดเครื่องยนต์เจ็ตล่วงหน้าคุณไปแล้ว  ดังนั้น  แล้วจะตามมันได้อย่างไร

ในทัศนะของผม  ถ้าจะตามแบบวัตถุนิยมอย่างไรก็ตามไม่ทัน  ทางเดียวที่จะตามมันทันและจะล้ำหน้ามัน  ครูต้องอาศัย "จิตบุญนิยม"  ครูต้องมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ และนำเอาคุณธรรมของพระพุทธเจ้ามาใช้ให้ได้

ยกตัวอย่าง ที่รัฐบาลของท่านนายกหญิงคนแรกของประเทศไทย  นำ Tablet แจกเด็กนักเรียน ชั้น ป.๑  ในฐานะที่เป็นครูไม่ได้ปฏิเสธเทคโนโลยีหรอกครับ  แต่  จิตของเด็กหากไปผูกกับเทคโนโลยีตั้งแต่เริ่มแรกอย่างนี้  ต่อไปจะเป็นอย่างไร  หนังสืออ่านอยู่ในเจ้าเทคโนโลยี ชนิดนี้หมดเลย  มีหนึ่งเหมือนได้สิบ  ประหยัดใช่ไหมและจริงไหม???????????? มีคนคิดบ้างหรือยัง (โดยเฉพาะรัฐบาล)  ทราบไหมว่าตอนนี้เด็กวัยเรียนติดเทคโนโลยีไม่น้อย และอายุน้อยลงทุกที หรือว่ายิ่งดีจะได้รายได้จากการปลูกฝังในลักษณะนี้  งานนี้ก็ไม่พ้นที่ "ครู" จะต้องใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์  สร้างเสริมปัญญาให้เด็ก และบอกว่า "เป็นงานหนัก"  ที่ยากจะ "เอาอยู่"

ในยุคที่โลกเข้าสู่ภาวะวัตถุนิยมครองโลกอย่างนี้  พ่อแม่ของเด็กนักเรียนประสบกับปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ  ครอบครัว  สังคม  มีลูกก็เหมือนไม่มี  พ่อแม่อยู่ที่  ลูกๆอยู่อีกที่  บางทีครอบครัวแตกแยก เด็กยิ่งเคว้งคว้าง ไม่ต้องพูดถึงว่าขวัญจะกระเจิงไปถึงไหน  เด็กมาโรงเรียนแบบว่าไม่ได้เอาจิตใจมาด้วย  หากครูใช้การสังเกต  การรับรู้ การสื่อสารที่รวดเร็ว (ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีหรูเริดหรอก)  ใช้ "ความรักธรรมดาๆ"ของครูนี่แหละ  คิดว่า น่าจะ "ปลอบขวัญ" ลูกศิษย์ให้ชุ่มชื่นได้

ขอยกอีกตัวอย่าง  อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆของหลายๆคน  ในระหว่างการสอน สังเกตเห็นรอยด่างที่ต้นคอของนักเรียนหญิงชั้น ป.๕  คนหนึ่ง  เธอเป็นเด็กเรียบร้อย เรียนอยู่ในเกณฑ์ดี หลังจบการสอนในชั่วโมงจึงได้พูดคุยถึงเรื่องนี้ และบอกเธอว่ารอยด่างที่ต้นคอนั่นน่าจะเป็นเกลื้อน  และอาจจะเกิดจากสาเหตุใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ร่วมกับผู้อื่น  เด็กบอกว่า ทั้งบ้าน ๕ - ๖ คน มีผ้าเช็ดตัวและใช้ผ้าเช็ดตัวผืนเดียวกัน  ครูฟังถึงกับอึ้ง  จึงตัดสินใจเอาผ้าเช็ดตัวที่ซื้อมาหวังว่าจะทำเป็นของขวัญจับสลากกับนักเรียนชั้นป. ๖ (เป็นครูประจำชั้น ป. ๖) ในวันขึ้นปีใหม่ให้เด็กนักเรียนคนนี้ไป  ตอนแรกเธออิดออดจะไม่รับ ครูบอกว่าไม่ต้องเกรงใจ ครูเต็มใจให้ เธอจึงไหว้และรับผ้าขนหนูไป

ทักษะของครูในยุคนี้ ไม่แน่ใจว่า  จะเจริญเท่า ทักษะเท่าครูยุคเก่าๆ หรือไม่  หรือว่าจะมีเพียงทักษะที่ทันสมัยเท่านั้น

 

UKnow ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษา

พิมพ์ PDF

เรียนท่านสมาชิก เวปไซด์ ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (www.thaiihdc.org)  และ มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ทุกท่าน

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ได้รับความอนุเคราะห์จาก รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งปัญญา ให้เกียรติมูลนิธิเข้าร่วมเป็นเครือข่ายและใช้โจทย์ของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์เครื่องมือ โดยการบูรณาการวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษานับตั้งแต่ การสกัดความรู้  การแทนความรู้เพื่อนำไปสู่การประมวลผลความรู้ใหม่ รวมทั้งการหาเหตุผล การค้นหาและติดตามความรู้ การเชื่อมโยงความรู้ การแสดงผลความรู้แบบเชื่อมโยง ระบบผู้เชี่ยวชาญและระบบถามตอบอัตโนมัต

