Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

ชีวิตที่พอเพียง : 1785a. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖

พิมพ์ PDF

ในสมัย ร. ๖ การปรนนิบัติพัดวีพระมหากษัตริย์ แทนที่จะเป็นของผู้หญิง ที่เรียกกันว่า "นางใน" ตามปรกติของทุกรัชกาล กลับตกแก่มหาดเล็กเด็กชาย ที่หนังสือเล่มนี้เรียกว่า "นายใน"

 

ชีวิตที่พอเพียง  : 1785a. “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖

นี่คือหนังสือเล่มใหม่ของสำนักพิมพ์มติชน ชื่อ นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖ที่เขียนจากผลงานวิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เป็นเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ที่เป็นหนังสือโปรดของผม  ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์  เพื่อรู้เรื่องราวเก่าๆ เอาไว้สอนใจ  และเอาไว้ตีความว่าคนอื่นเขามองเรื่องในประวัติศาสตร์อย่างไร  ผมเป็นคนอ่านประวัติศาสตร์แบบตีความมาตั้งแต่เด็กๆ  คือไม่ได้อ่านเอาไว้เชื่อ แต่อ่านแล้วตีความ  และตอนนี้ผมคิดว่า  หลายเรื่องผมตีความอย่างหนึ่งในสมัยหนุ่มๆ  แต่ตอนนี้ตีความต่างออกไป

แก่แล้ว  อะไรๆ มันเป็นสมมติไปหมด  ไม่มองเป็นสิ่งควรยึดมั่นถือมั่น  คือมองได้หลายมุม

มุมหนึ่งคือศิลปะการเป็นผู้นำ คือพระมหากษัตริย์ ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราช  ที่หนังสือเล่มนี้เขียนแบบขัดแย้งกันเอง  คือตอนต้นเขียนว่า ร. ขึ้นครองราชย์ในสมัยที่บ้านเมืองมีความมั่นคง  แต่ตอนท้ายกลับเขียนว่าราชบัลลังก์ของ ร. ๖ ไม่มั่นคงตั้งแต่เริ่มรัชกาล (น. ๒๖๗)  ซึ่งผมมองว่าในตำแหน่งเช่นนั้น  ความมั่นคงแบบนอนใจ มองสิ่งต่างๆ ตามใจตนเอง คือความไม่มั่นคง

คนเป็นผู้นำต้องเข้าใจ และเห็นใจคนอื่น  และในขณะเดียวกัน ก็ต้องมองเห็น “ภาพใหญ่”

ผมมองว่า ในสมัย ร. ๖ (ซึ่งก็เหมือนยุคนี้) เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน  ที่มีปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมาก   ผู้นำต้อง oversee และสร้าง harmony ระหว่างปัจจัยเหล่านั้น

เรื่องราวของ “นายใน” ในหนังสือ ช่วยผมก็ได้เข้าใจสภาพสังคมยุควิกตอเรียนในอังกฤษ  และเข้าใจพระสุขภาพพลานามัยของ ร. ๖ ดีขึ้นมาก  น่าเสียดายที่ไม่ได้มีการผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อนที่หน้าท้อง (พระนาภี) ที่เป็นโรคแทรกซ้อนจากการผ่าตัดของพระองค์  ทำให้พระชนมายุสั้น

ผู้เขียนหนังสืออ่านหนังสืออ้างอิงมากมาย  แต่เป็นเอกสารชั้นรอง คือมักจะเล่าจากความจำของคนที่เกี่ยวข้อง  ผมแปลกใจที่เราไม่มี archive ของพระมหากษัตริย์ให้ค้นคว้าข้อมูลชั้นต้น  แต่วิธีคิดของผมอาจผิดก็ได้ เพราะผู้วิจัยสนใจ “นายใน” เป็นหลัก  ไม่ใช่ ร. ๖ เป็นหลัก   และคล้ายกับว่าต้องการชี้ให้เห็นว่า  สมัย ร. ๖ เป็นยุคที่แตกต่างจากพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ ในเรื่องเพศสภาพ  ซึ่งมีผลต่อการเมืองภายในประเทศอย่างมาก   และข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจจะไม่มีใน archive ของพระมหากษัตริย์

