Thaiihdc.org

  • เพิ่มขนาดตัวอักษร
  • ขนาดตัวอักษรปกติ
  • สดขนาดตัวอักษร
Thaiihdc.org

บทเรียนจากปี 2540

พิมพ์ PDF

(April 5) "บทเรียนจากปี 40" ช่วงนี้ เมื่อเห็นความคึกคักในส่วนต่างๆ ของเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดอสังหาฯ การใช้จ่ายของประชาชน ทำให้อดนึกย้อนกลับไปถึงช่วงก่อนเกิดวิกฤติปี 40 ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เคยเป็นตัวเรา ที่ได้ห่างหายไปเกือบ 16 ปี กำลังหวนกลับคืนมาอีกรอบ
คนไทยกำลังมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ 

๐ นักลงทุน ลงทุนกันอย่างสนุกสนาน คึกคัก ประเภทหยุดไม่อยู่ ห้ามไม่ฟัง (แม้ตลาดหุ้นจะมี correction แล้ว 2 ครั้งก็ตาม) ยังกล้าลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่ไม่ได้แม้แต่จะรู้ว่า บริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร แพงแล้วแค่ไหน เพียงเพราะเชื่อกันว่า ช่วงนี้ “หุ้นตัวนี้กำลังมา” “เจ้ากำลังเข้า” “ลงแล้วได้เงินแน่” ประเภทจิ้มตัวไหนก็ขึ้น กระทั่งคนที่ไม่เคยเล่นหุ้นมาก่อน ก็ดาหน้ากันเข้ามาขอเปิดบัญชี ขอลิ้มรสความรวยอย่างสบายๆ กับเขาสักครั้ง 

๐ ภาคอสังหาริมทรัพย์ แย่งเปิดโครงการกันไม่เว้นแต่ละวัน จบโครงการหนึ่งก็ไปเริ่มอีกสองโครงการ ทุกอย่างเป็นเงินไปหมด แข่งกันสร้าง แย่งกันซื้อที่ดิน เพราะคิดว่า เดี๋ยวราคาที่ดินก็พุ่งขึ้นไปอีก จนราคาที่ดินในบางจังหวัด เพิ่มมากกว่า 80-90% ในปีที่ผ่านมา ส่วนคอนโด ก็แย่งกันซื้อมาเก็บ บางครอบครัวก็มีกันแล้วหลายห้อง เพราะคิดว่า เดี๋ยวจะไปขายต่อ และราคาคอนโดจะขึ้นไปได้อีก และก็คุ้นๆ เช่นกัน ที่เมื่อมีคนพูดขึ้นว่า “กำลังมีฟองสบู่หรือเปล่า” ก็ปฏิเสธกันเป็นพัลวัน หาเหตุผลมาแย้งว่า ทุกอย่างกำลังไปได้ดี มีความต้องการซื้อจริงๆ 

๐ ผู้บริโภค กล้าจับจ่ายใช้สอย จะไม่ให้กล้าจับจ่ายใช้สอยได้อย่างไร ก็ได้เงินมากันง่ายๆ เช่นนี้ จิ้มหุ้นไปตัวสองตัว ได้เงินเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้าน พอได้เงินมา ก็นำไปบริโภคสิ่งต่างๆ กระเป๋าใบใหม่ เสื้อผ้าใหม่ รถคันใหม่ แบรนด์เนมต่างๆ ทานอาหารหรูๆ ใช้จ่ายเหมือนเงินไม่มีหมด 

๐ บริษัท มั่นใจขึ้นเรื่อยๆ กล้าที่จะลงทุนกันมากขึ้น คิดการใหญ่กันมากขึ้น แม้ช่วงนี้ยังลงทุนอยู่ในกรอบที่ตนสันทัด แต่ในช่วงต่อไป เมื่อทุกอย่างเฟื่องฟูกว่านี้ ก็คงอดไม่ได้ ที่จะขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่โอกาสเปิดขึ้น 

๐ กระทั่งธนาคารเอง แย่งกันปล่อยสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล รถยนต์ บ้าน สินเชื่อธุรกิจ ใหญ่ กลาง เล็ก เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาด และเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจขาขึ้น 

ทุกอย่างเหล่านี้ เราได้ผ่านมาเมื่อ 16-17 ปีที่แล้วทั้งนั้น โดยในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ หลายคนก็เคยรู้สึกกันอย่างนี้มาแล้วทีหนึ่ง ที่คิดว่า “เราทำได้” “ทุกอย่างเป็นไปได้” “อีกไม่นานเราก็จะเป็นเสือตัวที่ห้าของเอเชีย” แข่งขันกันโต แข่งขันกันวิ่งไปข้างหน้า แข่งขันกันทำธุรกิจ อย่างไม่เกรงกลัวอะไร 

ในประเด็นนี้ ถ้ากันพูดตามจริง การที่เรามีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่ดี เพราะเราเสียความมั่นใจกันไปมากในปี 40 ทำให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเดินต่อไปได้อย่างช้าๆ ในช่วงที่ผ่านมา จนคู่แข่งของเรา อย่างมาเลเซีย จีน แซงหน้าเราไปได้ แต่ถ้าเราจะกล้ากันมากขึ้น เราต้องหา “สมดุลที่เหมาะสม” ไม่เชื่อมั่นกันจนมากเกินไป กล้าเกินไป จนเกิดความเสียหายอีกครั้ง 

สำหรับอีกหลายคน สัญญาณความคึกคักเหล่านี้เป็นระฆังเตือนภัยว่า “กระบวนการสะสมความเปราะบางของเศรษฐกิจกำลังเริ่มขึ้นอีกรอบ” และถ้าเราไม่ระวังให้ดี ก็อาจจะจบลงเช่นกับครั้งที่แล้ว ที่ต้องมานั่งล้างเช็ดแผลของเรา เสียเวลาไปกว่า 10-15 ปีกว่าที่จะกลับมาจุดเดิมได้
บทเรียนจากปี 40 คืออะไร