การเข้าร่วมเป็นเครื่องข่ายครั้งนี้จะทำให้ มูลนิธิศูนย์บูรราการพัฒนามนุษย์ โดยมีเวปไซด์ www.thaiihdc.org เป็นเครื่องมือให้สมาชิกของมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ และผู้เข้ามาเยี่ยมเยียนเวปไซด์ได้ประโยชน์ในการค้นหาความรู้ได้มากขึ้น เป็น One Stop Services

โปรดศึกษารายละเอียดได้จากข้อมูลเบื้องล่าง

 

ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษาเพื่อพัฒนาสังคมแห่งปัญญา U-Know Center : The Advanced Research Center of Unified Knowledge and Language Engineering for Social Intelligence Building จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552

วิสัยทัศน์

เป็นศูนย์ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เพื่อเป็นหน่วยงานที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคนิคที่เกิดจากการบูรณาการวิศวกรรมความรู้ร่วมกับวิศวกรรมภาษา เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการสะสมและอนุรักษ์ความรู้สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งพัฒนาซอฟต์แวร์เครื่องมือในการให้บริการความรู้เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งความรู้ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง

พันธกิจ

1.วิจัยและพัฒนา เทคนิควิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษาเชิงบูรณาการ (The Unified Knowledge Engineering and Language Engineering) ร่วมกับเนคเทค และเครือข่ายสถาบันวิจัยพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการสะสมและอนุรักษ์ความรู้ รวมทั้งการให้บริการความรู้

2.ถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ความรู้ (Knowledge Ecosystem) ร่วมกับเจ้าของความรู้และผู้มีส่วนได้เสีย (Stake Holders) นับตั้งแต่ผู้ใช้ความรู้ ผู้ผ่องถ่ายความรู้ และผู้ให้บริการความรู้ เพื่อสร้างสังคมแห่งปัญญา ( Intelligent Society)

3.ร่วมพัฒนาและสร้างบุคลากรวิจัยด้านวิศวกรรมความรู้ บริการ และจัดการความรู้ (Knowledge Engineering,Services and Management) โดยใช้โจทย์จริงจากผู้ต้องการใช้งาน

4.ให้บริการและเป็นที่ปรึกษา ด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการความรู้ด้านวิศวกรรมความรู้

วัตถุประสงค์

1.ด้านเทคโนโลยีและการสร้างองค์ความรู้ใหม่

เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและซิฟต์แวร์เครื่องมือ โดยบูรณาการวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษานับตั้งแต่ การสกัดความรู้ การแทนความรู้เพื่อนำไปสู่การประมวลผลความรู้ใหม่ รวมทั้งการหาเหตุและผล การค้นหา  และติดตามความรู้  การเชื่อมโยงความรู้ การแสดงผลความรู้แบบเชื่อมโยง ระบบผู้เชี่ยวชาญ และระบบถามตอบอัตโนมัติ

 

2.ด้านการนำเทคโนโลยีสู่การใช้งานจริงด้วยกระบวนการสร้างสาระความรู้และให้บริการ

เพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์ความรู้แบบมีส่วนร่วม โดยใช้เครือข่ายสารสนเทศและเทคโนโลยีโมบาย เพื่อให้เจ้าของความรู้ ประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย  จากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่างๆ ของกระทรวงต่างๆนำเข้าความรู้ กำกับความรู้ และบำรุงรักษาความรู้

เพื่อพัฒนาเครือข่ายความรู้ Cyberbrain ด้วยการเชื่อมโยงแบบกริด (Knowledge grid) โดยใช้ Meta data ที่เหมาะสมกับสื่อและชนิดความรู้

เพื่อพัฒนาระบบและกระบวนการถ่ายทอดความรู้และการให้บริการความรู้แบบ ณ. จุดเดียว (One Stop Service) และแบบเฉพาะตัว (Personalized Service)

เพื่อนำผลการวิจัยและพัฒนาไปใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมและพาณิชย์

3.ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและเครือข่ายวิจัย

เพื่อพัฒนาวิศวกรความรู้ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก  โดยใช้โจทย์วิจัยจากผู้ใช้และประเมินผลโดยผู้ใช้

เพื่อถ่ายทอดความรู้แบบ Training for the Trainer โดยใช้โครงสร้างและเครือข่ายที่ปฎิบัติงานอยู่ของกระทรวง/กรมที่มีอยู่เช่น ศูนย์เรียนรู้ องค์การบริหารส่วนตำบล และวิทยาลัยเกษตรกรรม

เพื่อสร้างความร่วมมือในการทำวิจัยร่วมระหว่างหน่วยงานหรือสถาบัน รวมทั้งแรกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน

เพื่อคิดค้นและเสริมสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆจากผลการวิจัยและพัฒนาและนำไปถ่ายทอดความรู้สู่สังคม

สถานที่ทำงาน

อาคาร 15 ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทร 02-9428555 ต่อ 1408,1438 โทรสาร 02-5790358

ผู้อำนวยการศูนย์

รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล

 

 

 


หน้า 514 จาก 559
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5614
Content : 3057
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8661503

facebook

Twitter


บทความเก่า