เราได้ทราบเรื่องของ “นายใน” ท่านหนึ่ง ที่มีคุณูปการต่อบ้านเมืองอย่างยิ่ง คือ มล. ปิ่น มาลากุล ที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำหน้าที่สำคัญตั้งแต่อายุ ๑๕ ปี เท่านั้น   เขานำภาพของท่านมาขึ้นปกที่เดียว

เวลาอ่านหนังสือ คำคิยมหรือคำนำ มีความหมายอย่างยิ่งในด้านช่วยให้เราอ่านแตกยิ่งขึ้น  ในหนังสือเล่มนี้ คำนำเสนอทั้งสองช่วยผมมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำนำเสนอของ ดร. ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่ชี้ประเด็นที่ผมไม่มีความรู้ได้อย่างลึกซึ้ง  ทำให้ผมได้เห็นว่าในโลกนี้มีความรู้ที่ผมเข้าไม่ถึงอีกมากมายนัก

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะสำคัญยิ่งต่อหลักการเลี้ยงดู ลูกหลานของ “ชนชั้นนำ” คือการฝึก emotional intelligence ตั้งแต่เด็ก  ยิ่งเป็นลูกของคนมีตำแหน่งใหญ่โต ยิ่งต้องฝึกอย่างจริงจัง  มิฉนั้นเด็กจะถูกตามใจจนเหลิง  เป็นข้อด้อยติดตัวไปจนเป็นผู้ใหญ่ ตลอดชีวิต

วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๕๖

 

 

คู่กรรม : สดใสน้ำ ตาคลอ

พิมพ์ PDF

แนะนำภาพยนต์ โดย วาทิน ศาสนต์ สันติ

"คู่กรรม"

 

"สงครามทำให้เขาได้พบกัน และสงครามก็ได้พรากเขาไปจากกัน"

เรื่องย่อคงไม่จำเป็นต้องเล่า เพราะเชื่อว่าแฟน ทมยันตี หรือคนที่ดูคู่กรรมมาแล้วหลายต่อหลายฉบับต้องรู้ตอนจบของเรื่อง ที่เศร้าไม่สมหวังตามแบบฉบับนามปากกา ทมยันตี ดังนั้น คู่กรรม ฉบับ พ.ศ. 2556 จึงต้องทะลายกำแพงภาพจำของเดิม ๆ เช่น วรุฒ, เบิร์ด ออกไปให้ได้ ซึ่งฉบับ 2556 นี้ถือว่าตีโจทย์และทำลายกำแพงภาพจำจนแตก นับตั้งแต่การดำเนินเรื่องแบบกระชับเพราะอาศัยภาพจำเดิม ๆ ที่คนไทยรู้เรื่องแล้ว จึงตัดฉากเล่าลัดอย่างรวดเร็ว แล้วไปเน้นตรงที่ผู้กำกับอยากจะสื่อ

เปิดเรื่องมาผมชอบมาก เป็นการเล่าถึงสาเหตุการมาของนายทหารช่างญี่ปุ่นโกโบริ แล้วเปิดเรื่องเป็นภาพการ์ตูน โกโบริถูกเปลี่ยนบุคลิกให้ดูสดใสอ่อนโยน แต่พอทำหน้าที่ทหารก็เข้มแข็ง ส่วนอังศุมาริน ค่อนข้างเหมือนแบบฉบับหนังสือมาก โดยเฉพาะการเก็บงำความรักของเธอที่มีต่อโกโบริ ที่เธอแกล้งทำเป็นไม่รัก ทั้งที่ใจรักมาก และที่ชอบคือ เธอแทบไม่เคยพูดดีกับโกโบริเลย นับว่าเป็นการเคารพวรรณกรรมของผู้กำกับ ตอนจบผูกเรื่องใหม่นิดหน่อย แต่ถือว่าไม่ขัดตาไม่ขัดใจ และตอบโจทย์ของเรื่องได้อย่างดี