นักเศรษฐศาสตร์ชอบพูดว่า “วิกฤติทุกครั้งจะไม่เหมือนกัน” และประเทศไทยก็เปลี่ยนแปลงตนเอง ในกรอบนโยบายต่างๆ ไปมาก เกินกว่าที่จะกลับย้อนไปเกิดวิกฤติเหมือนปี 40 อีกครั้ง แต่ในความเป็นจริงแล้ว วิกฤติทุกครั้งในประเทศต่างๆ เริ่มเหมือนๆ กัน จากความประมาท ความเชื่อมั่นเกินไปว่า เราทำได้ เราดูแลสถานการณ์ดีแล้ว ปล่อยปละให้ปัญหาและความเปราะบางต่างๆ สะสมตัวขึ้นมาได้ และมั่นใจจนลืมไปว่า ทุกประเทศสามารถเกิดวิกฤติได้ ไม่ว่าจะพัฒนาไปแล้วแค่ไหนก็ตาม กระทั่งสหรัฐ ยุโรปที่ว่าพัฒนาไปไกลเกินกว่าคนอื่นๆ ก็ยังตกอยู่ในภาวะวิกฤติได้เช่นกัน 

ปี 40 ให้บทเรียนหลายอย่างกับเรา ที่เราจะใช้เป็นคาถาคุ้มครองตนเองในช่วงต่อไป

บทเรียนที่ 1 - ต้องไม่ทำอะไรเกินตัว ต้องไม่คึกกับช่วงดีๆ ของเศรษฐกิจเกินไป ครั้งที่แล้วเราคึกคะนองจนเกินไป เพราะยังเป็นเด็กหนุ่มอยู่ เพิ่งได้จัดงานเลี้ยงกับเขาเป็นครั้งแรก ก็เลยสนุกไปหน่อย แต่ครั้งนี้ เราโตขึ้นมาแล้ว เป็นหนุ่มกลางคน เคยมีบทเรียนราคาแพงจากปี 40 มาแล้ว เราก็ต้องรู้จักพยายามยับยั้งชั่งใจ ไม่ทำอะไรเกินตัวไป ซึ่งส่วนนี้ ก็ต้องหวังพึ่งทุกคน ที่จะพยายามรั้งตัวเองไว้ เลือกลงทุน เลือกบริโภค เลือกขยายกิจการแบ่งยั้งๆ เพราะถ้าเราไม่ดูแลตนเอง ก็ยากที่คนอื่นจะมาช่วยเราได้

บทเรียนที่ 2 - ทางการต้องจัดการกับปัญหาแต่เนิ่นๆ อย่ารอจนพิสูจน์ได้ว่า “เป็นฟองสบู่แล้ว” แล้วจึงมาออกมาตรการ ในเรื่องนี้ ทางการจะเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเอกชนรวมไปถึงนักลงทุน ก็พลาดได้เช่นกัน (ต้องไม่คิดว่าเอกชน ถูกเสมอ) เพราะเอกชนยากที่จะห้ามใจตนเองได้ จะห้ามได้อย่างไร ก็กำลังแข่งกันอย่างเมามันอยู่ การจะหยุดแต่เพียงคนเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย ก็ต้องหวังพึ่งทางการว่า จะเป็นกรรมการกลางคอยเป่านกหวีด กำหนดกฎเกณฑ์ สั่งให้ทุกคนชะลอสิ่งต่างๆ ลงมาพร้อมๆ กัน ถ้ากรรมการตั้งอยู่บนความยุติธรรม ทุกคนก็ยอมรับกันได้

ในส่วนนี้ อุปสรรคสำคัญจะมาจากเสียงค้านจากภาคเอกชน ที่มักบอกว่า “ได้ดูข้อมูลแล้ว ยังไม่พบฟองสบู่แม้แต่นิด แล้วจะออกมาตรการทำไม” แต่ถ้าเราจะรอจนพิสูจน์กันได้ชัดๆ ว่า มีฟองสบู่เรียบร้อยในระบบเศรษฐกิจแล้ว ทุกอย่างก็จะสายเกินแก้ รอแต่วันล่มสลาย บทเรียนจากวิกฤติของทุกประเทศในช่วงที่ผ่านมาก็คือ “ถ้าจะทำมาตรการ ก็ต้องทำแต่ช่วงต้น ทำแต่เนิ่นๆ” โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเห็นพฤติกรรมที่ผิดสังเกต เช่น ปกติราคาที่ดินเพิ่ม 10-15% แต่อยู่ๆ ก็เพิ่มเป็น 80-90% ปกติมีคอนโด 10 โครงการต่อปี อยู่ๆ มีเป็น 50-60 โครงการแย่งกันเปิด แย่งกันขาย เมื่อเห็นเช่นนี้ ทางการก็ต้องเร่งคิดว่า จะทำอย่างไรให้เอกชนไม่คึกคะนองเกินไป ทำให้โตได้ ขยายได้ แต่โตอย่างพอประมาณ ยั่งยืน ไม่จบด้วยโศกนาฏกรรม 

บทเรียนที่ 3 - ต้องรู้จักเก็บออมเอาไว้บางส่วน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเอง เพราะในโอกาสมีวิกฤติซ่อนอยู่เสมอ ยิ่งโอกาสดีเท่าไร วิกฤติที่ซ่อนอยู่ก็ร้ายแรงขึ้นเท่านั้น ยิ่งครั้งนี้ หลายๆ ประเทศในเอเชียกำลังเป็นที่สนใจของคนทั้งโลก กำลังได้รับเงินไหลเข้ามาพร้อมๆ กัน ถ้าเป็นเช่นนี้ คงจะมีสักประเทศ 2 ประเทศ ที่บริหารจัดการเงินไหลเข้าได้ไม่ดี ท้ายสุดต้องล้มลง วิกฤติในระบบเศรษฐกิจโลกรอบต่อไป ก็อาจเกิดขึ้นแถวๆ บ้านเราก็ได้ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ถ้าเราไม่มีเงินเก็บออม ไม่มีสภาพคล่อง ทุกคนมีแต่หนี้ ทั้งหนี้ภาครัฐ และหนี้ภาคเอกชน วิกฤติก็คงมาถึงเรา ล้มลงในที่สุด แต่ถ้าเรารู้จักเก็บออมแต่ตอนนี้ แม้มีวิกฤติ เราก็จะพยุงตนให้ผ่านไปได้ 