 

ที่ต้องชมอีกก็คือเพลงประกอบเพราะ เปิดได้ถูกจังหวะถูกเวลา เรียกอารมณ์ของผู้ชมได้ดีแบบสุด ๆ ไปเลย

แม้จะดำเนินเรื่องไม่สนุก (เพราะอ่านนวนิยายมา 3 รอบแล้ว และดูมาหลายฉบับแล้ว) แต่คู่กรรมฉบับของ "เรียว-กิตติกร เลียวศิริกุล" ที่นำแสดงโดย "ณเดชน์ คูกิมิยะ" เป็น โกโบริ กับ "อรเณศ ดีคาบาเลส" เป็น อังศุมาลิน ก็ดำเนินเรื่องที่มีบรรยากาศดูสดใส อีกทั่งหลายจังหวะทำให้ผมน้ำตาซึมด้วยความอิ่มเอม

ผู้กำกับทำการบ้านมาดี โดยเฉพาะการศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และบรรยากาศของบ้านเมือง การแต่งกายสมัยสงครามแบบ รัฐนิยมจอมพล ป. โดยเฉพาะฉากบ้านเมืองย่านสะพานพุธฯ และการทิ้งระเบิดบนสะพาน

ในด้านนักแสดง อรเณศ เล่นได้ดี ที่ชอบคือการเก็บซ้อมอารมณ์ไว้ในสีหน้า แม้ออกจะดูกระด้างไปบ้างก็เถอะ ส่วน ณเดชน์ เล่นได้ดีเกินคาด

แม้จะรู้เรื่องราวมาหมดแล้วก็ตาม คู่กรรมฉบับนี้ก็ยังสามารถเรียกน้ำตาในตอนจบใด้อย่างดี นับว่าเป็นหนังที่ทำให้ผมเสียน้ำตาและเซ็ดน้ำตาอย่างไม่อาย ซึ่งห่างหายจากผมไปหลายปี

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532406

 

สงกรานต์ หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน

พิมพ์ PDF

สงกรานต์ หนึ่งในพระราชพิธีสิบสองเดือน

 

วาทิน ศานติ์ สันติ : เรียบเรียง ๔ เมษายน ๒๕๕๖

ภาพประกอบ พระราชพิธีสรงมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีสงกรานต์

ที่มา : ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร (๒๕๔๖ : ๑๑๑)

 

 



พระราชพิธีทวาทศมาส หรือ ที่ประชาชนทั่วไปรู้จักกันในนามที่ว่า พระราชพิธีสิบสองเดือน เป็นพระราชกรณียกิจของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับเทพเจ้าที่จะต้องจัดทำขึ้นเป็นประจำในแต่ละเดือนเพื่อจะคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความมั่นคงของบ้านเมือง และเพื่อแสดงความเป็นพระเจ้าแผ่นดินหรือพระเจ้าจักรพรรดิราช เชื่อกันว่า หากมีการขาดตกบกพร่องในการประกอบพระราชพิธีดังกล่าวจะก่อให้เกิดอันตรายแก่บ้านเมือง ดังนั้นจึงมีการประกอบพระราชพิธีสิบสองเดือนสืบต่อกันเป็นเวลายาวนาน ความสำคัญของการปฏิบัติพระราชพิธีสิบสองเดือนในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั้น ก็เพื่อแผ่พระเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่ประจักษ์ เช่นการเสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินทางสถลมารถและทางชลมารถนั้นจะมีขบวนใหญ่โต ตลอดจนเป็นการเตรียมความพรักพร้อมด้านกำลังและอาวุธในคราวที่บ้านเมืองจะต้องรบพุ่งเพื่อรักษาเอกราชจากอริราชศัตรู และ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางจิตใจให้กับสังคมในยุคนั้น ๆ ด้วย 