นอกจากนี้ ท่ามกลางวิกฤติ ในความมืดมิด มักจะมีโอกาสที่ดีที่สุด เปิดขึ้นเสมอ ถ้าเรารู้จักถนอมตัวเองเอาไว้ได้ ไม่โหมทำลงไปหมดในช่วงที่เฟื่องฟู จนต้องมายุ่งกับการแก้ปัญหาที่เราผูกเอาไว้ วุ่นวายกับการเอาชีวิตรอด ด้วยเงินที่เราเก็บออมไว้ได้บางส่วน เราอาจจะสามารถฉกฉวยโอกาสที่เปิดในช่วงที่เกิดวิกฤติ เดินก้าวหน้าต่อไปขณะที่ทุกคนถอยหลัง เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย

พระท่านกล่าวไว้อย่างไพเราะว่า “ผิดหนึ่งพึงจดไว้ ในสมอง เร่งระวังผิดสอง ภายหน้า” ก็ต้องขอให้เราทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ยิ่งระฆังเตือนภัยเริ่มดังขึ้นเช่นนี้ ก็ขอให้หมั่นทบทวนบทเรียนจากปี 40 ทั้ง 3 ข้ออยู่อย่างสม่ำเสมอ “ไม่ทำอะไรเกินตัว” “รู้จักจัดการปัญหาแต่เริ่มเห็น” “เร่งเก็บออม สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งหากเราทำได้ตามนี้ ก็จะน่าสามารถรักษาตัวให้ผ่านวิกฤติที่กำลังรออยู่ได้ และน่าจะสามารถเปลี่ยนวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสกับประเทศไทยอย่างแท้จริง ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ

Source: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
โดย ดร. กอบศักดิ์ ภูตระกูล 
คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ "อนาคตเศรษฐกิจไทย" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ 
หมายเหตุ สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “Blog ดร. กอบ” ที่ www.kobsak.com ครับ


ขอบคุณครับ ดร.กอบศักดิ์ ที่ออกมาเตือน ผมเป็นห่วงจริงๆครับ คนไทยชอบเสี่ยงตามกระแส และคิดในระยะสั้นๆ ไม่ค่อยคิดถึงความยั่งยืน ผมคิดว่าคนไทยเป็นคนที่ชอบเล่นการพนันที่สุด ตลาดหลักทรัพย์ กลายเป็นบ่อนคาสิโนถูกกฎหมาย แถมไม่เสียภาษีด้วย ลงท้ายใครรวย

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท


1Like ·  · 

 

เผย 10 จุดเจ็บปวดตามร่งกาย มีที่มา

พิมพ์ PDF

เผย 10 จุดเจ็บปวดตามร่างกาย มีที่มา

อาการเจ็บปวดเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ มักสร้างความกังวลเพราะนอกจากจะไม่รู้ที่มาแล้ว เรายังไม่อาจเห็นสภาพภายในได้ เรื่องนี้ นายแพทย์กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ มีข้อมูลมาไขข้อข้องใจโดยเฉพาะอาการปวด 10 จุด ต่อไปนี้

'เจ็บต้นคอร้าวแขน' เจ็บนี้ต้องระวังเส้นประสาทต้นคออาจถูกกดหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ยกของหนักที่ผ่านมาได้ 'เจ็บแขนร้าวปลายมือ' ดูเรื่องเส้นประสาทให้ดีมีสิทธิ์เกิดจากพังผืดไปรัดเส้นประสาทหรือเกิดมาจากศูนย์รวมประสาทที่ต้นคอก็ยังได้

'ปวดศีรษะร้าวต้นคอ' อาจเป็นเพียงกล้ามเนื้อที่เกร็งตึงเวลามีความเครียดธรรมดา แต่ถ้ามีตาพร่าบวกคลื่นไส้อาเจียนด้วยก็ต้องจับตาอาการด้านสมอง

'ปวดหลังร้าวลงขา' น่าจะเกิดจากหมอนรองกระดูกกดเส้นประสาทเป็นหลัก โดยเฉพาะหลังส่วนบั้นเอวเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ การดูว่าปวดหลังถึงขั้นไหนให้ดูอาการร้าวลงขา

'เจ็บอกวิ่งไปแขนซ้าย' ร้ายเสียยิ่งกว่าอกหักเพราะมักเกี่ยวถึงโรคหัวใจขาดเลือด ให้สังเกตอาการปวดว่าเหมือนถูกบีบหรือถูกงูเหลือมตัวใหญ่รัดด้วยหรือไม่ 'ไอแล้วปวดร้าวลงก้นกบ' บางคนเวลาไอหรือเบ่งท้องแรงๆ แล้วมีอาการเจ็บร้าวไปหลังหรือก้นกบเบื้องล่างทุกครั้ง ต้องเฝ้าระวังโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น

'เจ็บท้องน้อยร้าวลงหน้าขา' ในสตรีต้องระวังเรื่องอุ้งเชิงกรานอักเสบ ส่วนในหนุ่มๆ ให้ระวังนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ถ้ามีไข้ร่วมด้วยให้ช่วยระวังการติดเชื้อเป็นหลัก