ประเพณีสงกรานต์ คาดว่ามีมานานนับแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี แต่หลักฐานปรากฏเด่นชัดที่สุดคือ หนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

พระราชพิธีสิบสองเดือน นับว่าเป็นข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพระราชพิธีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ในประเทศไทย และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาในสมัยต่อมา อีกทั้งยังได้รับการอ้างอิงจากงานเขียนมากมาย พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีชวด พุทธศักราช ๒๔๓๑ เนื่องจากกรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระราชาธิบาย เรื่องพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งทำประจำพระนคร พระราชนิพนธ์เรื่องนี้ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ว่าเป็นยอดของความเรียงอธิบาย ให้ข้อมูลเรื่องการพระราชพิธีสิบสองเดือนโดยละเอียด อีกทั้งทรงวินิจฉัยที่มาของการพระราชพิธีและการแก้ไขเปลี่ยนของการพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชสมัยของพระองค์

ในพระราชนิพนธ์ได้กล่าวถึงประเพณีสงกรานต์ หรือ พระราชพิธีสงกรานต์โดยย่อดังนี้

พระราชพิธีสงกรานต์เริ่มขึ้นเมื่อวันขึ้นหนึ่งค่ำ เดือนห้า ถือเป็นวันปีใหม่ของไทย พระราชพิธีสงกรานต์แบ่งออกเป็นสามวัน คือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศกตามลำดับ ระหว่างสามวันนี้จะมีการพระราชกุศลก่อพระทรายและการถวายข้าวบิณฑ์ และยังมีพระราชพิธีสรงมุรธาภิเษกในวันสงกรานต์อันเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ ที่พระเจ้าแผ่นดินจะต้องสรงมุรธาภิเษกในวันเถลิงศกเพื่อความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ประกาศให้ข้าราชการและราษฎรทำบุญให้ทานในช่วงเวลาสงกรานต์เหมือนที่เคยทำกันมา แต่ทรงเพิ่มเติมพิธีสังเวยพระสยามเทวาธิราช และการเลี้ยงอาหารข้าราชการ พ่อค้า ชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตลอดจนมิชชันนารีขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในช่วงต้นรัชกาลได้ทรงยกเลิกการเลี้ยงอาหารข้าราชการและพ่อค้าที่รัชกาลที่ ๔ โปรดให้ตั้งขึ้น เนื่องจากผู้เข้าร่วมงานเลี้ยงขอให้เลิกแล้วโปรดให้มีการเลี้ยงปีใหม่เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์ขึ้นมาแทนวันสงกรานต์ นอกจากจะเป็นงานพระราชพิธีแล้วยังเป็นประเพณีของชาวไทยที่สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องแต่ครั้งสุโขทัยเป็นประจำทุกปี

หนังสือประกอบการเขียน

กฎหมายตรา ๓ ดวง เล่ม ๑. แก้ไขปรับปรุงใหม่ ๒๕๔๘. กรุงเทพฯ : สุขภาพใจ. ๒๕๔๘.
จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. พระราชพิธีสิบสองเดือน. พิมพ์ครั้งที่ ๑๓. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา. ๒๕๑๔.
เทพพิทู, ออกญา. (ฌืม กรอเสม). พระราชพิธีทวาทศมาส หรือพระราชพิธีสิบสองเดือนกรุงกัมพูชา ภาค ๑. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ : กรมสารนิเทศ. ๒๕๕๐.
บำราบปีปักษ์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา. โคลงพระราชพิธีทวาทศมาส. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. ๒๕๔๕.
ฉัตรบงกช ศรีวัฒนสาร. “การพระราชพิธีสิบสองเดือนในจิตกรรมฝาผนัง วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร”. สาระนิพนธ์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ บัณฑิตวิทยาลัย. มหาวิทยาลัยศิลปากร. ๒๕๔๖.

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532408

 

 

ชีวิตที่พอเพียง : ๑๗๘๕. เดินเล่นที่พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน

พิมพ์ PDF

เช้าวันวาเลนไทน์ วันที่ ๑๔ ก.พ. ๕๖  ผมไปถึงศิริราชเวลาเพียง ๗.๓๐ น. เพราะรถไม่ติด  ได้โอกาสไปเดินเล่นที่สวนสาธารณะหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อยเดิม  ที่เวลานี้ปรับปรุงเป็น พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน ซึ่งหมายความว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ของศิริราช ในพื้นที่ที่เคยเป็นวังหลัง ของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข  สวนสาธารณะนี้ชื่อว่า สวนเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา

ผมไม่ได้เข้าไปเดินชมภายในพิพิธภัณฑ์  เดาว่าเขาปิดไว้  เพราะยังไม่ได้มีพิธีเปิด  เดิมกำหนดพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เปิดวันที่ ๑ ก.พ. ๕๖ ก็ติดทรงประชวรเสียก่อน  ต้องชลอพิธีเปิดไปก่อน  ผมจึงไปเดินชมบริเวณสวนสาธารณะด้านหน้าที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และด้านข้างที่ติดกับปากคลองบางกอกน้อย   สวยงามร่มรื่นสุดพรรณา

ด้านริมคลองบางกอกน้อย มีแผงประวัติศาสตร์เล่าเรื่องราวของวังหลัง  รวมทั้งเรื่องของสุนทรภู่ ที่ “เกิดวังหลัง”  มีมารดาเป็นพระแม่นม   ฝั่งตรงข้ามมีมัสยิดสวยงาม ผมมาค้นชื่อภายหลัง ทราบว่าชื่อมัสยิดหลวงอันซอริสซุนนะห์

ที่ปากคลองฝั่งตรงกันข้าม มีพื้นที่ว่างกว้างขวาง  ตอนบ่ายวันเดียวกัน ผมพบผมท่านคณบดี ศ. นพ. อุดม คชินทร จึงถามท่านว่าเป็นที่ของใคร  ท่านบอกว่าเป็นของคุณหญิงสุภัทรา สิงหลกะ  ศิริราชกำลังติดต่อขอซื้อเพื่อทำเป็นสวนสาธารณะถวายในหลวง  และทำสะพานคนเดินข้ามติดต่อกัน  โดยได้ปรึกษาขอคำแนะนำจาก ท่าน ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผมบอกว่า ใจตรงกัน

ระหว่างเดินเล่นอยู่นั้น มีเรือทัวร์ มีเสียงไกด์อธิบายเป็นภาษาจีน กว่า ๑๐ ลำ  ไม่เห็นมีที่เสียงพากย์เป็นภาษาอังกฤษเลย  แสดงว่าเวลานี้ทัวร์นักท่องเที่ยวจากจีนกำลังกิจการดี  แต่นักท่องเที่ยวฝรั่งอาจไม่นิยมเส้นทางนี้ก็ได้  เพราะเลยเข้าไปหน่อยเดียวมีวัดศรีสุดาราม  ที่มีรูปหล่อเจ้าแม่กวนอิม และมีรูปปั้นของเจิ้งเหอ หรือซำปอกง ที่คนจีนเคารพนับถือ  เพราะเป็นแม่ทัพเรือจีนที่มีความสามารถสูง  กองเรือเดินสมุทรจีนยิ่งใหญ่กว่ากองเรือฝรั่งมาก  นั่นคือสมัยกรุงศรีอยุธยา  คนจีนนิยมมากราบไหว้เพราะเชื่อว่าท่านศักดิ์สิทธิ์ด้านให้โชคลาภ