'เจ็บท้องส่วนอื่นๆ แล้วร้าวทะลุหลัง' อาการเจ็บหน้าไปหลังเช่นนี้ถ้าเป็นที่ตับ คือ ด้านบนขวาให้นึกถึงถุงน้ำดีที่อาจไม่ดีสมชื่อ เพราะนี่เป็นสัญญาณนิ่วในถุงน้ำดีหรือถุงน้ำดีอักเสบ ส่วนถ้าเจ็บตรงกลางร่วมกับไข้สูงให้นึกถึงตับอ่อนอักเสบ (Acute pancreatitis) แบบเฉียบพลัน

'เจ็บบั้นเอวแถวสีข้างร้าวลงขา' ยิ่งถ้าเจ็บบั้นเอวด้านใดด้านหนึ่งแล้วร้าวด้วย ให้นึกถึงก้อนนิ่วในกรวยไตหรือท่อไต ในบางรายอาจมีท่อปัสสาวะอักเสบร่วมกับมีไข้ รู้สึกหนาวและปัสสาวะปนเลือดอีก หากเป็นเช่นนี้แนะให้ช่วยรีบไปตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์หรืออัลตร้าซาวน์

และสุดท้าย 'เจ็บตามผื่นแล้วร้าวลงเส้นประสาท' การที่มีผื่นเป็นตุ่มน้ำใสแล้วมีอาการแสบร้อนหรือเคยมีประวัติโรคเริม งูสวัด ให้ระวังอาการปวดร้าวไปตามปลายประสาท แม้ไม่มีผื่นแล้วก็อาจทิ้งอาการแสบร้อนไว้ได้ บางรายเจ็บแสบอยู่ตามแนวเส้นประสาทเป็นครั้งคราว

คุณหมอกฤษดา ย้ำว่า สัญญาณเจ็บร้าวทั้งสิบที่ว่ามาเป็นวิธีดูคร่าวๆ เท่านั้น แต่ก็ช่วยทำให้ได้ร่องรอยของโรคที่ซ่อนอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีที่สุดคือ พบแพทย์แล้วตรวจหาความผิดปกติให้ทราบชัดเจนชัวร์กว่า

http://www.thaihealth.or.th/healthcontent/healthtips/29807

 

สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

พิมพ์ PDF

โครงการระดมทุนอุดมศึกษา

“สร้างชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

เหตุผล

ชุมชนท้องถิ่นมีปัญหาในการพัฒนา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดผู้นำทางปัญญา ในการนำชุมชนแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยการเรียนรู้และกระบวนการเศรษฐกิจสังคมที่เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละท้องถิ่น รวมถึงการค้นหาปัญหาที่แท้จริง ตลอดจนการสืบค้นหาทุนต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น คือ ทุนทรัพยากร ทุนทางปัญญา และทุนทางสังคม เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ไม่ใช่รอแต่ความช่วยเหลือจากรัฐหรือภายนอก

ระบบสังคมวันนี้ได้ดึงเอาคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ออกจากชุมชน ส่วนหนึ่งไปศึกษาต่อแล้วทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต่างๆ ส่วนหนึ่งออกไปขายแรงงานในเมืองและในต่างจังหวัด มีผู้ใหญ่ที่เหลืออยู่ในชุมชนจำนวนหนึ่งที่ปรารถนาจะเรียนต่อเพื่อพัฒนาตนเอง แต่ขาดโอกาส โดยเฉพาะขาดเงินทุนเพื่อชำระค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน (สรพ.) ได้ก่อตั้งขึ้นมาด้วยปรัชญาที่ว่า “ชุมชนเรียนรู้ ชุมชนเข้มแข็ง” โดยเชื่อว่า ชุมชนจะเรียนรู้ได้ ถ้าหากมีผู้นำทางปัญญาที่เข้าใจคุณค่าของการศึกษาว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังคำที่เบนจามิน แฟรงคลิน บอกไว้ว่า “การศึกษานั้นแพง แต่ความไม่รู้แพงกว่า”

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้พัฒนาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น สาขาวิชาการจัดการสุขภาพชุมชน และสาขาวิชาการจัดการการเกษตรยั่งยืน เพื่อให้โอกาสผู้ใหญ่ในชุมชนได้เรียนรู้ โดยวิธีการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนวัตกรรม คือ การเรียนโดยเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง เรียนโดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน ใช้ปัญหาและความต้องการของชุมชนเป็นสาระการเรียนรู้ และให้ชุมชนร่วมเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างการเรียนรู้กับชีวิตจริง การศึกษากับการพัฒนาชุมชน

ประสบการณ์การจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ผ่านมายืนยันว่า การศึกษาเช่นนี้ได้ผลจริง ทำให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลง ชีวิตดีขึ้นตั้งแต่ขณะที่เรียน ชุมชนเข้มแข็งขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่นักศึกษาได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน

นอกจากนี้ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ยังมีเป้าหมายที่จะขยายโอกาสทางการศึกษานี้ไปสู่เยาวชนที่เรียนจบชั้นมัธยมปลาย ให้เป็นทางเลือกที่พวกเขาสามารถเรียนแล้ว “อยู่อย่างมีศักดิ์ศรีและมีกินในท้องถิ่นตน” ได้ เป็นแบบอย่างให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นว่า การศึกษานี้ เสนอทางเลือกที่ดีให้ผู้ที่ไม่สามารถออกไปหรือไม่อยากออกไปเรียนต่อที่อื่น

ผู้ใหญ่และเยาวชนเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านทุนการศึกษา และไม่สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่กระทรวงศึกษาธิการจัดให้ ไม่ว่าจะเป็น กยศ.หรือ กรอ. เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขของกองทุน ส่วนใหญ่จึงหาทางกู้ยืมจากสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งก็มีข้อจำกัดและดอกเบี้ยสูง