ผมเดินอ้อมมาตามริมฝั่งคลองบางกอกน้อย จนมาออกตรงทางเข้าอาคารปิยมหาราชการุณย์


วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.พ. ๕๖



ลานลั่นทม ริมคลองบางกอกน้อย



ถ่ายจากริมคลองบางกอกน้อยไปทางทิศใต้ พิพิธภัณฑ์อยู่ทางขวามือ



แผงเล่าประวัติศาสตร์เรียงรายไปตามริมคลองบางกอกน้อย



พิพิธภัณฑ์อยู่ด้านหน้า อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๐​พรรษาอยู่ด้านหลัง



ศาลาจตุรมุข ภายในประดิษฐานพระรูป ผมไม่ได้เข้าไปกราบว่าเป็นพระรูปใคร



ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา สะพานปิ่นเกล้า



ถ่ายไปทางทิศตะวันตก ด้านขวาคือคลองบางกอกน้อย



มัสยิดหลวงอันซอริสซุนนะห์



ขวามืออาคาร รพ. ศิริราชปิยมหาราชการุณย์

ซ้ายมืออาคารสมเด็จพระศรีสวรินทราฯ


พิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน




คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532203






 

การปฏิรูปการเรียนรู้ ความเห็นของคุณสุภาวดี หาญเมธี

พิมพ์ PDF

เปลี่ยนพื้นฐานปรัชญาการศึกษาไทย จาก “ไม่ไว้ใจคน” ไปสู่ความเชื่อมั่นว่า “ทุกคนพัฒนาสังคมให้ดีได้” จากระบบปิดความคิดเป็นระบบเปิด ยอมรับความแตกต่าง ท้าทายให้ครูกล้าคิด ให้คนกล้าคิด

 

การปฏิรูปการเรียนรู้ ความเห็นของคุณสุภาวดี หาญเมธี

วันที่ ๑ เม.ย. ๕๖ มีการประชุมเรื่อง กระบวนทรรศน์ใหม่ทางการศึกษา ที่ สสค.   ผู้เชิญหารือคือ ศ. นพ. ประเวศ วะสี และคุณเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ แห่ง สสส.  เป้าหมายใหญ่ เพื่อเปลี่ยนสังคมไทยจากสังคมอำนาจ เป็นสังคมเรียนรู้   ผู้ได้รับเชิญเข้าร่วมหารือ ที่สามารถมาร่วมได้ท่านหนึ่งคือ คุณสุภาวดี หาญเมธี ประธานกลุ่มบริษัทรักลูก และประธานโรงเรียนเพลินพัฒนา

ท่านได้เขียนเอกสารให้ความเห็นมา ๖ ข้อ และนำเสนอต่อที่ประชุมจับใจผมมาก  ท่านบอกว่าจะเขียนบทความทำหนังสือกระบวนทรรศน์ใหม่ทางการศึกษา ที่ ศ. นพ. ประเวศ แนะนำให้ สสส. และ สสค. จัดพิมพ์เผยแพร่  แต่ผมเห็นว่า สาระที่ท่านเขียนและอธิบายน่าจะมีการเผยแพร่ให้กว้างขวางหลายทาง  จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ทาง บล็อก นี้

๖ ข้อสำคัญของการปฏิรูปการเรียนรู้ ได้แก่

1.  กระจายอำนาจ

2.  ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้

3.  เนื้อหาความรู้ เรียนรู้โดยบูรณาการกับทักษะ

4.  เปลี่ยนแปลงครู

5.  ระบบ

6.  ทรัพยากร

กระจายอำนาจ

·  เปลี่ยนพื้นฐานปรัชญาการศึกษาไทย จาก “ไม่ไว้ใจคน” ไปสู่ความเชื่อมั่นว่า “ทุกคนพัฒนาสังคมให้ดีได้”  จากระบบปิดความคิดเป็นระบบเปิด  ยอมรับความแตกต่าง  ท้าทายให้ครูกล้าคิด ให้คนกล้าคิด

·  ส่วนกลางกำหนดแกนความรู้หลักเท่านั้น  และกำหนดแนวทางการประเมิน  เปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่กำหยดแนวทางของตนเองได้