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้พยายามให้เกิด “กองทุนมหาวิทยาลัยชีวิต” ในแต่ละท้องถิ่นที่มีศูนย์การเรียนรู้ของสถาบัน โดยนักศึกษาและบุคคลที่เกี่ยวข้องได้พยายามช่วยกันระดมทุนหลากหลายวิธี ทั้งการออมเงิน การทำโครงการพิเศษต่างๆ เช่น การทำนาร่วมกัน การทำเกษตรผสมผสาน การทำวิสาหกิจชุมชน การทอดผ้าป่า และอื่นๆ เพื่อหาทุนมาบรรเทาการขาดแคลนทุนทรัพย์ของนักศึกษาส่วนใหญ่

ทางสถาบันเห็นว่า การมีกองทุนหมุนเวียนจะช่วยเหลือนักศึกษาได้มาก เพื่อเป็นเงินยืมให้แก่นักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ใช้เป็นค่าเล่าเรียนในปีแรก ให้สามารถปรับตัวและเตรียมการหาเงินใช้เป็นค่าเล่าเรียนเองได้ในปีต่อๆ ไป รวมทั้งใช้คืนเงินที่ยืมไปจากกองทุนนี้ เพื่อให้คนอื่นมีโอกาสได้ยืมต่อไปด้วย

การที่นักศึกษาทำเช่นนี้ได้เพราะระหว่างเรียน มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักศึกษาวางเป้าหมายและแผนชีวิต และทำโครงงานพัฒนาอาชีพการงานไปพร้อมกัน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง

สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี ๒๕๕๓ มีนักศึกษาอยู่ประมาณ ๗,๐๐๐ คน กระจายอยู่ตามศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน (ศรป.) ใน ๓๐ จังหวัดทั่วประเทศ การมีกองทุนหมุนเวียนนี้ จะช่วยให้นักศึกษาปัจจุบันและนักศึกษาที่จะเข้ามาศึกษาต่อ ณ สถาบันแห่งนี้ในอนาคต ได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง เพื่อจะได้เป็นผู้นำท้องถิ่นที่เข้มแข็ง และร่วมกันสร้างรากฐานที่มั่นคงให้สังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

วัตถุประสงค์

๑. เพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนให้นักศึกษาได้ยืมเพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนในปีแรก สำหรับจัดระเบียบชีวิตของตน ให้มีความสามารถในการหารายได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อนำมาจ่ายค่าเล่าเรียนเองในปีต่อไปได้

๒. เพื่อเป็นศูนย์ร้อยรวมใจ ให้ประชาสังคมร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้นำท้องถิ่นและชุมชนที่เข้มแข็ง

ลักษณะการบริจาค

๑. ผู้บริจาคสามารถให้ทุน ๑ ทุน ทุนละ ๓๐,๐๐๐ บาท หรือมากกว่า

๒. ผู้บริจาคสามารถระบุกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่ในการให้ทุนได้

การให้ยืมเงินจากกองทุน

๑. นักศึกษาได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการในแต่ละศูนย์การเรียนรู้เพื่อปวงชน ตามเกณฑ์ที่วางไว้ โดยเน้นที่ผู้มีข้อจำกัดด้านการเงินและมีความตั้งใจเรียนจริง

๒. นักศึกษาได้รับการพิจารณาให้ยืมเงินได้ในปีแรกเท่านั้น จำนวนไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท และให้มีเพื่อนนักศึกษาหรืออาจารย์ร่วมกันค้ำประกันอย่างน้อย ๓ คน และทำแผนการชำระเงินคืนภายใน ๕ ปี นับจากวันที่ได้รับทุน โดยไม่เสียดอกเบี้ย

ประโยชน์ที่ผู้บริจาคทุนจะได้รับ

๑. ได้บุญกุศลที่ช่วยให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง มีผู้นำทางปัญญา ทำให้คนมีทางเลือกที่จะอยู่ในท้องถิ่นได้ โดยเงินทุน ๓๐,๐๐๐ บาท จะช่วยเหลือนักศึกษาได้ปีละ ๑ คน และช่วยเหลือได้อีกมากมายหลายคน เพราะเป็นเงินยืมที่นักศึกษาจะต้องใช้คืนให้กองทุน

๒. สามารถนำเงินที่บริจาคไปหักภาษีได้

๓. สามารถนำโครงการนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการทำ CSR ของบริษัทหรือองค์กรได้

หมายเหตุ: ผู้บริจาคทุนการศึกษาจะได้รับรายงานการดำเนินงานกองทุน ทุกภาคการศึกษา และสามารถตรวจสอบและติดตามผลของการบริหารจัดการกองทุน และการจัดการศึกษาได้

เป้าหมาย

ทุกฝ่ายระดมทุนๆ ละ ๓๐,๐๐๐ บาท ให้ได้ ๓,๓๐๐ ทุน เป็นเงิน ๙๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท

๑. ศรป. แต่ละแห่งทำเป้าให้ได้ ๑๐ ทุน รวม ๓๐๐ ทุน เป็นเงิน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท

๒. สรพ. ระดมจากบุคคลให้ได้ ๑ คนๆ ละ ๑ ทุน รวม ๑,๐๐๐ ทุน เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

๓. สรพ. ระดมจากหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ๒,๐๐๐ ทุน เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. ได้กองทุนหมุนเวียนให้นักศึกษาที่ขาดแคลนเงินทุนได้ยืมเรียนในปีแรก โดยในระหว่างเรียนนักศึกษาต้องทำแผนชีวิต แผนสุขภาพ แผนอาชีพ และแผนการเงิน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอในการดำรงชีวิตและชำระค่าเล่าเรียนด้วยตนเองในปีต่อๆ ไปได้

๒. ได้กองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยนักศึกษาที่มีปัญหาขาดแคลนทุนการศึกษาได้ไม่น้อยกว่า ๓,๓๐๐ คนต่อปี

๓. สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ได้รับเงินค่าเล่าเรียนจากนักศึกษา สามารถบริหารจัดการการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และพึ่งพาตนเองได้