·  เปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาการศึกษาหลากหลายแนวทาง  ไม่รวบอำนาจไว้ที่แนวทางเดียว  รวมทั้งเปิดทางแก่การศึกษาทางเลือก

ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้

·  ส่งเสริมศักยภาพที่มีตามธรรมชาติ (Natural Potentials) 8ส อันได้แก่ สงสัย  สังเกต  สัมผัส  สืบค้น  สังเคราะห์  สร้างสรรค์  สรุปผล  และนำเสนอ  เด็กทุกคนมีศักยภาพทั้ง ๘  เมื่อกระตุ้นจะงอกงาม  ต้องมีวิธีกระตุ้นตามระดับพัฒนาการ

·  พัฒนาการเด็ก  ไม่สอนอ่านเขียนเรียนหนักในระดับอนุบาล (ซึ่งเป็นการบั่นทอนสมอง)  ให้เรียนรู้อย่างมีความสุข  ระดับประถมเน้นการค้นหาความสนใจของตนเอง

·  Learning by doing & participating  ได้ทดลองเห็นจริงที่พิพิธภัณฑ์เด็ก  เห็นการเปลี่ยนแปลงของลักษณะนิสัย และทักษะต่างๆ

·  Project-Based Learning

·  เป็นการเรียนที่นักเรียนต้องได้อ่านมาก และเขียนมาก  ลดการสอบปรนัย ลดการเรียนแบบท่องจำ  ลดจำนวนวิชาเรียน

·  การวัดผลไม่อยู่ที่การสอบปลายภาคเป็นสำคัญ  ต้องเป็นการสะสมผลการเรียนรู้ระหว่างภาคอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งครูต้องใส่ใจเด็กเป็นรายบุคคล

เนื้อหาความรู้ เรียนรู้โดยการบูรณาการกับทักษะ

·  7 วิชา (IB) ได้แก่ ภาษาแม่  ภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  มนุษย์และสังคม (ประวัติศาสตร์  ภูมิศาสตร์  เศรษฐศาสตร์)  ศิลปะ  กีฬา  + Theory of Knowledge  เด็ก ม. ปลาย ต้องเรียนเรื่องความรู้  เข้าใจว่าความรู้สำคัญต่อชีวิตตนอย่างไร  รู้วิธี organize ความรู้

ท่านเล่าการเรียน (เข้าใจว่าระดับ ป. ตรี) ในต่างประเทศของลูกสาว  ว่าการเรียนภาษาครูสามารถสอนได้โดยครูไม่รู้ภาษานั้น  โดยครูกำหนดให้เด็กอ่านเลือกหนังสือในประเทศ ที่เขียนในภาษาแม่ของตน ประเภทละ ๔ เล่ม  ได้แก่ กวีนิพนธ์ ๔ เล่ม จากรายการที่มีให้, นวนิยาย ๔ เล่ม, เรื่องสั้น ๔ เล่ม, วรรณกรรมคลาสสิค ๔ เล่ม  และหากชอบหนังสือประเภทใดเป็นพิเศษ ใน ๔ ประเภท ต้องไปหามาอ่านเองอีก ๔ เล่ม

ในนวนิยาย ให้เลือกบุคลิกของตัวบุคคลในเรื่องที่ชอบ  แล้วไปหาตัวบุคคลในนวนิยายเรื่องอื่นที่ตนชอบ นำมาเปรียบเทียบ  และอธิบายว่าทำไมตัวบุคคลนั้นจึงมีบุคลิกเช่นนั้น

ในมหาวิทยาลัยนั้นไม่มีครูที่อ่านภาษาไทยออก และไม่มีคนสอน  แต่เมื่อ นศ. ส่งรายงานการอ่านและตอบโจทย์ ก็ส่งไปใให้นักเขียนตรวจสอบวิธีคิดของ นศ. ว่ามีเหตุผลหรือไม่  โดยไม่สนใจถูกผิดแต่ดูที่เหตุผล  ทำให้การเรียนสนุก  ได้เรียนภาษาแม่ของตนทั้งๆ ที่อยู่ในต่างประเทศ

ผมนำเรื่องที่ท่านเล่าตอนนี้มาลงไว้อย่างละเอียดโดยถอดจากที่ผมบันทุกเสียงไว้  เพราะต้องการให้ครูอาจารย์เห็นวิธีออกแบบการเรียนรู้ที่ถูกต้อง สำหรับยุคปัจจุบัน

·  ชุดความรู้สำคัญ

-  ความรู้เกี่ยวกับโลก

-  ความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

-  ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์และสังคม  : ประชาธิปไตย  สันติภาพ  การยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ ฯลฯ

-  ความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ เศรษฐกิจ การเป็นผู้ประกอบการ

-  ความรู้เกี่ยวกับตนเอง (กาย  ใจ  สังคม  ปัญญา  รากเหง้า)

·  ทักษะสำคัญ

-  ทักษะการคิด  : คิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  คิดสร้างสรรค์  คิดตัดสินใจ

-  ทักษะชีวิต  : การสร้างความสุข  การอยู่ร่วมกับผู้อื่น  การจัดการความขัดแย้ง

-  ทักษะการเรียนรู้  : การอ่าน  ICT + Media Literacy

-  ทักษะการงาน

เปลี่ยนแปลงครู

·  ที่มาของครู  ให้จังหวัดคัดกรองครูใหม่ตามมาตรฐานกลาง  และตามแนวทางที่จังหวัดต้องการ

·  สาขาความรู้ใดๆ สนใจมาเป็นครูได้ถ้ามีใจอยากเป็นครู  โดยมาสอบคัดเลือกและเรียนวิชาครูเพิ่มเติม

·  อบรมครูเก่าที่มีอยู่แล้วให้เป็น facilitator  ซึ่งทำได้ไม่ยาก

·  ครูมีหน้าที่จัดกระบวนการเรียนรู้  ไม่ทำหน้าที่อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนรู้

·  import  : ครูภาษาอังกฤษสำหรับทุกระดับเข้ามาโดยให้สิทธิประโยชน์จูงใจ

ระบบ

·  ยกเลิกการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบ “ต้อนควายเข้าคอก”

·  ทุกห้องเรียนทั้งประเทศต้องมีนักเรียนไม่เกิน ๒๕ คนต่อห้อง

ทรัพยากร

·  ส่งเสริมให้ทุกองค์กร ทั้งธุรกิจ รัฐ ฯลฯ ใส่ข้อมูลความรู้จากการทำงานของตนลงในเว็บไซต์  โดยไม่ต้องใส่ส่วนที่เป็นความลับ ใส่เฉพาะส่วนที่เป็นความรู้พื้นฐาน   และจัดประกวดเว็บไซต์ความรู้ต่อเนื่อง  เป็นการสะสมองค์ความรู้ของสังคม เพื่อการค้นคว้าสำหรับทุกคน

·  จัดระบบส่งเสริม ให้ภาคการผลิตและบริการของสังคม ร่วมจัดการเรียนรู้นอกระบบในสาขาต่างๆ  ยกตัวอย่างอู่ซ่อมรถของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ ร่วมมือกับ กศน. ในการจัดการเรียนรู้  โดย กศน. ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์

·  ใช้สื่อโทรทัศน์ในการรณรงค์ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างจริงจัง

·  ขอความร่วมมือสื่อโทรทัศน์ให้ทำ subtitle ภาษาอังกฤษในรายการต่างๆ เท่าที่จะทำได้

ฟังคุณสุภาวดีแล้ว ผมคิดว่าท่านเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ลึกซึ้งกว่าผมมากมายนัก

วิจารณ์ พานิช

๖ เม.ย. ๕๖

คัดลอกจาก http://www.gotoknow.org/posts/532273

 


หน้า 501 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8741382

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า