๔. บริษัทและองค์กรได้ทำ CSR ได้ประชาสัมพันธ์ตนเอง และมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาชุมชน

๕. เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา อาจารย์ สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชนกับสาธารณะ โดยเฉพาะผู้บริจาคเข้ากองทุนที่เป็นบุคคล องค์กร สถาบันต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือ เกิดเครือข่ายประชาสังคม เพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนและสังคมให้เข้มแข็ง อยู่เย็นเป็นสุข

การบริหารกองทุน

ให้มีการบริหารกองทุนในรูปคณะกรรมการกองทุน

 

ขาด‘ทุนทางอารมณ์’ : จะไปสู่ความล้มเหลวแน่นอน

พิมพ์ PDF

ขาด‘ทุนทางอารมณ์’ : จะไปสู่ความล้มเหลวแน่นอน

ผมเขียนบทความนี้จากเขื่อนท่าทุ่งนา ในจังหวัดกาญจนบุรี เป็นเขื่อนเล็กๆ ที่สวยงามมาก พาลูกศิษย์ EGAT 9 มาเรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนที่นี่

เมื่อวันพุธได้ไปเยี่ยมชุมชนที่ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี พบปราชญ์ชาวบ้าน 2 ท่าน คือ อาจารย์แรม เชียงการ และอาจารย์ศิวโรจน์ จิตรนิยม นำเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในตำบลหนองสาหร่าย ประสบความสำเร็จโดยใช้ความดีนำเรื่องเงินและความโลภ

วิถีชีวิตดีๆ แบบนี้ ผู้อ่านอาจลองมาสัมผัสด้วยตัวเองได้ ความเข้มแข็งของชุมชนโดยใช้ความดีกับการใช้เงินเป็นตัวนำ กำลังต่อสู้กันอย่างรุนแรง แต่ถ้าเงินเป็นตัวสำคัญมากกว่าความดี อนาคตประเทศไทยก็จะลำบากมากขึ้น ชาวบ้านรอให้รัฐบาลเอาเงินมาแจก โดยต้องลงคะแนนให้เขา แทนที่จะทำให้ชุมชนเข้มแข็ง

ตัวอย่างของตำบลหนองสาหร่าย ก็เป็นชุมชนที่พอจะนำมาเป็นตัวอย่างได้

ผมพา EGAT รุ่นที่ 9 มาชุมชนเมืองกาญจน์ 3 วัน ใช้เวลาเรียนรู้และรับฟังจากชาวบ้านเพื่อปรับ Mindsetทัศนคติผู้บริหาร กฟผ. ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับชุมชนได้ เพื่อการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ในอนาคตให้ประสบความสำเร็จ

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคมนี้ เป็นวันสำคัญของคน กทม. อยากจะให้ผู้อ่านไปลงคะแนนและใช้เหตุผลอย่างรอบคอบว่าจะเลือกใคร ที่เป็นคนที่ทำเพื่อประชาชน ไม่ใช่คนที่มีนโยบายเพ้อฝันและการสร้างอำนาจผูกขาดในประเทศไทย

ส่วนในวันเสาร์และอาทิตย์ที่ 2-3 มีนาคม ผมขอเชิญชวนผู้อ่าน ถ้ามีเวลาไปชมศิลปะสตรีทอาร์ท 3 มิติและ 4 มิติ ที่สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งจะมีนักเขียนเก่งๆระดับโลกมาแสดงงานศิลปะกว่า 10 คน และนักแสดงประติมากรรมมีชีวิต เพื่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในชาติเพราะในอดีตเรามีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ผมจะไปร่วมงานด้วย

สัปดาห์นี้ ผมจะแนะนำทุนที่สำคัญใน 5K ของผมคือทุนทางอารมณ์

5 K’s (ใหม่) : ทฤษฎีทุนใหม่ 5 ประการ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคโลกาภิวัตน์

Creativity Capital ทุนแห่งการสร้างสรรค์

Knowledge Capital ทุนทางความรู้

Innovation Capital ทุนทางนวัตกรรม

Emotional Capital ทุนทางอารมณ์

Cultural Capital ทุนทางวัฒนธรรม

ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ 2 ครั้งที่มีการนำทุนทางอารมณ์มาวิเคราะห์ในการดำรงชีวิตและการทำงาน ให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น

เหตุการณ์แรกคือ การสอน MBA ที่มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักเรียนซึ่งเป็นผู้บริหารทางการเงินระดับสูงของบริษัทแห่งหนึ่งบอกว่า ศึกษา 8k 5k ของผมแล้วประทับใจมากคือทุนทางอารมณ์ ซึ่งเน้นว่ามนุษย์แตกต่างกันในทุนทางด้านอื่นๆ นักศึกษาคนนี้บอกว่า คนที่จะประสบความสำเร็จได้อย่าให้อารมณ์มาควบคุมเราทำให้ขาดสติปัญญาและทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะล้มเหลวด้วย

แนวคิดเช่นนี่เกิดมาจากความคิดของ Professor Goleman จาก Harvard กว่า 20 ปีแล้ว ที่บอกว่ามนุษย์ต้องฉลาดใช้และควบคุมอารมณ์ให้พอดีต่อสถานการณ์ ถ้าอารมณ์รุนแรงควบคุมไม่ได้ก็จะส่งผลเสียกับการทำงาน

ขอยกตัวอย่างจากหนังเรื่อง “นวลฉวี” ซึ่งคุณหมออุทิศ แฟนของนวลฉวี ตัดสินใจฆ่านวลฉวี เพราะว่านวลฉวีขาดสติควบคุมอารมณ์ ไม่สำเร็จในการแก้ปัญหาชีวิตรักของเธอ โดยใช้อารมณ์ในการแก้ปัญหา และคุณหมอก็ขาดสติในการจัดการอารมณ์ของตัวเอง จนไปสู่การฆาตกรรมโยนทิ้งแม่น้ำแบบโหดร้าย กลายเป็นบทเรียนราคาแพงมาถึงทุกวันนี้

น่าเสียใจที่สุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อารียา จุฑานุกาลนักกอล์ฟหญิงอายุแค่ 17 ปี เล่นกอล์ฟ LPGA เป็นรายการระดับโลกที่พัทยา ประเทศไทย ผมดูถ่ายทอดการแข่งขันทางโทรทัศน์ ช่วงหลุมสุดท้ายที่นำอยู่ 2 แต้มตีได้ระดับพาร์ชนะแล้ว แต่ความที่ขาดประสบการณ์ และขาดการใช้อารมณ์อย่างฉลาด จึงผิดพลาดอย่างมหาศาล ตีเกินไป 2 แต้ม แพ้ ได้ที่ 2 ไปอย่างน่าเสียดาย ทักษะ ความรู้ ของอารียา มี ซึ่งถ้าสามารถควบคุมอารมณ์ได้ ก็จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน

บทเรียนครั้งนี้คือแค่ใช้ทักษะ และความรู้ ไม่พอ ตีไกลพัตเก่ง แต่ลืมไปว่าต้องเล่นแบบไม่เครียด และอย่าขาดสติในช่วงวิกฤติ ทำให้แรงกดดันทางอารมณ์สูงควบคุมไม่ได้ ในที่สุดก็นำไปสู่ความล้มเหลว

จึงอยากให้ผู้อ่านทบทวนทุนทางอารมณ์ว่าตนเองมีทุนอารมณ์อยู่ในระดับใด หรือถ้ามีสถานการณ์ที่เร่งรัดให้อารมณ์รุนแรง จะแก้ไขอย่างไร การฝึกสมาธิเราใช้ความล้มเหลวมาเป็นบทเรียนก็อาจจะช่วยได้มาก แต่ต้องให้ความล้มเหลวเป็นบทเรียนให้ได้

มีหลายคนที่ไม่เคยจดจำความล้มเหลวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะขาดสติในการควบคุมอารมณ์อย่างฉลาดเฉลียว

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์ 0-2273-0181

 

 

กฟผ.เป็นองค์กรมืออาชีพ อย่าเล่นการเมืองกับกฟผ.

พิมพ์ PDF

กฟผ.เป็นองค์กรมืออาชีพ อย่าเล่นการเมืองกับกฟผ.

 

ขอบคุณผู้อ่านจำนวนมากที่ส่งข้อมูลกลับมาเรื่อง “คนไทยไม่ต้องการรัฐบาลเสียงข้างมาก อยากได้รัฐบาลที่มีคุณธรรม” บทความครั้งที่แล้ว

ผมคิดว่า คนไทยจำนวนหนึ่งไม่พอใจกับรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ทำอะไรมุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ของตัว ถ้าพูดบ่อยๆ ก็คงจะมีคนกล้าออกมาแสดงจุดยืนมากขึ้นเพราะประเทศไทยจะต้องอยู่รอดในระยะยาวต้องเน้นประโยชน์เพื่อส่วนรวม ต้องอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีในสายตา ASEAN และสายตาชาวโลก การมีโลกไร้พรมแดนก็มีข้อดี คือทำให้ได้เปรียบเทียบคุณภาพของนักการเมืองแต่ละประเทศว่ามีมาตรฐานอย่างไร

สัปดาห์นี้ รัฐมนตรีพลังงานเปิดประเด็นว่า ไฟฟ้าเดือนเมษายนจะวิกฤติแน่ๆ เพราะพม่าจะหยุดส่งก๊าซช่วงหนึ่ง คำสัมภาษณ์ของท่านสร้างความหวาดวิตกให้แก่ธุรกิจและคนไทยทั่วๆ ไป เพราะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไฟฟ้าบ้านเรา ภายใต้องค์กรที่เรียกว่า EGAT หรือ กฟผ.เป็นองค์กรชั้นนำในระดับ ASEAN เริ่มตั้งแต่ผู้ว่าฯรุ่นแรก คุณเกษม จาติกวณิช พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ มาถึง ท่านปัจจุบัน คุณสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ถือว่ามีความสำเร็จอย่างสูง มีไฟฟ้าใช้อย่างพอเพียงและสม่ำเสมอ (Reliability) โอกาสไฟฟ้าดับไม่ปรากฏมาหลายสิบปีแล้ว

ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจขยายตัว มีธุรกิจต่างชาติมาลงทุน 20 ปีที่ผ่านมาความต้องการไฟฟ้าขยายอย่างมาก กฟผ.ทำหน้าที่ได้ดีมีไฟฟ้าพอเพียงรองรับได้ ถือว่าเป็นความสำเร็จในการดึงนักลงทุนจากต่างประเทศมาในช่วงหลังๆ การไฟฟ้าจึงต้องพัฒนาทุนมนุษย์ในทุกระดับ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อย่างน้อยก็ 3-4 เรื่อง ช่วยในการอธิบายความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าโรงใหม่ๆ กับชุมชนและ NGOs ให้เข้าใจเรื่องการบริหารแหล่งพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ พม่า ลาวมาเลเซีย และสุดท้าย บริหารนโยบายรัฐบาลและนักการเมือง ซึ่งในอดีต ผู้นำการไฟฟ้าเป็นวิศวกรมืออาชีพเก่งๆ จากมหาวิทยาลัยชั้นนำของเมืองไทย แต่เนื่องจากความสำเร็จของโครงการสร้างโรงไฟฟ้าในอดีตเป็นจุดอ่อนเพราะอาจจะไม่ได้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมหรือความรู้สึกของชุมชนมากเท่าที่ควร ยิ่งในยุคคุณทักษิณ แรกๆ จะเข้ามาแปรรูป กฟผ. เหมือนที่เคยทำสำเร็จที่ ปตท. แต่เดชะบุญ ทำไม่สำเร็จ การมาบริหารอีกครั้งจะเป็นอย่างไรมองนโยบายไฟฟ้าในอนาคตอย่างไร ปัจจุบันรัฐบาลควรกำหนดนโยบายให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาย่อมเยา ไม่แพงเกินไป ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลอย่าเล่นการเมืองเท่านั้น ขอให้ช่วยดูแลและสนับสนุน 2-3 เรื่อง

-ถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ รัฐบาลควรจะช่วยทำความเข้าใจกับ NGOs อย่าให้ กฟผ.รับผิดชอบฝ่ายเดียว

-นอกจากกระทรวง ในระดับรัฐมนตรีแล้ว ควรจะเน้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน “Regulator” ให้ร่วมกันกำหนด
นโยบายและรับผิดชอบเรื่องการสร้างความเข้าใจกับชุมชนในการมีโรงไฟฟ้าใหม่ๆ

เรื่อง “นิวเคลียร์” ถ้าจำเป็น ควรเดินหน้า เตรียมการให้พร้อม

-เน้นนโยบายประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม

-เน้นนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทน

-และเน้นนโยบายพลังงานสีเขียว

ผมออกความเห็นได้เพราะผมได้เข้ามาพัฒนาผู้นำใน กฟผ.มา 9 รุ่นแล้ว ประมาณ 8 ปีต่อเนื่อง ได้เห็นความพยายามของ กฟผ.ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด คือการปรับตัวให้ผู้นำเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและบริหารนโยบายรัฐบาลให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน แต่วิชาที่สอนยากที่สุดคือการบริหารนักการเมืองที่ไม่หวังดีกับประเทศของเรา องค์กร กฟผ. มีศักยภาพมากมาย และมีวิศวกรเก่งๆ กว่า 2,000 คน ดังนั้นสมควรได้รับการสนับสนุนจากการเมืองให้เป็นองค์กรมืออาชีพอย่างแท้จริง

ถ้าเมืองไทยมีธนาคารชาติและมี กฟผ.เป็นองค์กรที่เข้มแข็ง ทำประโยชน์ต่อประเทศไทยระยะยาว ก็จะมีความเป็นไปได้สูงขึ้น ที่ประเทศจะอยู่ได้อย่างยั่งยืนแน่นอน

อาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมงาน Safe in the City ขอบคุณผู้จัดคือคุณราเชนทร์ ชัยวัน นายกสมาคมผู้รักษาความปลอดภัยโรงแรม HOSAT และคุณลำเพาพรรณ ลีรพันธุ์ ต้องยอมรับว่าเรื่อง Safety เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศเพราะประเทศสูญเสียมูลค่าของทุนมนุษย์ปีละหลายแสนล้าน จากความไม่ปลอดภัย

-จากภัยธรรมชาติ

-จากการบาดเจ็บจากการทำงาน

-จากอุบัติเหตุในท้องถนน

-จากอัคคีภัย

จึงต้องใช้มาตรฐานความปลอดภัยของ ASEAN มาเปรียบเทียบ เช่น มาตรฐานความปลอดภัยของสิงคโปร์เป็นอย่างไร สูงกว่าประเทศไทยมากแค่ไหน ตัวละครที่จะช่วยเรื่องความปลอดภัยมีตั้งแต่รัฐ เอกชน นักวิชากร NGOs ต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมของความปลอดภัยลดการสูญเสียอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ยากที่สุดในประเทศของเราคือ “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดขึ้นมาช่วยกันสร้างวัฒนธรรมการป้องกันความปลอดภัยไม่ให้เกิดขึ้นอย่าแก้ที่ปลายเหตุเมื่อเกิดขึ้นแล้วความเสียหายจะมาก

ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์
เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ
อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน
www.gotoknow.org/blog/chiraacademy
แฟกซ์ 0-2273-0181


 


หน้า 502 จาก 561
Home

About Us

ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ (ศบม.) เป็นองค์กรที่พัฒนาและจัดทำโครงการเพื่อทำประโยชน์ให้สังคม เป็นองค์กรสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ช่วยแก้ปัญหาผู้ประกอบการภาคธุรกิจบริการที่ขาดแคลนบุคลากรที่มีมาตรฐานในการให้บริการ
อ่านเพิ่มเติม

มูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ์

 iHDC Profile
บัญชีรายชื่อกรรมการ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน การเปลี่ยนแปลงกรรมการของมูลนิธิ
เอกสารประชาสัมพันธ์ โครงการ HMTC.pdf
เอกสารแนะนำโครงการ HMTC 1.pdf
เอกสารโครงการ HMTC 2 คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ.pdf
iHDC นิติบุคคล.pdf
iHDC บุคคล.pdf
iHDC บุคคลเครือข่าย.pdf
รายงานการประชุม 6 มีนาคม 2560.pdf
ข้อบังคับมูลนิธิ
ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิ
Ihdc-Profile and Roadmap 2016-2019 Mar 23 2560.pdf
รายงานการประชุมใหญ่คณะกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ 2559.pdf
คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ สาขาวิชาชีพ.pdf
รายงานการประชุมใหญ่วันที่ 18 ธ ค 2558 v 3.pdf
รายงานการประชุม วันที่ 24 ธันวาคม 2557 updated 4 มีนาคม 2558.pdf
iHDC-invitation Letter.doc
iHDC-Member Form Thai.doc
iHDC-Member Form English.doc
รายงานการประชุมกรรมการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ วันที่ 15 มกราคม 2556 ฉบับสมบูรณ์


thaibetter
พัฒนาประเทศไทยแบบทวีคูณ และยั่งยืน ( ททค )

Login


แบบสำรวจ

สถิติเว็บไซด์

สมาชิก : 5642
Content : 3067
เว็บลิงก์ : 26
จำนวนครั้งเปิดดูบทความ : 8741374

facebook

Twitter


ล่าสุด

บทความเก่า